|
คนึงจิตร สุริยะธำรงกุล Let's Hutch
โดย
น้ำค้าง ไชยพุฒ
นิตยสารผู้จัดการ( เมษายน 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
ประสบการณ์ในสายงานโทรคมนาคมกว่า 10 ปี ทำให้คนึงจิตรหมดข้อกังขาในทันที เมื่อผ่านการพิจารณาให้รับตำแหน่ง Country manager ของบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลกอย่าง "ควอลคอมม์" บริษัทที่เป็นเจ้าของเทคโนโลยีการสื่อสารผ่านมือถือที่เร็วที่สุดในโลก
หลายคนอาจจะไม่เคยสังเกตว่าด้านหลังโทรศัพท์ มือถือทุกเครื่องที่ขายผ่านหน้าร้านของค่ายผู้ให้บริการ "ฮัทช์" มักจะมีสติกเกอร์ใสขนาดเล็กกว่าปลายเล็บ
ตัวหนังสือสีดำเห็นชัดเจนเขียนไว้ว่า "CDMA by Qualcomm" หากไม่ใช่คนในวงการอาจจะเดาความหมายของคำบนสติกเกอร์นั้นได้ยากนัก
เช่นเดียวกันหากเอ่ยชื่อ "คนึงจิตร สุริยะธำรงกุล" ขึ้นมา หลายคนก็คงจะเดายากว่าเธอผู้นี้คือใคร หากไม่ใช่คนในวงการเดียวกันกับที่พอจะทราบความหมายบนสติกเกอร์ที่แปะอยู่ด้านหลังมือถือของฮัทช์
คนึงจิตร คือผู้หญิงวัย 40 ต้นๆ ที่ผ่านการคัดเลือกให้รับตำแหน่งผู้จัดการประจำประเทศไทย บริษัท ควอลคอมม์ อินเตอร์เนชั่นแนล อินคอร์ปอเรทเต็ด หรือ ควอลคอมม์ที่การันตีด้วยการเป็นเจ้าของสิทธิบัตรเทคโนโลยีการสื่อสารบนมือถือหลากหลายประเภท โดยเฉพาะเทคโนโลยี CDMA
หลังจากที่ปลายปี 2544 ควอลคอมม์ตัดสินใจเปิดสำนักงานในเมืองไทยบนพื้นที่ใช้สอยของอาคารออล ซีซันเพลส เพื่อสนับสนุนค่ายฮัทชิสัน ไวร์เลส ที่ตัดสินใจซื้อหุ้นของตะวันเทเลคอม ซึ่งขณะนั้นประสบความล้มเหลวในการดำเนินกิจการและประกาศจับมือกับ กสท. เพื่อเปิดแบรนด์ฮัทช์ในไทยเพื่อให้บริการระบบโทรศัพท์CDMA 2000 เทคโนโลยีของควอลคอมม์เป็นรายแรกในประเทศไทย
แม้จะถูกกล่าวหาว่าเป็น monopoly ในตลาดเทคโนโลยี CDMA ที่กำลังเป็นที่นิยมในหลายประเทศทั่วโลก แต่งานหนักของควอลคอมม์ก็คือการสนับสนุนให้โอเปอเรเตอร์ที่เลือกใช้เทคโนโลยีของตนประสบความสำเร็จในการให้บริการมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ภายใต้ปัจจัยสภาพแวดล้อมการแข่งขัน และสภาพการเมืองที่ส่งผลถึงธุรกิจสื่อสารโดยตรง ที่แตกต่างกันออกไป
ดังนั้นการคัดเลือกคนที่พร้อมที่สุดในการที่จะนำทัพควอลคอมม์ เพื่อเข้าไปช่วยเหลือแบรนด์ใหม่ในการเปิดให้บริการระบบมือถือใหม่จึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในยามนั้น
คนึงจิตรกลายเป็นหัวเรือใหญ่ของควอลคอมม์ในการเข้าไปช่วยเหลือฮัทช์ในการเปิดให้บริการโทรศัพท์มือถือที่ใช้เทคโนโลยี CDMA 20001x ในทันทีเมื่อผ่านการคัดเลือกให้รับตำแหน่งสูงสุดของสาขาประเทศไทย ความสำเร็จของฮัทช์ถือเป็นความสำเร็จในการทำงานของเธออย่างปฏิเสธไม่ได้
พื้นฐานการศึกษาด้านวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิชา อิเล็กทรอนิกส์ จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง พร้อมๆ กับผู้หญิงร่วมรุ่นเพียง 14 คนจากนักศึกษาในคณะทั้งหมด 200 คน ทำให้คนึงจิตรเริ่มต้นงานแรกในชีวิตที่กรมไปรษณีย์โทรเลขของการสื่อสารแห่งประเทศไทย หรือ กสท. ในขณะนั้น ด้วยหน้าที่ในการรับวางแผนสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่กองโทรเลข มากกว่าการส่งโทรเลขไปมาตามปกติ
ก่อนจะได้รับทุนเรียนฟรีในด้าน Data Communication จากสถาบัน AIT และโอนย้ายมาทำหน้าที่วิเคราะห์หาความเป็นไปได้ในการทำธุรกิจใหม่ๆ ให้กับกสท. ในหน่วยงานใหม่อย่างสำนักพัฒนาธุรกิจ
การกลับมาครั้งนี้ของคนึงจิตร เป็นช่วงของการล้มหายตายจากของระบบโทรเลขที่มีความสำคัญน้อยลง และระบบโทรศัพท์มือถือเพิ่งเริ่มเข้ามาในเมืองไทย การสื่อสารแห่งประเทศไทยตัดสินใจตั้งหน่วยงานใหม่ที่เรียกว่าสำนักพัฒนาธุรกิจ เธอได้รับการโอนย้ายให้เข้าไปทำงานในหน่วยงานใหม่ นี้ทำหน้าที่ติดต่อกับผู้ให้บริการในต่างประเทศหลายๆ รายที่เข้ามาติดต่อกับการสื่อสารเพื่อแนะนำให้เปิดบริการในรูปแบบใหม่หลายอย่าง หน้าที่ของคนึงจิตรคือการวิเคราะห์ว่าเหมาะสมหรือไม่สำหรับการเปิดตัวบริการใหม่เหล่านี้
ด้วยความที่เป็นคนคิดนอกกรอบ และไม่ชอบเดินทางตามเส้นทางที่มีการขีดไว้เป็นขั้นเป็นตอน กระบวนการมากมาย ทำให้เธอค่อนข้างอึดอัดกับระบบราชการที่ยังไม่ได้รับการปฏิรูปใน กสท. สมัยนั้น เพราะ ไม่สามารถทำงานบางอย่างที่ต้องการได้ และตัดสินใจเลือกเส้นทางการทำงานของตนเองเสียใหม่ ด้วยการเข้ารับมุมมองเชิงธุรกิจมากขึ้นจากการเรียนหลักสูตร MBA ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่นี่เองสร้างแนวคิด ทางด้านธุรกิจ การเงิน และการบัญชีให้กับคนึงจิตรมากมาย และตัดสินใจลาออกจากการสื่อสารฯ สถานที่ทำงานมานานกว่า 7 ปี
โปรเจ็กต์อีรีเดียมที่ควบคุมด้วยบริษัทลูกที่อยู่ภายใต้บริษัทใหญ่อย่างยูคอม เป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ในการทำงานของเธอ คนึงจิตรเป็นหนึ่งในห้าคนแรก ที่เข้าไปคลุกคลีในโครงการยักษ์ใหญ่นี้ ในฐานะ Business Development Manager เพื่อออกแบบหรือวางแผนการให้บริการดาวเทียมอีรีเดียม แต่ด้วยพัฒนาการทางเทคโนโลยีที่ค่อนข้างรวดเร็ว ความล่าช้าบางอย่างทำให้อีรีเดียมไม่ประสบความสำเร็จอย่างที่ตั้งเป้าหมายไว้
Business Development และ Sale เป็นภาระผูกพันที่คนึงจิตรยังคงได้ทำหน้าที่ต่อไปในอีกหลายๆ บริษัทต่อมา ทั้งสยามทีวี และสยามแซท บริษัทลูกของสยามทีวี ซึ่งให้บริการการสื่อสารผ่านดาวเทียมให้กับลูกค้าที่ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มห้องค้าหลักทรัพย์ในต่างจังหวัด จนถึงการเข้าไปร่วมงานกับบริษัทลูเซ่น เทคโนโลยี บริษัท โทรคมนาคมข้ามชาติ ที่ในขณะนั้นเป็นผู้ให้บริการเทคโนโลยี CDMA รายใหญ่รายหนึ่งของโลก ในฐานะของ Account Director ดูลูกค้าการสื่อสารเป็นหลัก
หลังลูเซ่นมีการประกาศว่าจะ down size องค์กร ผลักดันให้คนึงจิตรผ่านการคัดเลือกจาก Job Hunter ให้เข้าทำงานในควอลคอมม์ในเวลาต่อมา
ปฏิเสธไม่ได้ว่าเธอผู้นี้เป็นคนหนึ่งที่เห็นวิวัฒนา การการสื่อสารและโทรคมนาคมของไทยมาตลอดช่วงระยะเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา ตั้งแต่โทรศัพท์มือถือรุ่นกระติกน้ำราคาเรือนแสน จนถึงมือถือหน้าจอสี ติดกล้อง ดิจิตอลในตัว ราคาไม่กี่พันบาทในปัจจุบัน ประกอบกับประสบการณ์การผ่านงานโทรคมนาคมที่เกี่ยวข้องเครือข่ายที่สร้างไว้กับหน่วยงานโทรคมนาคมมากมาย ในฐานะเป็นฝ่ายขายที่ดูแลลูกค้าสายโทรคมนาคมมาตลอด ระยะหลายปี กลายเป็นข้อได้เปรียบของคนึงจิตรชนิดที่หาตัวจับยากคนหนึ่ง
คนึงจิตรทำหน้าที่หลักในการเข้าไปให้ความรู้เกี่ยวกับตัวเทคโนโลยีใหม่ทั้งหมดให้กับฮัทช์ ให้ความรู้เกี่ยวกับตัวชิปเซตที่ใช้โทรศัพท์มือถือรุ่นใหม่ที่จะรองรับระบบการสื่อสารที่จะใช้ เพื่อที่ฮัทช์จะได้นำเอาข้อมูลที่ได้ไปเจรจากับค่ายโทรศัพท์มือถือเพื่อทำการออกแบบหรือผลิตโทรศัพท์มือถือที่รองรับระบบใหม่ของตนออกมาจำหน่ายในภายหลัง พร้อมๆ กันนั้นยังทำงานคู่กับฮัทช์ในการทำ Product planning และพาฮัทช์เข้าไปสัมผัสกับความสำเร็จที่เกิดขึ้นจากโอเปอเรเตอร์ที่ให้บริการในประเทศต่างๆ
การพบปะกับสื่อมวลชนและพาทัพสื่อมวลชนไปดูเทคโนโลยีที่ควอลคอมม์ผลักดันจนประสบความสำเร็จมาแล้วในแถบเอเชีย ทั้งจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ เป็นงานส่วนหนึ่งที่สามารถพบเห็นได้เสมอในตารางนัดหมายของเธอ
ทุกวันนี้ คนึงจิตรยังทำงานแบบเดียวกันนี้ควบคู่ไปกับ กสท. ซึ่งเป็นผู้ที่จะให้บริการระบบโทรศัพท์ CDMA แบบเดียวกันกับฮัทช์ ในส่วนที่เหลือ 51 จังหวัด ที่เพิ่งผ่านพ้นการประมูลผู้วางระบบใหม่ไปเมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา
ความยากลำบากในการทำงานของคนึงจิตรคือการสร้างความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีใหม่ให้กับคนไทย เช่นเดียวกันกับการเสนอแนวความคิดการทำธุรกิจให้กับโอเปอเรเตอร์ที่ใช้เทคโนโลยีใหม่ว่าคุณค่าที่แท้จริงอยู่ที่การให้บริการเสริมมากกว่าการให้บริการทางเสียง โดยพยายามนำเสนอแนวความคิดนี้ผ่านความสำเร็จของโอเปอเรเตอร์ในประเทศอื่นๆ ในโลกนี้
คนึงจิตรยังเป็นผู้บริหารของควอลคอมม์ที่รับหน้าที่ในการเข้าไปดูแลตลาด CDMA ของประเทศพม่าที่สภาพการเมืองยังไม่นิ่ง และการทำธุรกิจส่วนใหญ่ผูกขาดโดยรัฐบาล เธอต้องทำงานอย่างท้าทายด้วยการมองหา investor หน้าใหม่ที่สนใจเข้าไปลงทุนในพม่า หลังรัฐบาลตัดสินใจขยายการ ให้บริการออกไปตามความต้องการใช้บริการที่มากขึ้น
แม้บทบาทของผู้บริหารหญิงในองค์กรไอทีข้ามชาติจะทำให้เธอดูมั่นใจจนเหมือนเป็นช้างเท้าหน้าไปโดยปริยาย แต่เธอยอมรับว่าการก้าวไปด้วยกันกับสามีที่คบหากันมาตั้งแต่สมัยเรียนปริญญาตรี ซึ่งทำงานในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์คล้ายคลึงกัน และการสวมบทบาทคุณแม่ลูกสองที่บ้านไม่ได้ทำให้เธอรู้สึกว่าแตกต่างจากคนทั่วไปเท่าไรนัก
วันว่างของครอบครัวคือการพาลูกสาวและลูกชาย ที่เพิ่งเรียนชั้นประถมต้น ไปว่ายน้ำที่สระน้ำของโรงแรมรามาการ์เด้น ริมถนนวิภาวดีรังสิต ซึ่งทั้งครอบครัวเป็นสมาชิกอยู่กันทุกคน นอกเหนือจากการพักผ่อนอยู่กับบ้านที่ห่างออกไปนอกเมือง และใช้เวลาทั้งหมดอยู่ด้วยกันในวันหยุด
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|