|

Banana Republic
โดย
ธวัชชัย อนุพงศ์อนันต์
นิตยสารผู้จัดการ( เมษายน 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
การตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางออสเตรเลีย เมื่อวันพุธที่ 2 มีนาคมที่ผ่านมา ฉายภาพให้เห็นความขัดแย้งทางความคิดสามฝ่าย คือ ของรัฐบาลผู้กุมอำนาจการบริหาร และเสียงจากประชาชน ธนาคารกลางผู้มีหน้าที่ดูแลนโยบายการเงิน และสำนักงานสถิติแห่งชาติ ผู้เก็บรวบรวมข้อมูลทางเศรษฐกิจซึ่งเป็นพื้นฐานในการตัดสินใจทางการเงินการคลังของประเทศ อย่างไรก็ตาม ผู้ที่รับผลกระทบเต็มๆ แล้วตอนนี้คือ ประชาชนชาวออสเตรเลีย กับภาระทางการเงินที่เพิ่มขึ้น
ช่วงเลือกตั้งทั่วไปของออสเตรเลียในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา หลายๆ คนตั้งคำถามเกี่ยวกับนโยบายเศรษฐกิจของพรรค Liberal ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลในปัจจุบันซึ่งกุมอำนาจรัฐบาลมาตั้งแต่ปี 1996 ว่า พรรค Liberal ทำให้ เศรษฐกิจออสเตรเลียเป็นฟองสบู่ และใช้ตัวเลขทางเศรษฐกิจเป็นเครื่องมือในการหาเสียง ในขณะที่ในการเลือกตั้งที่ผ่านมา พรรค Liberal กลับอาศัยผลงานทางเศรษฐกิจเก่าๆ โดยไม่ได้มีข้อเสนอใหม่ๆ ในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลง ทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้น โดยทางพรรคเห็นว่า เศรษฐกิจออสเตรเลียมาถึงจุดเปลี่ยนที่ไม่น่าจะดีไปกว่าช่วงที่ผ่านมาแล้ว พรรค Liberal จึงไปมุ่งเน้นนโยบายด้านอื่นๆ แทน ไม่ว่าจะเป็นนโยบายทางด้านความมั่นคง และสวัสดิการประชาชนแทน ในขณะที่อ้างตัวเลขอัตราดอกเบี้ยว่าต่ำกว่ายุคที่พรรคแรงงาน ซึ่งเป็นพรรคคู่แข่งที่สำคัญบริหารประเทศอยู่
นอกจากนี้ราคาที่ดินที่ขึ้นสูงมากในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะช่วงที่ผมเดินทางมาศึกษาต่อที่นี่นับจากปี 2003 เป็นต้นมา จนถึงปลายปีกลาย การเพิ่มขึ้นของราคาที่ดิน อัตราดอกเบี้ยที่ลดลงต่ำ ส่งผลให้ประชาชนกู้หนี้ยืมสินเพื่อซื้อบ้านหลังแรกของพวกเขา บ้างก็เป็นหลังที่สองหรือสาม และอีกหลายๆ คนที่ลงทุนซื้อบ้านเพื่อเก็งกำไร ทำให้สภาพฟองสบู่ของเศรษฐกิจออสเตรเลียเกิดขึ้น ซึ่งอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำนี้ไม่ได้ส่งผลแค่วงการอสังหาริมทรัพย์เท่านั้น แต่ส่งผลถึงระบบเศรษฐกิจในทุกๆ ส่วน ประชาชนมีเงินจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น เนื่องจากต้นทุนของเงินต่ำลง ทำให้การใช้จ่ายของประชาชนซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญส่วนหนึ่งของการวัดอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจโดยใช้จีดีพีมีค่าสูงขึ้น เมื่อบวกกับส่วนประกอบอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการลงทุน, การใช้จ่ายภาครัฐบาล และการส่งออกสุทธิที่เพิ่มขึ้น จึงไม่น่าแปลกใจที่จีดีพีของประเทศออสเตรเลียจะเพิ่มมากขึ้น และส่งผลให้รัฐบาลสามารถเก็บภาษีได้เกินเป้า ทำให้รัฐบาลมีฐานะทางการคลังเกินดุลอยู่เรื่อยมา
อย่างไรก็ตาม สภาวะฟองสบู่ที่เกิดขึ้น ที่ผมเคยเปรียบว่า เสมือนการกระพือปีกของผีเสื้อตัวเล็กๆ ที่แม้เพียงการสั่นไหวของปีกเบาๆ ณ มุมเล็กๆ มุมหนึ่งของเกาะออสเตรเลีย แต่สามารถก่อให้เกิดพายุลูกใหญ่ไปทั่วเกาะออสเตรเลียได้ เหมือนเมื่อครั้งวิกฤติการเงินของเอเชียที่การประกาศลอยตัวค่าเงินบาทของรัฐบาลไทยส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจทั่วโลก ได้อย่างไม่น่าเชื่อ เป็นเสมือนสัญญาณอันตรายต่อเศรษฐกิจออสเตรเลีย
ช่วงกลางปีที่ผ่านมา ราคาที่ดินของออสเตรเลียเกือบทั่วประเทศจึงค่อยๆ ลดลงๆ โดยบางพื้นที่ลดลงอย่างฮวบฮาบ นอกจากนี้ ความหวาดระแวงของภาครัฐบาล ทำให้มีการออกกฎหมายเกี่ยวกับภาษีที่ดิน และกฎหมายบางอย่างมาควบคุมไม่ให้สภาวะฟองสบู่รุนแรงจนเกินไป แม้อาจจะช้าไปเสียหน่อยก็ตาม
สภาพความจริงจึงค่อยๆ ปรากฏขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นตัวเลขหนี้สินของชาวออสเตรเลียที่สูงมากอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน ในขณะที่อัตราการออมกลับต่ำติดดิน
เมื่อน้ำลด ตอก็เริ่มผุดขึ้นมาให้เห็น
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้าการขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพียงวันเดียว ก็มีการประกาศตัวเลขที่ไม่ค่อยสวยงามนักทางเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็น การส่งออกที่มีอัตราการเติบโตต่ำลง และการจับจ่ายของประชาชนโดยการกู้หนี้ยืมสินมาใช้ ที่ส่งผลต่อการนำเข้าที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้ตัวเลขดุลบัญชีเดินสะพัด (ซึ่งเป็นผลรวมสุทธิของดุลการค้าและดุลบริการ รายได้ และเงินโอน) มีค่าติดลบสูงถึง 7% ของจีดีพีในการรายงานตัวเลขเศรษฐกิจรายไตรมาสของไตรมาสสุดท้าย ของปีกลายที่ผ่านมา ซึ่งสะท้อนให้เห็นการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจที่มีปัญหาของรัฐบาลออสเตรเลีย และทำให้มีการเปรียบสภาพ การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดของรัฐบาลชุดนี้กับเหตุการณ์เมื่อปี 1986 ที่ตัวเลขการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดต่อจีดีพีเท่ากับ 6.2% ซึ่งส่งผลให้นักลงทุนทั่วโลกถอนเงินลงทุนออกจากออสเตรเลีย และทำให้เงินดอลลาร์ออสเตรเลียตกต่ำลง และทำให้รัฐบาลชุดนั้นได้รับฉายาว่าเป็น Banana Republic ซึ่งหมายถึงประเทศที่เศรษฐกิจขึ้นอยู่กับการลงทุนของต่างประเทศและอาศัยการส่งออกสินค้าเพียงอย่างเดียว เหมือนที่ประเทศในอเมริกากลางบางประเทศอาศัยรายได้จากการส่งออกกล้วยเท่านั้น
ในขณะที่ Peter Costello รัฐมนตรีคลังของออสเตรเลียในรัฐบาลชุดปัจจุบันอ้างว่า ตัวเลขการขาดดุลในครั้งนี้ต่างจากเมื่อครั้งที่เป็น Banana Republic ในอดีต เพราะการขาดดุลครั้งนี้ส่วนใหญ่เกิดจากหนี้ที่ก่อโดยการลงทุนของภาคเอกชน ในขณะที่เมื่อปี 1986 หนี้ส่วนใหญ่มาจากภาครัฐบาล นอกจากนี้อัตราเงินเฟ้อ และอัตราดอกเบี้ยในปัจจุบันก็ต่ำมากเมื่อเทียบกับเหตุการณ์ครั้งนั้น ที่สำคัญฐานะทางการเงินของรัฐบาลชุดนี้ดีกว่ามาก
แต่ไม่นานนัก การประกาศตัวเลขจีดีพีไตรมาสสุดท้ายของปีที่แล้วที่เพิ่มขึ้นเพียง 0.1% ซึ่งเป็นอัตราการเพิ่มรายไตรมาสที่ต่ำที่สุดในรอบ กว่าสี่ปี ก็ทำให้รัฐบาลต้องหน้าแตกอีกครั้งหนึ่ง
เบื้องหลังความกังวลหลายๆ อย่างของธนาคารกลางออสเตรเลีย คือ การขยายตัวทางเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมาอย่างต่อเนื่อง 14 ปี ทำให้ราคาสินค้าส่งออกสูงขึ้น, กำไรของบริษัทห้างร้านที่สูงขึ้น, อัตราการจ้างงานที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้อุปสงค์ภายในประเทศเพิ่มขึ้น การจับจ่ายใช้สอยของประชาชนสูง จึง ทำให้ธนาคารกลางเกรงว่าการเติบโตอย่างรวดเร็ว นี้จะทำให้ความสามารถในการผลิตไม่สามารถตอบสนองทันกับอุปสงค์ที่มีอย่างไม่รู้จักจบ
โดยจากการสำรวจพบว่าบริษัทต่างๆ พยายามที่จะขยายการผลิตให้เร็วที่สุดเพื่อให้เพียงพอต่อการเพิ่มขึ้นของอุปสงค์ โดยเฉพาะการพยายามแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน นอกจากนี้ราคาวัตถุดิบและพลังงาน (โดยเฉพาะราคาน้ำมัน) ที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมาจากความต้องการที่สูงมากทั่วโลกส่งผลให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นอย่างไม่ต้องสงสัย
ทำให้ธนาคารกลางกลัวว่า สภาพดังกล่าวจะทำให้บริษัทต่างๆ แก้ปัญหาโดยการขึ้นราคาสินค้าและเพิ่มค่าจ้างแรงงาน (เพราะการจ้างแรงงานต่ำ เนื่องจากการขาดแคลนแรงงาน) ถ้าอุปสงค์ยังคงสูงอยู่
การขึ้นดอกเบี้ยจึงเป็นทางออกที่ดีที่สุดของธนาคารกลางเพื่อลดภาวะร้อนแรงนี้
อย่างไรก็ดี การตัดสินใจขึ้นอัตราดอกเบี้ย ย่อมเปรียบเสมือนการตอกย้ำปัญหาการบริหารทางเศรษฐกิจของรัฐบาล และการขึ้นดอกเบี้ยจะส่งผลให้การเติบโตทางเศรษฐกิจในอนาคตลดต่ำลง, อัตราดอกเบี้ยเพื่อการซื้อบ้านจะสูงขึ้น, อุปสงค์ลดลง และค่าเงินออสเตรเลียจะสูงขึ้น
ผลต่อเนื่องก็คือ ความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของทั้งภาคธุรกิจและประชาชนจะต่ำลง ราคาอสังหาริมทรัพย์จะลดลงอย่างรุนแรง และการจับจ่ายใช้สอยของภาคประชาชนจะลดลงอย่างฮวบฮาบทันที
คำถามต่อมาก็คือ อัตราดอกเบี้ยจะเพิ่มขึ้นอีกหรือเปล่า และจะเพิ่มอีกกี่ครั้ง
คำตอบ ณ ปัจจุบัน คือ ถ้าราคาบ้านยังไม่ลดลงมามาก และการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนยังคงสูงอยู่ ไม่น่าแปลกใจที่ธนาคารกลางจะต้องขึ้นดอกเบี้ยอีกสักครั้งหรือสองครั้ง
ซึ่งเมื่อศึกษาถึงประวัติศาสตร์เศรษฐกิจออสเตรเลีย ก็พบว่า ช่วงปลายทศวรรษ 1980 ถึงทศวรรษ 1990 ธนาคารกลางมีการขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อลดการเติบโตของการใช้จ่ายอยู่หลายครั้ง ซึ่งทำให้อัตราดอกเบี้ยเพื่อการซื้อบ้าน ขึ้นไปถึง 17% ในเดือนมิถุนายน 1989
อย่างไรก็ตาม ปลายทศวรรษ 1980 เป็น ช่วงแรกของการลดกฎเกณฑ์ทางการเงินของออสเตรเลีย ทำให้การดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางทำไปโดยอีกใจหนึ่งก็กลัวว่า การตอบสนองของอุปสงค์จะช้ากว่าอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น, นอกจากนี้ความกังวลเรื่องการพังทลายของค่าเงินออสเตรเลียจากการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดที่อาจจะส่งผลให้ราคาสินค้าส่งออกสูงขึ้นอย่างมากและเงินเฟ้อที่เพิ่มอย่างหยุดไม่อยู่
ในขณะที่ปัจจุบัน ประสบการณ์จากการ ดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่านมาของธนาคารกลาง ทำให้เรียนรู้ว่า อุปสงค์ยังคงตอบสนองต่ออัตราดอกเบี้ย โดยเฉพาะความเชื่อมั่นของภาคเอกชน และผู้บริโภคที่ตอบสนองแทบจะทันที นอกจากนี้ ความกังวลที่ลดลงจากผลกระทบจากการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดต่อมูลค่าของเงินดอลลาร์ออสเตรเลีย และเงินเฟ้อที่ต่ำ ก็ทำให้การดำเนิน นโยบายทำได้ง่ายขึ้น
อย่างไรก็ดี การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดที่ค่อนข้างสูงในช่วงที่ผ่าน ซึ่งเกิดจากปัญหาอุปสงค์ที่สูงกว่าอุปทานมาก และเป็นปัญหาที่ลึกถึงโครงสร้าง ทำให้คาดการณ์กันว่า ธนาคาร กลางจะต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างน้อยอีกหนึ่งครั้ง นั่นคือ อาจจะขึ้นไปถึงระดับ 5.75-6%
จอห์น โฮเวิร์ด นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย ประกาศว่า เขายังคงรักษาสัญญาว่า ภายใต้การบริหารงานของพรรค Liberal อัตราดอกเบี้ยจะยังคงต่ำกว่าภายใต้การบริหารงานของพรรคแรงงาน
อย่างไรก็ดี ไม่มีใครอยากให้ขึ้นดอกเบี้ย แต่ก็ไม่มีใครสามารถรับประกันว่าดอกเบี้ยจะไม่ขึ้น เขาเองก็เช่นกัน
นี่แหละ โวหารการเมือง
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|