|
เชื่อหรือไม่ว่าคนไทยกินน้ำตาลแพงที่สุดในโลก? เรากำลังจะเป็นเบาหวานกันทั่วหน้า
นิตยสารผู้จัดการ( พฤศจิกายน 2528)
กลับสู่หน้าหลัก
ยังคงจำกันได้ว่าสมัยที่เรามีรองนายกชื่อบุญชู โรจนเสถียร และมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ชื่อตามใจ ขำภโต ในปี 2523
คนไทยต้องซื้อน้ำตาลกินกิโลกรัมละ 20 กว่าบาท แถมยังหาซื้อไม่ค่อยได้
ยังจำได้ไหมว่าน้ำตาลทรายที่แสนแพงนั้น สีมันตุ่น ๆ เหมือนรำข้าว
และคงจำได้ว่าน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ที่ซื้อหาได้ภายหลัง เม็ดมันเล็กและขาวกว่าน้ำตาลทรายขาวที่เคยพบเห็นกันมา เนื่องจากเป็นน้ำตาลทรายที่สั่งเข้ามาเป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 30 ปี
ทั้งบุญชู โรจนเสถียร และตามใจ ขำภโต โดนคอลัมนิสต์หนังสือพิมพ์จิกหัวแช่งด่าไม่เว้นแต่ละวันในความผิดที่ตัวเองไม่ได้ทำ
ตั้งแต่ปี 2524 โดยเฉพาะปี 2525 ที่มีการตั้งสำนักงานกลางจัดจำหน่ายน้ำตาลทรายขาวที่เรียกสั้น ๆ ว่าสำนักงานกลางขึ้นมา
คนไทยก็ชินกับราคาน้ำตาลทรายขาวกิโลกรัมละ 12 บาท หรือถ้าอย่างขาวบริสุทธิ์ (ตามมาตรฐานของเมืองไทยคือขาวกว่าที่เรียกว่าน้ำตาลทรายธรรมดานิดหน่อย) ก็ตกกิโลกรัมละ 14 บาท จะแพงจะถูกกว่านี่แค่บาทสองบาท
คนไทยก็สบายใจว่าได้กินน้ำตาลทรายถูก และมีราคาคงที่ไม่วิ่งขึ้นวิ่งลงเหมือนสมัยก่อน
เดิมทีนั้นราคาน้ำตาลเมืองไทยมีขึ้น ๆ ลง ๆ อย่างค่อนข้างผิดธรรมชาติเมื่อเทียบกับการขึ้นลงของราคาน้ำตาลทรายตลาดโลก
ทุกวันนี้ที่ราคาน้ำตาลทรายในประเทศไม่ค่อยกระดิก ก็เพราะเรามีสำนักงานกลางเป็นผู้ดูแล โควตาการผลิตน้ำตาลของโรงงานน้ำตาลทุกแห่งว่าจะต้องผลิตน้ำตาลทรายขาวเท่าไหร่ น้ำตาลทรายดิบเพื่อส่งออกเท่าไหร่
ตั้งราคาให้เสร็จสรรพว่า น้ำตาลทรายขาวธรรมดาราคาหน้าโรงงานต้องกระสอบละ 1,100 บาท และน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ต้องกระสอบละ 1,200 บาท
แต่จะให้ชมว่าสำนักงานกลางทำดี คงชมได้ไม่ถนัดปาก
เพราะตั้งแต่ใช้ระบบ 70/30 คือแบ่งผลประโยชน์จากการผลิตและขายน้ำตาลทุกประเภทให้ชาวไร่ 70 เปอร์เซ็นต์ โรงงาน 30 เปอร์เซ็นต์ ทำให้ทุกฝ่ายรู้ไส้กันหมด
ราคาน้ำตาลตลาดโลกต่ำ โรงงานไหนแหกคอกแอบผลิตน้ำตาลทรายขาวเกินโควตา มีหวังโดนรุมอัด เพราะเท่ากับไปเบียดเบียนผลประโยชน์ของโรงงานอื่น ชาวไร่กลุ่มอื่น
แต่ถ้าราคาน้ำตาลตลาดโลกสูงขึ้นมาก ๆ ก็ไม่แน่เหมือนกันว่าสำนักงานกลางจะคุมอยู่หรือเปล่า? เพราะความต้องการของตลาดโลกมันสูงแน่ถ้าราคาน้ำตาลมันสูงขึ้น และเป็นตลาดที่โรงงานน้ำตาลเมืองไทยผลิตเท่าไหร่ขายได้หมด
ไม่เหมือนตลาดภายในที่บริโภคกันเต็มที่ไม่เกิน 7 แสนตันต่อปี ขืนฮั้วกันแอบผลิตน้ำตาลทรายขาว มันจับได้ง่าย
ราคาตลาดโลกที่พูดกันบ่อย ๆ มักจะอ้างอิงจากราคาน้ำตาลทรายดิบที่ตลาดนิวยอร์ก ซึ่งปีนี้เท่าที่ตัวเลข “ผู้จัดการ” มีอยู่ ราคาสูงสุดอยู่ในเดือนมีนาคมเท่ากับ 3.78 เซ็นต์ต่อน้ำหนัก 1 ปอนด์ (3.78 เซ็นต์/ปอนด์)
หากจะเอามาเทียบกับราคาน้ำตาลในประเทศไทยก็ต้องคำนวณกันหน่อยเพราะต่างกันทั้งสกุลเงินและหน่วยของน้ำหนัก
น้ำตาลทรายเมืองไทย 1 กระสอบหนัก 100 กิโลกรัม หรือ 220.5 ปอนด์ (1 กิโลกรัมเท่ากับ 2.205 ปอนด์) น้ำตาลทรายในตลาดนิวยอร์กจึงมีราคากระสอบละ 8 ดอลลาร์กับ 33 เซ็นต์ (เอา 3.78 คูณ 220.5 และปรับเซ็นต์เป็นดอลลาร์ ตามมาตราสกุลเงินสหรัฐ 1 ดอลลาร์เท่ากับ 100 เซ็นต์)
เปลี่ยนจากดอลลาร์เป็นเงินบาท ตีเสียว่า 1 ดอลลาร์เท่ากับ 27 บาทเป๊ะก็พอได้ตัวเลขคร่าว ๆ ว่าราคาน้ำตาลทรายดิบที่ตลาดนิวยอร์กตกกระสอบละ 224 บาทกับอีก 91 สตางค์ หรือกิโลกรัมละ 2 บาท 25 สตางค์
ดังนั้นถ้าอิงตามราคาตลาดโลก ราคาน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ในเมืองไทยราคาควรจะเท่ากัน เพราะต้นทุนผลิตน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์มันแค่ 45 บาท ต่อน้ำตาลทรายดิบ 1 ตัน หรือกิโลกรัมละ 4 สตางค์ครึ่ง
พี่น้องชาวไทยที่รักทั้งหลาย ท่านยังคิดว่าท่านกินน้ำตาลทรายถูกอยู่อีกหรือ?
นี่ถ้า “ผู้จัดการ” ไปบอกป้าแช่มที่ขายบัวลอยไข่หวานใกล้ออฟฟิศว่า “ป้า...ถ้าคิดตามราคาน้ำตาลทรายตลาดโลก ป้าจะซื้อน้ำตาลทรายขาวได้ไม่เกินกิโลฯ ละ 3 บาท” ป้าแกคงหัวเราะจนฟันหัก
นี่เอาตัวเลขสูงสุดตั้งแต่ต้นปี 2528 มาคำนวณแล้วนะ
ตอนนี้ก็ได้ข่าวว่าสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายเขากำลังหารือว่าทำอย่างไรจะทำให้คนไทยกินน้ำตาลให้มากขึ้น เพื่อจะได้เอารายได้จากน้ำตาลทรายขาวไปโปะกับรายได้จากการส่งออก เพื่อลดการขาดทุนของโรงงานน้ำตาลและเพื่อช่วยเหลือชาวไร่อ้อยให้ขายอ้อยราคาดีขึ้น
พี่น้องชาวไทยที่รักทั้งหลาย จงเตรียมตัวเตรียมใจเป็นโรคเบาหวานกันได้แล้ว
จงร่วมมือร่วมใจเป็นโรคเบาหวานเพื่อชาติกันหน่อยเถอะ
คอลัมน์ อุตสาหกรรมการเกษตร
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|