|

คอมป์แมนกรุ๊ปแจ้งจับ 14 บริษัทแล้วก็จบลงเพราะ "มิตรภาพ"
นิตยสารผู้จัดการ( พฤศจิกายน 2528)
กลับสู่หน้าหลัก
เรื่องการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์นั้น วงการคอมพิวเตอร์บ้านเราถกเถียงกันมานานพอดู
แต่ดูเหมือนเรื่องที่บริษัทคอมป์แมนกรุ๊ปแจ้งความดำเนินคดี 14 บริษัทตัวแทนจำหน่ายคอมพิวเตอร์ ด้วยข้อหาละเมิดลิขสิทธิ์โปรแกรม “ไทนับ 4” เมื่อเร็วๆ นี้ กลับเป็นเรื่องแปลกใหม่อย่างมากๆ
“ไทนับ 4” เป็นชื่อของชุดโปรแกรมภาษาไทยซึ่งเป็นผลงานร่วมกันของบริษัทคอมป์แมนกรุ๊ปกับชุมชนคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ลาดกระบัง โดยบริษัทคอมป์แมนกรุ๊ป เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์และก็ทำหน้าที่ด้านการตลาดด้วย
โปรแกรมภาษาไทยชุด ไไทนับ 4”นี้ ประกอบด้วยโปรแกรมที่เรียกว่า คำไท ดีเบสไท ซุปเปอร์แคลไทและเอ็มเบสิกไท มีคุณสมบัติที่สามารถทำงานได้ภายใต้ DOS เดียวกันคือ CP/M VERSION 2.2
หรือพูดง่ายๆ ก็คือชุดโปรแกรมภาษาไทยที่ใช้กับฮาร์ดแวร์ของเครื่องแอปเปิล ชนิด 8 บิต รวมทั้งบรรดาเครื่องแอปเปิล คอมแพททิเบิล ทั้งหลายเช่นกัน
ก็เป็นชุดโปรแกรมที่วงการยอมรับกันมาก
เพราะฉะนั้นการก๊อบปี้ ก็ย่อมต้องมีมากด้วยเป็นธรรมดา
แหล่งใหญ่ที่ทำการละเมิดลิขสิทธิ์ด้วยการก๊อบปี้โปรแกรมนั้น ก็เห็นจะหนีไม่พ้นตัวบริษัทผู้ขายเครื่องไมโครคอมพิวเตอร์ทั้งหลาย
“พวกนี้เขาต้องแข่งขันกันมาก เขาจึงพยายามที่จะเอาใจลูกค้า ขายเครื่องกันถูกๆ แถมยังมีโปรแกรมให้ใช้ฟรีๆ อีก ก็ต้องเอาใจลูกค้ากันขนาดนั้นเพื่อให้ขายเครื่องได้ ทีนี้จะแถมโปรแกรมให้ฟรี ๆ ได้มันก็ต้องก๊อบปี้ให้ เรื่องที่จะซื้อโปรแกรมมาแถมให้ลูกค้าฟรีๆ นั้นไม่มีใครกล้าทำอยู่แล้ว เรื่องมันก็เป็นอย่างนี้แหละ...” คนในวงการคอมพิวเตอร์พูดให้ฟัง
ชุดโปรแกรม “ไทนับ 4” ได้ถูกแนะนำเข้าตลาดเมื่อราวๆ ต้นปี 2528 นี้เอง
ในช่วง 2-3 เดือนแรกยอดขายทำท่าจะไปได้ดีมากแต่พอหลังจากนั้นทุกอย่างก็กลับตาลปัตรหมด “ซึ่งเราก็รู้ได้ทันทีว่าจะต้องมีการก๊อบปี้โปรแกรมของเรากันอย่างขนานใหญ่ เราก็เลยเริ่มเก็บหลักฐานและข้อมูลว่า ใครบ้างที่ละเมิดลิขสิทธิ์เรา และเราตั้งใจแน่นอนที่จะต้องใช้มาตรการทางกฎหมายเพื่อทำให้เห็นเป็นตัวอย่างเสียบ้าง...” ประทีป กุละปาลานนท์ อดีตกรรมการผู้จัดการของคอมป์แมนกรุ๊ปเล่าให้ “ผู้จัดการ” ฟังตั้งแต่ตอนช่วงกลางปี 2528 แล้ว
มาตรการทางกฎหมายเพื่อพิสูจน์ความศักด์สิทธิ์ของกฎหมายลิขสิทธิ์ในบ้านเราทางคอมป์แมน กรุ๊ปจึงได้เตรียมมานานแล้วอีกเหมือนกัน
ก็เป็นไปได้ว่าถ้าคอมป์แมนกรุ๊ปไม่ต้องประสบมรสุมภายในซึ่งมีทั้งเรื่องกิจการที่ทำขาดทุนและผู้ถือหุ้นขัดแย้งกัน มาตรการทางกฎหมายนี้ก็อาจจะถูกใช้ไปแล้วก่อนหน้านี้หลายเดือน
คงไม่ต้องรอจนกลุ่มไทยสมุทรฯ เข้ามา TAKE OVER และอำนาจการจัดการเปลี่ยนมือจากประทีปมาเป็นบุญสิน พรหมสรปสันน์ ก่อนจึงค่อยดำเนินการเป็นแน่
แต่คอมป์แมนกรุ๊ป ก็ดำเนินการไปแล้ว โดยได้แจ้งความกับสถานีตำรวจนครบาลหลายท้องที่ เรียกค่าเสียหายฐานละเมิดลิขสิทธิ์กับบริษัทตัวแทนจำหน่ายคอมพิวเตอร์จำนวน 14 บริษัท รวมค่าเสียหายทั้งหมดที่เรียกไปก็เบาะๆ 2.8 ล้านบาท ตกบริษัทละ 2 แสนบาทเท่าๆ กัน
ทั้ง 14 บริษัทที่ถูกแจ้งความให้ดำเนินคดีนี้ก็มี เช่น บริษัทถาวรคอมพิวเตอร์ บริษัท บี.เอ็ม.คอมพิวเตอร์ บริษัทคอมโป บริษัทซุปพีเรีย คอมพิวเตอร์ บริษัท เค.ที.คอมพิวเตอร์ บริษัทคอมโปแนนซ์ ซัพพลายส์ และบริษัทคอมพิวเตอร์ รีเสิร์ช เป็นต้น
ก็ต้องเรียกว่าเป็นคดีที่วงการคอมพิวเตอร์บ้านเราสนใจกันมาก เพราะอย่างน้อยถ้าคดีนี้สามารถดำเนินไปจนถึงที่สุด ก็คงพอจะใช้เป็นบรรทัดฐานสำหรับกรณีเดียวกัน แต่ต่างกรรมต่างวาระได้เป็นอย่างดีทีเดียว
ในแง่ของความกล้าหาญแล้ว จึงต้องยกให้คอมป์แมนกรุ๊ป
แต่ความกล้าหาญอย่างเดียวบางครั้งมันก็ช่วยแก้ปัญหาอะไรไม่ได้เหมือนกัน โดยเฉพาะเมื่อมีคำว่า “มิตรภาพ” ของคนในวงการเดียวกันเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย
“ทำไปจะชนะหรือแพ้ก็ยังไม่รู้ ปัญหาหยุมหยิมกับทนายก็มาก ค่าเสียหายก็แค่ 2 ล้านกว่าบาท เมื่อต้องคำนึงถึงมิตรภาพความมีน้ำใจของคนในวงการเดียวกันแล้ว ก็ไม่น่าจะทำ” แหล่งข่าวซึ่งพอจะมีเอี่ยวกับเรื่องนี้ด้วยพูดกับ “ผู้จัดการ”
ด้วยเหตุผลนี้แหละ ก็เลยทำให้คอมป์แมนกรุ๊ปต้องตัดสินใจถอนคดีทั้งหมดตลอดวันที่ 21 ถึง วันที่ 25 ตุลาคมที่ผ่านมา
ส่วนว่าจะเป็นเพราะ “ไทยสมุทร” ขอร้องไว้หรือไม่นั้น เรื่องนี้ก็คงไม่ต้องพูดกัน
เอาเป็นว่าทุกอย่างยุติลงเพราะคำว่า “มิตรภาพ” เท่านั้นดีกว่า
ซึ่งถ้าคิดกันตั้งแต่ตอนก่อนจะแจ้งความ เรื่องของเรื่องก็คงจะไม่มีใครเสียเส้นอย่างนี้หรอก
คอลัมน์ รายงานเทคโนโลยี
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|