|
ปูมหลังธนาคารสมองกล
นิตยสารผู้จัดการ( พฤศจิกายน 2526)
กลับสู่หน้าหลัก
หลายปีก่อนถ้าใครพูดว่าแบงก์พาณิชย์ไทยจะพัฒนาตัวเองเป็นแบงก์สมองกล คนที่พูดต้องไม่แคล้วถูกหัวเราะ คิก..คิก...ใส่หน้า หาว่าเป็นพวกสติเฟื่องไปโน่น
แต่วันนี้คนที่พูดอย่างนั้นจะได้รับการยกย่องว่าเป็นคนทันสมัยทุกกระเบียดนิ้ว
ถ้าจะถามว่า อะไรทำให้ความเชื่อดังกล่าวนี้เปลี่ยนไป คำตอบก็เห็นจะอยู่ตรงที่การพัฒนาการใช้คอมพิวเตอร์ของแบงก์กรุงเทพกับแบงก์ไทยพาณิชย์ซึ่งทำระบบออนไลน์ (ONLINE) สำเร็จ ลูกค้าของแบงก์สามารถใช้บริการฝาก-ถอนต่างสาขาได้เกือบทุกประเภทบัญชี และการนำเครื่องเอทีเอ็ม (AUTOMATIC TELLER MACHINE) เข้ามาติดตั้งให้บริการฝาก-ถอนอัตโนมัติ วันเสาร์-อาทิตย์ไม่หยุดของแบงก์ไทยพาณิชย์เมื่อไม่นานมานี้นั่นเอง
จากจุดที่ทั้ง 2 แบงก์ สามารถทำออนไลน์ได้ทั่วทุกสาขาในเขตกรุงเทพฯ การขยายขอบข่ายออกไป เป็นการทำออนไลน์ทั่วประเทศ ไม่ใช่เรื่องเพ้อฝันอีกต่อไป และถ้าบางแบงก์จะพูดถึง “โฮมแบงกิ้ง” ซึ่งหมายถึงการให้บริการถึงบ้านของแต่ละแบงก์ อยากจะฝาก-ถอนหรือโอนเงินหรือชำระบิลค่าน้ำค่าไฟ ค่าชอปปิ้งในซูเปอร์มาร์เก็ต ก็เพียงเดินไปที่หน้าจอเทอร์มินัลประจำบ้านแล้วคีย์ข้อมูลเข้าไป ระบบออนไลน์ของแบงก์ก็จะทำการตัดบัญชีหรือโอนบัญชีให้เสร็จสรรพเรียบร้อย โดยที่ลูกค้าไม่ต้องถ่อร่างออกนอกบ้าน ก็มิใช่เรื่องเพ้อฝันเช่นกัน
คงไม่ผิดนักถ้าจะบอกว่า เวลานี้เมื่อต้องพูดถึง “แบงก์สมองกล” สายตาทุกคู่ก็มักจะจับภาพไปที่ 4 แบงก์พาณิชย์ระดับหัวแถวของไทย อันได้แก่แบงก์กรุงเทพ, แบงก์ไทยพาณิชย์, แบงก์กรุงไทย และสุดท้ายก็ที่แบงก์กสิกรไทย คำอธิบายง่ายๆ ก็คือ ทั้ง 4 แบงก์เป็นกลุ่มผู้บุกเบิกการมีการใช้คอมพิวเตอร์ในรูปลักษณ์ต่างๆ กันบ้างเหมือนกันบ้างในช่วงระยะเวลา 10-15 ปีที่ผ่านมา จนเชื่อกันว่าถ้าจะมี “แบงก์สมองกล” เกิดขึ้นมาในช่วงระยะเวลาข้างหน้านี้แล้ว กลุ่ม 4 แบงก์ดังกล่าวจะเป็นผู้ไปถึงก่อนแบงก์อื่นๆ ในจำนวนทั้งหมด 16 แบงก์ของไทย
ส่วนว่าใครภายใน 4 แบงก์นี้จะไปถึงได้ก่อนกันนั้น เป็นอีกเรื่องหนึ่ง
ถ้าจะจัดอันดับกันตอนนี้ แบงก์กรุงเทพคงถูกวางในอันดับเต็งหนึ่ง โดยมีอายุการใช้คอมพิวเตอร์นานที่สุดถึง 15 ปี เป็นข้อมูลสนับสนุนเบื้องต้น “ผมว่าเขาต้องไปก่อนแน่ เขาวางรากฐานมานานนับสิบปี พัฒนาโปรแกรมไปได้มากมายแล้ว และที่สำคัญทุนเขาหนา” ดร. ปัญญา เปรมปรีด์ มันสมองด้านคอมพิวเตอร์ของกสิกรไทยก็ยังแสดงความเห็นยอมรับ เมื่อ “ผู้จัดการ” เรียนถามว่า แบงก์ไหนจะขยายระบบออนไลน์ออกไปต่างจังหวัดได้ครบก่อนกัน ซึ่งการขยายขอบข่ายระบบออนไลน์ได้ทั่วประเทศหรือไม่นี้ ถือเป็นปัจจัยตัวหนึ่งที่จะบ่งชี้ว่าแบงก์นั้นควรนับเป็น “แบงก์สมองกล” ได้แล้วหรือยัง
“อีกอย่างเขาเล่ากันว่า เรื่องเอาคอมพิวเตอร์มาให้บริการลูกค้านี่นายห้างชิน (โสภณพนิช) ท่านสนับสนุนมาตั้งแต่ต้น คือท่านมีเพื่อนแบงเกอร์ที่ฮ่องกงมาก พวกเพื่อนๆ นี่แหละที่ใส่ความคิดว่างานแบงก์นี่ต้องเล่นกับคอมพิวเตอร์ ต้องพัฒนาการให้บริการโดยเอาคอมพิวเตอร์มาช่วย ท่านฟังแล้วก็เห็นดีเห็นงามก็เลยสั่งให้บุกใหญ่ ถ้าเทคโนโลยีเมื่อ 15 ปีมันทำออนไลน์ได้ผล ผมว่าแบงก์กรุงเทพเอาตั้งแต่ตอนนั้นแล้ว เขาว่าตอนนั้นต้นทุนมันสูงมากแล้วก็เครื่องไม้เครื่องมือก็ด้อยประสิทธิภาพ แบงก์กรุงเทพจึงเพิ่งเริ่มต้นทำออนไลน์จริงๆ เมื่อเกือบ 10 ปีมานี้เอง” แหล่งข่าวระดับสูงคนหนึ่งแสดงความเห็น เป็นการเสริมข้อมูลว่าแบงก์กรุงเทพต้องทำสำเร็จก่อนแน่ ทั้งนี้เพราะบุคคลระดับยอดสุดสนับสนุนอยู่เต็มตัว ซึ่งก็นับเป็นเหตุผลที่ฟังขึ้นอย่างมาก
อย่างไรก็ตาม ถึงแบงก์กรุงเทพจะมีความต้องการขยายขอบข่ายออกไปทั่วประเทศ แต่ถ้าบริการด้านการสื่อสารของรัฐยังไม่พัฒนาออกไปให้สอดคล้องในทางปฏิบัติก็ย่อมยังเป็นไปไม่ได้อยู่นั่นเอง
เมื่อประมาณ 2 ปีมาแล้ว มีเรื่องที่วงการคอมพิวเตอร์วิจารณ์อันเอิกเกริก นั่นก็คือจู่ๆ แบงก์กรุงเทพก็ใจดีซื้อเครื่องส่งความถี่วิทยุราคา 6 ล้านบาท ให้กรมไปรษณีย์โทรเลข โดยเครื่องส่งนั้นมี 8 ช่องความถี่ แบงก์กรุงเทพผู้ลงทุนขอเช่าทันที 4 ช่องความถี่ ส่วนที่เหลือทางราชการจะเอาไปใช้ทำอะไรก็ทำไป เรื่องนี้ ดร. ศรีศักดิ์ จามรมาน จอมยุทธด้านคอมพิวเตอร์ของแบงก์กรุงเทพ ซึ่งรับผิดชอบโครงการนี้อยู่ ชี้แจงว่า เครื่องส่งความถี่วิทยุดังกล่าว แบงก์กรุงเทพจะนำมาใช้กับระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ซึ่งจะมีติดรถผู้บริหารทุกคัน เผื่อมีงานเร่งด่วนจะได้ติดต่อกันทันที อย่างไรก็ตาม ดร. ศรีศักดิ์ยอมรับว่าแบงก์กรุงเทพจะลงทุนโครงการนี้อีก โดยจะตั้งจานรับคลื่นบนเขาเขียวจังหวัดชลบุรีและจังหวัดสระบุรี เพื่อเพิ่มรัศมีทำการของคลื่นวิทยุ
กรณีดังกล่าว หลายคนวิจารณ์ว่าจะเป็นไปได้ไหมที่เครื่องมือดังกล่าว แบงก์กรุงเทพจัดซื้อมาเพื่อทำออนไลน์ไปยังสาขาต่างๆ ในภาคตะวันออกและภาคกลาง ซึ่งตามแผนแบงก์จะต้องดำเนินการให้เสร็จสิ้นในปี 2526 นี้ 36 สาขารอบกรุงเทพฯ
“ผมว่าแบงก์กรุงเทพเขาขี้เกียจรอ เมื่อรัฐไม่ลงทุนเขาก็ลงทุนของเขาเอง เพียงแต่กฎหมายไม่เปิดให้เขาทำได้ ก็ต้องพลิกแพลงเอา...” แหล่งข่าวในวงการคอมพิวเตอร์ตั้งข้อสังเกต
ต่อมาแบงก์ที่เต็งอันดับ 2 ยังคู่คี่ก้ำกึ่งระหว่างไทยพาณิชย์กับกรุงไทย ทางไทยพาณิชย์นั้นดูไปแล้วบูมสุดขีดในทางเปิด เพราะการลงทุนทำออนไลน์ สามารถฝาก-ถอนได้ทุกสาขาในเขตกรุงเทพฯ และการนำเครื่องบริการเงินด่วนหรือเอทีเอ็มเข้ามาติดตั้งให้บริการแก่ลูกค้านั้น ว่ากันว่า นอกจากจะเป็นการตัดสินใจว่าจะทำให้แบงก์ได้ผลตอบแทนคุ้มแล้ว ผลทางการประชาสัมพันธ์เพื่อให้หลุดพ้นจากฉายา “แบงก์ยายแก่” ก็เป็นผลพลอยได้อีกอย่างหนึ่งซึ่งไทยพาณิชย์ไม่มองข้ามในระยะใกล้ๆ นี้ชื่อเสียงการเป็น”แบงก์สมองกล” จึงผนวกไทยพาณิชย์เข้าไว้ในอันดับหัวแถว
และก็เช่นเดียวกับแบงก์กรุงเทพ ไทยพาณิชย์ ไม่มีปัญหาเรื่องความคิดของผู้บริหารที่จะขยายการให้บริการโดยระบบสมองกล “ที่จริงแบงก์นี้เขาใช้คอมพิวเตอร์มานานเกือบ 10 ปีแล้ว เครื่องรุ่นแรกเป็นเครื่องซิงเกอร์ซิสเต็ม 10 แต่ทำพวกอินเทอร์นอล อินฟอร์เมชั่น ไม่ได้มุ่งไปที่การให้บริการลูกค้าเขาก็เลยเงียบมา 5ปี จนคุณธารินทร์ นิมมานเหมินท์เข้าไป...”
อดีตนักเรียนเก่าเอ็มบีเอจากฮาร์วาร์ด และอดีตเจ้าหน้าที่ระดับสูงของซิตี้คอร์ปอย่างธารินทร์ นิมมานเหมินท์ เรื่อง “แบงก์สมองกล” เป็นความเชื่อที่ลงรากมั่นคงแน่นหนา ดังนั้นเมื่อเขาก้าวเข้ามาในไทยพาณิชย์การพัฒนาระบบออนไลน์ก็เกิดขึ้นทันที และหลังจากนั้นอีก 5 ปี ไทยพาณิชย์ก็สามารถประกาศว่า ในทุกสาขาของกรุงเทพฯ ลูกค้าสามารถฝากถอนได้ทุกประเภทบัญชี แม้แต่บัญชีกระแสรายวันซึ่งผู้บุกเบิกระบบออนไลน์อย่างแบงก์กรุงเทพก็ยังไม่ทำ
ต่อมาเมื่อระบบบริการเงินด่วนโดยเครื่องเอทีเอ็มได้รับการติดตั้ง ชื่อเสียงของไทยพาณิชย์ก็ทำท่าจะฉุดไม่อยู่ แต่กระนั้นก็ยังมีผู้วิจารณ์ว่า “ผมว่าไทยพาณิชย์เขาคงต้องใช้เวลาปูฐานในเมืองของเขาให้แน่นเสียก่อน แล้วจึงกระโดดออกไปฮุกกับต่างจังหวัด เพราะที่ผ่านมาเขาเร่งเต็มสตรีมอย่างมาก ภายใน 5 ปี ดูมันขึ้นมาตูมๆ เร็วไป อย่าลืมว่าแบงก์กรุงเทพเขาต้องใช้เวลาถึง 15 ปีนะ...” อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวคนหนึ่งแย้งว่า “มันขึ้นอยู่กับพัฒนาการด้านเทคโนโลยีด้วย ไทยพาณิชย์ไม่ใช่เร่งเร็วเกินไป แต่เขาเกิดขึ้นมาในช่วงที่เทคโนโลยีด้านคอมพิวเตอร์มันเป็นใจ ต่างจากแบงก์กรุงเทพซึ่งเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้วเทคโนโลยีมันยังไม่พัฒนามาก”
สำหรับแบงก์กรุงไทย ถ้าจะพูดว่าที่นี่ใช้คอมพิวเตอร์และพัฒนากันแบบซุ่มเงียบก็คงไม่ผิดนัก กรุงไทยเริ่มต้นเมื่อประมาณ 10 ปีที่ผ่านมา ในระยะ 8 ปีแรกคอมพิวเตอร์ที่นำมาติดตั้งมุ่งไปที่การให้บริการแบบอินเทอร์นอล อินฟอร์เมชั่นเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะในส่วนงานด้านต่างประเทศซึ่งกรุงไทยมีกิจกรรมในฐานะธนาคารพาณิชย์ของรัฐมากมายอยู่แล้ว ใน 2 ปีที่ผ่านมานี้เอง ที่กลยุทธ์เริ่มจะเปลี่ยนไป และเมื่อเร็วๆ นี้เมื่อกรุงไทยประกาศซื้อเครื่องไมโครคอมพิวเตอร์ทีเดียว 200 กว่าเครื่อง ก็ทำให้เห็นได้ชัดเจนว่ากรุงไทยกำลังจะกลายเป็นแบงก์สมองกลอีกรายในไม่ช้า
แหล่งข่าวในกรุงไทยคนหนึ่งกล่าวว่า “เครื่องไมโครที่ซื้อมาจะนำไปติดตั้งตามสาขาทั่วประเทศ” และเขายอมรับว่า เมื่อทุกสาขาพัฒนาการใช้คอมพิวเตอร์จนถึงจุดจุดหนึ่งแล้ว เป็นไปได้ที่ทุกเครื่องจะฮุก (HOOK) ต่อกันเป็นเน็ตเวิร์คซึ่งก็จะทำงานไม่ต่างไปจากระบบออนไลน์ สามารถให้บริการฝากถอนต่างสาขาได้เช่นกัน”ก็ยังไม่แน่ว่าจะเอาไมโครคอมพิวเตอร์ที่ซื้อมาฮุกเข้าด้วยกัน หรือจะเปลี่ยนเป็นเครื่องที่ใหญ่ขึ้นก่อน แต่ยืนยันได้อย่างว่าไมโครที่ซื้อมานั้นเป็นบันไดก้าวแรกที่จะต้องพัฒนาไปได้อีกไกล...” แหล่งข่าวคนเดิมเน้น
การเปิดตัวอย่างอึกทึกครึกโครมของไทยพาณิชย์และการไปอย่างเงียบๆ แบบกรุงไทย ยังไม่อาจชี้ชัดในขณะนี้ว่า ใครจะเป็นแบงก์สมองกลก่อนกัน จึงวางในอันดับเต็ง 2 ด้วยกันไว้ก่อน
และก็มาถึงแบงก์สุดท้ายคือกสิกรไทย
ว่าไปแล้วกสิกรไทยเป็นแบงก์ที่ 2 รองจากแบงก์กรุงเทพที่นำคอมพิวเตอร์เข้ามาใช้ โดยห่างกันเพียง 5 ปี แต่กสิกรไทยค่อนข้างจะมีท่วงทำนองที่เยือกเย็นผิดปกติ
ดร. ปัญญา เปรมปรีดิ์ ผู้รับผิดชอบงานด้านคอมพิวเตอร์ในปัจจุบันกล่าวว่า “ที่นี่มีแนวในการใช้คอมพิวเตอร์โดยเน้นไปที่อินเทอร์นอลอินฟอร์เมชั่นก่อน ต่างจากแบงก์กรุงเทพที่เขาเริ่มโดยวางแนวว่าเขาจะต้องนำไปให้บริการกับลูกค้าเป็นอันดับแรก กสิกรไทยมีความต้องการพัฒนาโปรแกรมของเราขึ้นมาเอง สร้างคนของเราขึ้นมาเอง เราจึงไปอย่างเงียบๆ”
จากการเปิดเผยของ ดร. ปัญญา อัตราเร่งเพิ่งจะถีบตัวขึ้นเมื่อ 4 กว่าปีนี่เอง และก็คงจะเร่งได้ไม่รวดเร็วอย่างไทยพาณิชย์เด็ดขาด แต่เมื่อถึงจุดหนึ่งในอนาคตก็ยังไม่แน่นักว่า กสิกรไทยจะเป็นรองแบงก์อื่น ทั้งนี้ก็เพราะกสิกรไทยเชื่อมั่นในระบบแบบที่เรียกว่า “ดิสติบิวเต็ด” กล่าวคือแทนที่จะมีเครื่องเมนเฟรมตั้งไว้ที่สำนักงานใหญ่แล้วต่อเทอร์มินัลไปตามสาขาให้ทำออนไลน์อย่างไทยพาณิชย์หรือแบงก์กรุงเทพ กสิกรไทยกลับติดตั้งเครื่องมินิคอมพิวเตอร์ไว้ที่ทุกสาขาและเมื่อติดตั้งได้ครบทุกสาขาในเขตกรุงเทพฯ แล้วก็จะฮุก (HOOK) เข้าด้วยกันเป็นเน็ตเวิร์คซึ่งให้บริการได้เหมือนระบบออนไลน์เช่นกัน “ทำแบบเรา มันช้าแต่เราเชื่อว่ามันจะดีกว่าระบบเซ็นทรัลไลซ์ของแบงก์อื่น” ดร. ปัญญากล่าว
กสิกรไทยเชื่อว่า เมื่อปริมาณงานของแต่ละสาขาเพิ่มขึ้น ความต้องการที่แต่ละสาขาจะมีเครื่องคอมพิวเตอร์ไว้ใช้เอง ย่อมมีมากกว่าการมีเพียงเทอร์มินัลเฉยๆ และเมื่อนั้นแหละที่กสิกรไทยซึ่งได้ลงมือทำก่อนจะเริ่มกลับมาเป็นผู้นำบ้าง
แต่เรื่องของเทคโนโลยีก็มักจะเป็นเรื่องที่คาดเดายาก การสรุปอะไรที่แน่นอนเป็นเรื่องไม่น่าทำอย่างยิ่ง เพราะผลมันก็อาจจะเป็นเหมือนตอนต้นของเรื่องนี้
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|