|

6 บทบาทใหม่ของคนเป็นผู้จัดการยุค 200 ปี
นิตยสารผู้จัดการ( พฤศจิกายน 2526)
กลับสู่หน้าหลัก
ในทศวรรษนี้ ผู้จัดการที่ขึ้นมานั่งบนเก้าอี้ต่างก็ต้องเผชิญกับสภาพที่ต้องเปลี่ยนแปลงไปจากที่คนรุ่นก่อนๆ ดำเนินบทบาทกันมาก่อน
การเปลี่ยนแปลงนี้เกิดขึ้นในแทบทุกส่วนแม้แต่ในสิ่งที่พิจารณากันว่าเป็นการสร้างความสำเร็จเล็กๆ น้อยๆ บางส่วนต้องนำมามองกันใหม่
แม้บางคนอาจจะมองพบแล้วแต่ก็ไม่เข้าใจแจ่มชัดนัก
ในส่วนที่สำคัญที่สุดคือการขยายความสัมพันธ์กับส่วนที่อยู่นอกองค์การซึ่งเป็นส่วนที่เรียกได้ว่าละเอียดอ่อนมากในการดำเนินบทบาทการจัดการเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งเป้ากันเอาไว้
ในที่นี้จะเน้นถึงหน้าที่ที่สำคัญที่สุดหกประการของการเป็นผู้จัดการ ซึ่งจะนำไปใช้ปรับได้กับงานทุกระดับและทุกชนิด
หน้าที่ดังกล่าวนี้เกิดขึ้นมาในการจัดการแบบธรรมดาๆ แต่เฉลียวฉลาดยิ่ง และเพราะมนุษย์ต่างต้องการสิ่งแปลกใหม่ในระบบ ดังนั้นจึงต้องทำการจัดให้ดีที่สุด และทั้งนี้เพื่อที่จะทำให้ได้ผลเต็มที่ ผู้จัดการสมัยนี้จะต้องเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับทุกๆ ข้อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในองค์กรที่มีขนาดใหญ่ขึ้น ก็จำเป็นต้องทำมากขึ้น ในขณะที่ในแต่ละบุคคลอาจให้ความสนใจในสิ่งที่จำเป็นนี้แตกต่างกันไปตามสถานการณ์และความสามารถส่วนบุคคล ทุกส่วนที่จะกล่าวต่อไปนี้ล้วนมีความจำเป็นต่อการจัดการ ทั้งสิ้น
หน้าที่หกประการนี้ได้แก่
1. ผู้จัดการในฐานะผู้จัดการ อันนี้เป็นบทบาทเก่าแก่ที่รู้กันมานมนานกาลแล้ว ผู้จัดการต้องเป็นบุคคลที่นั่งอยู่ในฐานะที่พบกับความไม่แน่นอน หรือการขาดการตัดสินใจ
เขาจะต้องตัดสินใจหรือช่วยในการตัดสินใจของบุคคลที่อยู่ใต้ปกครองหรืองานในระบบ
เขาจะต้องเป็นผู้ที่มีความยุติธรรม คงมั่นมีสายตาแหลมคม และที่สำคัญที่สุดคือ เป็นบุคคลที่เต็มไปด้วยความสุขุมรอบคอบ
ในระบบการฝึกหัดการจัดการแบบเดิมก็พยายามเตรียมผู้จัดการให้พร้อมไปด้วยส่วนประกอบเหล่านี้ การที่จะให้พร้อมอย่างนี้ไม่ใช่งานที่ฝึกได้ง่ายๆ เลย และการจะทำให้ถูกต้องตามทำนองคลองธรรมจะเป็นเรื่องยากยิ่ง บางครั้งก็หลงทางไปบ้างกว่าจะรู้ว่าควรจะเป็นอย่างไร ? และที่แน่ๆ ก็คือ ผู้จัดการจะต้องเรียนรู้วิธีการทำการค้าและรายละเอียดปลีกย่อยก็เพิ่มมากขึ้นทุกวัน
ในสถานศึกษาอาจป้อนข้อมูลพื้นๆ เช่นการบริหารธุรกิจทั่วไป การบริหารบุคคล การบริหารวิศวกรรม และการจัดการ เนื้อหาก็ประกอบไปด้วยเรื่องของการวางแผน การจัดองค์กร การวางงบประมาณและการเงิน การบัญชี และการตรวจสอบบัญชี (รวมไปทั้งการตรวจสอบบัญชีภายในสำนักงาน) การจัดการบุคลากร การฝึกหัดและการพัฒนาการการสื่อสาร การประเมินงานและอื่นๆ อีกมากมาย และผู้จัดการยุคใหม่จะต้องเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ และขอบข่ายประสิทธิภาพของเครื่องนี้เช่นเดียวกันกับการควบคุมระบบข้อมูลต่างๆ และเรื่องการเรียนรู้ดังที่กล่าวมานี้ทั้งหมดจะต้องเรียนรู้ให้แตกฉานพอๆ กับที่หมอต้องเรียนรู้เกี่ยวกับกายวิภาคและตัวยาถ้าขาดความรู้นี้ไปก็เท่าๆ กับล้มเหลวตั้งแต่ต้นมือทีเดียว
แต่ที่กล่าวมาแล้วทั้งหมดก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งของหน้าที่ผู้จัดการเท่านั้น ยังต้องเชื่อมโยงไปถึงส่วนอื่นๆ อีกต่อไป
2. ผู้จัดการในฐานะผู้เจรจา หน้าที่อีกอย่างของผู้จัดการอีกอย่างหนึ่งซึ่งเพิ่มขึ้นเป็นสัดส่วนกับงานอื่นๆ ก็คือ การต้องเจรจากับบุคคลต่างๆ ในหัวข้อต่างๆ ในเรื่องของปัญหาที่เกิดขึ้นกับทั้งคนและระบบในองค์การ
ในการบริหารงานระดับสูงๆ เวลาส่วนใหญ่ของนักบริหารใช้ไปกับการสังคมกับวงนอกมีเรื่องที่จะต้องพูดคุยกับบุคลากรชั้นปกครองกับองค์กรซึ่งมีส่วนร่วมในปัญหาต่างๆ กับลูกค้า กับผู้ที่ขายสินค้าให้กับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง (ทั้งมิตรและศัตรู กับสหภาพ และสื่อมวลชน) หรือแม้กระทั่งบางครั้งกับโรงกับศาล
ความสำเร็จของผู้นำ ผู้จัดการขึ้นอยู่กับขีดคั่นความสำเร็จในการเจรจาเหล่านี้ สามารถสรรหากำลังคนมาอุดรอยรั่วได้ โดยรู้ว่าจะทำอย่างไรและจากไหนที่จะให้ได้มาซึ่งสิ่งที่องค์กรต้องการ โดยการทำการค้าเมื่อได้ประโยชน์โดยการบริการแก่ผู้ซื้อผลิตภัณฑ์ของตน
ผู้จัดการจะต้องเน้นปฏิบัติงานเหล่านี้มากกว่าที่จะมาทุ่มเวลาในการตามจี้งานลูกน้องเสียเอง แต่กระนั้นก็ตาม ไม่ค่อยมีการสอนเน้นหนักเรื่องการพัฒนาสัมพันธภาพระหว่างผู้จัดการกับบุคคลต่างๆ กันนัก ต่างก็เรียนรู้ด้วยตนเอง โดยการลองผิดลองถูก และดูเหมือนว่า ในแง่นี้นับวันแต่จะยิ่งเพิ่มความสำคัญมากขึ้นทุกที
3. ผู้จัดการในฐานะผู้นำ ผู้จัดการที่มีประสิทธิภาพจะต้องเป็นยิ่งกว่าผู้จัดการ นั่นคือจะต้องเป็นผู้นำอีกด้วย คนที่สามารถนำบทบาทสองอย่างนี้มารวมกันได้คือผู้ที่ประสบความสำเร็จมากที่สุด
ผู้จัดการก็คือผู้ที่เชี่ยวชาญในเรื่องขบวนการบริหาร
เรามักมองผู้จัดการในแง่ของบุคคลที่สามารถรวมเอากำลังคนและทรัพยากรมาใช้ในวิถีทางที่จะบรรลุเป้าหมายตามขอบข่ายที่กำหนดกันไว้ มองบทบาทนี้ในแง่ของการสร้างความสมบูรณ์ให้กับระบบ และแน่ใจว่า การจัดการนี้ยังคงทำกันต่อไปได้เมื่อมีความจำเป็น และผู้จัดการก็ถูกเลือกขึ้นมาโดยบุคคลที่มีอำนาจหน้าที่สูงกว่าเพื่อที่จะมาทำหน้าที่นี้
ผู้นำ หรืออีกนัยหนึ่งก็คือใครสักคนซึ่งถูกเลือกขึ้นมาเพราะมีคนทำตามตัวอย่างของเขาเพราะเห็นด้วยกับความคิดหรือการกระทำ
ผู้นำเกิดขึ้นโดยการที่มีคนตาม และผู้อื่นรับอิทธิพลของเขาไปด้วยความสมัครใจ
ผู้นำไม่จำเป็นจะต้องเป็นส่วนหนึ่งของระบบในอำนาจหน้าที่ขององค์กร อาจจะมาจากนอกองค์กร
ผู้นำกลายเป็นผู้นำเพราะบุคคลอื่นยอมรับเป้าหมาย คุณค่า ความคิด การเร้ากระตุ้นและสติปัญญาของเขา และผลดีของบทบาทการนำนี้คือไม่จำกัดว่าจะต้องถูกลูกน้องเลือกขึ้นมา
ผู้นำที่แท้จริงจะมีอิทธิพลกับผู้ร่วมงานผู้ที่อยู่เหนือกว่า ผู้ที่อยู่นอกวงการ และกับผู้ที่อยู่ในระดับปกครอง
เราไม่เข้าใจว่าเขามีอิทธิพลอย่างไร ? แต่สามารถชี้ได้ว่าเขามีอิทธิพลก็แล้วกัน
ผู้จัดการจะมีประสิทธิภาพมากถ้าได้รับการยอมรับนับถือว่าเป็นผู้นำ
ตำแหน่งผู้จัดการทำให้มีโอกาสสร้างบทบาทผู้นำได้แต่มิใช่ว่าจะเป็นไปโดยอัตโนมัติ เพราะในข้อเท็จจริงแล้ว บางครั้งผู้จัดการก็ประสบความล้มเหลวในการนำ
ตำแหน่งผู้จัดการเป็นตำแหน่งที่ผู้อื่นจับตามอง และการที่เขาประสบความล้มเหลวเพราะพึ่งพิงอำนาจหน้าที่เกินกว่าการสร้างความเชื่อถือให้กับผู้อื่น
ผู้จัดการควรจะเข้าใจความสำคัญของบทบาทการนำที่มีต่อหน้าที่การจัดการ
วินสตัน เชอร์ชิล อดีตนายกฯ อังกฤษสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง เคยกล่าวไว้ว่า “ผู้นำที่แท้จริงนั้นไม่ได้มาจากการถูกเสนอแต่งตั้ง แต่ทำให้คนอื่นเห็นเอง”
4. ผู้นำในฐานะนักพัฒนา การเรียกร้องให้มีการพัฒนานั้นยุ่งยากมากขึ้นและซับซ้อนมากขึ้น ทุกวันนี้ เพื่อให้ทันกับตลาดการค้าทุกวันนี้
ผู้จัดการไม่เพียงแต่จะคัดเลือกและฝึกฝนผู้คนสำหรับวันนี้แต่ต้องมองไปถึงวันข้างหน้าอีกด้วย พัฒนาลูกจ้างที่มีความสามารถและทุ่มเทให้กับงาน เขาอาจเกิดความยุ่งยากปวดเศียรเวียนเกล้าได้เสมอๆ แต่ไม่มีผลลัพธ์อันใดหรอกในระยะสั้นๆ แต่อย่างไรการพัฒนาวางแผนเรื่องแรงงานก็เป็นเรื่องที่ไม่อาจจะหลีกเลี่ยงได้
ผู้จัดการที่ดีไม่เพียงแต่จะต้องจัดให้มีโครงการฝึกหัดที่จำเป็นสำหรับองค์การในระยะไกล แต่ตนเองจะต้องเป็นผู้ฝึกฝนให้กับผู้ใต้บังคับบัญชาด้วย เพราะจะเป็นส่วนหนึ่งของงานที่ดำเนินเพื่อสร้างความมั่นใจได้ว่า ผู้อื่นจะพากันเข้าใจและให้การสนับสนุนเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ทั้งในระยะใกล้และระยะไกล
การเรียนรู้เป็นเรื่องของปัจเจกชน ในที่นี้หมายถึงว่า บุคคลต่างๆ ในองค์การจะได้รับโอกาสเรียนรู้ สร้างความเข้าใจในสิ่งที่คิดว่าจำเป็นต่อองค์การ และเป็นหน้าที่ของผู้จัดการที่จะต้องทำให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น
5. ผู้จัดการในฐานะผู้เปลี่ยนแปลงสร้างสรรค์ ผู้จัดการไม่จำเป็นต้องเป็นแนวหน้าในการเปลี่ยนแปลงสิ่งแปลกใหม่ให้เกิดขึ้น แต่จะเป็นเรื่องน่าทึ่งมากถ้าเขาทำได้ โดยเฉพาะจะเน้นในเรื่องการเปลี่ยนแปลงในเรื่องของขบวนการผลิตซึ่งเขาจะต้องเป็นตัวจักรสำคัญที่จะทำให้เกิดขึ้นให้ได้ การเปลี่ยนแปลงนี้จะเน้นไปในแง่ที่ว่า พัฒนาระบบการผลิตเครื่องไม้เครื่องมือ วิธีการ ให้ง่ายขึ้น แทนการเพิ่มประสิทธิภาพในสิ่งที่มีอยู่หรือเปลี่ยนแปลงอุปนิสัยเก่าๆ ไม่มีข้อจำกัดใดๆ สำหรับการเปลี่ยนแปลงนี้ เรื่องนี้เป็นเรื่องของการสรรค์สร้าง การพัฒนาวิธีการต่างๆ วิธีเดิมถ้าใช้ไม่ได้ผลก็ต้องเปลี่ยนแปลงเสียใหม่ นำเอาคุณค่าของสิ่งใหม่ๆ การสร้างสิ่งใหม่ๆ การเปลี่ยนแปลง การพัฒนาและปรับปรุงมาใช้กับงานของตน
คนเราทุกคนมีความสามารถในเรื่องของการสร้างสรรค์มากกว่าที่แสดงกันออกมา และสิ่งนี้เป็นเรื่องที่สามารถกระตุ้นและสอนกันได้
6. ผู้จัดการในฐานะของมนุษย์ ผู้จัดการไม่ใช่เครื่องจักร ผู้ร่วมงานกับเขาก็ไม่ใช่
คนเราทุกคนต่างเป็นมนุษย์ด้วยกันทั้งนั้นบางคนอาจนั่งทำงานในตึกสูงๆ แวดล้อมไปด้วยเครื่องอำนวยความสะดวกสบาย หรูหรา และมีรายได้สูง ในขณะที่บางคนต้องทำงานใต้แสงแดดที่แผดร้อน กลางดินกลางทราย เสียงอึกทึกครึกโครม และได้ค่าจ้างเพียงน้อยนิด แต่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม ทุกคนต่างก็เป็นมนุษย์เหมือนกัน
ในโลกที่เน้นความสำคัญของปัจเจกชน เช่นนี้ ผู้จัดการจะต้องมีความรู้สึกร่วมกับคนอื่นๆ และพยายามที่จะเข้าใจปัญหาของคนอื่นๆ ต้องไม่มองข้ามนัยแห่งความเป็นมนุษย์ของบุคคลอื่นๆ
เขาจะต้องอดทนและยุติธรรม ความอดทนนี้ดูดีขึ้นเมื่อประกอบไปด้วยความยุติธรรมและเอาใจใส่ผู้อื่น บุคคลที่อยู่ในระดับด้อยกว่า มักจะรู้สึกระแวดระวังเกี่ยวกับความรู้สึกของนาย
ประวัติศาสตร์ของโลกคือการต่อสู้เพื่อเรียกร้องความเป็นอิสระที่จะพยายามล้มล้างการปกครอง ไม่เป็นการเพียงพอหรอกที่จะเป็นอิสระในแง่หนึ่งและสูญเสียไปในอีกแง่หนึ่ง
การเปลี่ยนรูปการเป็นเจ้าของบริษัทนั้นมีผลดีแต่เพียงเล็กน้อยเท่านั้น ถ้าแต่ละบุคคลยังคงยึดแน่นกับการควบคุมในแบบที่เคยเป็นกันมาก่อน
เป็นเรื่องสำคัญยิ่งที่ผู้จัดการจะต้องเข้าใจความรู้สึกของบุคคลอื่นเกี่ยวกับบทบาทของการจัดการ
ความรู้สึกของใครสักคนอาจมีผลอย่างยิ่งต่อการปฏิบัติงานของเขา ความสำคัญยิ่งก็คือ การกระตุ้นเตือนให้ผู้จัดการตระหนักว่า การที่จะทำงานให้ได้ประสิทธิภาพนั้นเขาจะต้องเข้าใจความคิดเห็นของบุคคลอื่นที่มีต่อเขาและงานที่พวกเขาได้รับมอบหมายให้ทำ
ผู้จัดการจะต้องเป็นผู้ที่คิดตั้งแต่แรกจนถึงสุดท้าย และตลอดเวลาว่าเขาเป็นมนุษย์คนหนึ่ง
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|