เจ้าหนี้ทำ Hair cut 45% ไทยออยล์ต้องจ่ายไปด้วยราคาสูง


นิตยสารผู้จัดการ( มกราคม 2543)



กลับสู่หน้าหลัก

ความคืบหน้าในการปรับโครงสร้างหนี้ และปรับปรุงกิจการของไทยออยล์ดำเนินมาเป็นลำดับ และสถานการณ์ของบริษัทก็ดีขึ้นเรื่อยๆ จน คาดว่าจะก้าวเข้าสู่ศักราชใหม่ด้วย การมุ่งหน้าควบรวมกับกิจการด้านการตลาดของการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย(ปตท.)ได้ แต่ความคืบหน้าดัง กล่าวก็ต้องมาสะดุดลงชั่วคราวเมื่อบริษัทเกิดอุบัติเหตุถังน้ำมันระเบิดในวันที่ 2 ธันวาคม 2542

เหตุการณ์ถังน้ำมันระเบิดถือเป็นอุบัติเหตุครั้งรุนแรงที่สุดของบริษัท ที่ ได้พยายามสะสมชั่วโมงความปลอดภัยในการทำงานมาได้หลายแสนชั่วโมง นับแต่ก่อตั้งบริษัท และบริษัทก็เพิ่งเข้ารับใบรับรองมาตรฐานอุตสาหกรรมไปหมาดๆ

อย่างไรก็ดี อุบัติเหตุครั้งนี้ไม่ได้ทำให้แผนงานต่างๆ ต้องชะลอออกไป โดยเฉพาะในเรื่องการปรับโครงสร้าง หนี้ ซึ่งเมื่อวันที่ 15 ธ.ค. ที่ผ่านมาได้ มีการโหวตรับแผนปรับโครงสร้างหนี้ไปแล้วโดยเจ้าหนี้ส่วนใหญ่ แต่มีเจ้าหนี้จำนวน 2-3 รายที่ครองหนี้ด้อยสิทธิกลุ่มหนึ่งประมาณ 6% โหวตไม่รับแผน เพราะหนี้กลุ่มนี้ถูก hair cut มาก

ดังนั้น ขั้นตอนของไทยออยล์ก็คือ นำเรื่องเข้าสู่กระบวนการของศาลล้มละลาย ซึ่งได้มีการยื่นเอกสารเกี่ยวกับผลการประชุมเจ้าหนี้ เพื่อปรับโครงสร้างหนี้ และการซื้อหนี้คืนจากเจ้าหนี้ ให้ศาลพิจารณาไปแล้วเมื่อ 16 ธ.ค. 2542 และศาลได้ประทับรับฟ้องไว้แล้ว ศาลจะไต่สวนคดี และไทยออยล์ ต้องยื่นแผนฟื้นฟูกิจการให้ศาลพิจารณาเป็นลำดับถัดไป กระบวนการใน ศาลใช้เวลาประมาณ 3 เดือน

พร้อมกันนี้ในวันที่ 15 ธ.ค. 2542 บริษัทยังได้ดำเนิน การซื้อลดหนี้ จากเจ้าหนี้ ที่สนใจจะขายหนี้คืนให้บริษัท (debt buy back) ไม่ต้องการรอการชำระหนี้ ที่ยาวนานถึง 14 ปี ซึ่งปรากฏว่ามีเจ้าหนี้ขายหนี้คืนให้ไทยออยล์มากกว่า ที่คาดหมายไว้ถึง 9.5%

ทั้งนี้ฝ่ายเจ้าหนี้ได้ขายคืนหนี้จำนวน 312 ล้านเหรียญให้แก่ไทยออยล์ ในอัตราซื้อคืนเหรียญละ 55 เซ็นต์ หรือคิดเป็นมูลค่า 171.6 ล้าน เหรียญ ซึ่งเท่ากับว่าไทยออยล์ได้ส่วนลดถึง 45% (หรือมี hair cut 45%) แต่เดิมไทยออยล์คาดหมายว่าเจ้าหนี้จะขายคืนหนี้เพียง 285 ล้านเหรียญ เท่านั้ น แต่ปรากฏว่าเมื่อถึงเวลาจริงกลับได้มากกว่า ที่ตั้งเป้าหมายไว้ ซึ่งชี้ให้เห็นว่าเจ้าหนี้พร้อม ที่จะดำเนินตามแผนการปรับโครงสร้างหนี้ ที่เจรจากัน ไว้ หรือบางข่าวก็กล่าวว่าเจ้าหนี้กลัวหนี้สูญอันเนื่องมาจากความเสี่ยงเรื่องอุบัติเหตุ ที่ได้เกิดขึ้น

บริษัทคาดหมายว่าจะมีการลงนามในข้อตกลงสุดท้ายของแผนการปรับโครงสร้างหนี้ ได้ในราวปลายเดือนก.พ.หรือต้นเดือนมี.ค. 2543 ซึ่งเมื่อ ถึงเวลานั้น มูลหนี้ของไทยออยล์จะลดลงเหลือประมาณ 1,000 กว่าล้าน เหรียญ และไทยออยล์ จะทยอยชำระคืนในเวลา 14 ปีพร้อมดอกเบี้ยใน อัตรา Libor flat สำหรับหนี้เป็นสกุลเงินดอลลาร์ (อัตราดอกเบี้ยระยะสั้น ในตลาดลอนดอน คิด ณ วันที่ ครบดีล) และอัตราดอกเบี้ย MLR สำหรับ หนี้เงินบาท ส่วนหนี้เงินเยนนั้น ใช้อัตราดอกเบี้ยระยะสั้นในตลาดโตเกียว (Tibor) โดยในช่วง 3 ปีแรกเป็นระยะปลอดดอกเบี้ย

การเข้าสู่กระบวนการศาล เพื่อขอฟื้นฟูกิจการนั้น ถือเป็นทางออกสำหรับกลุ่มเจ้าหนี้ส่วนน้อย ที่ไม่พอใจเงื่อนไขการชำระหนี้ของไทยออยล์ ซึ่ง เดิมจะมีการขอลดหนี้แค่ 20% และเจ้าหนี้ส่วนน้อยก็ไม่พอใจอยู่แล้ว แต่ครั้นเมื่อเกิดอุบัติเหตุไฟไหม้ถังน้ำมัน บริษัทกลับได้ส่วนลดมากขึ้นเป็น 45% ในการซื้อหนี้คืนทันที แถมเจ้าหนี้ยังนำหนี้มาขายคืนในจำนวนมากกว่า ที่ตั้งเป้าหมายไว้ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม แต่ถือว่าเป็นการปรับตัวได้อย่างดีของไทยออยล์

หรืออาจจะกล่าวในอีกทางหนึ่งว่า หากไม่มีอุบัติเหตุครั้งนี้ แผนการขอลดหนี้หรือการซื้อหนี้คืนอาจไม่ได้ผล

แต่ในอีกทางหนึ่ง การได้ส่วนลด 45% ครั้งนี้ก็เป็น "ราคา" ที่ไทยออยล์มีต้นทุนอยู่ไม่น ้อย ต้องถือว่าเป็นราคา ที่สูงอยู่พอสมควรเมื่อแลกกับชื่อเสียงเรื่องมาตรฐานความปลอดภัย ที่บริษัทเคยมีสูงสุดในระดับโลก

จุลจิตต์ บุณยเกตุ กรรมการอำนวยการ ไทยออยล์ ดูเหมือนเป็นคน "โชคร้าย" ในปีสุดท้ายของศตวรรษ เขาเป็นลูกหม้อบริษัท ที่เห็นความเจริญเติบโตของกิจการจากบริษัทน้ำมันเล็กๆ จนแตกหน่อออกเป็นผู้ผลิตน้ำมัน รายใหญ่รายหนึ่งในภูมิภาค เป็นบริษัทชั้นนำของประเทศ ที่มีความมั่นคงแข็งแกร่ง มีกิจการในเครือแผ่ขยายออกไปมากมาย มีผลการดำเนินงานดีเยี่ยมมาตลอด

แต่แล้วเมื่อประเทศประสบปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจครั้งรุนแรงที่สุด ไทยออยล์ก็ลำบากตามไปด้วย จุลจิตต์ก้าวขึ้นมาเป็นผู้บริหารเบอร์หนึ่ง และเป็นผู้ประกาศการพักชำระหนี้ของบริษัทเป็นเวลา 9 เดือน นั่นเป็นการสูญเสีย ความน่าเชื่อถือในสถานะทางการเงิน ที่บริษัท ซึ่งมีทุนจดทะเบียนเพียง 20 ล้านบาทแต่สามารถขยายกิจการไปได้จนมีสินทรัพย์ถึง 93,798 ล้านบาท ด้วยการใช้เงินกู้ทั้งสิ้น และเป็นเงินกู้ประเภท clean loan จากฝีมือของเกษม จาติกวณิช กรรมการอำนวยการคนก่อนหน้า

นอกจากนี้จุลจิตต์ยังต้องเจรจากับเจ้าหนี้ 124 รายเรื่องแผนการปรับโครงสร้างหนี้ จนนำไปสู่การเข้ากระบวนการของศาลล้มละลาย เขาต้อง เจรจาให้ปตท.เข้ามาช่วยเหลือ เพื่อความอยู่รอดของไทยออยล์ ซึ่งปตท.ก็จะ เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ในสัดส่วน 49% ในไทยออยล์

ท้ายที่สุดจุลจิตต ์ยังได้เห็นเปลวเพลิงลุกไหม้ถังเก็บน้ำมันไทยออยล์-เหตุการณ์ ที่กระหน่ำซ้ำเติมวิกฤติของบริษัท มากขึ้นไปอีก

แต่ชายคนนี้เป็นคนที่มีฝีมือคนหนึ่งทีเดียว การพลิกวิกฤติเป็นโอกาส คือ สิ่งที่เกิดขึ้น และเราได้มองเห็น ที่ไทยออยล์ ภายใต้ผลงานของจุลจิตต์

การที่เขาสามารถลดภาระหนี้ของบริษัทลงไปได้ถึงครึ่งหนึ่งในครั้งนี้ แม้เป็นราคา ที่จ่ายมาแพง หากคิดคำนวณให้ดี แต่ก็เป็นทางรอดที่ดีของบริษัท

ในภาวะ ที่เศรษฐกิจของประเทศเริ่มผงกหัวขึ้นแล้ว เราจะได้เฝ้ามองไทยออยล์ผงาดขึ้นด้วยชีวิตใหม่ในศักราชใหม่



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.