เอไอเอส-ทศททำ"บรอดแบนด์ทีวี"อาศัยใบอนุญาตเก่าไม่ต้องขอใหม่


ผู้จัดการรายวัน(25 มีนาคม 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

เอไอเอสผนึกทศทอัดเม็ดเงิน 500 ล้านบาท ทำบรอดแบนด์ทีวีภายใต้การดำเนินงานของเอดีซี ในชื่อ "บัดดี้ บรอดแบนด์" ที่ใช้งานได้แบบมัลติมีเดียในสายโทรศัพท์สายเดียว ด้วยคอนเซ็ปต์ โฮมเอนเตอร์เทนเมนต์ โดยการร่วมมือกับพันธมิตรกว่า 18 ราย และไม่ต้องขอใบอนุญาตใหม่ อาศัยสัญญาจากบริการเดิม ยันไม่ชนยูบีซี ด้าน กทช.ยันไอพีทีวีอนาคตต้องถูก กทช.กำกับดูแล แต่การให้บริการช่วงนี้ถือเป็นเรื่องของเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าไปกว่าการกำกับดูแล ไม่ใช่เรื่องผิดหรือถูก

วานนี้ (24 มี.ค.) บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส หรือเอไอเอส และ ทศท ร่วมประกาศพลิกโฉมหน้าการสื่อสารของไทยด้วยบริการ "บัดดี้ บรอดแบนด์" ที่ให้บริการภายใต้บริษัท แอดวานซ์ ดาต้าเน็ทเวอร์ค คอมมิวนิเคชั่นส์ หรือเอดีซี ผู้ได้รับสิทธิ์ในการให้บริการสื่อสารข้อมูลผ่านสายโทรศัพท์ของ ทศท ภายใต้ชื่อ "ดาต้าเนต" ในเครือเอไอเอส

บัดดี้ บรอดแบนด์เป็นการนำจุดแข็งด้านเครือข่ายของทศทที่ครอบคลุมทั่วประเทศของเอไอเอสผสานเข้ากับเทคโนโลยี ประสบการณ์ด้านบริการ ช่องทางการจัดจำหน่าย และระบบเติมเงินของเอไอเอส เพื่อให้บริการแบบ 3 in 1 ซึ่งเป็นลักษณะของมัลติมีเดีย หรือที่เรียกกันว่า "ทริปเปิล เพลย์" โดยผู้บริโภคสามารถเล่นอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงหรือบรอดแบนด์ ดูทีวี และใช้โทรศัพท์ พื้นฐานได้ในเวลาเดียวกัน

บริการที่เอดีซีเปิดตัวครั้งนี้ เชื่อว่าจะเป็นการพลิกวิถีชีวิตประจำวันของคนไทยให้มีความสะดวกมากขึ้น โดยผู้บริโภคเป็นผู้กำหนดเอง

"บริการนี้เป็นเรื่องใหม่สำหรับคนไทย และผู้ใช้บริการหรือที่เรียกว่าออนดีมานด์ คืออะไรสั่งได้ สามารถใช้งานกับทีวีที่ทำให้เกิดความหลากหลายมากขึ้น" นายสมประสงค์ บุญยะชัย ประธานกรรมการบริหารเอไอเอสกล่าว

ในแง่มุมของกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องใบอนุญาต หรือไลเซนส์ นางอภิวรรณ รัตนินสายประดิษฐ์ กรรมการผู้จัดการ เอดีซี กล่าวว่า ไม่ต้องขอใหม่ เนื่องจากเป็นบริการต่อเนื่องจากสัญญาเดิม เพียงแต่มีการพัฒนาโครงข่ายที่มีอยู่ให้มีประสิทธิภาพ ประโยชน์การใช้งานเพิ่มมากขึ้น

"บริการของเราจะไม่ชนกับยูบีซี เพราะยูบีซีเขามีแผงรายการอยู่แล้ว ส่วนของเราเลือกได้ และจะมีการอัปเดตตลอด โดยมีลูกค้ากลุ่มเป้าหมายคือผู้มีรายได้ระดับกลาง"

สำหรับบริการบัดดี้ บรอดแบนด์ เอดีซีจะใช้งบในการลงทุนทั้งหมดประมาณ 500 ล้านบาท โดยปีแรกจะใช้ประมาณ 300 ล้านบาท และอีก 2-3 ปีถัดไป จะใช้อีก 200 ล้านบาท ซึ่งงบส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องของการพัฒนาเครือข่ายการให้บริการ

เอดีซีมีแผนจะขยายเครือข่ายการให้บริการบัดดี้ บรอดแบนด์ระยะแรกคือ ครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพฯประมาณ 60% ต่างจังหวัด 24 จังหวัด เน้นหัวเมืองใหญ่ มีประชากรหนาแน่นเป็นหลัก

ปัจจุบันทศทมีการให้บริการโทรศัพท์พื้นฐานทั่วประเทศประมาณ 7 ล้านเลขหมาย เป็นเลขหมายในเขตกรุงเทพฯประมาณ 2.2 ล้านเลขหมาย มีลูกค้าที่ใช้บริการสื่อสารข้อมูลประมาณ 800 องค์กร ซึ่งแต่ละองค์กรมีการใช้งานหลายพอร์ต

เชื่อช่วยกระตุ้นบรอดแบนด์ 5 ล้านพอร์ต

นายธีรวิทย์ จารุวัฒน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ทศท กล่าวว่า ขณะนี้มีผู้ใช้บริการบรอดแบนด์ของ ทศทประมาณ 3.5 หมื่นราย และคาดว่าปีนี้จะติดตั้งเครือข่ายให้ได้ 2 แสนพอร์ต สำหรับบริการบัดดี้ บรอดแบนด์เชื่อว่าจะสามารถกระตุ้นให้มีการใช้งาน บรอดแบนด์ได้มากขึ้น โดยเฉพาะโครงการบรอดแบนด์ 5 ล้านพอร์ต ตามแผนของกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือไอซีที

"บริการแบบนี้ฝรั่งเขาเรียกว่าบรอดแบนด์ทีวี ซึ่งต่างประเทศโตเร็วมาก อย่างฮ่องกง สิงคโปร์ ไต้หวัน และของไทยก็เชื่อว่าแสนรายคงใช้เวลาไม่นาน"

"ส่วนปัญหาในเรื่องของการติดอุปกรณ์ดีสแลม (DSLM) ตามชุมสายโทรศัพท์เพื่อให้บริการบรอดแบนด์ที่เคยล่าช้า นายธีรวิทย์ยืนยันว่าสามารถทำได้เร็วขึ้น การจัดซื้อจัดหาเร็วขึ้น

ตั้งเป้า 4 ปีคืนทุน

สำหรับการให้บริการบัดดี้ บรอดแบนด์ เอดีซีตั้งเป้าไว้ว่าปีแรกจะมีลูกค้าประมาณ 6-8 หมื่นราย และคาดว่าจะถึงจุดคุ้มทุนได้ด้วยระยะเวลา 4 ปี หรือมีลูกค้าประมาณ 5 แสนราย

จุดเด่นของบัดดี้ บรอดแบนด์คือ ผู้ใช้จะได้รับความสะดวกสบายและง่าย ไม่ว่าจะเป็น 1.การตรวจสอบพื้นที่บริการโดยผ่านเว็บไซต์ www.buddybb.net หรือคอลเซ็นเตอร์ 2.การสมัครใช้บริการที่สำนักงานเอไอเอส และร้านเทเลวิซ 3.ค่าบริการรายเดือน 650 บาท ความเร็ว 2 เมกะบิต ต่อวินาที แบบไม่จำกัดชั่วโมง ยกเว้นการใช้บริการ คอนเทนต์บางอย่างที่ต้องจ่ายเพิ่มในรูปแบบของบัตรเติมเงินหรือพรีเพดในราคา 300 บาท 500 บาท และ 800 บาท ส่วนรายได้ที่ได้จากค่าบริการ คอนเทนต์เอดีซีจะแบ่งให้กับพันธมิตร 50%

4.การติดตั้งอุปกรณ์ต่างๆ ด้วยตัวเองสามารถทำได้ง่าย 5.การเติมเงินทางหน้าจอโทรศัพท์ คอมพิวเตอร์ หรือไอวีอาร์ 6.การใช้บัตรเติมเงินหรือบัตรเครดิตในการเติมเงิน 7.การเลือกชมเนื้อหาที่หลากหลายประเภทจากพันธมิตรที่ให้บริการเนื้อหาสาระ หรือคอนเทนต์โพรวายเดอร์กว่า 18 ราย 8.การรับชมภาพและควบคุมการใช้งานบนคุณภาพระดับดีวีดีผ่านจอโทรทัศน์ 9.ฟรีเมลบล็อกขนาด 100 เมกะไบต์ และอื่นๆ อีกมาก

กทช.ชี้ไอพีทีวีต้องถูกคุม

นายสุธรรม อยู่ในธรรม กรรมการคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) กล่าวถึงกรณีการเปิดให้บริการไอพีทีวี หรือบรอดแบนด์ทีวี (การให้บริการทีวีผ่านอินเทอร์เน็ต) ว่า อนาคตไอพีทีวีจะต้องอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกทช. เพียงแต่ขณะนี้อยู่ในช่วงว่างรอยต่อของการกำกับดูแล ซึ่งกทช.ยังไม่ได้รับช่วงต่อมาและการให้บริการดังกล่าวทำภายใต้บริษัท ทศท คอร์ปอเรชั่น หรือบริษัท กสท โทรคมนาคม ไม่ได้ ดำเนินการกับ กทช.

ช่วงนี้เป็นช่วงของการปรับตัว ผมไม่ได้บอกว่าทำได้หรือทำไม่ได้ ไม่ใช่เรื่องผิดหรือถูก แต่เป็นเรื่องของเทคโนโลยีที่มาแล้ว ในขณะที่การกำกับดูแลยังไปไม่ถึง"

ในวันนี้ (24 มี.ค.) กทช.ได้เปิดให้มีการสัมมนา รับฟังความคิดเห็นสาธารณะเรื่องนโยบายอินเทอร์เน็ตสำหรับประเทศไทย เพื่อนำความคิดเห็นไปประกอบกับการกำหนดนโยบายการออกใบอนุญาตและการกำกับดูแลธุรกิจอินเทอร์เน็ต ซึ่งคาดว่าภายในกลางปีนี้จะสามารถออกใบอนุญาตได้

นายสุธรรมกล่าวว่ากลางปีจะออกใบอนุญาต เกี่ยวกับอินเทอร์เน็ตที่เป็นการเชื่อมต่อธรรมดาจะเป็นเรื่องเบสิก อินเทอร์เน็ตหรือการให้บริการเชื่อมต่อเท่านั้น ส่วนเรื่องไอพีทีวี หรือวีโอไอพี เป็น เรื่องที่กทช.ต้องกำกับดูแลตามกฎหมาย เพียงแต่ตอนนี้เหมือนแค่ยกที่หนึ่ง แต่ไอพีทีวีเป็นยกที่เจ็ดหรือแปด

เขากล่าวว่า กทช.จะให้ใบอนุญาตผู้ให้บริการ อินเทอร์เน็ต (ไอเอสพี) โดยไม่คิดค่าธรรมเนียมหรือคิดต่ำที่สุด พร้อมให้เงินสนับสนุนกับไอเอสพี รายใหม่หลังจากกทช. สามารถกำหนดแนวทางการ ออกใบอนุญาตถาวรที่ชัดเจนได้ ซึ่งมีแผนที่จะให้ เสร็จภายในเดือน เม.ย.นี้ เนื่องจากไอเอสพีบางราย จะหมดสัญญากับกสทแล้ว การให้เงินสนับสนุน ดังกล่าวได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานหนึ่งซึ่งยังไม่สามารถเปิดเผยได้โดยงบประมาณสนับสนุน ขึ้นอยู่กับประเภทกิจการที่จะเข้ามาขอใบอนุญาตเพื่อส่งเสริมให้รายใหม่สามารถแข่งขันกับรายเก่าได้ตามนโยบายเปิดเสรีและทำให้มีผู้ประกอบการมากรายรวมทั้งเพื่อให้ค่าบริการถูกลง

"กทช.ไม่ต้องการให้เกิดสุญญากาศและต้องการให้อินเทอร์เน็ตเข้าสู่การแข่งขันเสรีอย่างแท้จริง ซึ่งคาดว่าจะมีผู้ให้บริการเพิ่มอีกเท่าตัว"

ด้านนายอธึก อัศวานันท์ รองประธานกรรมการและหัวหน้าคณะผู้บริหารกฎหมายบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า กทช.ควรให้ความสำคัญกับการเปิดเสรีวงจรเชื่อมต่อไปต่างประเทศหรืออินเตอร์เนชั่นแนล เกตเวย์ ที่ปัจจุบันมีกสทเป็นผู้ให้บริการรายเดียว ซึ่งทำให้เกิดปัญหาความไม่พอเพียงและต้นทุนที่สูง ซึ่งหากเป็นเช่นนี้ต่อไปเรื่อยๆ จะไม่ใช่เป็นการเปิดเสรีอินเทอร์เน็ตอย่างแท้จริงเพราะถึงแม้จะช่วยสนับสนุนให้เกิดไอเอสพี รายใหม่แต่ก็จะได้แต่เพียงคอนเทนต์ในประเทศเท่านั้น

นอกจากนี้บริการอินเทอร์เน็ตถือเป็นแค่การเชื่อมต่อเท่านั้น ไม่จำเป็นต้องขอใบอนุญาตก็ได้ น่าจะทำในลักษณะแค่การจดทะเบียนก็พอเพื่อให้เกิดผู้ให้บริการจำนวนมากเพราะเป็นการให้บริการที่ส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ และช่วยลดช่องว่างในการเข้าถึงประชาชนได้


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.