ก.ล.ต.ชนค่าคอมฯคงที่ พุ่งเป้านโยบายตลท.โบรกมุ่งกำไรไม่พัฒนา


ผู้จัดการรายวัน(7 พฤษภาคม 2545)



กลับสู่หน้าหลัก

ก.ล.ต.ชี้ค่าธรรมเนียมใหม่ งานวิจัยของโบรกเกอร์แต่ละแห่งไม่มีความแตกต่าง การกำหนดให้มีการคิดค่าคอมมิชชั่นเป็นเพียงการเพิ่มโอกาสในการสร้างกำไรของโบรกเกอร์เท่านั้น

ขณะที่คนวงการยอมรับจริง แต่ประเมินเร็วไป เพราะต้องรอประเมินทิศทางก่อนลงทุนเพิ่ม ชี้งานนี้น่าจะพุ่งเป้าชนตลาดหลักทรัพย์ฯ

นายพิชิต อัคราทิตย์ ผู้อำนวยการ สำนักวิจัยและพัฒนาตลาดทุน สำนักงานคณะกรรมการ กำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า การที่ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.)

กำหนดให้บริษัทหลักทรัพย์กลับมาใช้ค่าธรรมเนียมการซื้อขายหลักทรัพย์(ค่าคอมมิชชั่น) แบบกำหนดเพดานขั้นต่ำอีกครั้ง อาจไม่ช่วยให้คุณภาพบทวิจัยเพิ่มขึ้น

แต่เป็นแค่การช่วยให้บริษัทหลักทรัพย์มีกำไรเพิ่มขึ้นโดยไม่มีการพัฒนาคุณภาพบทวิจัยและการ บริหาร เนื่องจากไม่มีข้อมูลชัดเจนว่าบริษัทหลักทรัพย์จะนำรายได้ที่เพิ่มขึ้นไปพัฒนาฝ่ายวิจัย

ทั้งนี้ จากการศึกษาของโครงการเศรษฐศาสตร์ธุรกิจ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เกี่ยวกับปริมาณและคุณภาพบทวิจัยในช่วงก่อนและหลังการเปิดเสรีค่าคอมมิชชั่น

ซึ่งมีการเก็บข้อมูลจากบริษัทหลักทรัพย์ 27 แห่ง และบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม (บลจ.) 7 แห่ง รวมถึงนักลงทุนทั่วไปพบว่าปริมาณและคุณภาพบทวิจัยของบริษัทหลักทรัพย์แต่ละแห่งใน 2

ช่วงเวลาดังกล่าวเทียบกันไม่ได้มีความแตกต่างกันมากนัก แต่สิ่งที่เปลี่ยนไปคือความรับผิดชอบของเจ้าหน้าที่ฝ่ายวิจัย

โดยจากข้อมูลที่สำรวจ ระบุว่าก่อนหน้าที่จะมีการเปิดเสรีค่าคอมมิชชั่นในปี 2543 เจ้าหน้าที่ฝ่ายวิจัยแต่ละราย จะต้องรับผิดชอบ การทำบทวิจัยของบริษัทประมาณ 13 แห่ง

แต่หลังจากการเปิดเสรีค่าคอมมิชชั่น ความ รับผิดชอบดังกล่าวเพิ่มเป็นคนละ 14 แห่ง ส่วนจำนวนบทวิจัยต่อวันของบริษัทหลักทรัพย์แต่ละแห่ง อยู่ที่ 4 ฉบับเท่าเดิม

อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่า ภายหลังจากการเปิดเสรีค่าคอมมิชชั่นแล้วคุณภาพของเจ้าหน้าที่ฝ่ายวิจัยโดยรวมเพิ่มสูงขึ้น

เพราะมีแนวโน้มที่บริษัทหลักทรัพย์จะรับเจ้าหน้าที่ฝ่ายวิจัยที่สามารถวิจัยตลาดหุ้นในระดับภูมิภาคได้มากขึ้น และจำนวนเจ้าหน้าที่ฝ่ายวิจัย ในระดับที่ได้รับประกาศนียบัตรมาตรฐานนักวิจัย

ก็เพิ่มจากร้อยละ 14.94 ของเจ้าหน้าที่วิจัยทั้งระบบในช่วงก่อนเปิดเสรีมาเป็นร้อยละ 15.6 หลังเปิดเสรีค่าคอมมิชชั่น

รับบทวิจัยเหมือนเดิม

ก่อนหน้านี้นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเปิดเผยว่า

ตลาดหลักทรัพย์ได้ออกข้อบังคับในเรื่องเกี่ยวกับการกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมในการเป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ที่บริษัทหลักทรัพย์ ซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ 14 มกราคม 2545 เป็นต้นไป

โดยให้บริษัทสมาชิกเรียกเก็บจากลูกค้าในอัตราไม่ต่ำกว่าร้อยละ 0.25 ของมูลค่าการซื้อขายสำหรับลูกค้าทุกประเภท และอัตราไม่ต่ำกว่าร้อยละ 0.20 สำหรับการ ซื้อขายหลักทรัพย์ผ่านอินเทอร์เน็ต

รวมทั้งกำหนดให้บริษัทหลักทรัพย์ปรับปรุงการให้บริการด้านการวิเคราะห์หลักทรัพย์แก่ลูกค้า

โดยกำหนดให้ต้องมีนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ที่มีความรู้ความสามารถจบการศึกษาขั้นต่ำระดับปริญญาตรีอย่างน้อย 2 คน และนำเสนอบทวิเคราะห์หลักทรัพย์เพื่อให้บริการลูกค้าอย่างสม่ำเสมอ

นักวิเคราะห์หลักทรัพย์รายหนึ่งกล่าวว่า สิ่งที่ก.ล.ต.กล่าวนั้นก็ตรงกับความเป็นจริง เพราะว่านับตั้งแต่ใช้ค่าธรรมเนียมซื้อขายขั้นต่ำ 0.25% เมื่อ 14 มกราคมที่ผ่านมา

บริษัทหลักทรัพย์เกือบทุกแห่งยังไม่ได้ปรับปรุงในเรื่องคุณภาพของบทวิจัยมากนัก นักวิเคราะห์ทุกคนยังทำหน้าที่ไม่แตกต่างไปจากเดิม

และถ้าจะพิจารณาจากเงื่อนไขของตลาดหลักทรัพย์ที่กำหนดให้บริษัทหลักทรัพย์ ต้องมีนักวิเคราะห์จบการศึกษาขั้นต่ำระดับปริญญาตรีอย่างน้อย 2 คน และเสนอบทวิเคราะห์อย่างสม่ำเสมอ

ถือได้ว่าบริษัทหลักทรัพย์แทบทุกแห่งก็มีนักวิเคราะห์ประมาณนี้อยู่แล้ว

นักวิเคราะห์ 1 คนจะต้องดูและในหลายอุตสาหกรรม เพื่อให้ครอบคลุมหุ้นกลุ่มที่สำคัญ แตกต่างจากเมื่อครั้งก่อนที่จะใช้ค่าธรรมเนียมซื้อขายเสรีที่นักวิเคราะห์ 1

คนจะดูแลกลุ่มอุตสาหกรรมคนละประมาณ 2-3 กลุ่มเท่านั้น ส่วนการจะเพิ่มจำนวนนักวิเคราะห์ในทีมงานนั้น คงจะเป็นเรื่องการตัดสินใจของผู้บริหารบริษัทหลักทรัพย์Ž

ด่าเร็วไป

ผู้บริหารบริษัทหลักทรัพย์รายหนึ่งกล่าวว่า การเพิ่มจำนวนนักวิเคราะห์นั้นคงจะต้องพิจารณา ถึงแนวโน้ม และทิศทางของตลาดหุ้นก่อน เพราะค่าธรรมเนียมขั้นต่ำที่ 0.25% เพิ่มเริ่มใช้เมื่อ

กลางเดือนมกราคม ซึ่งระยะเวลาแค่ 2 เดือนครึ่งนั้นก็สร้างรายได้ให้กับโบรกเกอร์ไม่น้อย

ในทางธุรกิจแล้วเราต้องรอผลและความเป็นได้ก่อน จากตัวเลขผลการดำเนินงานในไตรมาสแรกของปี 2545 เชื่อว่าทุกบริษัทคงอยู่ในระหว่างการตัดสินใจว่าจะเพิ่มมากน้อยเพียงใด

เพราะเมื่อค่าธรรมเนียมในการซื้อขายหุ้นเท่ากันแล้ว จุดขายจะอยู่ที่บทวิเคราะห์ เชื่อว่าทุกค่ายก็ต้องเร่งสร้างคุณภาพให้กับทีมวิเคราะห์ของตนเอง

บทศึกษาของก.ล.ต.นำมาใช้นั้นเป็น การสำรวจที่เร็วเกินไป เพราะภายหลังจากการใช้ค่าธรรมเนียมขั้นต่ำ 0.25% นั้น คงจะมีบางค่ายเท่านั้นที่เพิ่มนักวิเคราะห์ เนื่องจากเดิมเหลือนักวิเคราะห์แค่คนเดียว

เราไม่แน่ใจว่าจุดประสงค์ที่แท้จริงของการเผยแพร่ผลการศึกษาดังกล่าวว่าต้องการอะไร ส่วนหนึ่งถือเป็นการประจานโบรกเกอร์ว่าเห็นแก่ตัว มุ่งหวังแต่รายได้ โดยไม่ยอมเพิ่มคุณภาพ งานวิจัย

หรืออาจจะก้าวไปถึงการตัดสินใจของผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยกับนายกสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ ที่เป็นผู้ริเริ่มให้ใช้ค่าธรรมเนียมซื้อขายขั้นต่ำ 0.25% ซึ่งถือเป็นการหักหน้า ก.ล.ต.Ž

เพราะก.ล.ต.เป็นต้นคิดการใช้ค่าธรรมเนียม ซื้อขายเสรี จนทำให้โบรกเกอร์ทุกแห่งต้องเน้นแข่งขันกันลดค่าธรรมเนียม โบรกเกอร์จึงต้องปรับกลยุทธ์เพื่อให้นักลงทุนเพิ่มรอบซื้อขายหุ้นมากขึ้น

จึงกลายการเล่นหุ้นเพื่อการเก็งกำไรมากกว่าการลงทุนในระยะยาว

การที่ใช้ค่าธรรมเนียมขั้นต่ำ 0.25% นั้น สร้างความไม่พอใจให้กับ ก.ล.ต.เป็นอย่างมาก เพราะถือว่าไม่เป็นไปตามนโยบายการเปิดเสรีทางการเงินและโดยสถานะของก.ล.ต.จะทำหน้าที่

เป็นผู้ควบคุมตลาดหลักทรัพย์อีกต่อหนึ่ง



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.