|
คอมพิวเตอร์กระเป๋าหิ้วของ SHARP ผลพวงจากความผิดพลาดของ IBM
นิตยสารผู้จัดการ( พฤศจิกายน 2528)
กลับสู่หน้าหลัก
ตลาดของคอมพิวเตอร์ขนาดเล็กหรือที่เรียกว่า “ไมโครคอมพิวเตอร์” นั้นแบ่งออกได้เป็น 3 ตลาดด้วยกันคือคอมพิวเตอร์ส่วนตัวที่ใช้สำหรับธุรกิจขนาดย่อม คอมพิวเตอร์เพื่อการนันทนาการ ภายในบ้านและตลาดไมโครคอมพิวเตอร์กระเป๋าหิ้ว
ในตลาดแรก เป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุด มี IBM เป็นเจ้าตลาด ส่วนตลาดของคอมพิวเตอร์ใช้ในบ้านนั้นเป็นการเริ่มเปิดศักราชโดย APPLE และ IBM เองก็พยายามที่จะเข้ามาสอดแทรกในตลาดนี้ด้วยการเสนอเครื่อง IBM PC JUNIOR แต่ก็ต้องถอนตัวออกไปในเวลารวดเร็ว นอกจากนี้ตลาดคอมพิวเตอร์กระเป๋าหิ้วซึ่งแต่เดิมทุกคนมองว่าเป็นตลาดที่ค่อนข้างเล็ก จริง ๆ แล้วถ้าสามารถสนองตลาดด้วยผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสม ก็น่าจะกระตุ้นตลาดนี้ให้โตและขยายตัวได้เหมือนกัน
คุณลักษณะที่สำคัญสำหรับคอมพิวเตอร์กระเป๋าหิ้วนั้นก็อยู่ที่ว่า ขนาดต้องกะทัดรัด สามารถหิ้วไปไหนมาไหนได้ทุกสถานที่ ระบบไฟควรจะต้องสามารถใช้ไฟจากแบตเตอรี่ได้ ทำให้ไม่ต้องห่วงเรื่องที่จะต้องหาปลั๊กไฟมาต่อ ยิ่งปัจจุบันก็ดูเหมือนว่าคอมพิวเตอร์กระเป๋าหิ้วที่จะออกมาใหม่นี่จะต้องทำงานได้กับโปรแกรมของ IBM อีกด้วยซึ่งถ้าสามารถถ่ายเทข้อมูลกับ IBM แล้วไซร้ ก็ดูเหมือนว่าจะมีทางพิชิตตลาดนี้ได้ไม่ยาก
ในอดีตที่ผ่านมา หลายๆ บริษัทต่างพยายามที่จะแนะนำคอมพิวเตอร์กระเป๋าหิ้วเข้าสู่ตลาดอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็น IBM ซึ่งได้พยายามออกผลิตภัณฑ์ที่มีคุณสมบัติครบถ้วนทุกอย่าง ยกเว้นแต่เพียงขนาดเท่านั้นที่ดูเทอะทะ จึงไม่เป็นที่นิยมของตลาดและคงต้องถอยทัพไปในเร็ววันนี้แน่นอน
ประมาณปี 2527 บริษัท DATA GENERAL ได้แนะนำผลิตภัณฑ์ใหม่เรียกว่า DG/ONE ซึ่งมีขนาดกะทัดรัดและมีคุณสมบัติที่เพียบพร้อมพอตัวแต่ก็ด้วยอุบัติเหตุทางการตลาด 3 ประการที่ทำให้การขายผลิตภัณฑ์ตัวนี้ไม่กว้างขวางนัก ทั้ง 3 ประการนี้ก็คือ การตั้งราคาที่สูงเท่ากับคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลของ IBM จอภาพก็ไม่มีความคมชัดพอควรและประการสุดท้ายก็เป็นเรื่องที่หลายคนคงนึกแทบไม่ออกคือขนาดของ DISKETTE ที่ DATA GENERAL กล้าหาญนำเทคโนโลยีใหม่มาเสนอต่อลูกค้า คือขนาด 3 นิ้วครึ่ง ที่ไม่เคยมีในมาตรฐานของวงการคอมพิวเตอร์ ก็เลยทำให้ลูกค้าไม่แน่ใจถ้าจะต้องซื้อมาใช้
หลังจากนั้นก็มีผู้ผลิตอีกหลายรายได้พยายามลดความผิดพลาดที่ DATA GENERAL ได้ประสบมา แต่ก็ดูเหมือนว่าจะยังไม่สามารถฉุดตลาดที่เฉื่อยชาให้กระปรี้กระเปร่าขึ้นมาได้อยู่นั่นเอง
แต่บัดนี้ SHARP ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตรายใหญ่รายหนึ่งของญี่ปุ่น อาจจะเป็นผู้ปลุกตลาดคอมพิวเตอร์กระเป๋าหิ้วขึ้นมาก็ได้ โดยการแนะนำผลิตภัณฑ์ล่าสุดออกสู่ตลาดซึ่งก็คือ PC-7000 ที่ถูกออกแบบมาเพื่อลดความผิดพลาดในอดีตของผู้ผลิตรายอื่นๆ เกือบทั้งหมด
PC-7000 มีขนาดพอเหมาะจอภาพสามารถแสดงผลได้ถึง 25 บรรทัด ถึงแม้จะใช้จอภาพแบบ LCD ก็ตาม แต่ความคมชัดก็มีพอประมาณ โดยสามารถปรับมุมของจอภาพได้หลายระดับ และส่วนที่น่าสนใจมากนั้นก็เห็นจะได้แก่ การที่สามารถใช้โปรแกรมของคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลของ IBM ได้ทันทีโดยขนาดของ DISKETTE ก็เท่ากันคือเป็นขนาด 5 นิ้วครึ่ง ส่วนราคาก็พอเหมาะพอสมประมาณ 55,000 บาท
SHARP เองนั้นได้พยายามออกแบบ PC-7000 ให้สามารถขยายขีดความสามารถได้โดยอาจจะเชื่อมโยงเข้ากับ HARD DISK ขนาด 10 เมกะไบต์ได้อีกในราคาราวๆ 54,000 บาท และยังอาจจะใช้ PRINTER ขนาดเล็กที่มีความสามารถไม่น้อยทีเดียว ก็ลงเงินเพิ่มอีก 13,000 บาท
ก่อนหน้านี้ SHARP เคยเสนอ PC-5000 สู่ตลาดโดยได้รับความนิยมพอประมาณ เสียแต่ไม่สามารถใช้ได้กับโปรแกรมของ IBM ทำให้ยอดขายไม่สูงนัก
ขณะนี้ PC-7000 เริ่มมีการแนะนำในตลาดเมืองไทยบ้างแล้ว แต่คาดว่าจะสามารถสนองความต้องการของลูกค้าได้คงประมาณต้นปีหน้า และถ้าผู้แทนจำหน่ายในประเทศให้ความสนใจและวางแผนการตลาดดีๆ แล้ว ผลิตภัณฑ์ตัวนี้ก็น่าจะปลุกตลาดคอมพิวเตอร์กระเป๋าหิ้วให้มีชีวิตชีวาขึ้นมาได้แน่นอน เพราะเท่าที่ดูในตลาดของเครื่องขนาดเล็กด้วยกันแล้ว ขณะนี้ยังไม่มีบริษัทใดมีสินค้าที่มีศักยภาพพอจะต่อกรได้กับ PC-7000 ได้เลย ซึ่งก็ดูจะเป็นเรื่องแปลกสำหรับยักษ์ใหญ่อย่างเช่น IBM ที่ละเลยต่อตลาดนี้ แต่ถ้า IBM หันมาสนใจต่อตลาดนี้แล้ว ไม่ว่าใครก็ตาม แม้แต่ SHARP ก็คงสะดุ้งแน่
แต่กว่าจะถึงเวลานั้น SHARP ก็คงจะสามารถสร้างฐานทางการตลาดไว้ได้ไม่น้อยและ SHARP เองก็ต้องขอบใจต่อ IBM เป็นอย่างมากที่ละเลยหรืออาจจะมองตลาดผิดพลาดไปก็เป็นได้
คอลัมน์ รายงานเทคโนโลยี
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|