วิรัตน์ แสงทองคำ หาโรงเรียนให้ลูก

โดย อรวรรณ บัณฑิตกุล
นิตยสารผู้จัดการ( เมษายน 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

เขาใช้เวลา 5 ปีเต็มในการศึกษาโรงเรียนมัธยมศึกษาทั่วโลก เพื่อหาโรงเรียนให้บุตรทั้งสอง บทเรียนและความรู้ของเขา สามารถเขียนหนังสือ "หาโรงเรียนให้ลูก" ได้เล่มหนึ่ง เมื่อ 3 ปีที่แล้ว

นับเป็นหนังสือที่ทรงอิทธิพลต่อคนระดับกลางในสังคมขึ้นไปมากเล่มหนึ่ง แต่วันนี้เขาได้ปรับปรุงหนังสือเล่มนั้นใหม่ เรียกว่า Totally Revised เป็นผลมาจากที่เขามีประสบการณ์ครบถ้วนแล้ว วันนี้บุตรทั้งสองของเขาเข้าเรียนโรงเรียน ที่ค้นพบแล้ว

วิรัตน์ แสงทองคำ ไม่ยอมบอกชื่อโรงเรียน เพียงแต่เผยว่าบุตรคนโตอายุ 13 ปี เข้าโรงเรียน ที่แปซิฟิกใต้ ส่วนคนเล็ก 10 ขวบเข้าโรงเรียนนานาชาติในบ้านเรา
ดังนั้นหนังสือ "หาโรงเรียนให้ลูก" พิมพ์ครั้งล่าสุด จึงเป็นบทเรียนและคำแนะนำที่สมบูรณ์ ในตัวเอง

และนี่คือบทสนทนาระหว่าง "ผู้จัดการ" กับวิรัตน์ แสงทองคำ เกี่ยวกับหนังสือของเขาผู้จัดการ

ทำไมคนไทยต้องส่งลูกไปเรียนมัธยมศึกษาในต่างประเทศ

วิรัตน์
หนังสือเล่มนี้ตอบคำถามไว้หมดครับ คุณต้องซื้ออ่านแล้ว (หัวเราะ) แต่สิ่งที่ผมตอบไว้เบื้องต้นเป็นหลักคิด คือการศึกษาคนอื่น ศึกษาบทเรียนคนอื่นๆ การซื้อข้อมูลหรือความรู้จากคนอื่นๆ เป็นเรื่องสำคัญ ของยุคนี้ ความคิดที่ว่าเสียเงินตราต่างประเทศเพื่อเรียนเมืองนอก เป็นเรื่องไม่รักชาตินั้น เป็นความคิดที่ไม่เอาไหนเรื่องหนึ่ง เพราะคนไทยวันนี้จ่ายเงินในเรื่องที่ไม่จำเป็นมากมาย และที่สำคัญจ่ายเงินเพื่อความรู้ คำแนะนำ จากต่างประเทศ มากกว่าส่งลูกไปเรียน โดยที่คุณอาจไม่รู้ตัวมากมายนัก

ผู้จัดการ
หนังสือของคุณบอกว่า แนวโน้มคนเอเชียศึกษาในโรงเรียนมัธยมของโลกตะวันตกมากขึ้น

วิรัตน์
ถูกต้องครับ แต่จะพูดให้ถูก คนทั่วโลกศึกษาซึ่งกันและกันมากขึ้น ในโลกยุคนี้คุณอาจจะตกใจว่า โลกตะวันตกแอบศึกษาโลกตะวันออกมากกว่าที่เราคิด คำว่า Globalization เนื้อแท้หมายถึงการศึกษาซึ่งกันและกัน อยู่ร่วมกัน แชร์กัน ต่อสู้ แข่งขันกัน ยิ่งโลกเป็นเช่นนี้มากขึ้น การศึกษาซึ่งกันมีมากขึ้นด้วย นอกจากนี้การศึกษาเป็นเรื่องกว้างมาก แนวคิดที่ว่า การศึกษาเพื่อไต่ขึ้นยอดพีระมิดของสังคมไทยนั้นล้าสมัยไปแล้ว มันไม่มีพีระมิด มีแต่พื้นที่แห่งโอกาสที่กว้างขวางกว่าอดีต เพียงแต่คุณต้องเตรียมพร้อมที่จะคว้าโอกาสนั้น

ผู้จัดการ
ระบบโรงเรียนมัธยมเมืองไทย ใช้ไม่ได้หรือ

วิรัตน์
หนังสือผมไม่ได้พูดอย่างนั้นเลย แต่ผมเองได้ยินคนอื่นพูดกันเยอะเหมือนกัน เรื่องที่ผมเสนอไม่ใช่แนวทางหลัก หากเป็นทางเลือกของคนที่มีโอกาส ความจริงทางเลือกมีมากกว่าหนังสือของผมอีก ผมเขียนในคำนำเลยว่า หนังสือเล่มนี้อาจจะจุดประกายให้ผู้อ่านแสวงหาทางเลือกที่ดีกว่า มากกว่าที่เป็นอยู่ มากกว่าหนังสือหา โรงเรียนให้ลูกเขียนไว้

ผู้จัดการ
คุณใช้เวลาศึกษาตั้ง 5 ปี

วิรัตน์
ใช่ครับ

ผู้จัดการ
รู้สึกว่าใช้เวลานานมาก

วิรัตน์
ผมอยากจะเรียกว่าเป็นกระบวนการศึกษา กระบวนการเรียนรู้มากกว่า ความจริงคนเขียนหนังสือทั่วไป หาข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องๆ หนึ่ง สัก 6 เดือนก็อาจจะเรียบเรียงหนังสือขึ้นมาเล่มหนึ่งที่ทำๆ กัน แต่ผมคิดว่าทางที่ดีต้องนำข้อมูลความรู้ที่ได้มาลองปฏิบัติดูด้วย ถึงจะถือว่าเป็นความรู้จริงๆ 5 ปี หมายถึงตั้งแต่เวลาการหาข้อมูล เดินทางไปตระเวนดูโรงเรียน จนถึงส่งลูกเข้าโรงเรียนได้จริง ยิ่งกว่านั้นผมอยากจะเรียนว่าเรื่องการศึกษาเป็นเรื่องความคิด เป็นเรื่องยุทธศาสตร์ ไม่ใช่เรื่องที่คิดกันง่ายๆ ความรู้ ความเข้าใจ ใช้เวลาตกผลึกพอสมควร

ผู้จัดการ
เล่มนี้เพิ่มข้อมูลเกี่ยวกับโรงเรียนนานาชาติด้วย

วิรัตน์
ครับ เรื่องโรงเรียนนานาชาติเป็นเรื่องมหัศจรรย์มาก คุณเชื่อไหมว่า 10 ปีมานี้ โรงเรียนนานาชาติในเมืองไทยเกิดขึ้นอย่างครึกโครมที่สุดในโลก มีโรงเรียนใหม่มากกว่า 50 แห่ง มีเครือข่ายโรงเรียนอังกฤษ ซึ่งไม่เคยเปิดสาขานอกประเทศมาก่อน ถึง 4 แห่งมาเปิดที่เมืองไทย ที่ที่ไม่ใช่อดีตเมืองขึ้น ที่ที่มีความล้มเหลวในการเรียนภาษาอังกฤษมากที่สุดในโลกประเทศหนึ่ง ที่สำคัญในช่วง 5 ปีมานี้โรงเรียนนานาชาติที่เกิดใหม่พัฒนาตัวเองสู่มาตรฐานโลกอย่างชัดเจน ผมเชื่อว่าในอนาคตอันใกล้นี้ โรงเรียนนานาชาติจะเป็นธุรกิจใหม่ของไทย เช่น โรงพยาบาลที่มีลักษณะภูมิภาค อีกอย่างหนึ่งคนไทยกลุ่มบนได้ย้ายบุตรหลานของตนเองเข้าสู่ระบบ การศึกษาระบบนี้อย่างชัดเจนแล้ว ผมคิดว่า นี่ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งของการศึกษาไทย เมื่อคนมองเห็นแนวทางหลักมีปัญหา ทางเลือกใหม่ย่อมเกิดขึ้น นี่คือกฎธรรมดาๆ

ผู้จัดการ
การศึกษาของคุณเกี่ยวกับเรื่องนี้จบหรือยัง

วิรัตน์
ยังครับ ยังมีเรื่องใหม่ที่ได้รู้มากขึ้น รู้สึกสนุกมากขึ้น เลยได้คิด ว่าผมคงจะต้องเขียนหนังสือชุดนี้เป็นซีรีส์อีกสัก 2-3 เล่ม ตั้งแต่เรื่องสนุกๆ เช่น สารคดีท่องเที่ยวไปเยี่ยมลูกตอนปิดเทอมกลางปี ไปจนถึงศึกษาการเรียนระดับปริญญาตรีในมหาวิทยาลัยทั่วโลก ซึ่งมีเรื่องที่น่าสนใจอีกมาก ผมเริ่มศึกษาบ้างแล้ว มันมีอะไรมากกว่าคู่มือที่ส่วนใหญ่มาจากความคิดอเมริกัน


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.