|

ภาษาอังกฤษ
โดย
วิรัตน์ แสงทองคำ
นิตยสารผู้จัดการ( เมษายน 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
สังคมไทยลงทุนในเรื่องการเรียนรู้ภาษาอังกฤษมากเหลือเกินในขณะนี้
"การเรียนรู้" ในความหมายนี้มีสองระดับ
หนึ่ง สังคมไทยเป็นสังคมที่มีการเรียนการสอนภาษาอังกฤษมากมายในทุกระดับของการศึกษาในระบบมานานแล้ว การศึกษานอกระบบ การเรียนการสอนภาษาอังกฤษเป็นเรื่องสำคัญมากที่คนไทยต้องจ่ายเพิ่มเติมเสมอ ผมเคยเขียนไว้ครั้งหนึ่งว่าเป็นเรื่องน่าประหลาดใจมากที่สินค้าชนิดนี้ดูเหมือนเป็นเพียงชนิดเดียวที่ไม่รับประกันคุณภาพ เช่น มาตรฐานสินค้าทั่วไป ยิ่งมีการเรียนที่ล้มเหลวมากเท่าใด ยิ่งมีการเรียนมากขึ้น และจ่ายเพิ่มมากขึ้นๆ อยู่ตลอดเวลา
การลงทุนและความเชื่อในพลังของการใช้ภาษาอังกฤษ ในสังคมยกระดับสูงขึ้นอีก ระบบโรงเรียนของไทยปรับตัวครั้งใหญ่ ด้วยความพยายามมีการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ มากขึ้น ในหลักสูตรที่เรียกกันว่า โรงเรียนสองภาษา ที่สำคัญ ผู้ปกครองต้องจ่ายเงินมากขึ้น
การเปลี่ยนแปลงนี้น่าสนใจที่ควรอรรถาธิบายมากทีเดียว
ทั้งนี้ยังไม่รวมการพัฒนาอย่างมหัศจรรย์ที่สุดในโลก ที่ว่าด้วยโรงเรียนนานาชาติ เมืองไทยเป็นแห่งเดียวที่มีพัฒนาการโรงเรียนนานาชาติมากที่สุดในรอบ 10 ปีมานี้ (ผมได้เขียนเรื่องนี้มาพอสมควรแล้ว)
ความจริงเป็นแนวโน้มระดับโลก ปัจจุบันผู้ใช้ภาษาอังกฤษที่มิใช่ native speaker มีมากกว่า 3 ต่อ 1 แล้ว globalization กระตุ้นให้ผู้คนติดต่อกันมากขึ้น Internet, IT และ electronic consumer product ซึ่งมีความสัมพันธ์อย่างมากมายกับสังคมโลกอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน มีส่วนให้ภาษาอังกฤษสำคัญมากขึ้น
ภาษาอังกฤษในปัจจุบันกลายเป็นภาษาของโลก ที่คนที่กำหนดความเป็นไปของภาษาอังกฤษกลับเป็นคนที่เป็น Non-Native speaker แล้ว (อ่าน NewsWeek, March 7, 2005 เรื่องจากปก "Who Owns English? Non-Native Speakers Are Transforming the Global Language"
สอง เรียนรู้เข้าใจคุณค่าภาษาอังกฤษอย่างแท้จริง จนถึงวันนี้สังคมไทยยังประเมินคุณค่าภาษาอังกฤษค่อนข้างเกินไปมาก แท้จริงคุณค่าภาษาอังกฤษมีลักษณะสัมพัทธ์ คุณค่ามีมากขึ้นเมื่อคนไทยจำนวนมากใช้ภาษาอังกฤษไม่ได้ แต่สังคมไทยจากนี้ไปคนใช้ภาษาอังกฤษไม่ได้มีน้อยลงอย่างชัดเจน คุณค่าของมันจึงลดลงด้วย ความพยายามของระบบการศึกษาที่เปิดสอนภาษาอังกฤษอย่างซ้ำซ้อนมาลงทุนมากมาย โดยหวังเพื่อให้เข้าใจภาษาอังกฤษดีขึ้นนั้น เป็นเป้าหมายที่แคบและสายตาสั้นเอามากๆ ทีเดียว
การศึกษาต้องมองไกล ต้องมองผลสัมฤทธิ์ที่มีนามธรรม ที่สูงส่งอยู่ด้วยเสมอ ไม่ใช่รูปธรรมง่ายๆ ที่มุ่งขายในสังคมไทยปัจจุบัน ปัญหาง่ายๆ ที่ประสบในปัจจุบัน ก็คือผู้เรียนหลักสูตรสองภาษาที่เดินทางสายกลางที่กลับมาอยู่กลางทางสองแพร่ง วิชาการก็ไม่เก่ง ไม่สามารถเข้าสู่ระบบการศึกษาเดิมของไทยได้อย่างดี ในเมื่อความจริงคุณก็เดินบนเส้นทางนั้นอยู่ จะไปสู่มาตรฐานสากลตามแบบฉบับโรงเรียนในหลักสูตรนานาชาติก็ไปไม่ได้ ทางสองแพร่งกำลังอันตรายต่ออนาคตอย่างมาก
แต่สิ่งที่เกิดอย่างคึกคักในปัจจุบัน โรงเรียนเก็บเงินผู้ปกครองได้มากขึ้น โรงเรียนได้เข้าใจสิ่งที่เรียกว่าธุรกิจและการตลาดมากขึ้น
บทเรียนนี้ดูเหมือนจะเคยเกิดขึ้นมาแล้วในระดับมหาวิทยาลัยของไทย มหาวิทยาลัยเข้าใจธุรกิจมากขึ้น แต่ผลสัมฤทธิ์กลับตกต่ำลง นี่อาจจะเป็นสาเหตุที่มหาวิทยาลัยของไทยไม่ติดอันดับ 200 หรือ 500 อันดับมหาวิทยาลัยของโลก
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|