โครงการ 4 เมษา ความ(พยายาม)เป็นเอกภาพของอัศวินม้าขาว…คลัง & แบงก์ชาติ


นิตยสารผู้จัดการ( มิถุนายน 2529)



กลับสู่หน้าหลัก

วิกฤตการณ์ที่เกิดกับสถาบันการเงินหลายแห่งในปี 2526-2527 นั้นทำให้ทางการทนดูอยู่ไม่ได้ต้องยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ โดยกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทยร่วมกันเป็นอัศวินม้าขาวโดดเข้าช่วยแก้ปัญหาต่างๆ ภายใต้แผนงานที่เรียกกันว่า “โครงการช่วยเหลือ 4 เมษายน 2527” มีสถาบันการเงินที่เข้าร่วมโครงการทั้งหมด 25 สถาบัน

มาถึงวันนี้นับได้ 2 ปีให้หลังไปแล้ว อัศวินม้าขาวทั้ง 2 แห่งก็ส่งตัวแทนมาแถลงข่าวร่วมกัน เพื่อเผยถึงผลการดำเนินงานที่ทำให้บรรยากาศของสถาบันการเงินผู้ร่วมโครงการแจ่มใสขึ้นทันตาเห็น ส่งผลให้อาการพะงาบๆ ใกล้โคม่าเปลี่ยนมาเป็นระยะพักฟื้นใกล้ปกติ

การร่วมกันแถลงข่าวในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาของคลังและแบงก์ชาตินั้น ดูเหมือนจะเป็นความพยายามที่จะสร้างภาพพจน์ให้เกิดความเป็นเอกภาพให้ความรู้สึกของการรวมพลังและความน่าไว้วางใจ

ในวันนั้น ศุภชัย พานิชภักดิ์ ผู้อำนวยการฝ่ายกำกับและตรวจสอบสถาบันการเงินจากแบงก์ชาติ เดินเคียงไหล่มากับนิพัทธ พุกกะณะสุต รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง ยิ้มแย้มทักทายบรรดานักข่าวที่มาชุมนุมกันเพียบทั้งหนังสือพิมพ์และโทรทัศน์ซึ่งมาเกือบจะครบทุกช่อง ทั้งนี้เป็นเพราะความทอปฮิตของข่าวในแวดวงเศรษฐกิจที่ไม่ว่าใครก็ให้ความสนใจกันทั้งนั้น

“ในระยะ 3-4 เดือนข้างหน้านี้ เราคิดว่าจะพยายามปรับปรุงฟื้นฟูบริษัทที่อยู่ในฐานะที่ดีกลับคืนสู่ภาคเอกชนได้ประมาณ 3-5 บริษัท เป็นการกระทำหลังจากทางการได้เข้าไปปรับปรุงฟื้นฟูฐานะของบริษัทเหล่านี้ได้ดีขึ้นแล้ว ส่วนบริษัทอื่นๆ ที่กำลังอยู่ในโครงการนั้น ทางการก็จะดำเนินนโยบายแก้ไขโดยวิธีการต่างๆ นานา เพื่อที่จะให้บริษัทเหล่านี้เข้าไปเป็นบริษัทอยู่ในภาคเอกชนเหมือนเดิมทุกประการ…” นิพัทธ พุกกะณะสุต เริ่มประเดิมการแถลงข่าวอย่างเป็นงานเป็นการกล่าวถึงแนวนโยบายที่ทางการดำเนินการอยู่

ศุภชัย พานิชภักดิ์ ซึ่งคอยทีอยู่ช่วยเสริมต่อเพิ่มเติมว่า “ปัญหาที่มีอยู่แรกเริ่มนั้น ต้องขอยืนยันว่าได้ลดลงไปมากแล้ว ปัญหาที่ยังหลงเหลืออยู่ในเรื่องของการเร่งรัดชำระหนี้ในการเพิ่มทุนในการหาผู้ที่จะมาร่วมถือหุ้นต่อไปในอนาคต ก็จะถือไว้เป็นแนวทางที่ทางการจะดำเนินการต่อไปเพื่อที่จะแก้ไขปัญหา เพราะฉะนั้นหากมีข่าวที่มีการเสนอในเรื่องที่จะมีการเพิกถอนหรือจะมีการรวมกลุ่ม ก็ขอให้ถือว่านโยบายที่ทางการจะรับปฎิบัติต่อไปนั้น จะดำเนินการไปในทางที่จะสร้างความมั่นคงให้กับการฝากเงินของประชาชน ให้กับการดำเนินการดำเนินงานของบริษัทที่ทางการรับเข้ามาดูแลในโครงการ 4 เมษา …มิใช่ว่าจะเป็นไปในทางที่จะก่อให้เกิดความเสื่อมเสีย…” ศุภชัยคีบซิการ์ไว้ตลอดเวลาที่แถลงข่าว นานๆ ครั้งก็อัดพ่นควันอย่างสบายอารมณ์ และ…เป็นกันเอง

โครงการ 4 เมษานี้คณะกรรมการกำกับและกำหนดแนวนโยบายที่จัดตั้งขึ้นมาเป็นพิเศษ โดยมี รมต.คลังเป็นประธานร่วมด้วยผู้ว่าแบงก์ชาติ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง

หลังจบการแถลงข่าวอย่างเป็นงานเป็นการแล้ว เมื่อกล้องถ่ายรูปของทีวีหยุดจับภาพ ทั้งสองก็ผ่อนคลายอิริยาบถทันที นิพัทธกล่าวติดตลกว่า “ใครมีอะไรจะถามก็เล่นมาเลย …ขออนุญาตกินกาแฟหน่อยได้ไหม…เมื่อกี้พูดจนเมื่อยปาก…” เรียกเสียงฮาจากนักข่าวได้ถ้วนหน้า

“แผนนี้ไม่ใช่ 90 วัน แต่ในส่วนที่เราอยากแสดงเจตนาให้เร็วที่สุดความจริงมันผ่านมาแล้ว 2 ปี เมื่อถึง MID TERM บางบริษัทก็สอบผ่านไปแล้ว ก็ให้ผ่านไปเลย GRADUATE นะ” นิพัทธ์ตอบคำถามนักข่าวเกี่ยวกับระยะเวลาของโครงการ

นักข่าวรายหนึ่งถามถึงกรณีบริษัทที่ “เหลือขอ” นิพัทธ์อธิบายว่า “ตอนเข้ามา แต่ละแห่งนี่ปัญหาเหลือล้นทั้งนั้น เมื่ออยู่กับเราแล้วปัญหาทุเลาลง ทุเลาลงมากจนปกติเราก็ส่งกลับไป ที่ยังทุเลาลงแต่เรายังต้องดูแลต่อไปใกล้ชิด เราก็ยังดูแลโดยการเร่งรัด เช่น เร่งรัดเรื่องการรวมตัว ของดีมากกับดีน้อยแล้วมันจะช่วยให้ดีมากขึ้นกว่าเดิม หรือหาผู้ถือหุ้นอื่นมาช่วยรับภาระนี้จากเราไปด้วยเพราะถ้าเขามีสถาบันการเงินที่ดีมารับ เขาก็ไปเฉลี่ยของดีของไม่ดีเข้าไปก็แก้ได้ นี่คือสิ่งที่เรากำลังจะทำต่อไป ถ้าเหลือขอนี้ไม่มีแล้ว มันเหลือขอทั้งนั้นน่ะทีแรก…”

ตลอดเวลาการถามตอบปัญหาต่างๆ ดูเหมือนว่าต่างฝ่ายต่างก็ตอบกันไปคนละเรื่องพร้อมๆ กัน ดูแล้วทำให้ภาพพจน์ของเอกภาพที่ “ทำท่าจะเป็น” แต่แรกนั้นค่อนข้างจะเบลอไปเสียอีกแล้ว…ต้องพยายามกันใหม่อีกไหมนี่?…”


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.