อนาคตอุตสาหกรรมน้ำตาล ปล่อยให้ตาย ก็ไม่ได้ จะเลี้ยงก็ยากแสนเข็ญ


นิตยสารผู้จัดการ( พฤศจิกายน 2528)



กลับสู่หน้าหลัก

ขณะที่ “ผู้จัดการ” ฉบับนี้ออกวางตลาด การกำหนดราคาอ้อยเบื้องต้นโดยสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาล (กอน.) ซึ่งประกอบไปด้วยตัวแทนชาวไร่อ้อย ตัวแทนโรงงานน้ำตาล ผู้ส่งออก และตัวแทนจากภาครัฐบาล คงสามารถตกลงกันได้แล้วว่าราคาควรจะเป็นเท่าไหร่ในฤดูการผลิตน้ำตาล 2528/2529

สิ่งที่เคยมีปัญหามาตลอดก็คือราคาของแต่ละฝ่ายที่เสนอมาไม่ตรงกันสักทีนั้น สำหรับปีนี้อาจจะไม่ใช่เรื่องใหญ่และอาจจะตกลงกันได้ง่ายกว่าปีก่อน ๆ

เพราะ 3 ปีหลังจากที่ใช้ระบบแบ่งผลประโยชน์ระหว่างชาวไร่กับโรงงานน้ำตาล 70/30 (ดูแผนภาพที่ 1) ทุกฝ่ายรู้ต้นทุนของแต่ละฝ่ายในทุกขั้นตอน ไม่มีใครสร้างตัวเลขมาหลอกกันได้

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปีนี้ การที่ราคาน้ำตาลตลาดโลกตกต่ำก็ดี การที่ชาวไร่อ้อยต้องชำระเงินค่าอ้อยที่ได้รับเกินมาในฤดูการผลิต 2527/2528 ก็ดี และการชำระเงินกู้ที่กองทุนอ้อยและน้ำตาลกู้มาจากธนาคารพาณิชย์จำนวน 78 ล้านดอลลาร์สหรัฐที่ต้องชำระเงินคืนงวดแรกในปีนี้

ต่างเป็นปัญหาที่ทุกฝ่ายต้องรับผิดชอบร่วมกันในการแก้ไข หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งดันทุรังจะให้ได้ผลประโยชน์มากที่สุด ต่างก็รู้แจ้งแก่ใจว่าผลสุดท้ายก็ต้องประสบกับการพังพินาศของทุกฝ่าย

“ราคาอ้อยเบื้องต้นเมื่อฤดูการผลิต 2527/2528 ตั้งไว้ 395 บาท แต่ถึงตอนนี้ก็รู้กันแล้วว่าไม่ถึง เงินส่วนนี้ทางโรงงานจ่ายเกินไปประมาณ 600-700 ล้านบาท หากกองทุนอ้อยและน้ำตาลไม่ช่วยไปหาเงินกู้มาจ่ายคืนให้ทางโรงงาน โรงงานก็จะต้องหักจากราคาอ้อยเบื้องต้นในปีนี้ ซึ่งแน่นอน ชาวไร่อ้อยจะเป็นผู้เดือดร้อน แต่ปัญหาก็คือหากกองทุนฯ กู้มา ใครจะเป็นคนค้ำประกันเงินกู้จำนวนนี้” แหล่งข่าวใน กอน. พูดกับ “ผู้จัดการ”

ปัญหาการเงินอีกประการหนึ่งก็คือเงินกู้จากธนาคารพาณิชย์จำนวน 78 ล้านดอลลาร์ ที่ถึงกำหนดที่ต้องชำระงวดแรกประมาณ 1,300 ล้านบาททั้งต้นและดอกเบี้ย ในจำนวนนี้เป็นดอกเบี้ยประมาณ 600 ล้านบาท ทั้งนี้เป็นเงินที่กู้มาโดยมีเงื่อนไขปลอดการชำระหนี้ทั้งต้นทั้งดอก 3 ปี

“เงินในส่วนที่ต้องชำระหนี้ที่กู้มาตอนนี้ตกลงกับฝ่ายธนาคารพาณิชย์ได้แล้ว การจ่ายเงินต้นให้เลื่อนไป แต่ดอกเบี้ยต้องจ่าย รวมเงินที่ กอน. ต้องหาทางให้กองทุนอ้อยและน้ำตาลกู้ประมาณ 1,100-1,200 ล้านบาท ปัญหามันมีอยู่ว่า กองทุนฯ มีหน้าที่กู้เงินมาโดยได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี แต่กฎหมายไม่ได้เขียนว่ากู้มาแล้วใครจะเป็นผู้ค้ำประกัน นี่เป็นเรื่องใหญ่” แหล่งข่าวรายเดียวกันให้ความเห็นเพิ่มเติม

สิ่งที่ กอน. กำลังพยายามทำเพื่อแก้ปัญหาเงินที่ต้องคืนให้โรงงานน้ำตาลและธนาคารพาณิชย์ ก็คือเจรจากับกระทรวงการคลังให้เป็นผู้ค้ำประกัน แต่ขณะพิมพ์ต้นฉบับอยู่นี้กระทรวงการคลังยังไม่ได้ตกปากรับคำอะไรทั้งสิ้นเพราะปัญหาด้านการคลังตอนนี้กองสุมเป็นพะเนิน จะให้แส่รับภาระเพิ่มขึ้นใครจะไปยอม

“เท่าที่ฟังจากท่านรัฐมนตรีจิรายุ รู้สึกท่านคิดว่าไม่น่ามีปัญหาในการพูดคุยกับกระทรวงการคลัง เพราะ กอน. ได้ยืนยันไปว่าหากคลังไม่มั่นใจว่าจะได้เงินคืน เรายินดีให้หักรายได้จากการจำหน่ายน้ำตาลทรายดิบและน้ำตาลทรายขาวกระสอบละ 10-20 บาท และถ้ากระทรวงการคลังให้การค้ำประกันเงินกู้ เราก็ไม่มีปัญหาเลยในการหาแหล่งเงินดอกเบี้ยถูก” คนใกล้ชิดรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เล่าให้ฟัง

ถ้าเป็นอย่างที่ว่านี้จริง กระทรวงการคลังจะได้เงินคืนเป็นหลักประกันปีหนึ่ง 220 ล้านบาท ในกรณีที่หักเงินจากน้ำตาลทรายขาวและน้ำตาลทรายดิบกระสอบละ 10 บาท หรือ 440 ล้านบาทในกรณีที่เก็บกระสอบละ 20 บาท คงพออุ่นใจได้บ้างหากราคาน้ำตาลยังไม่ดีขึ้นในระยะ 2-3 ปี

“เราไม่ขัดข้องที่จะให้กองทุนอ้อยและน้ำตาลกู้ถ้าหากกระทรวงการคลังจะเป็นผู้ค้ำ และเราก็เชื่อว่าอย่างไรเสียกระทรวงอุตสาหกรรมคงต้องหาเงินก้อนนี้มาให้ได้ ไม่อย่างนั้นการปล่อยเงินกู้ให้กับโรงงานที่เขาต้องเอาไปจ่ายให้ชาวไร่อ้อยในฤดูการผลิตนี้มีปัญหาแน่ เพราะถ้าปล่อยให้กับอุตสาหกรรมทั้งระบบ เงินหมุนเวียนตกประมาณ 10,000-12,000 ล้านบาท” แหล่งข่าวในสมาคมธนาคารไทยให้ความเห็น

นึกไม่ออกเหมือนกันว่าถ้าราคาน้ำตาลในตลาดโลกยังต่ำเตี้ยอย่างที่เป็นมาตั้งแต่ปี 2525 (ดูตารางที่ 1) ในปีต่อไปจะแก้ปัญหาเรื่องการเงินกันอย่างไร เพราะเงินที่ธนาคารพาณิชย์ปล่อยกู้ให้ไม่ใช่ได้มาฟรี ๆ ต้องเสียดอกเบี้ยให้กับผู้ฝากทุกบาททุกสตางค์ที่รับเข้ามา แต่อะไรก็ไม่ร้ายเท่าเมื่อปล่อยกู้ไปแล้วไม่รู้ว่าจะได้เงินต้นคืนอีกกี่ปี เพราะยังเดาไม่ออกว่าเมื่อไหร่น้ำตาลมันจะดีขึ้น

“ในตลาดโลกผลผลิตกับการบริโภคก็ขึ้น ๆ ลง ๆ อยู่ราว 90 ล้านตันต่อปี บางปีก็ 92-93 ล้านตัน ด้านผลผลิตถ้าปีใดมันเกินความต้องการบริโภค 4-5 ล้านตันก็ชักยุ่ง และน้ำตาลจำนวนที่ว่านี้มันได้มีการสะสมการผลิตมากกว่าการบริโภค 2-3 ปีติดต่อกัน เพราะฉะนั้นสต๊อกของโลกที่ข้ามปีเพิ่มจาก 20 ล้านตันเป็น 40 ล้านตัน” ณรงค์ ศรีสอ้าน จากแบงก์กสิกรไทยให้ความเห็น

การที่น้ำตาลเหลือสต๊อกอยู่ในตลาดโลกอยู่มากทำให้ตลาดนี้กลายเป็นตลาดของผู้ซื้อ รวมทั้งจากภาวะเศรษฐกิจของประเทศผู้ผลิตน้ำตาลตกต่ำก็ยิ่งทำให้ราคาน้ำตาลทิ่มหัวลงเรื่อย ๆ

“ในระยะสั้นสำหรับอุตสาหกรรมน้ำตาลในปีสองปีนี้ ผมรู้สึกว่ายากที่จะกระเตื้องขึ้น ผมยังไม่เห็นปัจจัยอะไรที่จะทำให้ราคามันกระเตื้องขึ้นอย่างมากมาย สินค้าการเกษตรทั่วไปก็ตกต่ำ แรงกระตุ้นจากข้างนอกก็ไม่มีหรือน้อยลง โอกาสฟื้นตัวขึ้นคงค่อนข้างไกล” ความเห็นจาก ดร.โอฬาร ไชยประวัติ แห่งธนาคารไทยพาณิชย์ แบงเกอร์หนุ่มที่รู้เรื่องน้ำตาลมากที่สุดคนหนึ่ง ที่คงพอบอกได้ถึงอนาคตของอุตสาหกรรมประเภทนี้

ภาพอนาคตของอุตสาหกรรมน้ำตาลที่ “ผู้จัดการ” นำมาเสนอนี้ออกจะน่ากลัวไปสักหน่อย แต่มันก็เป็นข้อเท็จจริงที่ควรสำเหนียกเอาไว้สำหรับผู้ที่เกี่ยวข้อง เพราะต่อไปนี้การแก้ปัญหาเรื่องน้ำตาลจะต้องกำหนดเป็นนโยบายระยะยาว และแก้ทุกจุดที่มีปัญหา เวลานี้ได้แต่แก้เรื่องเฉพาะหน้าไปเป็นปี ๆ ความไม่ค่อยอยู่กับร่องกับรอยในนโยบายเรื่องนี้ อาจจะสรุปให้เห็นได้จากคำพูดของผู้บริหารบริษัทส่งออกรายหนึ่งที่ให้ความเห็นไว้ดังนี้

“ที่น่าเป็นห่วงก็คือ เรื่องนโยบายของรัฐบาลในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการผลิต เพราะรัฐบาลมักจะพูดอยู่เสมอว่าพยายามจำกัดการขยายตัวของอุตสาหกรรมน้ำตาล แต่ก็ปล่อยให้มีการสร้างโรงงานน้ำตาลเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ อย่างเช่นโรงงานรีไฟน์ชัยมงคล (อยู่ในเครือบริษัทน้ำตาลวังขนาย) กำลังผลิตสามารถหีบอ้อยได้วันละ 18,000 ตัน เป็นโรงงานที่ใหญ่ที่สุดในภาคพื้นเอเชีย ซึ่งเริ่มผลิตได้ในปีนี้ และก็คงทำให้ปัญหาเรื่องราคาน้ำตาลรุนแรงขึ้น"

คอลัมน์ อุตสาหกรรมการเกษตร


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.