|
ตีเหล็กตอนกำลังร้อน
นิตยสารผู้จัดการ( เมษายน 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
นโยบายดีทรอยต์แห่งเอเชียที่รัฐบาลหมายมั่นปั้นมือจะผลักดันให้ไทยกลายเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ในภูมิภาคนี้ ประกอบ กับภาวะเศรษฐกิจที่ดีขึ้นหนุนให้ยอดขายรถยนต์ในประเทศปีที่ผ่านมามีถึง 620,000 คัน เป็นโอกาสทองของบริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์หลายรายที่ใช้จังหวะนี้เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ และกลายเป็นหุ้นกลุ่มที่ได้รับความสนใจจากนักลงทุนอย่างมาก
สมบูรณ์ แอ๊ดวานซ์ เทคโนโลยี หรือ SAT ก็เป็นรายหนึ่งที่เพิ่งเข้าจดทะเบียนในตลาด หลักทรัพย์ฯ เมื่อวันที่ 31 มกราคมที่ผ่านมา และหลังจากเข้าเทรดในตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ ไม่ทันจะครบเดือน ก็ถึงคราวต้องจัดแถลงข่าวอีกครั้ง คราวนี้เป็นการแถลงผลการดำเนินงานในรอบปี 2547 ที่แบ่งออกเป็น 2 รอบด้วยการเปิดแถลงให้กับผู้สื่อข่าวก่อนแล้วตามมาด้วยรอบของนักวิเคราะห์หลักทรัพย์อีกครั้ง
วีระยุทธ์ กิตะพาณิชย์ กรรมการอำนวยการ SAT เล่าอย่างภูมิใจว่า ถึงแม้ราคาวัตถุดิบในปีที่ผ่านมาจะปรับตัวสูงขึ้นถึง 30% แต่ SAT ก็ยังทำกำไรจากการดำเนินงานเพิ่มขึ้นได้อีก 10% ซึ่งเป็นผลมาจากการควบคุมต้นทุนและลดค่าใช้จ่ายในด้าน อื่น รวมทั้งการปรับขึ้นราคาสินค้าบางตัว โดยบริษัทมีรายได้รวม 3,281 ล้านบาท มีกำไรจากการดำเนินงาน 434 ล้านบาท เทียบ กับปีก่อนหน้าที่มีรายได้รวม 2,573 ล้านบาทและกำไร 392 ล้าน บาท ซึ่งผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นนี้เองทำให้ส่วนของผู้ถือหุ้นพลิกกลับมาเป็นบวก 350 ล้านบาท จากที่ติดลบ 455 ล้านบาทในปี 2546
ส่วนในปีนี้เขามั่นใจว่า อุตสาหกรรมยานยนต์จะยังคงมีการขยายตัวต่อเนื่อง โดยคาดว่ายอดขายในประเทศจะอยู่ที่ประมาณ 7 แสนคัน รวมกับตัวเลขส่งออกอีก 5 แสน ซึ่งน่าจะช่วยให้รายได้ของ SAT ที่เป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนช่วงล่างรถยนต์ให้กับรถหลายยี่ห้อในประเทศ อาทิ โตโยต้า ฮอนด้า มิตซูบิชิ อีซูซุ และฟอร์ด ขยายตัวตามไปด้วย
ชิ้นส่วนรถยนต์ที่ SAT ทำการผลิตในปัจจุบันประกอบด้วยเพลาข้าง แหนบแผ่น จานเบรก และเบรกดุม ท่อร่วมไอเสีย เหล็กกันโคลงและสปริงขด โดยมีสัดส่วนการจำหน่ายในประเทศ 97% อีก 3% เป็นการจำหน่ายไปต่างประเทศ
เพื่อรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์ในปีนี้ SAT ได้เตรียมการลงทุนเพื่อเพิ่มกำลังการผลิตรวม 660 ล้านบาท โดยจำนวน 445 ล้านบาท จะใช้เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตในส่วนของ การทุบขึ้นรูปเพลาข้างขึ้นจาก 72,000 ชิ้นต่อเดือนเป็น 139,000 ชิ้นต่อเดือนหรือเพิ่มขึ้น 93% และเพิ่มกำลังผลิตในขั้นตอนการกลึงใสอีก 29% ซึ่งได้เริ่มทำการผลิตในเชิงพาณิชย์ในเดือนมีนาคม ที่ผ่านมา
นอกจากนี้ยังได้เตรียมขยายกำลังผลิตเหล็กกันโคลงในบริษัทย่อยขึ้นอีก 100,000 ชิ้นต่อเดือนหรือ 300% ใช้เงินลงทุนประมาณ 75 ล้านบาท รวมทั้งเพิ่มกำลังผลิตจานเบรกและชิ้นส่วน อื่นๆ อีก 140 ล้านบาท
การเพิ่มกำลังการผลิตของ SAT จะส่งผลต่อรายได้ที่จะเพิ่มขึ้นในงวดไตรมาส 2 และ 3 ปีนี้ ซึ่งคาดว่าจะทำให้รายได้รวมทั้งปีเพิ่มขึ้นได้ประมาณ 24% อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์จากโบรกเกอร์บางแห่งเห็นว่าการขยายตัวของกำไรจะอยู่ที่ 3% เท่านั้น เนื่องจากแนวโน้มการปรับสูงขึ้นของราคาเหล็กที่เป็นวัตถุดิบสำคัญ รวมทั้งสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่เคยได้รับหมดลงแล้ว ทำให้ SAT จะเริ่มจ่ายภาษีในอัตราปกติที่ 25% ตั้งแต่ปีนี้เป็นต้นไป
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|