เจ้าหนี้โหวตแก้ไขแผน TPI ฉลุย ประชัยเดินเกมยื่นค้านต่อศาลฯ


ผู้จัดการรายวัน(8 พฤษภาคม 2545)



กลับสู่หน้าหลัก

ที่ประชุมเจ้าหนี้เทคะแนนเสียงสนับสนุนคำขอแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการทีพีไอทั้งสองฉบับท่วมท้น 96-97%ของมูลหนี้ เปิดทางอีพีแอลเลื่อนขายทรัพย์สินรองออกไปจนถึง 31 มี.ค. 46

ด้านจพท.เมินคำคัดค้านของผู้บริหารลูกหนี้ อ้างไม่อยู่ในวาระโหวตคะแนนเสียง แต่ให้ใช้ประกอบการพิจารณาของเจ้าหนี้เท่านั้น "ประชัย" โวยจพท.สมรู้ร่วมคิดเจ้าหนี้ ปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบ

ลั่นยื่นคำคัดค้านมติที่ประชุม เจ้าหนี้ต่อศาลฯแน่นอน

วานนี้ (7 พ.ค.) เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ สำนักฟื้นฟูกิจการลูกหนี้ เป็นประธานในที่ประชุมเจ้าหนี้ของบริษัท อุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย จำกัด (มหาชน) หรือ TPI และเจ้าหนี้ของบริษัท ทีพีไอออยล์

จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทใน เครือทีพีไอ เพื่อโหวตลงคะแนนแก้ไขแผนฟื้นฟูฯ 2 ฉบับ ตามที่บริษัท เอ็ฟเฟ็คทีฟ แพลนเนอร์ส จำกัด ในฐานะผู้บริหารแผนฯเป็นผู้เสนอ

โดยคำร้องเพื่อขอแก้ไขแผนฉบับแรกเป็นคำขอแก้ไขวิธีการและเกณฑ์การลงมติยอมรับการแก้ไขแผน ส่วนคำร้องเพื่อขอแก้ไข แผนฉบับที่สองคือ

การขอเลื่อนกำหนดระยะเวลาการจำหน่ายทรัพย์สินที่ไม่ใช่สินทรัพย์หลักมูลค่า 200 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นวันที่ 31 มีนาคม 2546

โดยเจ้าหนี้ทีพีไอลงมติคะแนนเสียงสนับสนุนการแก้ไขตามคำร้องฉบับแรก 96.98% จากมูลหนี้ของเจ้าหนี้ที่เข้าร่วมประชุมและ มีสิทธิลงคะแนนทั้งสิ้น 87,900 ล้านบาท

โดยมีเจ้าหนี้ไม่รับให้แก้ไขแผนฯ 3.02% และงดออกเสียงคิดเป็นมูลหนี้รวม 2,551.61 ล้านบาท ซึ่งการงดออกเสียงนั้นจะไม่ถูกนับอยู่ในฐานการคำนวณ

นอกจากนี้ เจ้าหนี้ได้โหวตเสียงสนับสนุนเพื่อแก้ไขแผนฉบับที่สองด้วยคะแนน 97.22% ของมูลหนี้รวม 88,056 ล้านบาท และไม่สนับสนุนให้แก้ไขแผนฯ 2.78% งดออกเสียงคิดเป็นมูลหนี้ 2,478.13

ล้านบาท ขณะเดียวกัน เจ้าหนี้ของบริษัท น้ำมันทีพีไอ จำกัด ร้อยละ 85.75 ของมูลหนี้ ได้ลงมติเห็นด้วยกับการแก้ไขแผนทั้งสองฉบับดังกล่าวด้วยคะแนนเสียง 85.75% ของมูลหนี้

สำหรับเจ้าหนี้ของบริษัทอื่นๆ ในเครือของทีพีไอ ได้แก่ บริษัท ทีพีไออะโรเมติกส์ จำกัด (มหาชน) บริษัท ผลิตไฟฟ้า ทีพีไอ จำกัด บริษัท ไทยเอบีเอส จำกัด บริษัท ทีพีไอ โพลีออล จำกัด และบริษัท

อุตสาหกรรมโพลียูรีเทนไทย จำกัด (มหาชน) นั้นจะลงคะแนนเสียงในเรื่องทั้งสองในวันที่ 8 พฤษภาคม 2545

นายประชัย เลี่ยวไพรัตน์ อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวต่อไปว่า ตนจะยื่นคัดค้านการขอแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการของทีพีไออย่างแน่นอน

เนื่องจากการประชุมเจ้าหนี้ครั้งนี้ ทางเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ (จพท.) ไม่ได้ทำตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ในแผนฟื้นฟูกิจการของบริษัทฯ จึงถือว่าทำผิด ขั้นตอนของกฎหมาย

"เราจะยื่นคัดค้านการขอแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการต่อศาลฯอย่างแน่นอน เพราะการประชุมเจ้าหนี้ครั้งนี้ทำผิดขั้นตอนของกฎหมาย โดยไม่ได้ทำตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ในแผนฟื้นฟูกิจการฯ

ขณะเดียวกันเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สมรู้ร่วมคิดกับเจ้าหนี้"

นายชวลิต อัตถศาสตร์ ทนายความ บริษัท ที่ปรึกษากฎหมายสากล จำกัด ซึ่งเป็นทนายความให้กับทีพีไอ กล่าวว่า

ทีพีไอในฐานะลูกหนี้มีสิทธิที่จะยื่นคัดค้านต่อศาลล้มละลายกลางก่อนวันที่ศาลจะนัดฟังคำชี้ขาดการแก้ไขแผนฯล่วงหน้า 10 วัน

ซึ่งรายละเอียดของการยื่นคัดค้านนั้นใกล้เคียงกับคำคัดค้านที่ลูกหนี้ได้ยื่นเสนอต่อจพท.เมื่อวันที่ 3 พ.ค.ที่ผ่านมา แต่จพท.อ้างว่าเป็นคำคัดค้าน ไม่ได้ยื่นขอแก้ไขแผนฯ

เนื่องจากจะต้องให้อีพีแอลเซ็นยินยอมเสียก่อน

อย่างไรก็ตาม ในการประชุมเจ้าหนี้ครั้งนี้ จพท.น่าจะใช้ดุลยพินิจปฏิบัติตามกฎหมายและตามแผนฟื้นฟูกิจการของทีพีไอที่ระบุไว้ แต่จพท.กล่าวว่าการยื่นคำร้องคัดค้านของลูกหนี้ ทีพีไอครั้งนี้

ไม่อยู่ในวาระที่จะโหวตลงคะแนน แต่ให้เป็นเรื่องของเจ้าหนี้ตัดสินใจเอง โดยไม่ได้ศึกษารายละเอียดของแผนฟื้นฟูฯ

ซึ่งจพท.ในฐานะเจ้าหน้าที่ของรัฐควรที่ จะต้องปฏิบัติตามกฎหมายและข้อบังคับในแผนฟื้นฟูกิจการ มิฉะนั้นเจ้าหนี้เสียงข้างน้อยจะเสียเปรียบ

"เราไม่ได้ตีรวน แต่อยากให้เป็นไปตามกฎหมาย เห็นว่าการประชุมเจ้าหนี้ครั้งนี้ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ชอบด้วยแผนฯ เช่น เดิมบริษัทฯหนึ่งกำหนดการแก้ไขแผนฟื้นฟู จะต้องได้รับมติพิเศษ

โดยต้องได้รับคะแนนเสียงสนับสนุนจากเจ้าหนี้ 90% โดยไม่มีเจ้าหนี้คัดค้าน แต่มาวันนี้อยากแก้ไขแผนฯ ก็เปลี่ยนหลักเกณฑ์ เป็นเสียงสนับสนุน 75% และเจ้าหนี้คัดค้านได้ ซึ่งทำอย่างนี้

เจ้าหนี้เสียงข้างน้อยที่เคยโหวตรับแผนฯไปแล้วก็เสียเปรียบ"

ศาลนัดชี้ขาดแก้ไขแผนฯ 25 มิ.ย.นี้

นายปีเตอร์ กอทธาร์ด ผู้บริหารอาวุโส บริษัท เอ็ฟเฟ็คทีฟ แพลนเนอร์ส จำกัด กล่าวว่า ตามมาตรา 90/63 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย ได้ให้อำนาจแก่ผู้บริหารแผนในการเสนอให้มีการ

แก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการ ทั้งนี้เพื่อสนับสนุนให้การฟื้นฟูกิจการบรรลุผลสำเร็จลุล่วงตาม เป้าหมาย โดยอีพีแอลเชื่อว่า

ด้วยคะแนนเสียงสนับสนุนจากเจ้าหนี้ที่ได้รับจะช่วยให้การดำเนินการตามแผนฟื้นฟูดำเนินต่อไปอย่าง ราบรื่น

"การแก้ไขหลักเกณฑ์ดังกล่าวเป็นสิ่งที่มีความจำเป็น เพื่อให้การแก้ไขแผนที่มีขึ้นในปัจจุบันและอนาคตเป็นไปโดยสะดวกและราบรื่น

อีกทั้งยังมีจุดมุ่งหมาย เพื่อยกเลิกหลักเกณฑ์ที่ระบุให้เจ้าหนี้รายใดรายหนึ่ง มีสิทธิคัดค้านการลงมติของเจ้าหนี้ส่วนใหญ่อีกด้วย" นายปีเตอร์ กล่าวสรุป

ซึ่งคำร้องเพื่อขอแก้ไขแผนฉบับแรก เป็น การขอความเห็นชอบให้มีการยกเลิกเงื่อนไขที่กำหนดว่า ในการประชุมของเจ้าหนี้ตามแผนการ ปรับโครงสร้างทางการเงินเพื่อลงมติให้มีการปรับแผนนั้น

หากมีการคัดค้านจากเจ้าหนี้รายใด รายหนึ่ง เสียงที่ลงคะแนนจะต้องตกไป และให้ยึดหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ. ล้มละลายแทน

โดยยังคงให้คณะกรรมการเจ้าหน้าที่ มีสิทธิเรียกประชุมเจ้าหนี้ประเมินเสียงสนับสนุนในการแก้ไขแผน ที่มีสาระสำคัญก่อนที่จะมีการประชุมเจ้าหนี้ตามกฎหมายล้มละลายต่อไป

อย่างไรก็ตามผลของการประชุมเจ้าหนี้เพื่อประเมินเสียงนี้จะไม่ผูกพันเจ้าหนี้ เมื่อจะลงมติในการประชุมเจ้าหนี้ตามกฎหมายล้มละลาย

คำร้องเพื่อขอแก้ไขแผนฉบับที่สอง คือ การขอเลื่อนกำหนดระยะเวลาการจำหน่ายทรัพย์สินหลักมูลค่า 200 ล้านเหรียญสหรัฐ จากวันที่ 31 ธันวาคม 2544 เป็นวันที่ 31 มีนาคม 2546

หรือวันอื่นที่อาจมีการขยายออกไปตามที่เสียงส่วนใหญ่ในที่ประชุมเจ้าหนี้ที่เข้าร่วมแผนปรับโครงสร้างหนี้ทางการเงินเห็นชอบ

ซึ่งการเลื่อนกำหนดเวลาไปจนถึงวันดังกล่าวได้ดำเนินถึงเวลาที่ใช้ไปในการแก้ไขแผน และเวลาที่ผู้บริหารแผนประเมินว่าจะต้องใช้ในการสรุปการขายทรัพย์สินที่ไม่ใช่สินทรัพย์หลักทั้งหมด

นอกจากนี้ มติดังกล่าวยังระบุไว้อีกว่า หากต้องการขยายกำหนดเวลาใหม่สำหรับการขายทรัพย์สินที่มิใช่สินทรัพย์หลักนี้ออกไปอีก

จะต้องได้รับความเห็นชอบจากเจ้าหนี้ของทีพีไอและบริษัทในเครืออีก 6 แห่งในสัดส่วนหนี้มากกว่า 50%

ทั้งนี้ ศาลล้มละลายกลางได้กำหนดให้มีการพิจารณาว่าจะมีคำสั่งเห็นชอบการแก้ไข แผนตามที่ได้มีการลงมติไปหรือไม่ในวันที่ 25 มิถุนายน 2545 ศกนี้

นายเจษฎ์ เจษฎ์ปิยะวงศ์ ที่ปรึกษาผู้บริหาร บริษัท เอ็ฟเฟ็คทีฟ แพลนเนอร์ส จำกัด กล่าวว่า เอ็ฟเฟ็คทีฟ แพลนเนอร์สจะสามารถขายสินทรัพย์รองที่มีอยู่ได้ตามกำหนด

โดยมูลค่าสินทรัพย์รองที่จะขายมีจำนวน 200 ล้านเหรียญสหรัฐ ในจำนวนนี้ขายได้แล้ว 30ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นการขายหนี้ของบริษัท ทีพีไอโพลีนในราคาส่วนลดและขายหุ้นบริษัท ไทยคาโปเล็คตัม

ที่บริษัทถืออยู่ ส่วนสินทรัพย์ที่เหลืออีก 170 ล้านเหรียญสหรัฐจะมาจากการขายโรงไฟฟ้า คลังน้ำมัน และอสังหาริมทรัพย์

ซึ่งการขายธุรกิจโรงไฟฟ้ามูลค่า 100 ล้านเหรียญสหรัฐ คาดว่าจะลงนามสัญญากับบมจ. บ้านปูได้ภายใน 2-3 เดือนข้างหน้านี้ ในส่วนของท่าเรือคงจะเลื่อนการขายออกไปก่อน

เนื่องจากยังไม่มีความพร้อม หากเร่งดำเนินการขายจะทำให้ได้ราคาต่ำ แต่เชื่อว่าสินทรัพย์รอง ที่มีอยู่ถ้าไม่นับรวมท่าเรือก็มีมูลค่าถึง 200 ล้านเหรียญสหรัฐ



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.