|

"กำเนิดกลุ่มโรงงานน้ำตาลบ้านโป่ง"
นิตยสารผู้จัดการ( พฤศจิกายน 2528)
กลับสู่หน้าหลัก
“บ้านโป่ง” เป็นชื่ออำเภอหนึ่งของจังหวัดราชบุรี บ้านเกิดของพี่น้องตระกูล “ผาณิตพิเชฐวงศ์” และเป็นที่มาของชื่อ “บริษัทโรงงานน้ำตาลบ้านโป่ง” ที่เปรียบเสมือนบริษัทแม่ของโรงงานน้ำตาลในเครืออีก 5 โรง หรือที่นิยมเรียกกันว่ากลุ่มบ้านโป่ง ใน พ.ศ. นี้
ย้อนหลังไปเมื่อปี 2506 สุรีย์ อัษฎาธร แห่งกลุ่มน้ำตาล “ไทยรุ่งเรือง” เอกชนที่บุกเบิกสร้างโรงงานน้ำตาลยุคเริ่มต้น ได้ย้ายโรงงานแห่งแรกของตน คือโรงงานน้ำตาลร่วมกำลาภ จากซอยพร้อมพงศ์ กรุงเทพฯ ไปตั้งที่อำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี
ปี 2510 ได้สร้างโรงงานน้ำตาลอีก 12 โรง ในเขตอำเภอเดียวกันคือโรงงานน้ำตาลไทยรุ่งเรือง อุตสาหกรรม และโรงงานกรุงไทย
ผลของการตั้งโรงงานน้ำตาลทั้ง 3 โรง ที่จังหวัดกาญจนบุรี ทำให้ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ของจังหวัดดังกล่าวและจังหวัดใกล้เคียง ได้หันมาปลูกอ้อยเพื่อป้อนโรงงานมากขึ้นตามลำดับ เนื่องจากได้ราคาดีและแน่นอนกว่าการปลูกพืชผลเกษตรอื่นในช่วงนั้น
“พวกตระกูลผาณิตพิเชฐวงศ์ เขามีพื้นเพมาจากชาวไร่อ้อย ทำไร่แล้วมีปัญหากับโรงงานไทยรุ่งเรือง ซึ่งตอนนั้นมีอยู่โรงงานเดียวที่กาญจนบุรี ก็เริ่มรวมกลุ่มกันในหมู่ญาติพี่น้อง ซื้อโรงงานทำน้ำตาลทรายแดง แต่ไม่เป็นที่นิยมของตลาดและผลผลิตต่ำ จึงไปรวมกับพวก ว่องวัฒนะสิน และ ว่องกุศลกิจ” แหล่งข่าวในวงการน้ำตาลรุ่นเก๋าเล่าให้ฟัง
ในรุ่นแรกของการรวมกลุ่มกันของ 3 ตระกูลนี้ เป็นรุ่นของ “พี่ใหญ่” ของแต่ละตระกูล ได้แก่ พี่ผาณิต พิเชฐวงศ์ วิเทศ ว่องวัฒนะสิน และกมล ว่องกุศลกิจ ร่วมกันตั้งเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัดโรงงานน้ำตาลมิตรผล
ปี 2514 ห้างหุ้นส่วนจำกัดโรงงานน้ำตาลมิตรผลได้รับพนักงานหน้าใหม่ที่เพิ่งเรียนจบปริญญาโททางการเกษตร จากมหาวิทยาลัย FLORIDA สหรัฐฯ ที่ชื่อวิบูลย์ ผาณิตพิเชฐวงศ์ และในเวลาไล่เลี่ยกันวิฑูรย์ ว่องกุศลกิจ ที่เพิ่งจบจากคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทั้ง 2 คนนี้ต่างเป็นน้องของกลุ่มที่ร่วมกันก่อตั้งโรงงานน้ำตาลมิตรผล
กิจการในช่วงนี้ของโรงงานน้ำตาลมิตรผลไปได้ดีมาก จนในปี 2517 ได้ขยายออกไปตั้งโรงงานน้ำตาลไทย บ้านโป่งและมิตรเกษตร พร้อมกับชื่อเสียงของวิบูลย์ ผาณิตพิเชฐวงศ์ ขจรขจายในหมู่นักธุรกิจน้ำตาล ว่าเป็นคนหนุ่มที่มีความรู้เรื่องน้ำตาล รวมทั้งมีฝีมือในการบริหารจัดจ้านผิดวัย
ปี 2518 มีเหตุการณ์ทางการเมืองกำลังวุ่นวาย เศรษฐกิจโลกกระทบกระเทือนจากการที่กลุ่มโอเปกประกาศขึ้นราคาน้ำมัน แต่ราคาพืชผลเกษตรกลับดีมาก โดยเฉพาะราคาน้ำตาลทรายดิบในตลาดโลก โรงงานน้ำตาลทุกกลุ่มต่างกอบโกยกำไรกันทั่วหน้า เร่งส่งออกน้ำตาลทรายดิบเป็นการใหญ่จนน้ำตาลในประเทศขาดแคลน
ก็เหมือนกับหลายต่อหลายธุรกิจที่ในช่วงก่อร่างสร้างกิจการ ต่างก็ร่วมแรงร่วมใจกันเต็มที่ ครั้นเมื่อกิจการเจริญก้าวหน้า ได้กำไรเป็นกอบเป็นกำ ผู้ที่ร่วมก่อตั้งกิจการก็อยากจะแยกกันไปสร้างอาณาจักรของตัวเอง
กลุ่มมิตรผลก็เช่นกัน วิเทศ ว่องวัฒนะสิน ได้แยกตัวออกมาทำโรงงานน้ำตาลไทยและมิตรเกษตร ส่วนตระกูล “ผาณิตพิเชฐวงศ์” และ “ว่องกุศลกิจ” รับเอาโรงงานน้ำตาลบ้านโป่งและมิตรสยามมาทำ
ปี 2525 เมื่อวิบูลย์ ผาณิตวงศ์ กลับเข้ามาเป็นกรรมการของบริษัทโรงงานน้ำตาลบ้านโป่งอีกครั้ง (ลาออกไปปี 2523) และหลังจากปรึกษากับพี่ ๆ แล้ว อยากที่จะขยายกิจการออกไปให้เต็มไม้เต็มมือ จึงขอซื้อหุ้นทั้งหมดของตระกูล “ว่องกุศลกิจ”
และนี่คือจุดเริ่มต้นของกลุ่มบ้านโป่งอันลือลั่นในระยะ 3 ปีที่ผ่านมา
คอลัมน์ อุตสาหกรรมการเกษตร
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|