นักสู้แห่งเอเชีย

โดย อรวรรณ บัณฑิตกุล
นิตยสารผู้จัดการ( เมษายน 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

อาคารสำนักใหญ่ของสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส ริมถนนวิภาวดีหลังนี้ กว่านายแพทย์ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ จะซื้อกลับคืนมาแทนที่สำนักงานใหญ่เดิมบนถนนสุขุมวิท ต้องใช้เวลานานเกือบ 20 ปีทีเดียว

การเดิมพันครั้งใหญ่ในชีวิตของนายแพทย์ปราเสริฐเกิดขึ้นเมื่อเขายอมขายอาคารสำนักงานใหญ่ของบริษัทกรุงเทพสหกล บนถนนสุขุมวิท ทั้งสองอาคาร คือด้านหน้าเป็นตึก 4 ชั้น และโครงสร้างของอาคาร 19 ชั้น ด้านหลังที่กำลังก่อสร้างตึก “บียูเอ็มซี ทาวเวอร์” หรือ “ปิโตรเลียมเซ็นเตอร์” เพื่อทำเป็นสำนักงานให้เช่ากับบริษัทขุดเจาะน้ำมันต่างๆ โดยขายให้กับวินัย พงศธร บริษัทเฟิสท์ แปซิฟิกแลนด์ ผู้สร้างเรื่องราวตำนาน “นักซื้อกิจการ” ในช่วงเวลานั้นเพื่อนำเงินมาสร้างสนามบินที่อำเภอสมุย หลังจากสถาบันการเงินต่างๆ ปฏิเสธการให้กู้

ตึกด้านหน้าต่อมาสร้างเป็น ทู แปซิฟิกเพลส ส่วนตึกด้านหลังคือ วัน แปซิฟิก เพลส ปัจจุบันวินัยได้ขายทั้ง 2 ตึกนี้ให้กลุ่มนักลงทุนจากไต้หวัน

จากผู้ที่กำลังจะเป็นเจ้าของตึก กลายเป็นผู้เช่าพื้นที่ชั้นหนึ่งในตึกนั้นแทน ก่อนที่จะย้ายไปเช่าออฟฟิศใหม่ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ 20 ปีผ่านไปในวันที่ 9 ธันวาคม 2545 ก็ได้ฤกษ์เปิดบ้านใหม่ที่ได้มาจากการประมูลซื้อจาก ปรส. ในราคา 143 ล้านบาท

เป็นเอกชนรายแรกในโลกเหมือนกันที่มีสนามบินก่อนมีเงินซื้อเครื่องบิน แล้วถึงค่อยมีอาคารสำนักงานเป็นของตนเอง

การเอาทรัพย์สินส่วนตัวออกมาขาย สำหรับตัวเขาเองอาจมองว่าเป็นเรื่องที่จำเป็น ต้อง “เสี่ยง” แต่สำหรับลูกน้อง มันได้สะท้อนถึงความตั้งใจจริง และความมีสปิริตของเจ้าขององค์กรที่มีผลต่อขวัญและกำลังใจอย่างมาก และที่สำคัญความ “กล้า” ของเขาในวันนั้นทำให้เกิดธุรกิจใหม่ขึ้นมาในสังคมไทย และเป็นธุรกิจที่กลายเป็นทางเลือกใหม่ให้กับคนไทยโดยไม่ต้องผูกขาดกับสายการบินของรัฐบาลอย่างเดียว

กว่าจะถึงวันนี้ได้เขาต้องอาศัยความ “อดทน” ในการฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆ อย่าง มากทีเดียว

“ปี 2489 ตอนอายุ 11 ขวบ ผมไปขี่ควายเล่นอยู่กลางทุ่งนาที่บ้านเกิดอยุธยา ระหว่างสงครามโลก มีเครื่องบินมาทิ้งบอมบ์ ผมเห็นเลยว่าเป็นลูกสีเงินกลมๆ ถูกทิ้งลงมา กลัวมาก ทำอะไรไม่ได้ต้องวิ่งหนีตายอย่างเดียว เลยคิดว่าโตขึ้นต้องเป็นเจ้าของเครื่องบินให้ได้”

เป็นความแค้นใจในวัยเด็กที่เมื่อเวลาผ่านไปก็ลืม ไม่ได้จริงจังกับความคิดนั้นนัก แต่ในที่สุดเขาก็ได้เป็นเจ้าของฝูงบินจริงๆ

นายแพทย์ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ เป็นบุตรชายของทองคำ ช้างบุญชู (ปราสาททองโอสถ) ผู้ทำธุรกิจยาแผนโบราณ จบชั้นมัธยมจากโรงเรียนอัสสัมชัญ ปริญญาตรีคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรียนจบมาเป็นแพทย์ผ่าตัด ลูกน้องนายแพทย์เปรม บุรี เสรีไทยรุ่นเดียว กับ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ อยู่ 5 ปี

“ทำงาน 5 ปี เงินเดือนแค่ 1,300 บาท เลยลาออกเมื่อปี 2506 ผมเองจบมาจากอัสสัม เพื่อนๆ ไม่มีใครรับราชการส่วนใหญ่เป็นพ่อค้า ตอนนั้นสงครามเวียดนามด้วย เลยไปทำงานที่สนามบินอู่ตะเภา เป็นงานรับเหมาก่อสร้าง ในนามบริษัทกรุงเทพสหกล และทำงานด้านเซอร์วิสเรื่องต่างๆ ให้ทหารอเมริกันในประเทศไทย ก็ทำให้ครบวงจร มีรถ มีเรือ มีเครื่องบินเช่า เป็นแท็กซี่ ตอนนั้นมีทำกันเยอะครับ มีบริษัทท้องฟ้าสยาม มีแอร์เซอร์วิส ของพันเอกณรงค์ กิตติขจร หลังจากนั้นก็ค่อยๆ เลิกกันไป เหลือแต่เรา”

บริษัทการบินกรุงเทพ จำกัด เริ่มก่อตั้งในปี 2511 เริ่มต้นเป็นเพียงแผนกการบินสหกลแอร์ ในบริษัทกรุงเทพสหกล เครื่องบินลำแรกเป็นเครื่องบินแบบ Trade Wind 2 เครื่องยนต์ขนาด 9 ที่นั่ง และนำเข้าเครื่องบิน ISLANDER BN2 เพื่อทำการบินให้กับหน่วยงานก่อสร้างทางทหารของสหรัฐอเมริกา (OICC) ในการก่อสร้าง สนามบินอู่ตะเภา ต่อมาเมื่อมีโครงการขุดเจาะน้ำมันในอ่าวไทยก็ได้รับการว่าจ้างจากบริษัทสำรวจหลายแห่งให้ทำการบินด้วยเครื่องบินและเฮลิคอปเตอร์

รวมทั้งได้ตั้งบริษัทไทยปิโตรเลียมเซอร์วิส ทำธุรกิจเกี่ยวกับบริษัทจัดหาแรงงาน เรือซัปพลายวิ่งระหว่างแท่นเจาะกับฐาน และโกดังเก็บสิ่งของ เมื่อสถานการณ์พลังงานตกต่ำลง สิ่งหนึ่งที่เขาต้องการก็คือ มีสนามบินเป็นของตนเอง และสามารถบินโดยสารได้ แต่ติดขัดในข้อกฎหมายที่ไม่เคยอนุญาตให้เอกชนเข้ามาทำธุรกิจอย่างนี้มาก่อน

“เราเองอยากมีสนามบินที่แน่นอน เพราะบินรอให้คนมาเรียกเช่าอย่างเดียวคงไม่ได้ แต่กฎหมายไม่ให้เราเกิด ถ้าเป็นพลเรือนก็การบินไทย ถ้าเป็นทหารก็กองทัพอากาศ สนามบินทุกแห่งเป็นของ บดท. (บริษัทเดินอากาศไทย) ที่เดียว ถ้าเราไปบินเท่ากับเราไปบินทับเส้นทางเขา”

ในปี 2528 กระทรวงคมนาคมสมัยนั้นมีสมัคร สุนทรเวช เป็นรัฐมนตรีว่าการ ได้เปิดโอกาสให้บริษัทเอกชนที่บริการด้านเครื่องบินเช่าเหมา เสนอหลักการประกอบการบินโดยสาร สหกลแอร์ ก็เป็น 1 ใน 4 บริษัทที่แสดงความจำนง ที่เหลือมีบริษัทเอราวัณแอร์ จำกัด ของกลุ่ม พล.ต.ต.ชาติชาย ชุณหะวัณ (ที่อกหักจากการขอเปิดบินไปจีน) บริษัทไทยฟลายอิ้งเซอร์วิส จำกัด (ของธีเดช ไม้ไทย) ที่พาคณะอธิบดี ศิววงศ์ จังคศิริ โหม่งโลกที่ปทุมธานี) และบริษัท ที.ไอ.เอส. จำกัด ของทองอินทร์ แสงงาม

นพ.บุญเทียม เขมาภิรัตน์ รมช.คมนาคม ประธานคณะกรรมการพิจารณาในสมัยนั้นได้ตอบกลับว่า อนุญาตให้บินได้ภายใต้เงื่อนไขว่าต้องเป็นบริษัทมหาชนเท่านั้น แต่ในที่สุดบริษัทสหกลแอร์ก็ได้รับอนุมัติให้เป็นผู้ได้รับสัมปทาน โดยไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ตามที่หมอบุญเทียมเสนอเลยแม้แต่น้อย ว่ากันว่าความสำเร็จครั้งนั้นเกิดจากสายสัมพันธ์อันดีของหมอปราเสริฐกับคนในกองทัพอากาศ (จากเรื่อง “พายุโหมสหกลแอร์ ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ ปีกจะหักเสียแล้ว” นิตยสาร ผู้จัดการ มีนาคม 2530)

พอได้สัมปทานนายแพทย์ปราเสริฐก็ไปสำรวจสนามบินที่เป็นสนามบินพาณิชย์ ผลปรากฏว่าการบินไทยบินครบแล้วทุกสนามบิน เลยต้องไปขออนุญาตทางราชการ ไม่ว่าจะเป็นทหารอากาศที่โคราช ทหารบก ที่สุรินทร์ หรือองค์การบริหารส่วนจังหวัดที่กระบี่ ขอบิน 3 จังหวัดนำร่องก่อน พอบินไปได้สักระยะหนึ่งขาดทุนก็หยุด

“อย่างที่สุราษฎร์ในสมัยก่อน 20 กว่าปี แล้วเขาอยากมีสนามบินมาชวนเราก็ไป แต่พอเราจะเริ่มบิน บดท. เขาเข้ามาเราก็ต้องหยุด ผมเลยหนีไปสร้างสนามบินเองที่พัทยาใต้ ไปเช่าที่ดินเขามา ตอนนั้นพัทยาคนน้อยมาก เกาะล้านไม่มีคนสักคน โรงแรมมี 4-5 โรงแรม แต่ผมมองว่ามันมีอนาคต พอเราทำเสร็จ บดท. ก็บินไปอู่ตะเภา อู่ตะเภาไม่มีคนเลย เพราะทหารอเมริกันกลับหมดแล้ว พอเขาไปมันก็ใกล้เรานิดเดียว เราเลยต้องเลิก พอเราเลิกเขาก็เลิก ทำเอาเราหมดเงินไปเป็นล้านเหมือนกัน”

ในที่สุดก็หนีการบินไทยไปบุกเบิกสร้างสนามใหม่บินอีกครั้งบนเกาะสมุย ซึ่งใช้เวลานานในการขออนุญาต เมื่อได้แล้ว อุปสรรคอย่างที่สองก็ตามมาคือ ตามข้อกำหนดของกรมการบินพาณิชย์ต้องใช้พื้นที่จำนวนมากในการก่อสร้างสนามบิน

หมอปราเสริฐยืนยันกับ ผู้จัดการ ว่าเขาไม่ได้มีที่ดินบนเกาะนั้นเลยสักตารางวาเดียว การรวบรวมที่ดินก็ลำบาก เพราะต้องขับรถลงไปต่อเรือ ซึ่งสมัยนั้นเรือเฟอร์รี่ก็ยังไม่มี ราคาที่ดินในตำบลบ่อผุดที่ตั้งสนามบินนั้นแรกๆ ชาวบ้านก็ขายประมาณ 3 พันบาทต่อไร่ ต่อมาเพิ่มขึ้นเป็นหลักหมื่นหลักแสนบาท บางแปลงถูกซื้อดักหน้าแล้ว มาขายต่อราคาสูงถึงเป็นล้านบาทต่อไร่ แต่ก็ต้องตัดใจซื้อ เริ่มแรกรวบรวมได้ 200 ไร่ ปัจจุบันจากการขยายสนามบินอย่างต่อเนื่องเลยต้องซื้อเพิ่มเป็น 600 ไร่

“ตอนนั้นมีเงินเท่าไรเอาไปซื้อที่ดินใช้ทำสนามบินหมด ทั้งๆ ที่เห็นโอกาสว่าเมื่อการคมนาคมเข้าไป การท่องเที่ยวเข้าไป ราคาที่ดินต้องดีแน่นอน แต่เงินไม่มีแล้วพอมีเงินจะซื้อบ้าง ที่ดินก็พุ่งสูงเกินไปแล้ว” นายแพทย์ปราเสริฐเล่าฟัง

แต่ถ้าหากบอกว่าเจ้าของบางกอกแอร์เวย์ส ไม่มีที่ดินบนเกาะสมุยเลย นอกจากสนามบิน โรงแรมสมุยปาล์มบีช และโรงแรมนาราการ์เด้น คงยากที่จะมีคนเชื่อ

ต่างกันกับการซื้อที่ดินที่สนามบินสุโขทัย และสนามบินที่ตราด ซึ่งแม้ซื้อในช่วงปี 2535–2536 ซึ่งราคาที่ดินกำลังพุ่งสูง แต่ก็มีเงินรวบรวมที่ดินไว้แห่งละกว่าพันไร่

“แต่มีอยู่ช่วงหนึ่งท่านต้องขายที่ดินส่วนตัวแถวมาบตาพุด จังหวัดระยอง ไปอีก 200–300 ไร่ เพื่อให้สนามบินท่านเสร็จ” ธวัชวงศ์ ธะนะสุมิต รองผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายการเงินเล่าให้ฟังถึงสปิริตอีกครั้งหนึ่งของนายแพทย์ปราเสริฐ

สนามบินสมุยสร้างเสร็จ ต้องหยุดรอเวลาให้ได้ใบอนุญาตการใช้สนามบิน เขาเคยให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ว่า “เจ็บปวดที่สุดเหมือนเอาเงินที่มีอยู่ทุกบาทมาสร้างบ้าน สร้างเสร็จแล้วเขาไม่อนุญาตให้เราเข้าไปอยู่”

โชคดีที่หลังจากนั้นตลาดการท่องเที่ยวในสมุยดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง การกำหนดจุดยืนของตนเองในการสร้างจุดขายในเส้นทางที่เป็นผู้บุกเบิกเองก็ตามมา แม้หลายเส้นทางยังเฝ้ารอกำไรอยู่อย่างใจเย็น

การเลือกเส้นทางบินแต่ละแห่ง ส่วนใหญ่หมอปราเสริฐเป็นคนแนะนำ เขาเป็นนักธุรกิจคนหนึ่งที่ชอบศึกษาในเรื่องประวัติศาสตร์ ในเรื่องของคนชอบการเดินทางท่องเที่ยว มนุษยสัมพันธ์ดีสนุกสนานและมีเพื่อนมากในหลายวงการ ซึ่งเห็นได้จากการเข้าไปเป็นนักกิจกรรมตัวยงคนหนึ่งมาตั้งแต่สมัยเป็นนักศึกษา เช่น มีตำแหน่งฝ่ายปฏิคม สโมสรนักศึกษา ผู้แทนคณะ และเป็นนายกสโมสรนักศึกษาแพทย์

ทุกเส้นทางที่สนใจจะส่งให้ทีมงานศึกษาต่อพร้อมๆ กับการเข้าไปสร้างความสัมพันธ์ของผู้นำแต่ละประเทศ เอาคนของตัวเองไปแนะนำ และต่อเชื่อมสายสัมพันธ์ในเรื่องต่างๆ ไว้เป็นจุดๆ

เชียงรุ้ง เมืองทางทิศใต้ของมณฑลยูนนานในประเทศจีน เป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดว่าบางกอกแอร์เวย์สต้องยอมขาดทุนอยู่นานกว่าจะเห็นเม็ดเงินกำไร

บางกอกแอร์เวย์สเปิดเส้นทางบินครั้งแรกเมื่อเดือนตุลาคม 2544 การเดินทางจากยูนนานมาเมืองเชียงใหม่ในช่วงเวลานั้นจะล่องแม่น้ำโขงเป็นหลัก ในขณะที่นักท่องเที่ยวก็ยังไม่มี ประชาชนส่วนใหญ่ก็ยังยากจนแต่นายแพทย์ปราเสริฐยังตัดสินใจเข้าไป เพราะมองว่าเชียงรุ้ง คือหนทางที่จะเชื่อมเข้าสู่เมืองจีน

บางกอกแอร์เวย์สบิน 2 ไฟลต์ด้วย เครื่องบิน 40 ที่นั่งมาตลอด แต่ในที่สุดหลังจากการทำโปรโมชั่น และรอคอยอย่างอดทนจนในที่สุดในเดือนเมษายนนี้จะต้องเพิ่มขึ้นอีก 1 ไฟลต์

ส่วนเมืองซีอานเปิดบินไปเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2545 เป็นเมืองที่รัฐบาลจีนเปิดโอกาสให้บางกอกแอร์เวย์สเป็นสายการบินเดียวที่บินตรงเข้าไป โดยมองว่าเป็นเมืองวัฒนธรรมอีกแห่งหนึ่งที่น่าสนใจ แต่ด้วยความไกลของระยะทางไม่สามารถบินได้ทุกวัน และยังโปรโมตไม่ได้ผล ทำให้ยังอยู่ในช่วงขาดทุน

“จีนเป็นเมืองที่อย่างไรเราปฏิเสธไม่ได้ แม้ขาดทุนก็ยอม ผมอยากบอกว่า บริษัทกำลังสร้างเครือข่าย กำลังลงทุนเพื่อก้าวเดินอย่างมั่นคงในอนาคต” ธวัชวงศ์ให้ความเห็นในเรื่องนี้และได้เล่าถึงวิกฤตครั้งสำคัญอีกครั้งของบริษัทในสมัยรัฐบาลลดค่าเงินบาท ว่า

“วันหนึ่งในเดือนพฤษภาคม 2540 ผมเดินเข้าไปหาคุณหมอบอกว่า หมอครับถ้าไม่ขึ้นราคา เราต้องหยุดบินแน่”

ในขณะที่ราคาเงินบาทดิ่งลงเหว บางกอกแอร์เวย์สจะทะยานขึ้นท้องฟ้าได้ ก็ต้องจ่ายค่าเช่าครื่องบิน ค่าน้ำมัน ค่าประกันภัย ทุกอย่างเป็นดอลลาร์หมด ธุรกิจที่มีแนวโน้มว่าน่าจะไปได้ดีส่อเค้าว่าจะพังครืนลงมาอย่างไม่เป็นท่า

ในที่สุดก็มีการขึ้นราคาเครื่องบินไป 15 เปอร์เซ็นต์ กรมการบินพาณิชย์อนุมัติเรียบร้อย หลังจากนั้นในเดือนกุมภาพันธ์ปีถัดมา ธวัชวงศ์ก็ต้องบอกอีกครั้งว่าถ้าไม่ปรับราคาต้องปิดบริษัทอีกเหมือนกัน และลูกค้าที่เป็นคนไทยประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ต้องทิ้งแน่นอน

กลยุทธ์ในตอนนั้นก็คือใช้วิธีขนพนักงานที่พูดภาษาอังกฤษเก่งๆ ไปที่ดอนเมือง พูดชี้แจงกับลูกค้าต่างชาติตรงๆ ขอค่าใช้สนามบินเป็นเงินบาทเพิ่มขึ้น เพื่อช่วยประคองค่าดอลลาร์ให้บริษัทส่งเขาถึงสมุยได้ ซึ่งส่วนใหญ่ลูกค้าก็เข้าใจ

หลังจากนั้นก็เจอวิกฤตของวันที่ 11 กันยายน ปัญหาโรคซาร์ส ปัญหาไข้หวัดนก แต่ละเหตุการณ์คนแทบร้างสนามบิน แต่บริษัทเอกชนเล็กๆ แห่งนี้ก็พยายามหาทางดิ้นรนและหาทางออกอย่างเต็มที่ อย่างเช่นการใช้เงินโปรโมตครั้งใหญ่ทำโครงการ “สมุย คาร์นิวัล” ดึงคนเข้าไปสมุยโดยคิดค่าตั๋วเข้างานเพียง 50 บาท รายได้จากค่าตั๋วให้โรงเรียนในสมุยทั้งหมด

นายแพทย์ปราเสริฐพูดถึงวิธีคิดในการรับมือกับปัญหาที่เข้ามาแต่ละช่วงว่า “เรื่องไหนที่มันดันไม่ได้ ก็ไม่อยากเอาหัวไปชนฝาเดี๋ยวก็ตายเปล่า เรื่องไหนไม่ได้ก็ชะลอไปก่อน ไปทำเรื่องอื่นก่อนแล้วค่อยกลับมา เพราะเราต้องทำพร้อมๆ กัน 4-5 อย่าง ถ้าเราไปซีเรียสกับมันเรื่องเดียวเรื่องอื่นก็ไม่ถึงไหน”

มรสุมลูกแล้วลูกเล่าที่ทยอยซัดเข้ามาอย่างต่อเนื่อง และวันที่ทุกคนเก็บของออกจากบ้านเช่าครั้งหลังสุดที่ตึกของศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เพื่อเข้าบ้านหลังใหม่ของตัวเอง บนถนนวิภาวดี น่าจะเป็นวันที่หมอปราเสริฐและพนักงานทุกคนภาคภูมิใจที่สุด


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.