ไทยรุ่ง ตำนานเสื่อผืนหมอนใบที่เขียนขึ้นโดย "เถ้าแก่หลิ่น"


นิตยสารผู้จัดการ( พฤศจิกายน 2528)



กลับสู่หน้าหลัก

ไทยรุ่งเรืองเคยเป็นกลุ่มโรงงานน้ำตาลที่ใหญ่ที่สุด

ใหญ่จนวงการอ้อยและน้ำตาลต้องยกให้เป็น “เจ้าพ่อ”

ขณะนั้นกลุ่มไทยรุ่งเรืองมีโรงงานน้ำตาลทั้งหมด 11 โรง มีกำลังหีบอ้อยรวมกันประมาณ 70,000 ตันต่อวัน ถ้าเปรียบเทียบกับจำนวนโรงงานน้ำตาลทั้งหมดที่ประเทศไทยมีอยู่ คือ 42 โรงแล้ว (ขณะนี้มีเพิ่มขึ้นเป็น 44 โรง) และแม้ว่าปัจจุบันกลุ่มไทยรุ่งเรืองจะเหลือโรงงานน้ำตาลอยู่เพียง 9 โรง อันเป็นผลจากเมื่อปลายปี 2525 ไทยรุ่งเรืองดำเนินมาตรการตอบโต้นโยบาย 70/30 ด้วยการประกาศขายโรงงานน้ำตาลของตนทั้งหมด และกลุ่มบ้านโป่งของวิบูลย์ ผานิตวงศ์ รับซื้อไป 2โรง คือโรงน้ำตาลกรุงไทยและโรงน้ำตาลร่วมกำลาภ

ความยิ่งใหญ่ของกลุ่มไทยรุ่งเรืองก็คงเป็นเรื่องที่ปฏิเสธกันไม่ได้อยู่ดี

หรือว่าไทยรุ่งเรืองเป็น “แมว 9 ชีวิต” ที่ตายไม่เป็น

เรื่องของกลุ่มไทยรุ่งเรืองนั้น เป็นเรื่องเกี่ยวกับตำนานเสื่อผืนหมอนใบขนานแท้ดั้งเดิมอีกเรื่องหนึ่ง

ผู้เขียนตำนานนี้ขึ้นชื่อ สุรีย์ อัษฎาธร ประธาน “ตัวจริง” ของกลุ่มไทยรุ่งเรืองในปัจจุบัน ซึ่งคนในวงการมักจะเรียกเขาว่า “เถ้าแก่หลิ่น”

สุรีย์หรือ “เถ้าแก่หลิ่น” เป็นคนจีนที่อพยพมาจากมณฑลกวางตุ้งเมื่อสมัยก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 จะเกิดขึ้นไม่นาน ปัจจุบันเขาอายุอยู่ในวัยช่วงต้น ๆ 70 ร่างผอมเล็ก แต่ก็มีฝีมือทางช่างเครื่องยนต์ติดตัวมาด้วย เมื่ออพยพเข้ามาอยู่เมืองไทยแล้วจึงได้ยึดอาชีพเป็นช่างกลึงและซ่อมเครื่องยนต์

จากที่เป็นลูกจ้างของเถ้าแก่คนจีนด้วยกัน หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เขาก็เริ่มมีอู่ซ่อมเป็นของตนเอง เป็นกิจการเล็ก ๆ แต่ด้วยฝีไม้ลายมือที่หาตัวจับยากในสมัยนั้น จากกิจการเล็ก ๆ ก็ค่อย ๆ เป็นกิจการที่ใหญ่โตขึ้นเรื่อย ๆ

จากที่เคยยากจนอย่างมาก ๆ ก็พอจะลืมตาอ้าปากได้บ้างแล้ว

“ช่วงนั้นอู่ซ่อมของเถ้าแก่หลิ่นก็เป็นอู่ที่ลูกค้าเชื่อมือมาก มีชื่อเสียงคู่กันกับอีกอู่ซ่อมหนึ่งคือ กันฟัดเส็ง หรือที่ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นกันฑ์ไพบูลย์นั่นแหละ ถ้าพูดถึงเกี่ยวกับการซ่อมรถ เถ้าแก่หลิ่นก็ถนัดรถเฟียต ส่วนกันฟัดเส็งก็ถนัดรถเบนซ์... คนเก่าในวงการค้ารถยนต์เล่าให้ฟัง

ที่จริงช่วงนั้นเถ้าแก่หลิ่นคงคิดจะเอาดีทางอู่ซ่อมเครื่องยนต์อย่างเดียว เขาคงไม่เคยคิดฝันมาก่อนว่าต่อมาจะต้องมายุ่งกับวงการอ้อยและน้ำตาล เพราะการเข้ามาเกี่ยวข้องกับโรงงานน้ำตาลนั้นก็เป็นเรื่องบังเอิญแท้ ๆ

เถ้าแก่หลิ่นมีลูกค้า 2-3 รายที่เป็นเจ้าของโรงงานน้ำตาล ซึ่งมักจะตามตัวเถ้าแก่หลิ่นไปซ่อมเครื่องจักรในโรงงานอยู่บ่อย ๆ

เป็นโรงงานน้ำตาลที่เก่ามาก เครื่องจักรเสียอยู่เป็นประจำ

ผลสุดท้ายเจ้าของโรงงานน้ำตาลรายหนึ่งก็เลยตัดใจขายโรงงานน้ำตาลทิ้ง เพราะทนค่าซ่อมบำรุงไม่ไหว ผู้ที่รับซื้อคือเถ้าแก่หลิ่น ซึ่งว่ากันว่าเป็นการรับซื้อแบบซื้อเศษเหล็กจริง ๆ

แต่อาศัยที่มีฝีมือทางเครื่องยนต์ เถ้าแก่หลิ่นเมื่อรับซื้อมาแล้วก็จัดการดัดแปลงแต่งซ่อมแล้วก็เดินเครื่องทำโรงงานน้ำตาลต่อไป

เจ้าของอู่ซ่อมก็กลายเป็นเจ้าของโรงงานน้ำตาล 1 โรงเข้าให้แล้ว

ต่อมาเจ้าของโรงงานน้ำตาลที่ตำบลหนองชาก จังหวัดชลบุรี ซึ่งเป็นลูกค้าเก่าของอู่เถ้าแก่หลิ่นเหมือนกัน ตัดใจขาย “เศษเหล็ก” ให้อีกโรง ในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 นั้น เถ้าแก่หลิ่นจึงมีกิจการโรงงานน้ำตาลอยู่ 2 โรงด้วยกัน

โรงงานน้ำตาล 2 โรงของเถ้าแก่หลิ่นในช่วงแรก ๆ ล้มลุกคลุกคลานมาก เพราะถึงแม้จะมีฝีมือทางช่างอย่างไรลองว่าเป็นเครื่องจักรเก่าเสียแล้วประสิทธิภาพก็ต้องต่ำเป็นธรรมดา

ราว ๆ ปี 2500 เถ้าแก่หลิ่นจึงถูกฟ้องล้มละลายจากกลุ่มเจ้าหนี้

และเพราะต้องถูกฟ้องล้มละลายนี่เองที่ทำให้เถ้าแก่หลิ่นได้มีโอกาสพบกับชิน โสภณพนิช และประสิทธิ์ กาญจนวัฒน์ แห่งธนาคารกรุงเทพ

เถ้าแก่หลิ่นได้ไปเจรจากับชินและประสิทธิ์ ขอกู้เงินธนาคารกรุงเทพมาปรับปรุงโรงงานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตจะได้มีกำไรไปล้างหนี้ ซึ่งทั้งชินและประสิทธิ์ก็ยินดีช่วยเหลือด้วยความเต็มใจ

ทั้งชินและประสิทธิ์ ส่งคนคนหนึ่งเข้ามาประสานงาน

เขาชื่อ สนิท ทองวานิชย์ เป็นคนใกล้ชิดของประสิทธิ์ กาญจนวัฒน์ มาก่อน

สนิท ทองวานิชย์ เข้ามาวางแผนด้านการเงินให้กับเถ้าแก่หลิ่นในเวลาต่อมา ขณะนี้กลุ่มไทยรุ่งเรืองได้ดึงตัวสนิทจากธนาคารกรุงเทพมาร่วมงานกับไทยรุ่งเรืองเต็มตัวแล้ว โดยมีตำแหน่งเป็นทางการอยู่ที่โรงงานน้ำตาลหนองชาก ชลบุรี แต่ในความเป็นจริงสนิทยังทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาระดับมือขวาของเถ้าแก่หลิ่นเหมือนเดิมทุกประการ

ก็พูดกันว่า สนิท นั้นเป็นคนที่เถ้าแก่หลิ่นให้ความไว้วางใจมาก อาจจะมากเสียยิ่งกว่าลูก ๆ ของเถ้าแก่หลิ่นด้วยซ้ำไป

สนิท มีเชื้อสายจีน ชื่อเดิมชื่อเซียมมก แซ่แต้ เคยเช่าบ้านเป็นห้องแถวคูหาเดียวอยู่ติด ๆ กับสำนักงานทนายความมนูกิจของประสิทธิ์ กาญจนวัฒน์ ที่นางเลิ้ง จึงรู้จักคุ้นเคยกัน

ต่อมาประสิทธิ์ได้ดึงสนิทกับพี่ชายอีกคนหนึ่งไปช่วยงานที่ธนาคารกรุงเทพ

พี่ชายของสนิทได้ทำงานในฝ่ายประเมินทรัพย์สิน ปัจจุบันเกษียณอายุไปจากธนาคารแล้ว ส่วนสนิทก็ทำหน้าที่เข้าไปดูแลผลประโยชน์ในกิจการที่ธนาคารกรุงเทพหรือประสิทธิ์มีเอี่ยวอยู่

อย่างเช่นที่เข้าไปในกลุ่มไทยรุ่งเรืองนี้ เป็นต้น

เพียงแต่เผอิญเข้าไปแล้วก็ไม่ได้กลับมาธนาคารกรุงเทพอีกเท่านั้น

“ส่วนความสัมพันธ์ไม่ว่าจะเป็นกับแบงก์หรือประสิทธิ์ ทุกอย่างยังเป็นปกติตลอดมาจนทุกวันนี้ และบางทีแบงก์กรุงเทพกับประสิทธิ์ก็คงอยากให้สนิทไปอยู่ไทยรุ่งเรืองเต็มตัวด้วยก็เป็นได้...” เพื่อนเก่าของสนิทบอกกับ “ผู้จัดการ”

สนิทอยู่ไทยรุ่งเรืองอย่างที่พยายามจะ LOW PROFILE มาก ๆ เขาไม่เปิดเผยศักดิ์ศรีที่แท้จริงและไม่มีใครในไทยรุ่งเรืองที่อยากจะพูดถึงศักดิ์ศรีที่แท้จริงของเขา

แต่คนในวงการก็ทราบกันดีว่า สนิท คือ “กุนซือ” ที่สำคัญที่สุดของไทยรุ่งเรือง

“การขยายอาณาจักรจากโรงงานน้ำตาล 2 โรงมาเป็นโรงงานน้ำตาล 11 โรง ก็เป็นเรื่องที่สนิทอยู่เบื้องหลังเป็นส่วนใหญ่ เขาวิ่งประสานระหว่างเถ้าแก่หลิ่น ประสิทธิ์ กาญจนวัฒน์ ธนาคารกรุงเทพ และกลุ่มผู้มีอำนาจเพราะการตั้งโรงงานน้ำตาลมันจะต้องมีการวิ่งเต้นขอใบอนุญาต จะเพิ่มกำลังผลิตก็ต้องขออนุญาต ก็เป็นธรรมดาที่กลุ่มผู้มีอำนาจทางการเมืองจะต้องยื่นมือเข้ามายุ่ง อีกทั้งการค้าน้ำตาลมันก็พูดกันเป็นพันล้านหมื่นล้านด้วย...”

หรือแม้แต่ท่าทีของกลุ่มไทยรุ่งเรืองในระยะหลัง ๆ นี้ ก็เป็นแผนที่ออกมาจากสมองของสนิทอีกนั่นแหละ

เถ้าแก่หลิ่น เริ่มร่ำรวยจากกิจการโรงงานน้ำตาลในยุคที่ผู้ปกครองประเทศคือ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์

ก็เป็นธรรมดาของคนร่ำรวยในยุคนั้น (ทุกยุคแหละ) ที่จะต้องพยายามสร้างสายสัมพันธ์กับผู้มีอำนาจเพื่อเป็นเกราะป้องกันตัว

เถ้าแก่หลิ่นจึงเป็นคนหนึ่งที่วิ่งเข้าหาจอมพลสฤษดิ์

ครั้นเมื่อหมดยุคจอมพลสฤษดิ์ มาถึงยุคจอมพลถนอม ก็วิ่งเข้าหาจอมพลถนอม โดยอาศัยเส้นสายทางหลวงจบกระบวนยุทธ พ่อตาจอมพลถนอมเป็นทางผ่าน

ยุค 14 ตุลาคม 2516 ซึ่งรัฐบาลจอมพลถนอมคว่ำและศูนย์อำนาจกระจัดกระจายไม่มีใครมีบารมีแก่กล้าเหมือนจอมพลสฤษดิ์หรือจอมพลถนอม-จอมพลประภาส จึงเป็นยุคที่กลุ่มไทยรุ่งเรืองของเถ้าแก่หลิ่น กระอักกระอ่วนอย่างมาก ๆ

“จากที่เคยเข้าใกล้ชิดใครคนใดคนหนึ่ง ก็กลายเป็นว่าจะต้องใกล้ชิดไว้หลาย ๆ คน ยุคนั้นเถ้าแก่หลิ่นก็อาศัยบารมีของคน 3 คนคุ้มครองกิจการ คือ ประสิทธิ์ กาญจนวัฒน์ พลตรีประมาณ อดิเรกสาร และก็พลเอกกฤษณ์ สีวะรา...” คนวงในเล่าให้ฟัง

ประสิทธิ์ กาญจนวัฒน์ ตอนนั้นมีตำแหน่งเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร เจ้าของวลี “ยุ่งตายห่ะ”

พลตรีประมาณ อดิเรกสาร ก็เป็นหัวหน้าพรรคชาติไทยซึ่งเป็นพรรคร่วมรัฐบาลที่มี ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นนายกฯ และยังได้ร่วมรัฐบาลกับพรรคประชาธิปัตย์ในช่วงก่อน 6 ตุลาคม 2519 ด้วย

ส่วนพลเอกกฤษณ์ สีวะรา ก็มีตำแหน่งเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดและผู้บัญชาการทหารบก

ก็น่าจะพูดได้ว่ายุคหลัง 14 ตุลาฯ นั้น เถ้าแก่หลิ่นจับศูนย์อำนาจที่กระจัดกระจายเอาไว้ทุกส่วนจึงอยู่รอดปลอดภัยมาได้จนทุกวันนี้

เถ้าแก่หลิ่นอุ้มชูคนให้ได้ดิบได้ดีมาแล้วหลายคน

มีคนหนึ่งเคยเป็นคนขับรถประจำตัวของเถ้าแก่หลิ่น ปัจจุบันได้รับความช่วยเหลือจนร่ำรวยกลายเป็นเศรษฐีระดับร้อยล้านไปแล้ว

คนคนนี้ชื่อ สุวิทย์ นววงศ์ เจ้าของโรงงานผลิตเครื่องดื่มวีทาโก

ส่วนอีกคนก็คือ “เสี่ยกัง”

โรงงานน้ำตาลที่อำเภอปราณบุรีของ “เสี่ยกัง” เป็นโรงงานที่เถ้าแก่หลิ่นให้ความช่วยเหลืออย่างมากจึงตั้งขึ้นมาได้สำเร็จ

แต่เถ้าแก่หลิ่นเป็นคนอาภัพในเรื่องทายาทผู้จะต้องทำหน้าที่สืบทอดดูแลกิจการแทนอย่างมาก ๆ

เถ้าแก่หลิ่นมีลูกชายหลายคน ก็ดูเหมือนว่าจะไม่มีคนไหนที่มีฝีมือพอจะรับช่วงดูแลกิจการทั้งเครือแทนเถ้าแก่หลิ่นได้ คงมีก็แต่สะใภ้ที่ชื่อ ชนิดา อัษฎาธร เท่านั้นที่พอจะมีบทบาทอยู่บ้าง

เหลียวมองไปรอบ ๆ ตัวแล้ว ในขณะนี้เถ้าแก่หลิ่นก็มีแต่สนิท ทองวาณิชย์ เป็นมือขวา ส่วนชนิดา ก็เป็นมือซ้าย

ซึ่งก็คงไม่พ้นที่จะต้องถูกตั้งข้อสังเกตอย่างไม่ค่อยจะดีนักจากลูกชายและสะใภ้คนอื่น ๆ ของเถ้าแก่หลิ่น

ในช่วงที่กลุ่มไทยรุ่งเรืองต้องเผชิญกับนโยบายแบ่งปันผลประโยชน์ระหว่างชาวไร่อ้อยกับโรงงานน้ำตาลที่เรียกว่านโยบาย 70/30 เถ้าแก่หลิ่นจึงคิดว่าจะวางมือจากวงการจริง ๆ

“แน่นอน เขาก็อยากประชดคุณจิรายุด้วย เพราะนโยบายนี้กลุ่มไทยรุ่งเรืองเสียประโยชน์มาก แต่ถ้ามีคนซื้อโรงงานเขาทั้ง 11 โรงเขาก็เอา เพราะอยู่ไปมันก็ไม่มีอนาคต ขาดทั้งคนดูแลและโอกาสแสวงหากำไรมันก็แคบลง...” คนในวงการอ้อยและน้ำตาลพูดกัน

นับตั้งแต่ปี 2525 เป็นต้นมา สถานการณ์ของกลุ่มไทยรุ่งเรืองเป็นสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงกลับไปกลับมาเร็วมาก

ไทยรุ่งเรืองเริ่มต้นด้วยอาการเพลี่ยงพล้ำในช่วงปลายปี 2525

แต่ก็กลับตีตื้นขึ้นมาได้ในยุคที่อบ วสุรัตน์ ขึ้นมาเป็นรัฐมนตรีอุตสาหกรรม

แล้วอะไรจะเกิดขึ้นต่อไปสำหรับกลุ่มไทยรุ่งเรือง ในเมื่อขณะนี้รัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรม คือ ดร.จิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้ที่ไม่เคยยอมลงให้กับกลุ่มไทยรุ่งเรือง

บางทีสิ่งที่เรียกว่า “แมว 9 ชีวิต” อย่างไทยรุ่งเรือง อาจจะต้องมีการพิสูจน์กันอีกสักครั้งแล้วในระยะใกล้ ๆ นี้


คอลัมน์ อุตสาหกรรมการเกษตร


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.