มิติ (MITI) เพื่อมิติใหม่และเพื่ออนาคตของญี่ปุ่น


นิตยสารผู้จัดการ( พฤศจิกายน 2526)



กลับสู่หน้าหลัก

“กระทรวงการค้า และเทคโนโลยีระหว่างชาติแห่งญี่ปุ่น ได้ลงมติว่าระบบคอมพิวเตอร์รุ่นที่ห้าจะนำให้เศรษฐกิจของญี่ปุ่น ในอนาคตดำเนินรอดไปได้ พร้อมกับจะทำให้ประเทศนี้ก้าวไปสู่ความเป็น ผู้นำด้านเทคโนโลยีของโลก”

บนชั้นที่ 21 ของตัวตึกสูงทันสมัยซึ่งมีหน้าตาคล้ายกับตึกอื่นๆ ทั่วไปในโตเกียวแห่งนี้ การสร้างตึกสูงๆ ขึ้นมาสักหลังออกจะเป็นเรื่องไม่ค่อยจะธรรมดานัก เพราะเหตุที่ว่า มักจะเกิดแผ่นดินไหวขึ้นในประเทศนี้อยู่บ่อยๆ แต่จะอะไรเสียก็ตาม ห้องที่เรามาหยุดยืนอยู่ตรงนี้มีตัวหนังสือ สองภาษาเขียนไว้บนกระจกฝ้าคือภาษาอังกฤษและญี่ปุ่น บ่งบอกให้รู้ว่า สถานที่แห่งนี้คือ “สถาบันเทคโนโลยีทางคอมพิวเตอร์ยุคใหม่” (INSTITUTE FOR NEW GENERATION OCMPUTER) หรือมักจะเรียกกันสั้น ๆ ง่าย ๆ ว่า “อีคอต” (ICOT)

สถาบันแห่งนี้เพิ่งสร้างขึ้นมาไม่นานมานี้เอง ทำให้ภายในดูราวกับปราศจากชีวิตชีวา ไม่มีการประดับห้องด้วยต้นไม้สีเขียวๆ หรือภาพทิวทัศน์อย่างที่นิยมทำกันในอเมริกา เครื่องเรือนในห้องไม่มีร่องรอยถูกข่วนขีด ทุกอย่างดูใหม่เอี่ยม สิ่งที่สะดุดตาคือเครื่องกั้นแบ่งที่ไม่สูงนักแบ่งสัดส่วนการทำงานของนักวิจัยที่นั่งก้มตาทำงานอยู่อย่างคร่ำเคร่งให้แยกออกจากกัน

ห้องนี้มองๆ ไปก็แสนจะธรรมดา ไม่น่าจะเป็นสถานที่สำคัญที่พอจะให้คิดได้ว่าเป็นที่สุมกันของนักปฏิวัติแม้แต่น้อย แต่งานหลักของที่นี่คือการปฏิวัติ

การปฏิวัติของอีคอตทำกันไปในสองระดับ กล่าวคือ ในระดับแรก นักวิจัยของอีคอตกำลังค้นคว้าคอมพิวเตอร์รุ่นที่ห้าออกมาปรากฏแก่สายตาชาวโลก และจะเป็นระบบขบวนการให้ความรู้และข่าวสาร โครงการนี้จะพันผูกใกล้ชิดกับการพัฒนาทางเทคโนโลยี และการเตรียมการล่วงหน้าสำหรับการพัฒนาดังกล่าวนั่นคือ การปฏิวัติสังคม และเป็นเรื่องที่ออกจะขัดแย้งกันเสียเหลือเกิน นั่นคือการปฏิวัตินี้ทำขึ้นโดยองค์การที่ไม่อยู่ใต้อาณัติใดๆ ทางสังคม ซึ่งมีชื่อที่เรารู้จักกันว่า “กระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมระหว่างชาติแห่งญี่ปุ่น” (JAPANESE MINISTRY OF INTERNATIONAL TRADE AND INDUSTRY) หรืออีกนัยหนึ่งคือ มิติ (MITI)

มิติเป็นองค์การรัฐบาลต่างไปจากที่ชาวตะวันตกรู้จักกัน นั่นคือองค์การรัฐแห่งนี้ประกอบไปด้วยผู้นำที่มีหน้าที่หลักในการค้นคิดในเรื่องของความสำเร็จทั้งมวลของอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นและแยกแยะการพัฒนานี้ออกไปในระยะยาว เจ้าหน้าที่ขององค์การแห่งนี้จะอยู่ในตำแหน่งไปจนตลอดชีวิต ทำให้เขาไม่ต้องเป็นกังวลในเรื่องของงบประมาณที่จะถูกตัดลงหรือต้องคำนึงเกี่ยวกับการเลือกตั้งในสมัยหน้า แต่ถ้ามีอะไรผิดพลาดเกิดขึ้น พวกเขาจะถูกตำหนิที่ไม่รู้จักคาดการณ์เรื่องปัญหาที่เกิดไว้ล่วงหน้าและไม่จัดการแก้ไขไว้ เจ้าหน้าที่เหล่านี้ทำงานกันอย่างจริงจังมาก จนถูกล้อเลียนบ่อยๆ ว่า เป็นเหมือนเกียวอิกุมาม่า (KYOIKU MAMA) หรือแม่ที่คอยแต่ผลักดันให้ลูกตั้งหน้าตั้งตาเรียน เรียน และเรียนเพียงอย่างเดียว

เป็นกฎอยู่ว่า มิติจะไม่พยายามจัดการดำเนินโครงการต่างๆ โดยตรงแต่จะคอยให้แนวทาง คำแนะนำเรื่องการเงินอัตราการแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศ และการแลกเปลี่ยนความรู้ทางเทคโนโลยี

องค์การนี้วางเป้าหมายไปในเรื่องการเจริญเติบโตและการพัฒนาโรงงานต่างๆ ให้ทันสมัยในระยะยาว บางครั้งให้การสนับสนุนบริษัทขนาดย่อมที่เงินทุนไม่พอเพียงที่อยู่ในมาตรฐานที่กำหนดไว้ให้ได้มีโอกาสมารวมตัวกันเป็นกลุ่มก้อน

มิติพยายามที่จะวางโครงสร้างทางอุตสาหกรรมเสียใหม่ เน้นไปในเรื่องทรัพยากรที่คิดว่าญี่ปุ่นสามารถแข่งหรือสู้กับตลาดโลกได้ ยกตัวอย่างเช่น เมื่อถึงทศวรรษ1960 ค่าจ้างในญี่ปุ่นพุ่งพรวดสูงขึ้นใกล้เคียงกับโลกตะวันตก องค์การแห่งนี้ก็จัดการแปรเป้าหมายทรัพยากรจากที่เคยเน้นเรื่องแรงงานมาเน้นที่เรื่องการขยายทุน และหลังปี 1973 เมื่อเกิดวิกฤตการณ์น้ำมันขึ้นทั่วโลก มิติก็เร่งแผนการที่จะดันญี่ปุ่นเข้าไปสู่อุตสาหกรรมด้านบริการและใช้ความรู้แทนการพึ่งพาพลังงาน

กระทรวงแห่งนี้มีนโยบายที่จะบอกปัดและรับส่งเสริมอุตสาหกรรม ช่วยลดภาวะผูกพันทางสัญญาของบริษัทแห่งหนึ่ง และลดความยากลำบากของอีกบริษัท

ถึงแม้ว่ากระทรวงนี้จะมีอำนาจมากมาย อำนาจนี้เน้นไปในเรื่องของการจูงใจมากกว่าการออกข้อบังคับ

บรรษัทต่างๆ ให้ความร่วมมือกับงานของมิติเพราะพวกเขาเข้าใจดีว่า องค์การนี้มีนโยบายอย่างแรกคือการคอยปกป้องความอยู่รอดปลอดภัยของบริษัทต่างๆ ในญี่ปุ่น

เจ้าหน้าที่ของมิติและบริษัทธุรกิจเหล่านี้ จะร่วมพบปะพูดคุยกันเป็นประจำเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดกันและกัน และในการประกาศนโยบายแต่ละครั้งจะมีผลสะท้อนให้เห็นมติอันเป็นเอกฉันท์ของสมาชิกที่สำคัญๆ ในวงการอุตสาหกรรม

เจ้าหน้าที่ของแต่ละบริษัทรู้ดีว่า เมื่อถึงเวลาที่พวกเขาต้องขอใบทะเบียนการค้า ใบอนุญาตต่างๆ การขอเลือกสถานที่ตั้งโรงงาน หรือขอผ่อนผันภาษี มิติจะให้ความช่วยเหลือต่อบริษัทที่ให้ความร่วมมือด้วย

ความไม่พึงพอใจขององค์การแห่งนี้มีผลเสีย อาจจะใช้วิธีการถ่วงเวลา หรือไม่พิจารณา เรื่องการเสนอขอลดหย่อนเรื่องค่าเสื่อมราคา หรือมีอิทธิพลแม้แต่ในเรื่องการขอกู้เงินจากธนาคาร หรือแหล่งการเงิน แต่เรื่องเหล่านี้มักจะเป็นเรื่องไม่จำเป็นนัก

ในปี 1978 มิติได้แหวกแนวออกจากแบบแผนเดิมโดยการประกาศทำโครงการห้องทดลองเทคนิคทางอิเล็ทรอนิกส์แห่งชาติญี่ปุ่น ซึ่งเป็นโครงการในการปฏิวัติระบบคอมพิวเตอร์สำหรับทศวรรษ 1990 ซึ่งจะทำให้ญี่ปุ่นก้าวไปสู่ความเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์

เจ้าหน้าที่ของมิติเชื่อว่าจากโครงการนี้เอง ที่จะทำให้ชาติของเขากลายเป็นผู้สร้างสิ่งใหม่ๆ ที่มีอำนาจแทนที่จะเป็นนักลอกเลียนแบบผู้ยิ่งใหญ่ และการปฏิวัติทางสังคมของญี่ปุ่นก็จะเจริญยิ่งๆ ขึ้น และรุ่นที่ห้าก็คือสัญลักษณ์ของการปฏิวัติครั้งนี้

ในราวเดือนตุลาคม 1981 รัฐบาลญี่ปุ่นก็ได้ประกาศว่า รัฐจะใช้เงินงบประมาณ 450 ล้านเหรียญสหรัฐไปในการว่าจ้างสรรหานักวิทยาศาสตร์หลายร้อยคนเพื่อริเริ่มสร้างสมองกลที่ใช้สำหรับการอุตสาหกรรม

จุดหมายหลักก็คือการพัฒนาคอมพิวเตอร์ที่สามารถสื่อสารกับมนุษย์ได้ โดยภาษาพูดธรรมดา และยังเข้าใจรูปภาพและคำพูดอีกด้วย คอมพิวเตอร์ที่สามารถเรียนรู้ สังคม ให้ข้อวินิจฉัย ตัดสินใจได้ และปฏิบัติในสิ่งที่คิดว่าเป็นเรื่องจำกัดวงเฉพาะของมนุษย์เท่านั้น

ในวันที่ 14 เมษายน 1982 สถาบันเทคโนโลยีทางคอมพิวเตอร์รุ่นใหม่ก็ได้เกิดขึ้นอย่างเป็นทางการ เพื่อเป็นแนวทางของนักวิจัยและการพัฒนานี้ เป้าหมายก็คือการออกแบบและสร้างคอมพิวเตอร์และคิดโปรแกรมที่ให้ความรู้ด้านวิศวกรรมศาสตร์ในขอบข่ายการใช้งานอย่างกว้างขวาง ระบบที่เยี่ยมยอด เครื่องที่เข้าใจภาษาพูด และหุ่นยนต์ใช้งานต่างๆ

การที่จะทำให้ได้อย่างนี้ คนญี่ปุ่นจะต้องปรับปรุงความสามารถของคอมพิวเตอร์เดิมนี้อย่างมากมาย แต่พวกเขาก็ยังจะต้องสร้างการเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ ในระบบเทคโนโลยีที่เป็นอยู่ในขณะนี้

การเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ ที่จะทำให้คอมพิวเตอร์รุ่นที่ห้า ที่จะให้การสนับสนุนพื้นฐานความรู้อย่างกว้างขวาง แก้ไขส่วนเกี่ยวข้องอย่างรวดเร็ว ให้ข้อสรุปวินิจฉัยที่มีเหตุผลได้รวดเร็ว เช่นเดียวกับที่คอมพิวเตอร์ใช้งานด้านคณิตศาสตร์ในปัจจุบัน ใช้ระบบการเปรียบเทียบในโครงสร้างโปรแกรม และเครื่องเพื่อจะได้รับความรวดเร็ว และผลิตระบบการติดต่อกันระหว่างเครื่องกับผู้ใช้ ที่สามารถทำให้ใช้ภาษาพูดและภาพนึกคิดได้

งบประมาณสำหรับโครงการนี้ก็มากโขอยู่ แม้จะไม่มีจำนวนมหาศาลอย่างมาตรฐานอเมริกันก็ตาม การประกาศใช้เงินทุน 450 ล้านของมิตินี้ เริ่มแรกระยะสามปีต้นจะยังไม่ทุ่มหนักนัก แต่จะไปทุ่มเอาในระยะ 7 ปีหลังในเรื่องเกี่ยวกับการพัฒนาระบบวิศวกรรมที่แพงขึ้น

ระยะต้นมิติจะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายเองทั้งสิ้น แต่ระยะที่สองและที่สามนั้นจะได้ทุนมาจากบริษัทที่ร่วมมือด้วย ทำให้งบประมาณในโครงการนี้ขยายออกไปเป็นราว 850 ล้านเหรียญสหรัฐ โครงการแห่งชาติอันอื่นๆ ของมิติซึ่งเป็นโครงการร่วมระหว่างภาคอุตสาหกรรมและรัฐบาลอันอื่นๆ บางครั้งมีอัตราสัดส่วนที่สูงกว่านี้คือ สัดส่วนที่ภาคอุตสาหกรรมช่วยรัฐออกทุนเป็นอัตราส่วนสองเท่าต่อหนึ่งเท่า หรือบางครั้งถึงสามเท่าต่อหนึ่งเท่า และเป็นไปได้ว่า ถ้าโครงการนี้พบกับเป้าหมายกลางๆ ภายในระยะแรกและเศรษฐกิจของญี่ปุ่นแข็งพอ เงินงบประมาณทั้งสิ้นก็อาจบานปลายออกไปเป็นจำนวนกว่าพันล้านเหรียญ

เงินงบประมาณนี้จะดูหนักหรือไม่ขึ้นอยู่กับว่าเราเอาอะไรมาเปรียบเทียบด้วย อย่างเช่นงบประมาณสำหรับการวิจัยและพัฒนาของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ โครงการหนึ่งซึ่งมีชื่อเรียกว่า “ฝ่ายโครงการวิจัยความก้าวหน้า” (ADVANCED RESERCH PROJECTS AGENCY) โครงการเดียวก็มีมูลค่าเกินกว่าโครงการนี้ทั้งสิบปีแล้วด้วยซ้ำไป แม้จะไม่มีผลท้าแข่งกับญี่ปุ่นเสียด้วยซ้ำ

งบประมาณโครงการอาร์แอนด์ดี (ค้นคว้าและพัฒนา) ของบริษัทไอบีเอ็มในปี 1982 อย่างเดียวก็ตกเข้าไปตั้ง 1.5 พันล้านเหรียญแล้ว หรือพูดอีกแง่หนึ่งก็คือ คนอื่นๆ จะมองเห็นว่าตัวเลขที่ไอบีเอ็มจ่ายไปนี้ออกจะสุรุ่ยสุร่ายเกินไป

บริษัทใหญ่ๆ บางแห่งสงวนเงินไว้สำหรับการวิจัยและพัฒนารายปีสำหรับการเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ นี้แต่เพียงเล็กน้อย

จากแง่นี้เอง งบประมาณสำหรับการพัฒนาคอมพิวเตอร์ยุคที่ห้าอันนี้ก็เลยเป็นจำนวนที่ไม่น้อยนัก

สิ่งที่น่าทึ่งพอกันก็คือแผนการที่ถูกกำหนดขึ้นโดยมิติในการดำเนินโครงการนี้ อีคอตได้ดึงเอานักวิจัยจำนวน 40 คนมาจากบริษัทที่ร่วมโครงการด้วยภายในระยะเวลาเพียงสองสัปดาห์ที่เริ่มงาน

หัวหน้าโครงการนี้ได้รับเลือกมาจากห้องทดลองเทคนิคทางอิเล็กทรอนิกส์ของมิติเอง และจากห้องทดลองวิจัยของบรรษัทนิปปอนอีเลคทริค และมาพร้อมๆ กับการเกิดขึ้นของอีคอต กลุ่มอาร์แอนด์ดีของฝ่ายวิจัยของแต่ละบริษัทจะดำเนินเป้าหมายตามรอยความก้าวหน้าและพัฒนาการทางวิทยาศาสตร์ที่อีคอตแห่งนี้ และจะรับเอาความรู้ไปปรับใช้ดู

นักวิจัยเหล่านี้จะหมุนเวียนเข้ามาในอีคอต และกลับออกไปทำงานในห้องทดลองของบริษัทของตนหลังจากที่ได้มาร่วมงานแล้วสามหรือสี่ปี ขณะเดียวกันไม่มีสิทธิพิเศษใดๆ ที่จะจำกัดความร่วมมือระหว่างพวกเขาในช่วงที่ทำงานอยู่ในอีคอตนี้ และพวกเขาจะถูกส่งกลับไปยังบริษัทเป็นประจำ บางครั้งก็สัปดาห์ละครั้งเพื่อที่จะรายงานเกี่ยวกับความก้าวหน้าในงานให้กับบริษัทของตน การหมุนเวียนนี้ก็ดีหรือการรายงานเป็นประจำนี้ก็ดี มีจุดประสงค์เพื่อที่จะกระจายความคิดต่างๆ ไปยังบริษัทที่มีส่วนร่วมด้วย การร่วมมือดังกล่าวอาจจะทำให้เป็นที่วุ่นวายกันก็ได้ ถ้าทำกันในอเมริกา แต่กระบวนการของอีคอตก็เพื่อที่จะช่วยอุปถัมภ์บริษัทที่ร่วมด้วย และเพื่อที่จะให้ความรู้แก่นักวิทยาศาสตร์ในวงอุตสาหกรรมผ่านโครงการร่วมมือดังกล่าว

ขอบข่ายการวางแผนงานระยะสิบปีนี้เยี่ยมยอดมาก

ระยะสิบปีเป็นระยะยาวในอุตสาหกรรม ระบบข้อมูล เป็นเพราะเราต้องพึ่งพามันเราจึงจำต้องประเมินการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีไว้ต่ำๆ ก่อน เมื่อสิบปีก่อน เครื่องคอมพิวเตอร์เป็นของที่มีราคาแพงมากจนต้องแบ่งปันกันใช้

ความคิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ส่วนตัวที่มีขนาดเล็กและราคาถูกจนพอจะเก็บไว้ใช้ในบ้าน เป็นเพียงความฝันในนิยายวิทยาศาสตร์เท่านั้นเอง เครื่องคิดเลขขนาดกระเป๋าราคาหลายร้อยเหรียญ และเครื่องเล่นเกมส์วิดีโอก็เป็นเครื่องเล่นของห้องทดลองเท่านั้น แต่แม้จะประกอบไปด้วยข้อมูลประวัติศาสตร์อย่างนี้ แผนการของโครงการรุ่นที่ห้าก็ยังคงเป็นเรื่องบ้าบิ่นอยู่ดี บางคนอาจจะพูดได้ว่าบ้าระห่ำด้วยซ้ำ วิทยาศาสตร์ที่แผนการนี้วางเป้าไว้นั้นอยู่สุดขอบของสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์รู้กันในปัจจุบันนี้ แผนนี้เสี่ยงมากทีเดียว ประกอบไปด้วยความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ตามกำหนดการอยู่หลายจุด และทุกๆ แง่มุมของงานนี้เป็นความท้าท้ายอย่างยิ่งใหญ่ในด้านวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์

โครงการนี้จำต้องพบความสำเร็จในขั้นต้นๆ เสียก่อน เพื่อจะถ่วงดุลและเงินทุนและนี่ก็จะเป็นปัญหา

ในทางกลับกันการพบกับจดหมายหรือการก้าวเลยจุดหมายในระยะสามปีแรก จะทำให้ญี่ปุ่นก้าวไปข้างหน้า และย่อมจะได้รับการสนับสนุนเพิ่มขึ้นจากบริษัทที่มีส่วนร่วม และความสำเร็จหรือความล้มเหลวก็ขึ้นอยู่กับหัวหน้าโครงการต่างๆ เท่านั้น ทั้งในภาคอุตสาหกรรมและรัฐบาล

หัวหน้าญี่ปุ่นเหล่านี้ได้เลียนแบบวิธีการของซามูไรในสมัยก่อน แทนการที่เคยได้รับความสำเร็จมาในระยะที่ผ่านมา พวกเขาค่อนข้างจะเป็นพวกหัวเก่าและกลัวการเสี่ยง เพราะโดยธรรมเนียมแล้วมักจะไม่มีผลตอบแทนสำหรับความสำเร็จเท่ากับที่ถูกลงโทษเมื่อล้มเหลว แต่ในที่นี้พวกเขากลับต้องทำในสิ่งที่ท้าทาย และมีความเสี่ยงอยู่มากในโครงการที่ยืนพื้นอยู่กับเทคโนโลยีซึ่งพวกเขาแทบจะไม่เข้าใจกัน

ผู้อำนวยการของอีคอต คาซูฮิโร ฟูชิ ได้ดำเนินองค์การนี้โดยไม่คำนึงถึงวิถีทางตามธรรมเนียมของญี่ปุ่นในการดำเนินธุรกิจเลยแม้แต่น้อย สิ่งแรกที่ฟูชิกำหนดไว้สำหรับอีคอตก็คือ ทุกคนในโครงการนี้จะต้องมีอายุต่ำกว่า 35 หรือบางครั้งก็อ่อนกว่านี้ไปอีกมาก แม้ตัวเขาเองจะอายุสี่สิบกว่าปีเข้าไปแล้ว เขาก็ได้ให้ข้อสังเกตไว้นานมาแล้วว่า การปฏิวัติไม่อาจทำได้ด้วยคนแก่ หนุ่มเท่านั้น หนุ่มและดีเยี่ยม ความคิดนี้ตรงกันข้ามวิถีทางทางธุรกิจและการวิจัยตามแบบของญี่ปุ่น โดยธรรมเนียมแล้ว คนญี่ปุ่นจะยึดมั่นกับระบบอาวุโส แม้ว่าชาวตะวันตกจะเห็นว่าไม่เป็นเรื่องแปลกที่องค์การหนึ่งจะประกอบไปด้วยคนหนุ่มๆ แทบทั้งนั้น แต่คนญี่ปุ่นจะเห็นว่าเป็นการลบหลู่เกียรติกันอย่างแรง และการทำอย่างนี้ทำให้ฟูชิกลายเป็นนักวิทยาศาสตร์นอกคอกที่บ้าบิ่นไม่เคารพธรรมเนียม

คนหนุ่มและยอดเยี่ยมเหล่านี้มาจากที่ต่างๆ กัน รวมไปทั้งแปดบริษัทที่ทำการสนับสนุนอีคอต ได้แก่ ฟูจิตสึ ฮิตาชิ นิปปอนอีเลคทริค มิตซูบิชิ มัตซูชิตะ โอกิ ชาร์ป และโตชิบา และศูนย์วิจัยแห่งชาติอีกสองแห่งซึ่งเข้ามามีส่วนร่วมด้วยก็คือ ศูนย์วิจัยค้นคว้าโทรศัพท์และโทรเลขมูซาชิโน และศูนย์ค้นคว้าทางอิเล็กทรอนิกส์ของมิติเอง

นักวิจัยเหล่านี้เข้ามายังอีคอตด้วยหลายๆ เหตุผล ส่วนใหญ่นักวิจัยเหล่านี้ได้รับการคัดเลือกจากฟูชิเองจากผลงานดีเด่นจากโครงการอื่นๆ ที่เกิดขึ้นก่อนอีคอต บางคนก็เป็นผู้ร่วมงานเดิมของเขา ส่วนใหญ่เข้ามาร่วมงานอย่างกระตือรือร้น อยากที่จะได้รับโอกาสที่จะเข้าร่วมโดยตรงกับโครงการซึ่งมีความสำคัญในช่วงนี้และมีส่วนร่วมรับผิดชอบเต็มที่ ซึ่งโดยปกติแล้วจะไม่เปิดโอกาสให้แก่เขาจนกว่าจะมีอาวุโสในหน่วยงานนั้นๆ เสียก่อน

สำหรับนักวิทยาศาสตร์เหล่านี้ โอกาสนี้มีค่าพอที่เขาจะยอมเสียสละ แม้ว่านโยบายของแต่ละบริษัทจะแตกต่างกันออกไป

นักวิจัยส่วนใหญ่ของอีคอตก็เข้าใจกันดีว่าการเลื่อนตำแหน่งของเขาในบริษัทที่เขาสังกัดอยู่จะต้องถูกเลื่อนเวลาออกไป หรืออย่างน้อยที่สุดก็ช้าลง

ในช่วงสามปีนี้ บางคนจะไม่ได้รับเงินโบนัส ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นจำนวนเงินถึงครึ่งหนึ่งของรายได้ตลอดปีของพวกเขา และบางคนที่ทิ้งตำแหน่งระดับหัวหน้างานเพื่อที่จะมาร่วมโครงการนี้ต่างก็ซึมซาบดีว่า พวกเขาไม่มีโอกาสที่จะกลับไปอยู่ในตำแหน่งเก่าอีกต่อไป เรื่องพวกนี้ไม่เป็นปัญหาสำหรับคนหนุ่มเหล่านี้ซึ่งได้รับการชักจูงใจ จากคำปราศรัยของฟูชิในวันเปิดศูนย์ที่ว่า “พวกคุณจะต้องมองเห็นว่าเวลาที่ผ่านมานั้นคือปีทองของคุณ เราจะต้องทำงานกันหนักมาก ถ้าหากว่าโครงการนี้ล้มเหลว ข้าพเจ้าจะขอรับผิดชอบอย่างเต็มที่ แต่เราไม่มีวันที่จะล้มเหลวอย่างแน่นอน”

นักวิจัยบางคนที่อีคอตนี้ก็มีความเห็นอีกอย่างหนึ่ง พวกเขามาจากบริษัทที่ส่งพวกเขามาร่วมอย่างไม่เต็มใจเลย บริษัทเหล่านั้นคิดว่าโครงการคอมพิวเตอร์ยุคนี้น่าที่จะนำความอัปยศอดสูมาให้ชาวญี่ปุ่น

พวกที่ไม่เห็นด้วยนี้สร้างปัญหามากในสองเดือนแรก จนกระทั่งคณะผู้แทนได้ขอให้ฟูชิแก้ปัญหานี้ให้ได้ พวกเขาได้เตือนฟูชิว่าเสียงคัดค้านนี้ไม่เป็นผลดีต่อขวัญของผู้ร่วมงาน การทำงานอาจจะยุ่งยาก ฟูชิได้รับรอง เขาหวังที่จะขจัดความไม่ลงรอยอันนี้ได้โดยเก็บความคิดสุดท้ายในการส่งคนเหล่านี้กลับไป แม้แต่พวกที่ชื่นชมคำพูดนี้ก็ไม่มีน้ำหนักนัก คนที่แนะนำก็อาจถูกเขาตะเพิดได้ หลังจากที่เปิดศูนย์มาได้หนึ่งเดือนคณะกรรมาธิการสร้างเครื่องคอมพิวเตอร์ขอพบฟูชิ ได้ชี้แนะทางลัดให้กับเขาเป็นแผนสองปี ที่พวกเขาคิดที่จะผลิตเครื่องคอมพิวเตอร์ต้นแบบ ตามตารางสำหรับสามปีแรก แทนที่จะรู้สึกพอใจฟูชิกลับโกรธเป็นฟืนเป็นไฟ ความโกรธเกรี้ยว ก็ดูจะเป็นเรื่องผิดปกติมากพอแล้วสำหรับหัวหน้าชาวญี่ปุ่นทั้งหลาย แต่สิ่งที่ฟูชิต้องการกลับหนักข้อขึ้นไปอีกด้วยการย่นแผนงานลงเหลือเพียงระยะแค่ปีครึ่ง พวกกรรมการพากันตะลึงงัน พวกเขาคิดว่าระยะสองปีนี้ก็แทบจะหายใจหายคอไม่ทันกันอยู่แล้ว ฟูชิกลับไม่ได้คิดเช่นนั้น เขาเกรี้ยวกราดเอาว่า “เราต้องทำให้ได้” แล้วพูดว่า “กลับไปคิดดูให้ดี” หลังจากที่รู้สึกเยือกเย็นลง เขาก็เพิ่มเติมว่า “ถ้าพวกคุณจำเป็นจะต้องใช้เวลาสองปีจริงๆ ก็ตกลง แต่ถ้ามันทำไม่ได้จริงในปีครึ่ง ก็ขอให้ลดคุณภาพลงแล้วสร้างเครื่องนั้นมาให้ผมให้ได้ในปีครึ่ง”

ฟูชิได้ทุ่มเทตนเองให้กับโครงการนี้ทั้งหมด เขาได้ลาออกจากตำแหน่งเดิมในศูนย์วิจัยเทคนิคทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นขั้นที่น่าตระหนกสำหรับลูกจ้างชาวญี่ปุ่นทุกคนโดยเฉพาะคนที่มีตำแหน่งสูงๆ อย่างนี้ ดังที่ผู้ร่วมงานอีคอตได้ให้ความเห็นไว้ ฟูชิมีสิทธิที่จะได้รับเงินบำเหน็จบำนาญจากรัฐอย่างสบายๆ ถ้าเพียงแต่จะรอไปอีกเพียงสองสามเดือน แต่เขาก็ไม่ไยดีต่อความมั่นคงทางการเงินของตนเอง ทั้งนี้ถ้าหากว่ามันจะมาฉุดรั้งโครงการนี้ให้เชื่องช้าออกไปแม้จะเป็นระยะเวลาเพียงไม่กี่เดือน สำหรับนักวิจัยหนุ่มซึ่งเติบโตขึ้นมาในระบบการจ้างงานชั่วชีวิตของญี่ปุ่น ฟูชิเป็นผู้นำที่กล้าหาญมีความคิดสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ตามแบบที่โครงการพัฒนารุ่นที่ห้านี้ต้องมี ถ้าอะไรทำได้แล้วเขาก็จะทำ เขาได้โต้แบบแผนทางสังคมเสียกระจุย เขาได้สลัดรูปแบบธรรมเนียมทางสังคมของเราไปเสียสิ้น และทำไมจะไม่ทิ้งแบบแผนนิยมทางวิทยาศาสตร์เสียล่ะ

ไม่ใช่ทุกคนหรอกที่ชอบกลวิธีของฟูชิ หรือการดำเนินการนอกรีตนอกรอย ซึ่งทำขึ้นโดยมิติในการตั้งโครงการนี้ขึ้นมา เจ้าหน้าที่ระดับสูงคนหนึ่งในบริษัทใหญ่แห่งหนึ่งของญี่ปุ่นซึ่งยอมรับว่าพวกเขาเคยมีปัญหาต่างๆ กับโครงการนี้ และคิดว่าจะยังคงมีปัญหาอีกต่อไปด้วยได้กล่าวว่า “ในระยะแรก” เรารู้สึกไม่เห็นด้วยกับความคิดที่จะส่งนักเทคนิคหนุ่มๆ ไปให้โครงการนี้ แต่เราตระหนักดีว่า บริษัทของเราได้มองเห็นการณ์ในระยะยาวเสมอมาและนี่เป็นสถานที่เหมาะสมสำหรับการบรรจุเอาทรัพยากรระยะยาวเข้าไป หลายสิ่งหลายอย่างยังคงต้องได้รับการแก้ไขและความจำเป็นก่อนหลังก็ต้องจัดกันใหม่ แต่ในระยะสามปีนี้ เราเชื่อมั่นว่าจะได้รับการแก้ไขขึ้น”

ความไม่พอใจและการเป็นปฏิปักษ์ยังไม่ใช่คำรุนแรงพอที่จะอธิบายความคิดของผู้นำบริษัทต่างๆ ต่อการพัฒนาคอมพิวเตอร์รุ่นที่ห้านี้

พวกเขาไม่ต้องการที่จะมีส่วนร่วม นอกเสียว่าจะถูกบังคับเท่านั้น จึงได้ส่งนักวิจัยเข้ามาในอีคอต

พวกเขาค่อนข้างจะเคียดแค้นที่ต้องเสียนักวิจัยที่ดีๆ ไปตั้งสามปี การคัดเลือกและฝึกคนนั้นต้องทำกันอย่างระมัดระวังและนานหลายปีกว่าที่จะได้พนักงานที่ดีสักคนในบริษัท และไม่ต้องการให้ถูกอิทธิพลภายนอกครอบงำ ซึ่งจะต้องเกิดขึ้นแน่ๆ ใน อีคอตไม่อาจจะจ้างคนเพื่อที่จะส่งมาให้อีคอตโดยเฉพาะ เพราะในระบบการว่าจ้างแบบญี่ปุ่นนี้ คนเหล่านี้จะต้องผูกพันกับบริษัทไปจนตลอดชีวิต แม้จะเหมือนอย่างเช่นบริษัทต่างๆ ในญี่ปุ่น

กลุ่มวิจัยที่เชี่ยวชาญในระบบโน้มเอียงไปในทางเข้าข้างอย่างเต็มที่ พวกเขาก็ยังคงเห็นว่าโครงการของอีคอตนี้ออกจะสูงส่งเกินไป สิ่งที่ทำให้พวกเขาเป็นกังวลมากที่สุดก็คือการที่ไอบีเอ็มไม่ได้ทำงานในโครงการที่เหมือนกันอย่างนี้ พวกเขามองเห็นว่าการประกอบการอุตสาหกรรมของพวกเขาควรจะทำตามอย่างไอบีเอ็มอย่างเต็มที่ เพียงแต่ทำให้ได้ดีกว่าและราคาถูกกว่า แต่ต้องไม่แตกต่างกันออกไป

พูดง่ายๆ สั้นๆ ก็คือ ความเชื่อว่าญี่ปุ่นจะต้องเป็นนักเลียนแบบที่เหนือกว่า แต่ไม่ใช่นักเปลี่ยนแปลง บริษัทแห่งนี้เป็นแบบอย่างของพวกที่อยู่สุดขั้ว แต่บริษัทอื่นๆ แม้จะไม่เอาใจจดจ่อนักก็ได้แต่เฝ้าดูผลที่จะเกิดขึ้น

การพัฒนาของแผนพัฒนายุคที่ห้าก็จะยังคงดำเนินต่อไป แม้จะมีการต่อต้านจากบริษัทที่มีส่วนร่วม เจ้าหน้าที่ของ มิติเชื่อว่าโครงการนี้และการปฏิวัติที่โครงการนี้เป็นตัวแทนอยู่นั้น เป็นเรื่องสำคัญยิ่งต่ออนาคตของญี่ปุ่น เจ้าหน้าที่คนหนึ่งของมิติคือ โซเซบูโร โอกามัตสุ ได้ให้สัมภาษณ์นักข่าวอเมริกันว่า “เพราะเรามีทรัพยากรเพียงจำกัด เราจึงจำเป็นต้องมีเทคโนโลยีที่จะทำให้ได้เงินสำหรับค่าอาหาร น้ำมัน และถ่านหิน และจนกระทั่งเร็วๆ นี้ เราได้ไล่ตามเทคโนโลยีของต่างชาติ แต่ตอนนี้เป็นช่วงเวลาที่เราจะนำในการปฏิวัติคอมพิวเตอร์ขั้นที่สอง ถ้าเราทำอย่างนั้นไม่ได้ เราก็ไม่อาจอยู่รอดเท่านั้นเอง”


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.