|
วรรณ ชันซื่อ กับการเมือง เขาชอบผู้มีอำนาจอย่างสฤษดิ์ ธนะรัชต์
นิตยสารผู้จัดการ( พฤศจิกายน 2528)
กลับสู่หน้าหลัก
วรรณ ชันซื่อ สนใจเรื่องการเมืองมาก
แต่ก็เป็นความสนใจในฐานะผู้สังเกตการณ์ความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง มิใช่จะสนใจในแง่ที่อยากกระโจนเข้าไปเล่นการเมืองด้วย
“โดยขนาดของธุรกิจของผม มันมีความจำเป็นที่จะต้องติดตามการเมืองอย่างใกล้ชิด เพราะฉะนั้นต้องสังเกตว่าการเมืองจะไปทางไหน เราจะได้ปรับตัวของเราให้สอดคล้อง อย่าไปสะดุดเข้า ธุรกิจของผมหลายอย่างถ้ามันสะดุดกับการเมืองแล้ว มันพัง...” วรรณพูดกับ “ผู้จัดการ”
ก็คงจะจริง เพราะอุตสาหกรรมโรงกลั่นน้ำมันและอุตสาหกรรมหนักอีกหลายแห่งที่เป็นการร่วมทุนกับญี่ปุ่นนั้น จะดำเนินไปได้ราบรื่นหรือมีปัญหาก็มักจะขึ้นอยู่กับนโยบายของกลุ่มผู้ มีอำนาจทางการเมืองในแต่ละยุคอยู่แล้ว
วรรณ ชันซื่อ ผ่านอุณหภูมิร้อนหนาวทางการเมืองมาหลายยุค ตั้งแต่ยุคจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยุคจอมพลถนอม-จอมพลประภาส ยุค 14 ตุลาคม 2516 จนกระทั่งยุคปัจจุบัน
ถ้าจะให้เขาเปรียบเทียบแต่ละยุค
“ต้องยุคสฤษดิ์ครับ ยุคนั้นธุรกิจเฟื่องฟูมาก แต่จะเฟื่องฟูไปในทางถูกหรือผิดเป็นอีกเรื่องนะ เพราะจอมพลสฤษดิ์ท่านก็มุ่งแต่จะส่งเสริมอุตสาหกรรมเด่น ๆ ทำแล้วเห็นผลงาน อุตสาหกรรมขนาดกลางและเล็กท่านไม่ค่อยสนใจ แต่พูดถึงภาพรวม ๆ ต้องสมัยท่าน”
สำหรับวรรณ ชันซื่อ แล้ว จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นผู้ปกครองประเทศที่เขาประทับใจในความสามารถมากที่สุด
“มีความเด็ดขาดและมีความแน่นอน คือนักธุรกิจนั้นกลัวอย่างเดียว การไม่ตัดสินใจอะไรเด็ดขาด เพราะเขาไม่รู้ว่าจะตามอย่างไร ธุรกิจมันต้องเดินตามแนวที่รัฐบาลวางไว้ รัฐบาลทำแนวอย่างนี้และทำทุกอย่างเพื่ออิมพลิเมนต์แนวอันนี้ ธุรกิจก็จะเดินตามแนวนี้ไป นักธุรกิจเขาปรับตัวได้เสมอ ขอให้กำหนดแนวที่ชัดเจนออกมาเท่านั้น และกำหนดแล้วต้องอิมพลิเมนต์แนวนั้นอย่างเข้มแข็ง ถ้ารัฐบาลแกว่งไปแกว่งมาหรือวางแนวทางไว้หลวม ๆ แล้วไม่มีมาตรการที่จะอิมพลีเมนต์อย่างจริงจัง นักธุรกิจก็จะลำบากใจ” วรรณให้เหตุผล
และเมื่อให้เขาเปรียบเทียบกับแนวนโยบายของรัฐบาลชุดปัจจุบัน วรรณหัวเราะอย่างขบขัน ก่อนขอตัวที่จะต้องแสดงความเห็นใด ๆ ออกมา
อย่างไรก็ตาม ยุคที่วรรณ ชันซื่อ ยอมรับว่าหนักใจที่สุดก็คือยุค 14 ตุลาคม 2516 ภายหลังการหมดอำนาจของรัฐบาลถนอม-ประภาส
“มันคุมกันไม่ติดเลย โดยเฉพาะปัญหาแรงงาน” เขากล่าวและบอกว่าดีใจมากที่ประเทศไทยผ่านสถานการณ์ในช่วงนั้นมาได้โดยไม่บอบช้ำมาก
นอกจากจะติดตามการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอย่างใกล้ชิดแล้ว วรรณ ชันซื่อ ก็ยังมีโอกาสเข้าใกล้ชิดกับผู้มีอำนาจในแต่ละยุคอีกหลายคน
อย่างเช่นในยุคจอมพลสฤษดิ์ วรรณ ชันซื่อ ก็เป็นนักธุรกิจคนหนึ่งที่ได้เข้าพบจอมพลสฤษดิ์อยู่บ่อย ๆ เพราะอย่างน้อยก็มีปัญหาในเรื่องโรงกลั่นน้ำมันไทยออยล์ที่จะต้องปรึกษาหารือกัน
“ผมสังเกตว่าท่านเป็นคนรับฟังความเห็นแม้จะดูเป็นเสียงนกเสียงกา อย่างผมตอนนั้นอายุก็แค่ 30 กว่า ๆ แต่เมื่อผมแสดงความเห็นไปบางเรื่องท่านจะรับฟังและก็เคยปฏิบัติตามความเห็นของผม” วรรณเล่าเรื่องตัวเขากับจอมพลสฤษดิ์
ส่วนในยุคจอมพลถนอม-จอมพลประภาส วรรณบอกว่า “จอมพลถนอมผมไม่ค่อยสนิทกับท่าน คงมีแต่ท่านจอมพลประภาส เพราะท่านก็เคยมีหุ้นอยู่ที่ไทยออยล์ ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นหุ้นของกระทรวงการคลังไปแล้ว ก็ได้พบปะกับท่านบ่อยกว่า”
และสำหรับปัจจุบันก็เป็นเรื่องที่ไม่ได้ปิดลับว่า วรรณ ชันซื่อ นั้นมีความใกล้ชิดอย่างมากๆ กับพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ เสนาธิการทหารบกคนปัจจุบัน
เป็นความใกล้ชิดที่เกิดจากหลานชายคนหนึ่งของวรรณ ชันซื่อ เผอิญไปแต่งงานกับบุตรสาวของพลเอกชวลิต
“นี่ก็ตั้งแต่วันที่ 9 กันยายน แล้วครับ ไม่ได้พบกันเลย อย่างมากก็แค่โทรศัพท์คุยกันนิดหน่อย คุณชวลิตตอนนี้คงกำลังยุ่งอยู่ แต่ก่อนหน้านั้นก็พบกันเป็นประจำ” วรรณพูดให้ฟัง
คอลัมน์ PROFILE
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|