Slow Food

โดย วิไลลักษณ์ ถิรนุทธิ
นิตยสารผู้จัดการ( เมษายน 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

ฉบับก่อนคุยให้คุณผู้อ่านฟังเรื่องปรากฏการณ์ใหม่ของวงการอาหารในต่างประเทศ ทั้งอาหารอินทรีย์และอาหาร Fair Trade ฉบับนี้จะขอแนะนำปรากฏการณ์เล็กๆ อีกอย่างหนึ่งในเรื่องของอาหารในประเทศพัฒนาแล้วกันนะคะ

ปรากฏการณ์ที่ว่านี้ก็คือ Slow Food หรืออาหารจานช้า

ก็ในเมื่อเรามีอาหารจานด่วนหรือ Fast Food แล้ว ทำไมเราจะมีอาหารจานช้าด้วยไม่ได้ จริงไหมคะ Slow Food เป็นความเคลื่อนไหวทางสังคมที่ต่อต้านชีวิตอันเร่งรีบของคนยุคใหม่ ไม่ว่าจะเป็นการทำงาน การเดินทาง หรือแม้แต่อาหารการกินของเราที่เริ่มเปลี่ยนแปลงไปจากที่เคยใช้เวลาพิถีพิถัน กับการปรุงอาหาร การคัดเครื่องปรุง การใส่ใจ กับรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ของการเตรียมอาหารแต่ละมื้อ กลับกลายเป็นว่าเดี๋ยวนี้เราเอาแต่พึ่งอาหารสำเร็จรูป อาหารจานด่วน ไม่ว่าจะเป็นมาม่า แฮมเบอร์เกอร์จากแมคโดนัลด์ ไก่ทอดเคเอฟซี หรือการไปกินข้าวนอกบ้านตามร้านต่างๆ จนทำให้เราเริ่มละเลยเสน่ห์ของการทำอาหารเอง หรือมองข้ามคุณค่าทางวัฒนธรรมของอาหารที่เราเคยกินกันในอดีตไปเสียสิ้น

ปรากฏการณ์ Slow Food ที่ว่านี้เริ่มก่อตั้งเป็นครั้งแรกในประเทศอิตาลี เมื่อปี 1986 (พ.ศ.2529) โดย Carlo Petrini นักข่าวชาวอิตาเลียนประจำคอลัมน์อาหารและไวน์ เหตุก็เพราะเขาทนไม่ได้กับการแผ่อำนาจของบริษัทฟาสต์ฟู้ดอย่างแมคโดนัลด์ ที่เข้ามารุกรานวัฒนธรรมการกินอันเก่าแก่ของชาวอิตาเลียนไป ดังนั้นจุดประสงค์แรกเริ่มของเขาก็เพื่อจะโปรโมตอาหารและไวน์ท้องถิ่น สนับสนุนให้คนหันมากินอาหารกันช้าๆ ใช้เวลาชื่นชมกับอาหารที่ตัวเองกินอยู่ กินไปคุยไป สังสรรค์กับเพื่อนฝูงไปเหมือนใน สมัยก่อน ต่อมาจุดประสงค์นี้ก็แผ่ไปถึงการสงวนพืชพันธุ์และผักผลไม้ท้องถิ่นด้วย ซึ่งนับวันมีแต่จะหายสาบสูญไปเรื่อยๆ เพราะถูกแทนที่ด้วยผักผลไม้ที่ผลิตจากโรงงานหรือ Green House ต่างๆ เพราะฉะนั้นมะเขือเทศ ผักกาดหอม แอปเปิ้ล และพืชผักอื่นๆ ที่เคยมีให้เลือกกินอยู่หลายพันธุ์ตามฤดูกาล เดี๋ยวนี้ก็มีเหลือให้เห็นอยู่ไม่กี่พันธุ์ ส่วนที่เหลือนั้นสูญหายไปเกือบหมดแล้ว เพราะผลิตมาก็ถูกซูเปอร์มาร์เก็ตตีกลับ เนื่องจากเป็นพันธุ์ที่ขนาดไม่ได้มาตรฐานบ้าง สีไม่สดไม่สวยตามที่ทางห้างตั้งเอาไว้บ้าง กลิ่นไม่หอมพอบ้าง ชาวไร่ชาวนาที่ผลิตผักผลไม้ส่งห้าง ก็เลยเลิกปลูกพันธุ์ที่ห้างไม่ซื้อไปโดยปริยาย เพราะ ฉะนั้นผักผลไม้ต่างๆ ที่เราเคยมีกันหลากหลาย ก็เลยเหลืออยู่นับพันธุ์ได้ในปัจจุบัน ปัญหานี้ถ้าเทียบกับบ้านเราแล้วก็เห็นจะเป็นเรื่องพันธุ์ข้าวพื้นเมืองของอีสานนี่ล่ะ ที่ตอนนี้มีเหลือให้เห็นแค่หยิบมือเดียว เพราะผลิตมาแล้วตลาดไม่รับ ก็น่าเสียดายที่หลายพันธุ์ คงไม่มีให้คนรุ่นใหม่ได้เห็นอีกแล้ว

เพราะเหตุดังกล่าว Slow Food เลยต่อต้านการตั้งมาตรฐานของอาหารตามหลักของซูเปอร์มาร์เก็ต แต่สนับสนุนความหลากหลายทางพันธุกรรมพืช มีการจัดกิจกรรมต่างๆ เช่น จัดงานเทศกาลอาหารและไวน์คุณภาพดี ทุก 2 ปี มีการจัดอบรมเรื่องการเลือกซื้อ การชิม และการปรุงอาหารให้กับสมาชิกซึ่งตอนนี้ก็มีอยู่ 83,000 คนแล้วทั่วโลก ทั้งในอิตาลี เยอรมนี สวิตเซอร์แลนด์ สหรัฐ อเมริกา ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น และอังกฤษ ในอังกฤษ นั้นมีสมาชิกของ Slow Food แล้วถึง 1,500 คน ส่วนในอเมริกาก็มีศูนย์ของ Slow Food ตั้งอยู่หลายเมืองทั่วประเทศ ลิเลียน เพื่อนชาวกัวเตมาลาของฉันซึ่งอยู่ที่เมือง Bloomington ก็บอกเหมือนกันว่าใน Bloomington ก็มีสาขาของ Slow Food ตั้งอยู่เช่นกัน นอกจากนี้ทางองค์กรยังได้ตั้งมหาวิทยาลัยแห่งศาสตร์และศิลป์ของอาหาร (University of Gastronomic Sciences - www.unisg.it) ไว้ที่เมือง Pollenzo และ Colorno ของอิตาลีอีกด้วย ใครอยากเรียนรู้เรื่องศิลปะของอาหาร หรือต้องการเปลี่ยนวิถีชีวิตเพื่อสุขภาพกายและจิตของตน ก็อาจจะไปลงเรียนกับเขาได้

ชื่อ Slow Food นั้นฟังดูแล้วอาจจะตลกอยู่สักหน่อย หลายคนคงคิดว่ามีด้วยหรือ ปรากฏการณ์อย่างนี้ แต่เราอาจจะลืมไปว่า ครั้งแรกที่คำว่า Fast Food ถูกนำมาใช้นั้น มันก็คงฟังดูทะแม่งๆ หูอยู่เหมือนกัน เพราะวิถีชีวิตของบรรพบุรุษของเรานั้นก็ไม่ได้ชินกับการกินอย่างเร่งรีบ หรือการเอาท้องไปฝาก อยู่กับพ่อครัวแม่ครัวตามภัตตาคารหรือร้านอาหารนอกบ้านอยู่แล้ว ทุกบ้านทำอาหารกินเองกันทั้งนั้น แต่ตั้งแต่ประเทศของเราพัฒนามากขึ้น วงจรตลาดเข้ามาเกี่ยวพันกับชีวิตของเรามากขึ้น พ่อบ้านแม่บ้านทั้งหลายต่างก็หันไปพึ่งอาหารที่ผลิตจากโรงงาน หรือร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดแทน เพราะไม่มีเวลามานั่งเตรียมอาหารเองเหมือนอย่างสมัยก่อน

ไม่ใช่จะมีแต่ Slow Food เท่านั้นที่ส่งเสริมให้คนหันกลับมาใส่ใจอาหารการกินของตน หรือชักชวนคนให้มากินผักผลไม้ในท้องถิ่นแทนในอังกฤษ แต่ละเมืองจะมีการจัดตลาดนัดชาวนาหรือ Farmers' Market กันอย่างน้อยก็สัปดาห์ละหน เพื่อให้ชาวไร่ชาวนาเอาผลผลิตของตนมาขายให้กับผู้บริโภคโดยตรง คนกินก็จะได้รู้ว่าอาหารที่กินเข้าไปนั้นมาจากแหล่งใด เชื่อถือได้หรือไม่ เป็นการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างคนกินกับคนผลิต ตลาดนัดที่ว่านี้ความจริงก็มีกันมานานแล้ว แต่เพิ่งจะมามีความสำคัญกันมากๆ เข้า ก็ตอนที่อังกฤษต้องเผชิญกับวิกฤติการณ์อาหาร เมื่อเกิดเหตุโรคปากและเท้าเปื่อยระบาดในวัวและแกะเมื่อ 2-3 ปีก่อน ทางรัฐและองค์กรเอกชนเลยหันมาวิเคราะห์กันว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นคงเป็นเพราะเราผลิตอาหารกันแบบอุตสาหกรรมมากเกินไปนั้นเอง คือผลิตเอาแต่ปริมาณ ใช้สารเคมีทุ่นแรงแทนการอาศัยหลักธรรมชาติ ไก่ก็ถูกจับให้อยู่ในเล้าเล็กๆ ขยับเขยื้อนตัวไม่ได้ วัวก็ถูกขุนให้อ้วน ถูกฉีดฮอร์โมนให้มีเนื้อมีนวล ผักผลไม้ก็พ่นยาฆ่าแมลงกัน แต่ชีวิตในยุคสังคมอุตสาหกรรมนี้กลับทำลายความสมดุลทางธรรมชาติ ทั้งพืชพันธุ์อันหลากหลาย ความสัมพันธ์ระหว่างคนซื้อ (อาหาร) กับคนขาย หรือแม้กระทั่งความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกในครอบครัว ที่ไม่มานั่งทำกับข้าวกินกันเหมือนแต่ก่อน ดังนั้น Slow Food จึงเป็น การเรียกชีวิตช้าๆ ของเราในสมัยก่อนให้กลับคืนมา เพื่อสร้างความสมดุลให้กับชีวิตสมัยใหม่ของเราให้มากขึ้น

นอกจากนี้ Slow Food ยังเป็นการเสนอแนวทางแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมอีกทางหนึ่ง ด้วยข่าวของบีบีซีเมื่อวันที่ 2 มี.ค.2548 บอกว่า ผู้บริโภคที่ต้องการจะช่วยแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมนั้น ถ้าจะเอาแต่ซื้ออาหารอินทรีย์อย่างเดียวนั้นคงไม่พอเสียแล้ว แต่ควรจะหันมาซื้ออาหารที่ผลิตมาจากแหล่งภายในท้องถิ่นที่ไม่ไกลจากบ้านของตัวเองเกิน 20 กม.ดีกว่า ทั้งนี้ทั้งนั้นก็เพราะถึงแม้ว่าเกษตรอินทรีย์จะดีต่อสิ่งแวดล้อมอย่างไร

แต่ถ้าต้องถูกขนส่งมาจากที่ไกลๆ แล้วละก็ เราก็ต้องคิดค่าน้ำมันและค่าอื่นๆ อีกจิปาถะเข้าไปด้วย ควันรถและเชื้อเพลิงที่สูญเสียไปในการขนส่งอาหารอินทรีย์นั้นๆ ก็เป็นตัวสร้างปัญหาสิ่งแวดล้อมอยู่ดี เพราะฉะนั้นซื้อผลผลิตที่มาจากแหล่งใกล้บ้านเป็นการดีที่สุด ซึ่งนี่ก็เป็นหนึ่งในปรัชญาของ Slow Food เช่นกัน

ใครที่อยากจะหลีกหนีกระแสชีวิตอันเร่งรีบ จะหันมาตำน้ำพริกกินข้าวกันช้าๆ กับสมาชิกครอบครัวในบ้าน แทนการกินพิซซ่านอกบ้านก็สามารถทำได้นะคะ ส่วนใครสนใจอยากจะค้นคว้าเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Slow Food ก็อาจจะแวะเข้าไปชมเว็บไซต์ของเขาที่ www.slowfood.com ได้ค่ะ


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.