ดิลก คุณะดิลก: ผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัทคอนโทรล เดต้า (ประเทศไทย)จำกัด "ผมพยายามมองตลาดเอาสิ่งที่ชาวบ้านเขาไม่เล่นมาเล่น"


นิตยสารผู้จัดการ( พฤศจิกายน 2526)



กลับสู่หน้าหลัก

...ซีดีซีขายเปอริเฟอรอลหลายอย่าง เชื่อไหมผมขายพวกนี้ปีละ 5-6 ล้านบาท ไม่มีใครรู้เลย แล้วไม่ต้องตามล้างตามเช็ดด้วย....

ผู้จัดการ- มีหลายคนสงสัยว่าซีดีซีอยู่ได้อย่างไร ในเมื่อหลายปีนี้ไม่ค่อยมีเครื่องคอมพิวเตอร์ของซีดีซีจำหน่ายหรือให้เช่า

ดิลก- ผมว่าบังเอิญผมได้นายที่ดีนะ สถานการณ์อย่างที่เราเจอมาหลายปีนี้เราก็มาดูว่า อย่างแรกเลยทีเดียว สิ่งที่ผมทำก็คือ ซีดีซีนี่มันขายเปอริเฟอรอลหลายอย่าง อย่างตัวใหญ่ๆ ก็เช่นดิสค์ไดร้ฟ์ (DISK DRIVE) คือดิสค์ของซีดีซีนี่เอ็นซีอาร์ก็ใช้ไอซีแอลก็ใช้ เครื่องเด็คพีดีพีนี่ก็ใช้ แวงก็ใช้ ฟิลิปส์ก็ใช้ เปอร์กินเอลเมอร์ก็ใช้ เทกซัส อินสตรูเม้นต์ก็ใช้ ผมก็ว่าอย่ากระนั้นเลย เราเอาพวกนี้มาขายดีกว่า เชื่อไหมผมขายพวกนี้ปีละ 5-6 ล้าน ไม่มีใครรู้เลย แล้วไม่ต้องตามล้างตามเช็ดด้วย อย่างการสื่อสารสั่งเฮด (หมายถึงตัวซีพียูของคอมพิวเตอร์) ผมที 20-30 เฮด เฮดอันหนึ่งนี่หมื่นกว่า เขาซื้อที่อื่นหมื่นห้าผมขายเขาหมื่นสอง

ผู้จัดการ- มันมีช่องว่างอย่างไร ซีดีซี จึงแทรกเข้าไปได้ทั้งที่คอมพิวเตอร์แต่ละยี่ห้อเขาก็มี เปอริเฟอรอลอยู่แล้ว

ดิลก- โอเคเขามีน่ะมีครับ แต่ผมยกตัวอย่างฟิลิปส์ก็แล้วกัน เขาสั่งดิสค์มาเอาเป็นว่าดิสค์แพค (DISK PACK) ถ้าเขาสั่งแพคของซีดีซีจากฟิลิปส์ฮอลแลนด์เสียภาษีเสร็จเข้ามา 30,000 บาท เขาสั่งจากผมเหมือนกันเป๊ะตรงจากโรงงานเลย ผมคิดเขา 27,000 บาท อย่างนี้เขาจะซื้ออย่างไหน เขาก็ต้องซื้อจากผม นี่คือตัวอย่าง

ผู้จัดการ- เพราะซีดีซีประเทศไทย มีฐานะเป็นซับซิแดรี่ของซีดีซีบริษัทแม่ ดังนั้นจึงสั่งของได้ในราคาซับซิแดรี่ไม่ต้องเสียค่าทรานสเฟอร์คอร์ส (TRANSFER COST) อย่างที่คนอื่นเสีย

ดิลก- ถูกต้อง ทีนี้เราพลิกไปดูอีกแง่ คือถ้าพวกนี้เป็นคู่แข่งของผม ผมไปลดราคาเปอร์เฟอรัลอย่างนี้ก็เท่ากับไปทำให้เขามาแข่งกับผมสบายขึ้น แต่ผมคิดว่าเขาไม่ใช่คู่แข่งเนื่องจากผมไม่มีอะไรจะไปแข่งกับเขาแล้ว นี่คือเรื่องที่ว่าเราอยู่ได้อย่างไร เสร็จแล้วเท่านั้นมันยังไม่พอ คนของเราหลายคนตอนนี้มี 50 กว่าคนในบริษัท แค่นี้คนมันก็จะว่า เราก็ไปหาของเล่นอื่นมาอีก เอ...อาจารย์สมชัยที่จุฬาฯ อยากจะได้เครื่องออปติคัล มาร์ค รีดเดอร์ (OPTICAL MARK READER) ผมก็วิ่งหา นายแกก็เปิดๆ เอา เราก็ขอเป็นเอเย่นต์โดยติดต่อซีดีซีซึ่งที่จริงไม่ได้โอเอ็มอาร์ ซีดีซีก็แนะนำว่าเอ็นซีเอส (NCS-NATIONAL COMPUTER SCIENCE) นี่แจ๋วเลย ออฟฟิศอยู่ใกล้ๆ แค่นี้เอง ซีดีซีเมืองนอกเองก็ซัปพอร์ตเทคนิคให้เขาเยอะเลย เราก็เลยได้เป็นเอเย่นต์เอ็นซีเอส ผมก็ขายโอเอ็มอาร์ให้รามคำแหงขายให้สุโขทัยธรรมาธิราช ขายพวกซัปพลายกระดาษกระเดิดตามเรื่องตามราวไป

ผู้จัดการ- โอเอ็มอาร์ คืออะไร?

ดิลก- จริงๆ แล้วพวกนี้ก็คือเครื่องเตรียมข้อมูลอย่างหนึ่ง โอเอ็มอาร์ย่อมาจากคำว่า OPTICAL MARK READER หมายความว่าเราเอากระดาษเปล่าๆ นี่ขึ้นมาใบหนึ่ง เราพิมพ์จุดอะไรเข้าไปหรือวงกลม เราเขียนว่าเพศ ชาย-หญิง เป็นชายเขาก็มาร์กชายเป็นหญิงเขาก็มาร์กหญิง ไอดีเบอร์อะไรเขาก็ใส่ไปโดยมาร์กตามเบอร์ คือพวกนี้แต่เดิมต้องมาเจาะบัตรหรือคีย์เข้าไป เพราะกระดาษนี่เอาเข้าเครื่องคอมพิวเตอร์ไม่ได้ จะต้องแปลงให้มันเข้ากับคอมพิวเตอร์ได้โดยเจาะเป็นบัตร อย่างรามคำแหงนักศึกษาใหม่ปีหนึ่งแสนกว่ามันเจาะบัตรกันจนบวมไปบวมมา ผิดอีกไม่รู้เท่าไหร่ แต่ถ้าให้นักศึกษาแต่ละคนรับผิดชอบมาร์กมาเองปั๊บแล้วเข้าเครื่องอ่าน พออ่านปั๊บมันก็เข้าเทปแล้วเอาเทปไปเมิร์ช (MERZE) กับมาสเตอร์ไฟล์เลย มันก็ทำให้เร็วขึ้น แล้วชื่อนี่เขาก็มาร์กเองเพียงแต่มันเป็นภาษาอังกฤษ ภาษาไทยทำไม่ไหวคอมมิวนิเคชั่นมันเยอะตั้งแต่ ก.ไก่ ถึง ฮ.นกฮูก แล้วยังมีสระอีกเยอะแยะไปหมด ก็ต้องใช้ภาษาอังกฤษ แล้วเอ็นทรานซ์ปีที่แล้วก็เริ่มมาใช้อันนี้แล้ว

ผู้จัดการ- ขณะนี้ลูกค้าที่ซื้อโอเอ็มอาร์ จากคุณมีที่อื่นอีกไหม?

ดิลก- มีที่รามกับสุโขทัย 2 แห่ง แล้วเวลานี้ผมกำลังเอาตัวเล็กมา มาร์เก็ตตัวละ 2 แสนกว่าเหมือนเครื่องถ่ายเอกสารเลย แต่ต้องต่อกับไมโครต่อกับอะไรเพราะมันไม่มีเทปให้

ผู้จัดการ- แล้วคิดจะสั่งออปติคัล คาแรคเตอร์รีดเดอร์ (OPTICAL CARACTRER READER) ซึ่งใช้กับงานในซูเปอร์มาร์เก็ตมาขายด้วยไหม?

ดิลก- ไม่มีครับ ไม่มี อันนั้นผมแข่งไม่ได้ เอ็นซีอาร์เขาสตรองมาก เราต้องรู้ว่าคู่แข่งเราอยู่ตรงไหน เราต้องแข่งชนิดไม่มีใครเขาแข่งเราหรอก ถ้าผมเอาตัวที่คุณว่าเข้ามาผมต้องแข่งกับเอ็นซีอาร์เดือดร้อนอีก แต่ผมเอาโอเอ็มอาร์เข้ามานี่ไม่มีคนแข่งด้วยเลย เคยมีไอบีเอ็มเข้ามาพักหนึ่งแล้วเห็นเขาเงียบไป

ผู้จัดการ- เพราะอะไรถึงไม่มีคู่แข่ง?

ดิลก- พวกมาร์เก็ตติ้งเครื่องโอเอ็มอาร์ที่ผมขายเขามาที่นี่ ผมเคยบอกเขาว่า นี่เรามีคู่แข่งยี่ห้อหนึ่งนะเขาบอก โอ๊ยดิลกฟอร์เก็ต อิท ถามทำไม เขาว่า ไม่ใช่คู่แข่ง คือยี่ห้อนั้นน่ะยังต้องซื้อเครื่องของเอ็นซีเอสไปเช็กอีกที เอ็นซีเอส มันทำเฉพาะอย่างนี้จริงๆ มันบอกมันขายนี่รับรองไม่มีคู่แข่ง มันมีขนาดโรงงานทำกระดาษเอง ควบคุมกระทั่งคุณภาพกระดาษ คุณภาพหมึกพิมพ์ คุมความแม่นยำในการพิมพ์ เพราะพวกนี้ถ้าพิมพ์พลาดคุณภาพกระดาษไม่ดีเลอะหมดนี้เวลาเข้าอ่านมันจะพลาดไปหมด เราก็เอาพวกนี้มาฟิลเข้าไป... คือเรารู้ปัญหาของบ้านเราว่า เมื่อเครื่องคอมพิวเตอร์ใหญ่ขึ้น ยกตัวอย่างอย่างธนาคารชาติที่ใช้เครื่องยูนิแวค ดร. วัลลภบอกดิลกผมมีปัญหาแล้วนะ เครื่องผมยิ่งใหญ่ยิ่งออนไลน์ได้ผมยิ่งมีปัญหาใหม่เพราะไม่มีข้อมูลจะเข้า ใส่เข้าไปปุ๊บเสร็จ ปุ๊บเสร็จแล้วจะไปเอาข้อมูลที่ไหนใส่เข้าไป อันนี้ก็ต้องวิ่งมาหาโอเอ็มอาร์อีก คืองานมันขยายงานใหม่ๆ ก็มี เดต้าเข้าอย่างไร ไม่มีทางเข้า นี่แกบอกผมว่าต้องเพิ่มคีย์สเตชั่นอีก 200-300 สเตชั่น แกบอกว่าโหลด (LOAD) มันจะไปอยู่ที่ขั้นเตรียมข้อมูลหมด บอตเติ้ลเนค (BOTTLENECK) มันไปอยู่ที่ข้อมูลเข้า อินพุท (INPUT) หมด เพราะฉะนั้นผมก็พยายามมองตลาดเอาสิ่งที่ชาวบ้านเขาไม่เล่นมาเล่น แล้วซีดีซี เขาก็ไม่ว่าที่เราจะทำอย่างนั้น ผมก็เอาเข้ามา

ผู้จัดการ- ต้องขออนุญาตเขาไหม?

ดิลก- ต้องแจ้งไป

ผู้จัดการ- ตลาดของเครื่องโอเอ็มอาร์ นอกจากสถานศึกษาแล้วยังจะมีงานในแขนงอื่นๆ อีกไหม?

ดิลก- โอเอ็มอาร์นี่จริงๆ แล้วตลาดมีทุกแห่งแหละครับ อันแรกเลยนะครับ อันนี้ผมกำลังดีลกับประเทศพม่า เขาสนใจมากก็คือการทำสำรวจสำมะโนประชากร เรื่องนี้โอเอ็มอาร์ เพอร์เฟคเลย อย่างสำมะโนประชากรบ้านเราผมก็พยายามเสนอ แต่เขาไม่เอาด้วย คือพอไฟนัลจะออกไอ้ข้อมูลมันผิดไปแล้ว ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น คืองานออกสนามสำรวจนี่ผมว่า 3 เดือนเสร็จแล้ว ก็ต้องเอามาโค้ดดิ้ง โค้ดดิ้งเสร็จเจาะคีย์เข้าดิสค์ เข้าเสร็จเบอริไฟล์ เบอริไฟล์เสร็จอีดิต อีดิตเสร็จออกมาแก้แล้วถึงจะกลับเข้าไปอีก ไฟนัลอีก 2 ปีกว่าถึงจะออก ไอ้วันที่ผมไปบอกว่าควายผมมี 3 ตัว อาจจะเข้าโรงเชือดหมดแล้วหรือออกลูกเพิ่มมาเป็น 8 ตัว นั่นหมายความว่าข้อมูลทางสถิติไม่ได้ใกล้เคียงเลย แต่ผมบอกว่าถ้าใช้โอเอ็มอาร์ ผมยกตัวอย่างอันหนึ่งของเอวอนที่อเมริกา เขาใช้ไอ้น็อกค์ดอร์เซลน่ะ เขามีเซลอยู่ 5 แสนคน เขามีปัญหาอย่างลิปสติกเขาคิดว่าสีนี้เฉดนี้มันจะขายดีเขาจึงเร่งผลิตออกมา แต่คนยังนิยมของเก่าไอ้ที่ผลิตออกมาก็ค้างสต๊อก ไอ้นั่นก็แบเคอร์เดอร์ จมเลยไม่มีของส่ง ตัด สต๊อกวันนี้อีกเกือบปีถึงจะรู้เรื่อง เขาก็เลยตั้งโอเอ็มอาร์ทั่วมุมเมืองเลย พวกเซลส์ก็มาร์กๆ ขายไอ้นี่ไปเท่านี้ ตกเย็นก็เอามาส่ง เขาก็เอากระดาษที่เซลส์มาร์กเข้าอ่านแล้วส่งเข้าคอมพิวเตอร์เลย มันก็รู้วันต่อวันเลยว่าวันนี้ขายไอ้นี่ไปเท่าไหร่ มันก็เลยคอนโทรลไอ้การผลิตได้หมด คืออันนี้เป็นผลประโยชน์ที่จะได้จากโอเอ็มอาร์ เพราะฉะนั้นจริงๆ แล้วมันจะไม่แคบ ผมทำให้โรงเรียนจ่าทหารเรือเขาใช้ผมมา 3-4 ปีแล้ว จ่าทหารอากาศบอกว่าจ่าทหารเรือเก่งอย่างไงวะ มันออกได้เร็วเหลือเกิน แล้วไม่ผิดด้วย จ่าทหารอากาศไปจ้างเขาเจาะ โธ่สอบกันที 5-6 หมื่นคนรับ 2 พันอะไรอย่างนี้ทุกปีใช่ไหม ทหารเรือมาไม้ใหม่เล่นกระดาษเลย ทีแรกบอกกระดาษแพงผมไปชี้เลยว่ากระดาษนี่ใบละบาทกว่า จ้างเขาเจาะจ้างเขาทำเท่าไหร่ตกใบละเกือบ 3 บาท แล้วออกมาไม่ได้ถูกต้องอย่างนี้หรอก พอเขาเห็นความจริงทีนี้กระดาษไม่มีค่าแล้ว เขาต้องการความรวดเร็วและคิดแล้วถูกกว่าด้วย เพราะฉะนั้น เราก็หากินทางนี้ไป เสร็จแล้วมีระยะหนึ่งก็มองว่าเอ...แค่นี้มันยังไม่พอกิน ทำไง ดาต้าเอ็นทรีย์ตอนนี้กำลังเลิกเครื่องเจาะบัตรหลายปีมาแล้ว บัตรมันล้าสมัยก็เปลี่ยนเป็นคีย์ทูดิสเก็ต ผมก็ว่าเอ...ทำไงเราถึงมีขาย รองประธานมาบอกว่า โอ๊ย...เดี๋ยวจะติดต่อให้เออ...อิสราเอล ของเอลบิต (ELBIT) คือเอลบิตนี่เขาทำพวกคอมปอเน้นท์คอมพิวเตอร์ซีดีซี ทางซีดีซีถือหุ้นอยู่เยอะคือเอลบิตเขาเอาเครื่องเล็กๆ ของวีดีซีไป ดีเวลล้อปเป็นเดต้าเอนทรีย์ขึ้นมา ผมขายตัวแรกให้สถานทูตอเมริกา ถึงตอนนี้ผมปล่อยไปแล้วประมาณร้อยกว่าสเตชั่น ตอนนี้ก็กำลังจะติดตั้งที่กระทรวงเกษตร

ผู้จัดการ- กับเอลบิตทางซีดีซีประเทศไทยเป็นตัวแทนเฉพาะเดต้าเอนทรีย์เท่านั้น หรือมีอย่างอื่นอีก?

ดิลก- เฉพาะเดต้าเอนทรีย์เท่านั้น จะไม่ไปทำอย่างอื่นเลย ความจริงเอลบิตเขายังมีอะไรอีกเยอะอย่างพวกจรวดพวกคอนโทรลต่างๆ ไอ้ที่เราให้เรือรบต่อจากอิตาลีแล้วไปที่สิงคโปร์ ติดตั้งจรวดของพวกนี้มันทำจากโรงงานเอลบิตทั้งนั้น มันทำเยอะ

ผู้จัดการ- ตลาดโอเอ็มอาร์ที่ทำอัตราการขยายตัวดีไหม?

ดิลก- ตัวเครื่องเราออกไม่ค่อยดี แต่ซัปพลายนี่ดีอย่างกระดาษปีละ 5 ล้าน ผมการันตีโรงงานไว้เลย แต่ประมูลทีไรผมถูกกว่าญี่ปุ่นทุกทีทั้งที่เป็นกระดาษจากอเมริกาตรงจากโรงงานเลย

ผู้จัดการ- ทำไมถึงถูกกว่า?

ดิลก- ผมว่าจริงๆ แล้วของญี่ปุ่นนี่ถ้ารัฐบาลเขาไม่ช่วยไม่มีถูกหรอก

ผู้จัดการ- โอเอ็มอาร์ที่ขายเครื่องหนึ่งราคาเท่าไหร่

ดิลก- ผมขายประมาณเครื่องละ 3 ล้านเศษ ตัวหนึ่งนี่มันทำงานได้เยอะแยะ ตอนนี้ทางรามคำแหงก็จะเอาอีกตัวเพราะมีตัวเดียวถ้าเป็นอะไรไปตายเลย

ผู้จัดการ- งานที่ออกมาจากโอเอ็มอาร์ เอาไว้ใช้กับเครื่องคอมพิวเตอร์ยี่ห้อไหนก็ได้?

ดิลก- ครับ ส่งไปไอบีเอ็มก็ได้ ส่งไปยูนิแวคก็ได้

ผู้จัดการ- ในขณะที่ซีดีซีประเทศไทยพยายามหาทางออกอย่างที่คุณว่า แล้วบริษัทแม่เขายังจะพอใจดีอยู่หรือ ในเมื่อกิจกรรมที่เป็นของซีดีซีจริงๆ ไม่ค่อยมี

ดิลก- ผมเรียนตรงๆ นะครับ คือซีดีซีเอง เขาไม่ได้มีความหวังอะไรมากมายกับแอเรียนี้ ด้วยเหตุผลที่ว่า ซีดีซีออกเครื่องมานี่อย่างเครื่องมินิเรียกว่าเกือบเลิกแล้วนะครับ ซีดีซีขาดทุนมากกับมินิคอมพิวเตอร์ ไซเบอร์ 18 ที่ออกมาแล้วสู้คนอื่นไม่ได้ด้วย ซีดีซีจะไปเก่งเครื่องใหญ่ทีนี้เขาก็ไม่ได้มีความหวังอะไรมากมายทางนี้ เขาก็เลยออกมาใหม่อันหนึ่ง ซึ่งผมกำลังจะเริ่มมาร์เก็ต อันแรกก็คือพวกบิสสิเนสโปรดักท์ ประกอบด้วยแมคเนติกซัปพลายต่างๆ พวกเทปพวกดิสค์พวกดิสเก็ตจากโรงงานซีดีซีหมดอันนี้ เรากำลังทำอยู่ แต่ก็ไม่ค่อยดีนัก ก็พอไปได้เท่านั้น อย่างสหยูเนียนผมก็ขายให้เขาเป็นล็อตใหญ่ๆ เลยสำหรับดิสเก็ตหรือขายให้ค้าสากลซีเมนต์ คือตอนนี้ผมพยายามเดินตามไอบีเอ็ม พีซี เสร็จแล้วก็ยังมีอีกตัวคือไมโครคอมพิวเตอร์ ซึ่งไม่มีใครมีซีดีซีมีอยู่เจ้าเดียวในโลกนี้ เราเรียกว่า “ไมโครเพลโต” เคยได้ยินไหมเพลโต อ้า.. ตัวนี้ซีดีซีหมดเงินไปเกือบพันล้านเหรียญใช้เวลา 10 กว่าปี แต่มันจะอยู่ในเพลโตตัวใหญ่ คือมันจะใส่ทุกวิชาที่เรียนทั้งหมดนี่ลงไปในเครื่องซีดีซีเมนเฟรมตัวใหญ่เลย แล้วต่อเทอร์มินัลมาเรียน ผมจะเรียนยกตัวอย่าง สมมุติตอนนี้เราจะเทรนนักบินขึ้นมาสักคนหนึ่งให้ขับเครื่อง 747 ค่าใช้จ่ายนี่สูงมาก ตกชั่วโมงละหมื่นเหรียญ แล้วนักบินนี่กว่าจะผ่านได้ไลเซนส์ออกมานี่ต้องกี่สิบชั่วโมง เขาก็ทำไฟร์ทซีมูเลเตอร์ขึ้นมา ให้นั่งขับอยู่ในไฟร์ท ซีมูเลเตอร์รีดิวซ์ลงมาเหลือประมาณชั่วโมงละพันเหรียญ เข้าไฟรท์ซีมูเลเตอร์ให้แจ๋วขึ้น เครื่องไม่ต้องมาก เพราะนั่งอยู่ในไฟร์ทนี่เมื่อขึ้นเครื่อง ซีดีซี ออกมาเหมือนกันจากหมื่นเหลือพัน จนเหลือชั่วโมงละสิบเหรียญ เล่นกับจอ จอภาพฟีเจอร์อันนี้คนอื่นไม่มีเขาเรียกทัชสกรีน มันจะขึ้นเป็นหน้าปัทม์ คุณกดปุ่มนี้เครื่องยนต์ทำงาน ถ้ากดปุ่มผิดฟังก์ชันไม่ทำงาน มันไม่สตาร์ท จะขึ้นไปกดปุ่มบนไฟร์ทซีมูเลเตอร์มาเล่นกับเครื่องนี้ก่อน ผมเองยังกดไม่ถูก ต้องนักบินต้องศึกษามาหรืออย่างหมดนี่ไม่ต้องเรียนเลย เด็กอนุบาลนี่เอาจออันนี้ไปตั้ง เป็นรูปเรือรูปอะไร ให้เด็กจิ้มอ้าวอันนั้นหกล้มอันนี้หกคะเมน ต่อไปการเรียนการสอน...

ผู้จัดการ- แต่ยังต้องฮุก (HOOK) เข้ากับเมนเฟรม

ดิลก- ครับฮุกกับเมนเฟรม มันก็ขาดทุนไม่มีใครสั่ง เมนเฟรมผมนี่ถูกๆ ก็ราคาล้านกว่าเหรียญ แล้วไอเพลโตคือซอฟต์แวร์อีก 2 ล้านเหรียญ มันขายได้ 3-4 แห่งในโลก แคนาดาเอาไปใช้ แอฟริกา ออสเตรเลีย ประเทศรวย ๆ ทั้งนั้นที่ซื้อไปใช้กัน ก็ขายไม่ได้ทางซีดีซีก็พยายามริดิวซ์เวลานี้ที่ผมกำลังจะต้องมาร์เก็ตก็คือ “ไมโครเพลโต” เวลานี้ไม่ต้องฮุกกับเมนเฟรมาสแตนอโลนเลย ต่อกับดิสเก็ต เอสจีวี สั่งไปแล้ว 3 ตัวเครื่องเข้ามาแล้ว ใช้สอนอย่างเดียว ทุกสาขาเลยครับ แต่ของเอสจีวีจะใช้สอนเฉพาะคอมพิวเตอร์

ผู้จัดการ- อย่างถ้าผมจะนำมาสอนเรื่องการพิมพ์ ผมก็ต้องทำพวกซอฟต์แวร์ขึ้นมาเองก่อนหรือเปล่า?

ดิลก- มิได้ครับ คือสิ่งหนึ่งที่เป็นตัวของซีดีซีไม่เหมือนกับคนอื่นอันแรก มันมีแพ็กเกจให้หมดนะครับ แต่ราคาแพงจับใจเลย อย่างพวกสถาปัตยกรรมปี 1 ถึงปีสุดท้ายนี่สั่งแพ็กเกจมาเรียนได้เลย เวลานี้มันสอนได้ตั้งแต่เด็กอนุบาลจนถึงพีเอชดีเฉพาะพวกเคมีนี่เพอร์เฟคเลย คือต่อไปคนสอนนี่ค่าตัวจะต้องแพงขึ้นๆ ไอ้นี่มันมารีดิวซ์อันนี้ ค่าเรียนของเด็กจะถูกลง เขายกตัวอย่างอย่างนี้ครับ ในชั้นเรียนหนึ่งๆ ผู้บรรยายที่ไปยืนพูดนั่นน่ะให้ความรู้แบบถัวเฉลี่ย คงเก่งนี่เข้าใจไปแล้ว คนที่ต่ำไปนั่งงงเป็นไก่ตาแตกยังเก็บไม่ได้ แต่ถ้าคุณเรียนกับจอมันมีให้เป็นชั่วโมง ถือดิสเก็ตไปแผ่นเดียว โหลดเข้าเครื่องปัง เรียนกับจอเรียนปั๊บเดี๋ยวเทสต์ออกมาแล้ว ถ้าไม่ผ่านคืนนี้มาเรียนใหม่ คนเก่งมันเรียนทีเดียว เก่งน้อยหน่อยเรียน 2 ที อีกคนอาจเรียนถึง 5 ทีเพื่อจะผ่านคอร์สนี้ให้ได้ แบบนี้มันไม่ถ่วงคนอื่น แต่ถ้าคนมายืนสอนจะสอนได้อย่างไรหลายที

ผู้จัดการ- ในอเมริกาเริ่มมีใช้แพร่หลายแล้วหรือยัง?

ดิลก- มีครับ ระดับประถมก็มีแล้ว ถ้าดูข่าวดาวเทียมจะเห็นเลยที่ศูนย์ฮิวสตันเขาเอาเด็กมาฝึกเป็นมนุษยอวกาศแล้วเด็กพวกนี้เล่นอยู่จอภาพ ถ้าภาพโคลสเข้าไปจะเห็นว่าเป็นไมโครเพลโตทั้งนั้นเลย ทั้งตับซีดีซีทั้งนั้น

ผู้จัดการ- พูดได้ไหมว่าซีดีซีคือผู้นำทางด้านนี้

ดิลก- ผมพูดได้เต็มปากเลยครับ แล้วมันไม่ใช่แค่นั้น สมมุติเราต้องการสั่งแพ็กเกจเข้ามา แต่มันแพง แล้วบ้านเรานี่มันมีเอกลักษณ์ประจำบ้านอยู่ คือผู้สอนมักจะเป็นตัวของตัวเอง อย่างบัญชีฐานนี่ฐานเดียวกันแต่รายละเอียดแล้วตัวใครตัวมัน อย่างพวกทรัสต์แต่ละแห่งระบบงานนี่ไม่ได้เหมือนกันเลย อยู่ที่ว่าท่านผู้ใหญ่ท่านจะเอาอย่างไร สิ่งที่ไมโครเพลโตให้ได้คนอื่นให้ไม่ได้ก็คือ การเจนเนอเรท คอร์สแวร์ นะครับ อย่างสมมุติผมจะสอนคอมพิวเตอร์ผมมีเท็กซ์ทั้งหมดเลยจากไหนๆ มา ผมเขียนตำราแจ๋วเลย ผมก็ต้องสอนตามตำราผม ทีนี้ทำอย่างไรผมถึงจะเอาตำราของผมเข้าไปเป็นคอร์สในเครื่องไมโครผมได้ เวลาสั่งเครื่องไมโครเวลานี้ตามบริษัทจะมีออเธอร์สเตชั่น เขาจะมีให้เสร็จ เราเขียนเป็นสคริปต์ขึ้นมา เริ่มต้นอย่างไร บทที่เท่าไหร่ มีเทสต์อย่างไง เป็นสคริปต์แบบสคริปต์หนังเลยแล้วคีย์เข้าไป จะวาดรูปทำอะไรก็ว่าไป สมมุติจะวาดรูปนี้ เราเอานิ้วจุดตรงนี้จุดตรงนี้แล้วบอกให้มันเคิฟกี่องศามันก็จะปรืดขึ้นมา ถ้าไม่พอก็แก้ใหม่ เขียนอยู่บนจอนั่นแหละ เอานิ้ว จะเขียนเส้นตรงก็เอานิ้วจิ้มตรงนี้ ตรงนี้บอกให้ขีดเส้นตรงมันจะเขียนออกมาเลยนะครับ เพราะการเรียนนี่ต้องมีรูปภาพประกอบทีนี้ผู้สอนก็สามารถเจนเนอเรท คอร์สแวร์ได้ตามความประสงค์ของตนแล้ว ไม่มีใครก๊อบปี้ได้ อันนี้ดิสเก็ต 8 นิ้ว ปกติเขาขายกันแผ่นละร้อยกว่าบาท สองร้อยบาทก็ถือว่าแพงหูฉี่แล้ว ของผมแผ่นละพันกว่าดิสเก็ตเปล่าๆ นะ แต่ดิสเก็ตนี้อย่าเลย เครื่องไหนๆ ก็อ่านไม่ได้ ก๊อบปี้ก็ไม่ได้ด้วย ผมส่งคนไปเรียนพยายามจะก๊อบปี้มา ปรากฏว่าไม่มีอะไรเลย มันมีอะไรป้องกันอยู่ไม่รู้ ไอ้ดิสเก็ตนี่มันแบลงค์ดิสเก็ตนี่แหละครับ แต่มีอะไรป้องกันไว้ก็ ไม่รู้

ผู้จัดการ- เพราะฉะนั้นไมโครเพลโตนี่ก็จะต้องรอการพัฒนาทางตลาดสักพันหนึ่งก่อน

ดิลก- ถูกต้องครับ คือตอนนี้เรายังมีปัญหาภาษาอังกฤษที่ขึ้นที่จอ เราต้องการพัฒนาโปรแกรมภาษาไทยขึ้นมาจะได้ง่ายขึ้น สะดวกขึ้น ผมคิดว่าต้องตอนต้นปีนั่นแหละผมจะบุกให้แรงหน่อย รอให้ออกภาษาไทยเสียก่อน

ผู้จัดการ- คิดว่าไมโครเพลโตจะต้องใช้เวลาสักกี่ปีที่จะทำให้ตลาดขยายตัวถึงระดับที่คนขายมีกำไรน่าพอใจ?

ดิลก- ผมคิดว่าปีหน้านี้ไปอีก 3 ปี

ผู้จัดการ- ตัวหนึ่งราคาเท่าไหร่?

ดิลก- ตอนนี้มันมีอยู่ 2 ชนิดนะครับ ตัวหนึ่งเราเรียกว่าออเธอร์สเตชั่น (AUTHOR STATION) อีกตัวจะเป็นสติวเดนท์สเตชั่น (STUDENT STATION) ตัวออเธอร์สเตชั่นจะมีดิสเก็ต 2 ไดรฟ์ แล้วก็ดิสก์ที่จะเจนเนอเรทคอร์สแวร์อีก 50 แผ่น อันนี้ราคาเกือบ 8 แสนบาท รวมภาษีเรียบร้อย แล้วก็ตัวสติวเดนท์สเตชั่นอีกราว 2 แสนเศษ อันนี้มีจอๆ เดียวแล้วก็ดิสเก็ตไดรฟ์เดียว ผมคิดว่าตั้งแต่ปีหน้านี่ผมคงจับตลาดได้เยอะ


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.