|
Consumer Banker
โดย
ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์
นิตยสารผู้จัดการ( เมษายน 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
ธุรกิจธนาคารนับวันจะยิ่งไม่แตกต่างกัน แต่สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดนครธนกลับใช้ประสบการณ์จากเครือข่ายในต่างประเทศมาสร้างความแตกต่างให้บริการ consumer banking ของตนเองจนเป็นรายได้หลักในปัจจุบัน
"SUVOY" เป็นข้อความในป้ายที่ปรากฏให้เห็นอยู่ทั่วไปในพื้นที่ของฝ่ายบุคคลธนกิจของธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดนครธน (SCNB) คำนี้ไม่ได้เป็นสโลแกนด้านการบริหารที่หยิบยืมมาจากกูรูต่างชาติคนใดหรือสำนักใด แต่กลับเป็นถ้อยคำที่คนไทยคุ้นเคยกันเป็นอย่างดีในช่วงการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่กรีซในปีที่ผ่านมา เพราะ SUVOY ก็คือ "สู้โว้ย" ที่น้องอร อุดมพร พลศักดิ์ นักยกน้ำหนักเหรียญทองโอลิมปิกใช้กระตุ้นตัวเองก่อนการแข่งขันยกน้ำหนักทุกครั้งนั่นเอง
จะว่าไปแล้ว "สู้โว้ย" ก็เข้ากับสถานการณ์ของฝ่ายบุคคลธนกิจในช่วงไตรมาสแรกที่ผ่านมาอยู่พอดี เพราะเป้าการปล่อยสินเชื่อ 10,000 ล้านบาทในระยะเวลา 3 เดือนที่ตั้งเอาไว้นั้นแน่นอนว่า ต้องอาศัยทั้งการกระตุ้นและความร่วมมือร่วมใจกันของพนักงานธนาคารแห่งนี้เพื่อให้สามารถบรรลุผลได้ และหากทำได้สำเร็จก็เท่ากับเป็นความสำเร็จของ SCNB ด้วย เพราะรายได้ทั้ง 100% ของธนาคารล้วนมาจากธุรกิจ consumer banking ทั้งสิ้น
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปีนี้ SCNB ได้เตรียมจะออกบริการใหม่ๆ เพื่อขยายตลาดให้กว้างขึ้น ประเดิมด้วย 1 Day Cash สินเชื่อส่วนบุคคลที่อนุมัติและได้รับเงินภายในวันเดียวที่เริ่มให้บริการตั้งแต่ต้นเดือนมีนาคม ในเดือนเมษายน SCNB จะเปิดตัวบริการใหม่ที่ผู้บริหารเคลมว่าจะเป็นครั้งแรกของแวดวงธนาคารไทย และตามมาด้วยสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ในเดือนมิถุนายนและสินเชื่อที่อยู่อาศัยในช่วงไตรมาส 3 ซึ่งจะช่วยให้ SCNB ให้บริการลูกค้าได้หลากหลายมากยิ่งขึ้น นอกเหนือจากสินเชื่อบัตรเครดิต สินเชื่อบุคคลและสินเชื่อสำหรับธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก (SMEs) ที่มีอยู่แล้วในปัจจุบัน
โปรดักต์หนึ่งในกลุ่มสินเชื่อเอสเอ็มอี ที่ SCNB ภาคภูมิใจเป็นพิเศษก็คือ Business Installment Loan (BIL) ที่ให้วงเงินสูงสุด 3 ล้านบาท ใช้เวลาพิจารณาไม่เกิน 5 วัน มีระยะเวลาสินเชื่อ 60 เดือน อัตราดอกเบี้ย ระหว่าง 14-16% โดยที่ผู้ขอสินเชื่อไม่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกันใดๆ ทั้งสิ้น มีหลักเกณฑ์เพียงต้องดำเนินธุรกิจมาไม่ต่ำกว่า 3 ปีและมีบัญชีธุรกิจที่เชื่อถือได้
SCNB เริ่มให้บริการสินเชื่อ BIL มา ตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว และอาเจย์ คานวาล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ฝ่ายบุคคลธนกิจ เล่าว่าสินเชื่อนี้ประสบความสำเร็จและมีอัตราการเติบโตที่ดี โดยคาดว่าจะสามารถ ปล่อยสินเชื่อดังกล่าวได้ในอัตราเดือนละ 1,000 ล้านบาทในอีกไม่นานนี้ ขณะเดียว กัน SCNB ยังมีสินเชื่อสำหรับเอสเอ็มอีที่ต้องการวงเงินเกิน 3 ล้านบาท โดยให้วงเงินสูงสุดได้ถึง 25 ล้านบาท แต่ในกรณีนี้จะต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกันบางส่วนและธนาคารอาจจะใช้เวลาในการพิจารณานานขึ้น
ถึงแม้ว่าสินเชื่อ BIL ของ SCNB จะมีให้บริการในเขตเมืองใหญ่ในต่างจังหวัดบ้างแล้ว อาทิ เชียงใหม่ ระยอง หาดใหญ่และขอนแก่น แต่ลูกค้าสินเชื่อเอสเอ็มอีส่วนใหญ่ของธนาคารก็ยังคงอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลเป็นหลัก เนื่องจากธนาคารยังต้องใช้เวลาในการพัฒนาทั้งในส่วนของบุคลากรและเครือข่ายต่างๆ เพื่อรองรับการให้บริการในพื้นที่ต่างจังหวัดให้ครอบคลุมยิ่งขึ้น
ปัจจัยของความสำเร็จในการปล่อยสินเชื่อของ SCNB ประการหนึ่งก็คือ การตรวจสอบข้อมูลเครดิตจากเครดิตบูโร ซึ่งอาเจย์เล่าว่า SCNB ใช้ข้อมูลจากเครดิตบูโรประกอบการพิจารณาสินเชื่ออย่างมาก ทั้งในส่วนของสินเชื่อเอสเอ็มอีและสินเชื่อบุคคล ทำให้ธนาคารสามารถบริหารความ เสี่ยงได้อย่างเหมาะสมและช่วยให้พิจารณา อนุมัติสินเชื่อได้รวดเร็วขึ้น อีกประการหนึ่งก็คือ การมีเครือข่ายสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดในประเทศต่างๆ รวม 550 สาขาจากกว่า 50 ประเทศในภูมิภาคต่างๆ ทำให้ ธนาคารสามารถหาข้อมูลเพื่อมาประกอบการพิจารณาให้สินเชื่อได้ดีขึ้น
อาเจย์ยอมรับว่า สินเชื่อที่อยู่อาศัยที่ SCNB เตรียมจะนำมาให้บริการกับลูกค้าในช่วงไตรมาส 3 นั้นถือว่าเป็นการเริ่มต้นที่ช้ากว่ารายอื่น อย่างไรก็ตาม เขาเชื่อว่าจากประสบการณ์ของสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดที่ประสบความสำเร็จในสินเชื่อที่อยู่อาศัยทั้งในประเทศมาเลเซียและฮ่องกง จะสามารถนำมาประยุกต์กับตลาดประเทศ ไทยและช่วยให้ประสบความสำเร็จได้เช่นกัน
จากแผนงานที่จะเพิ่มโปรดักต์ใหม่ๆ ในปีนี้ SCNB คาดว่าจะสามารถเพิ่มยอดสินเชื่อรวมของฝ่ายบุคคลธนกิจได้เป็น 4-4.5 หมื่นล้านบาท คิดเป็นอัตราการขยายตัวกว่า 30% จากเดิม ณ สิ้นปี 2547 มีประมาณ 3.1 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นสินเชื่อบัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคล 2 หมื่นล้าน บาท สินเชื่อเอสเอ็มอี 1 หมื่นล้านบาทและสินเชื่ออื่นๆ อีก 1 พันล้านบาท
แผนงานของฝ่ายบุคคลธนกิจของ SCNB ในปีนี้ไม่ได้มุ่งเน้นไปในฝั่งสินเชื่อเท่านั้น บริการ Wealth Management และ Priority Banking สำหรับลูกค้าที่มีเงินออมก็เป็นอีก 2 บริการที่ธนาคารจะเร่งทำตลาดให้มากขึ้นด้วยเช่นกัน
คอนเซ็ปต์ของ 2 บริการนี้เกิดขึ้นเพื่อช่วยเพิ่มทางเลือกในการออมหรือลงทุนให้กับลูกค้าของธนาคารที่สนใจรูปแบบการออมนอกเหนือไปจากบัญชีเงินฝากที่มีอยู่ทั่วไป โดยลูกค้าของทั้ง 2 บริการ จะสามารถดูงานวิจัยต่างๆ ของธนาคารและได้รับคำแนะนำในการลงทุนที่เหมาะสมกับโปรไฟล์ของตนเอง ซึ่งจะมีให้เลือกทั้งการลงทุนในกองทุนประเภทต่างๆ อาทิ กองทุนหุ้น กองทุนตราสารหนี้ หรือแม้แต่การซื้อคอร์ปอเรต บอนด์ โดยที่ลูกค้าไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมแต่อย่างใด
เงื่อนไขที่ SCNB วางไว้สำหรับลูกค้าที่จะใช้บริการ Wealth Management ก็คือจะต้องมีบัญชีเงินฝากที่มีความ เคลื่อนไหวอยู่ที่ธนาคารขั้นต่ำ 25,000 บาท ส่วน Priority Banking จะต้องมีขั้นต่ำ 3 ล้านบาทขึ้นไป แต่สิ่งที่แตกต่างกันระหว่าง 2 บริการนี้ก็คือระดับของการบริการ โดยในส่วนของ Priority Banking ลูกค้าจะมีเจ้าหน้าที่ที่เรียกว่า Customer Relation Manager คอยดูแลให้อย่างใกล้ชิด รวมทั้งยังจะได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมต่างๆ ที่ธนาคารจะจัดขึ้น เช่นการเข้าร่วมกิจกรรมในโอกาสพิเศษต่างๆ การได้ส่วนลดในการชอปปิ้งในศูนย์การค้า เป็นต้น
ในปีนี้ SCNB จะเพิ่มช่องทางในการลงทุนสำหรับลูกค้าให้มากขึ้น โดยเฉพาะการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนในอัตราสูงขึ้น โดยเชื่อว่าน่าจะส่งผลโดยตรงให้ 2 บริการนี้ได้รับความนิยมจากลูกค้าเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน
การมุ่งเน้นในธุรกิจ consumer banking ของ SCNB ช่วยให้ธนาคารแห่งนี้มีอัตราการขยายตัวอย่างรวดเร็วในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ซึ่งสอดคล้องกับความเฟื่องฟู ในธุรกิจ consumer banking ของไทย แต่นับจากนี้ไปเมื่อภาวะเศรษฐกิจอาจจะไม่เติบโตรวดเร็วเหมือนช่วงที่ผ่านมาจากปัญหาราคาน้ำมันที่สูงขึ้นและอัตราดอกเบี้ย ที่เริ่มปรับสูงขึ้นด้วยเช่นกัน การจะรักษาอัตราการเติบโตของธนาคารให้ต่อเนื่องเป็นเรื่องที่น่าสนใจไม่น้อย
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|