พิลาศพงษ์ ทรัพย์เสริมศรี จอมยุทธ์ที่ต้องพเนจรอีกครั้ง


นิตยสารผู้จัดการ( พฤศจิกายน 2528)



กลับสู่หน้าหลัก

พิลาศพงษ์ ทรัพย์เสริมศรี เป็นคนที่มีชื่อเสียงพอตัวในวงการคอมพิวเตอร์ของไทย

เมื่อปลายปี 2525 พิลาศพงษ์ถูกดำหริ ดารกานนท์ กับ ดร.อำนวย วีรวรรณ ผู้บริหารใหญ่แห่งเครือสหยูเนียนดึงตัวมาเป็นที่ปรึกษาด้านคอมพิวเตอร์ ครั้นสหยูเนียนก่อตั้งบริษัท คอมพิวเตอร์ยูเนียนแล้วก็เลยมีการมอบตำแหน่งกรรมการผู้จัดการให้กับพิลาศพงษ์

ล่วงหน้าเข้าเดือนตุลาคม 2528 ภาคราชการเสร็จสิ้นฤดูโยกย้ายประจำปีไปหมดแล้ว แต่ที่สหยูเนี่ยนกลับเพิ่งจะเริ่ม และคนหนึ่งที่ถูกโยกย้ายก็คือ พิลาศพงษ์ จากตำแหน่งกรรมการผู้จัดการกลับไปเป็นที่ปรึกษาตามเดิม

อีกไม่ถึงสัปดาห์ให้หลัง ใบลาออกของพิลาศพงษ์ก็ถูกส่งไปถึงฝ่ายบุคคลและดำหริ ดารกานนท์ ในที่สุด

พิลาศพงษ์อำลาคอมพิวเตอร์ยูเนียนไปแล้ว

และกมล คูสุวรรณ ก็มานั่งในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการแทนพิลาศพงษ์แล้วด้วย

ที่ยังไม่แล้วก็เห็นจะมีแต่คำถามที่ว่า “มันเกิดอะไรขึ้น” เท่านั้น

พิลาศพงษ์ ทรัพย์เสริมศรี ปัจจุบันอายุ 36 ปี จบปริญญาตรีด้านวิศวกรรมศาสตร์สาขาไฟฟ้า จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น ปริญญาโทวิศวกรรมไฟฟ้าอีกเหมือนกัน เพียงแต่คราวนี้เป็นที่มหาวิทยาลัยฮุสตัน มลรัฐเทกซัส สหรัฐอเมริกา

ตอนที่เรียนปริญญาโทนั้น พิลาศพงษ์เลือกเรียนด้าน “ไมโครโปรเซสเซอร์” และเคยทำงานเป็นวิศวกรออกแบบเครื่องไมโครคอมพิวเตอร์กับลิตตัน อินดัสทรีย์อีก 3 ปีกว่าด้วย

ก็อาจจะพูดได้ว่าพิลาศพงษ์เป็นคนไทยคนแรกๆ ที่รู้เรื่องเกี่ยวกับไมโครคอมพิวเตอร์มากๆ เพราะถ้าย้อนหลังกลับไป 6-7 ปีที่แล้ว ขณะที่พิลาศพงษ์กำลังคร่ำเคร่งอยู่กับงานออกแบบเครื่องไมโครคอมพิวเตอร์ที่สหรัฐฯ นั้นประเทศไทยยังไม่เคยมีใครได้ยินชื่อไมโครคอมพิวเตอร์ด้วยซ้ำไป

การกลับมาบ้านที่เมืองไทย ก็เลยไม่มีงานจะให้พิลาศพงษ์ทำ เพราะความรู้ที่ร่ำเรียนมายังไม่มีใครรู้จักนั่นแหละเป็นต้นเหตุ

แต่ก็ยังโชคดีที่พิลาศพงษ์รู้จักกับอาจารย์สุรยุทธ สัตยประกอบ แห่งคณะวิศวกรรมศาสตร์สาขาคอมพิวเตอร์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อาจารย์สุรยุทธเป็นผู้ที่สนใจเรื่องเกี่ยวกับไมโครคอมพิวเตอร์มากจึงได้ดึงพิลาศพงษ์เข้ามาเป็นคณาจารย์คนหนึ่งของสาขาคอมพิวเตอร์

และได้ร่วมกันสร้างแล็บไมโครคอมพิวเตอร์ขึ้นที่จุฬาฯ หลังจากนั้นไม่นาน

สอนวิชาคอมพิวเตอร์ได้ระยะหนึ่ง พิลาศพงษ์ก็อำลาชีวิตเรือจ้างรายได้ต่ำมาเป็นผู้จัดการฝ่ายวิศวกรรมให้กับบริษัท คอนโทรลดาต้าประเทศไทยซึ่งรายได้สูงกว่า ค่อยคุ้มกับค่าวิชาที่อุตส่าห์บากบั่นร่ำเรียนมาบ้าง อีกทั้งก็ยังท้าทายความสามารถกว่าด้วย

“ตอนนั้นคอนโทรลดาต้ามีโครงการจะสั่งเครื่องไมโครคอมพิวเตอร์เข้ามาขาย จึงดึงพิลาศพงษ์มารับผิดชอบเรื่องนี้โดยเฉพาะ แต่จะด้วยสาเหตุใดก็ไม่ทราบ โครงการนี้ไม่ได้ดำเนินไปตลอดรอดฝั่ง พิลาศพงษ์เลยต้องลาออกจากคอนโทรลดาต้า” คนในวงการคอมพิวเตอร์เล่าให้ “ผู้จัดการ” ฟัง

ผลก็คือพิลาศพงษ์ต้องกลับมาสอนหนังสือที่จุฬาฯ อีกครั้ง

หลังจากนั้นในช่วงปลายปี 2525 จึงได้เข้าร่วมงานกับสหยูเนียนดังได้กล่าวไปแล้ว

พิลาศพงษ์เป็นคนทำงานทำจริงคนหนึ่ง

แต่ค่อนข้างจะเป็นคนที่อับโชคคนหนึ่งด้วยเหมือนกัน

บริษัทคอมพิวเตอร์ยูเนียนซึ่งพิลาศพงษ์ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นกรรมการผู้จัดการนั้นเริ่มต้นด้วยการเป็นตัวแทนจำหน่ายเครื่องไมโครคอมพิวเตอร์ยี่ห้อ “ออสบอนด์”

ก็ทำเอาคอมพิวเตอร์ยูเนียนแทบกระอักเลือดเพราะล้มเหลวอย่างมากๆ และท้ายที่สุดโรงงานของออสบอนด์ก็ต้องปิดกิจการไป ส่วนคอมพิวเตอร์ยูเนียนก็หันมาขายไอบีเอ็ม พีซี แข่งกับค้าสากลซิเมนต์ ผู้ขายไอบีเอ็ม พีซี อีกรายหนึ่ง

จากวันนั้นมาถึงวันนี้คอมพิวเตอร์ยูเนียนก็ทำหน้าที่เป็นตัวแทนจำหน่ายไอบีเอ็ม พีซี ได้ 3 ปีเศษๆ ซึ่งถ้าเป็นเส้นกราฟก็น่าจะพูดได้ว่า เป็นเส้นกราฟที่พุ่งขึ้นสูงในช่วงปีสองปีแรก แล้วก็ตกลงพรวดๆ ในช่วงปีที่ 3

และก็อาจจะตกต่อไปเรื่อยๆ ภายใต้ภาวการณ์ปัจจุบันที่ตัวแทนจำหน่ายไอบีเอ็ม พีซี เพิ่มจาก 2 เป็น 4 รายแล้ว

“มันก็เป็นสภาพที่อึดอัดด้วยกันทั้ง 2 ฝ่าย คือทั้งฝ่ายเจ้าของกิจการและฝ่ายบริหาร” แหล่งข่าวในวงการคอมพิวเตอร์ให้ความเห็น

สถานภาพของพิลาศพงษ์ในคอมพิวเตอร์ยูเนียนจึงเป็นเรื่องที่พูดกันมานานหลายเดือนก่อนหน้านี้

“ยิ่งตอนหลังก็มีข่าวลือเข้ามาทิ่มตำคุณพิลาศพงษ์มากว่า แกไปทำอย่างนั้นอย่างนี้ โดยเฉพาะถึงกับลือกันว่าแกจะเอาเครื่องคอมพิวเตอร์ของยามาฮ่าที่ใช้เขียนโน้ตดนตรีมาขาย ซึ่งความมาแตกเอาเมื่อสยามกลการเขาก็จะเอามาขาย แต่ญี่ปุ่นบอกว่ากำลังติดต่อกับพิลาศพงษ์อยู่ สยามกลการก็เลยสอบถามมาทางกลุ่มผู้บริหารของสหยูเนียน เรื่องมันก็เลยวุ่น เพราะไม่รู้ว่าคุณพิลาศพงษ์จะสั่งมาขายเองหรือทำไปในนามของคอมพิวเตอร์ยูเนียน แล้วก็อีกหลายเรื่อง ว่าแกไปตั้งซอฟต์แวร์เฮาส์คอยรับงานอีกต่อจากคอมพิวเตอร์ยูเนียนบ้าง” แหล่งข่าวคนเดิมเล่าให้ฟัง

ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ประสาทเสียด้วยกันทั้ง “ผู้ใหญ่” และพิลาศพงษ์อีกนั่นแหละ

จากนั้นจึงได้จบลงด้วยการย้ายพิลาศพงษ์ไปเป็นที่ปรึกษา และพิลาศพงษ์ตัดสินใจยื่นใบลาออกทันทีที่ถูกย้ายซึ่งจะถูกย้ายเพราะสาเหตุใดและทำไมจึงต้องลาออก ล้วนไม่มีใครชี้แจงข้อเท็จจริงให้ประจักษ์

“ผู้จัดการ” ได้พยายามสอบถามทางคอมพิวเตอร์ยูเนียน แต่ก็ถูกตอบปฏิเสธที่จะพูดถึงเรื่องการลาออกของพิลาศพงษ์ ส่วนพิลาศพงษ์ขณะนี้ก็ออกเดินทางพักผ่อนอยู่ต่างประเทศกับภรรยา-สุธีพร โดยสุธีพรแจ้งลาพักร้อนกับทิสโก้สถานที่ทำงานไว้ 10 วัน

“ผมสบายใจดี เมื่อออกมาแล้ว” พิลาศพงษ์พูดสั้นๆ เพียงเท่านั้นกับญาติสนิทก่อนจะฝากลูกสาวไว้ให้ญาติคนนี้ช่วยดูแลระหว่างอยู่ต่างประเทศ

หลังจากนี้ไปแล้วพิลาศพงษ์จะทำอะไร ก็คงมีพิลาศพงษ์เท่านั้นที่ทราบ!


คอลัมน์ รายงานเทคโนโลยี


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.