|
สหธนกิจ: ภาพลวงตาของธนาคารชาติ
นิตยสารผู้จัดการ( พฤศจิกายน 2526)
กลับสู่หน้าหลัก
การตัดสินใจของธนาคารชาติในระยะ 2 อาทิตย์ที่เริ่มเกิดเรื่องกับพัฒนาเงินทุนนั้น ถึงแม้ว่าจะมีคนตำหนิอยู่บ้างว่า เข้าไปช่วยคนผิด แต่เราคิดว่าธนาคารชาติทำได้ดีที่สุดแล้ว ในภาวการณ์ที่มีเงื่อนไขของความตื่นตระหนกผูกไว้อยู่
ปัญหาที่ทุกคนกำลังถามและธนาคารชาติเองก็คงจะกระอักกระอ่วนใจที่จะตอบคำถามที่ว่า “ทำไมถึงปล่อยให้เกิดมาเช่นนี้?”
“เราเป็นเหมือนตำรวจ ในสังคมการเงินมีสุภาพบุรุษและมีโจร มีคนถามว่าทำไมเราไม่จับโจร? เราจับไม่ได้เพราะโจรเล่นจับประชาชนมาเรียกค่าไถ่” เจ้าหน้าที่ระดับสูงของธนาคารชาติคนหนึ่งระบายให้ฟัง
แต่บางทีธนาคารชาติเองควรจะทบทวนบทบาทของตัวเองในอดีตบ้างเพื่อหาข้อบกพร่อง ซึ่งเราคิดว่าข้อบกพร่องของธนาคารชาติในอดีตก็มีอยู่หลายประการด้วยกัน
1. การประชาสัมพันธ์
ธนาคารชาติชอบทำตัวเหมือนคนลึกลับอยู่เสมอ ในเรื่องข่าวคราวทางการเงินการทอง ในขณะที่กฎหมายให้อำนาจสถาบันการเงินระดมเงินฝากจากประชาชนได้ แล้วทำไมประชาชนไม่มีสิทธิ์จะรับรู้ความเป็นไปของสถาบันการเงินพวกนี้ได้บ้างเล่า อย่างน้อยฐานะทางการเงินของพวกนี้ควรจะต้องตัดใส่กรอบปะไว้หน้าบริษัทให้สาธารณชนได้ดูกันอย่างจะแจ้ง และฐานะทางการเงินนั้นก็ต้องรับรองโดยธนาคารชาติด้วย
สังคมไทยเป็นสังคมของข่าวลือ ยิ่งพยายามปิดข่าวและกระอ้อมกระแอ้มพูดไม่เต็มปาก ยิ่งทำให้ประชาชนคิดว่าธนาคารชาติกำลังปกปิดปัญหาซึ่งมันใหญ่มหาศาลเหลือเกิน
ถ้าสถาบันการเงินรู้ว่าเมื่อตัวเองทำผิดจะมีแต่ธนาคารชาติรู้เรื่องคนเดียว ก็จะยิ่งทำให้ผู้บริหารเหล่านี้เหิมเกริม “ปรับได้ปรับไปซิ” แต่ถ้าสถาบันการเงินรู้ว่าประชาชนก็มีสิทธิ์รู้ด้วยกลับจะทำให้พวกนี้ต้องระมัดระวังตัว และก็จะทำให้ประชาชนแยกสถาบันการเงินที่เลวออกจากที่ดีได้
ถ้าธนาคารชาติคิดว่าการปิดข่าวไว้เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการตื่นตระหนกนั้นเป็นความคิดที่ไม่ถูกต้อง เพราะเมื่อสถาบันหนึ่งในที่สุดก็ล้มลงกลับจะทำให้ทุกคนตื่นตระหนกมากขึ้นเพราะจู่ๆ อย่างไม่มีปี่มีขลุ่ยก็ล้มลงมา แน่นอนที่สุดประชาชนก็มีสิทธิ์สงสัยทันทีว่า “คงมีอีกเยอะที่เป็นเช่นนี้แต่เขาคงปิดข่าวไว้” แทนที่จะออกมาในรูปที่ว่า “บริษัทนี้ควรล้มนานแล้วเพราะมีข่าวว่าทำไม่ดีมาตลอด”
ข้อนี้เป็นข้อที่เรามีความเชื่อมั่นอย่างสูงว่า ถ้าประชาชนได้รับทราบข่าวสารข้อมูลจริงๆ ตลอดมาแล้ว ผลกระทบก็จะไม่รุนแรงเช่นนี้
2. ธนาคารชาติควรตัดสินใจอย่างอิสระ
ต้องยอมรับกันว่าใน 10 ปีที่ผ่านมานี้ธนาคารชาติกลัวการเมืองมากเกินไป อำนาจตามมาตรา 57 ของธนาคารชาติมีมากอยู่แล้วที่จะจัดการกับปัญหาต่างๆ อย่างเด็ดขาด แต่ที่ธนาคารชาติไม่ทำลงไปเพราะกลัวผู้มีอำนาจวาสนาทางการเมือง
เจ้าหน้าที่ธนาคารชาติมักจะพูดเสมอว่า “นักการเมืองเป็นคนให้ใบอนุญาตบริษัทเงินทุนมากไป” ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ว่าให้มากหรือให้น้อย ปัญหาอยู่ที่ว่าพวกนี้ธนาคารชาติสามารถจะควบคุมให้อยู่ในกรอบที่ธนาคารชาติต้องการหรือไม่ เพราะธนาคารชาติสามารถจะเปลี่ยนตัวผู้บริหารเข้าควบคุมกิจการหรือยกเลิกใบอนุญาตได้ ถ้าใครไม่เดินตามกรอบที่วางไว้ แน่นอนการตัดสินใจเช่นนั้นต้องกระทบกระทั่งผู้มีอำนาจวาสนา แต่ถ้าเป็นการกระทำเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประชาชนแล้ว ประวัติศาสตร์ก็คงจะยืนยันความถูกต้องของธนาคารชาติ และสื่อมวลชนก็คงจะยืนอยู่ข้างธนาคารฯ
3. มาตรการธนาคารชาติไม่คงเส้นคงวา
การปล่อยให้ราชาเงินทุนล้มกับการต้องเข้าประคองเสรีสากล-ธนกิจ-พัฒนาที่ดิน-เจริญกรุง-บ้านและที่ดินไทย เป็นการกระทำที่หามาตรการไม่ได้ และเมื่อมาเปรียบเทียบกันแล้วกลับดูเหมือนว่าราชาเงินทุนจะโดนการเมืองกลั่นแกล้ง
เพราะในขณะที่เจ้าหนี้ราชาเงินทุนมีมติไม่ต้องการให้บริษัทล้มละลาย แต่ธนาคารชาติกับกระทรวงการคลังกลับปฏิเสธคำเรียกร้องของเจ้าหนี้ราชาเงินทุนซึ่งต้องการจะช่วยตัวเองโดยไม่ขอให้รัฐเข้าไปแทรกแซง ตรงกันข้ามกับบริษัทที่กล่าวมาข้างต้นกลับวิ่งเข้าซบธนาคารชาติและกระทรวงการคลังให้ช่วย
เหล่านี้เป็นเพียงข้อสังเกตบางประการของเราเท่านั้น และเราหวังว่าข้อสังเกตเหล่านี้คงจะเป็นเรื่องติเพื่อก่อให้กับธนาคารชาติ
ส่วนการจัดให้สหธนกิจเข้ามารับภาระนั้น “ผู้จัดการ” กลับคิดว่าเป็นการสร้างปัญหาไม่ใช่แก้ปัญหาเพราะ
1. ในยอดที่ต้องจ่ายคืนปีละ 10% เป็นเวลา 10 ปีนั้น สหธนกิจต้องจ่ายออกปีละ 300 ล้านบาท ซึ่งในกรณีเช่นนี้สหธนกิจต้องการปริมาณเงินที่จะมาหมุนเวียนทำธุรกิจไม่ต่ำกว่า 5,000 ล้านบาท และเงินก้อนนี้ก็คงต้องเป็น SOFT LOAN จากธนาคารชาติอีกซึ่งจะมีลูกเล่นออกมาแบบใดก็ตาม ก็ยังจะต้องออกมาจากธนาคารชาติ
2. การที่ธนาคารพาณิชย์ต้องมาเพิ่มทุนให้สหธนกิจเป็น 600 ล้านบาท และเอาเงินเข้ามาอัดในระบบอีกหลายพันล้านบาท เงินทั้งหมดก็เป็นเงินประชาชนเช่นกัน ไม่ใช่เงินที่หล่นมาจากท้องฟ้า
3. บริษัทเงินทุนต่างๆ ที่ลงขันกันร่วม 3,000 ล้านบาท ก็เป็นเงินประชาชนอีก
4. ถ้าเราจะพูดความจริงกันในที่สุดแล้ว เราก็ต้องยอมรับว่าการขาดสภาพคล่องของบริษัทการเงินที่ทำงานกันอย่างมืออาชีพไม่ใช่ปัญหาใหญ่ แต่มันจะเป็นปัญหาใหญ่ขึ้นมาถ้าบริษัทนั้นเกิดมีทรัพย์สินที่ไม่มีมูลค่า ซึ่งในตลาดการเงินก็จะมีบริษัทพวกนี้อีก
ฉะนั้น “ผู้จัดการ” มีความเห็นว่าถ้าเราปล่อยให้บริษัทการเงินที่บริหารเลวให้ล้มไปเสียแล้วระดมเงินจากธนาคารชาติรวมธนาคารพาณิชย์ และบริษัทเงินทุนคอยหนุนบริษัทที่ดีๆ แต่จะโดนผลกระทบจากการล้มนี้กลับจะเป็นวิถีทางที่ถูกต้อง เพราะมาตรการนี้จะเป็นการช่วยคนที่ทำงานดีบริสุทธิ์และลงโทษผู้ที่คดโกง
ประชาชนส่วนที่จะต้องรับความเจ็บปวดกับบริษัทพวกนี้ ก็น่าที่จะต้องได้รับบทเรียนเหมือนกัน และก็จะเป็นการแก้เผ็ดไปในตัว ที่จะให้ประชาชนเหล่านี้ไปดำเนินคดีกับผู้บริหารเงินทุนของเขา จะได้เป็นตัวอย่างให้เป็นที่เข็ดหลาบในวงการ
จริงอยู่ประชาชนเหล่านี้สูญเสียผลประโยชน์ไป แต่ถ้าเราเทียบระหว่างประชาชนที่ฝากเงินกับบริษัทเลวๆ เช่นนี้ แล้วสูญเงินไปด้วยการกระทำของตนเองกับบรรดาแม่ค้าร่วม 10 คน ที่ต้องติดคุกติดตะรางเพียงเพราะเรียกร้องที่ทำมาหากินเราจะเห็นได้ชัด ประชาชนที่ฝากเงินเหล่านี้กลับมีอภิสิทธิ์เกินกว่าอีกฝ่ายหนึ่งเพียงเพราะเขามีเงินฝากหรือ นี่ก็เป็นบทพิสูจน์อีกบทหนึ่งของอภิสิทธิ์ชนที่มีเงิน !
ซึ่งที่ถูกต้องแล้วก็ควรจะได้รับความเจ็บปวดเหมือนกัน !
และที่สำคัญที่สุดบริษัทที่ล้มไปเหล่านี้ควรจะมีการเอาข้อมูลมาเปิดเผยต่อสาธารณชนว่าใช้จ่ายเงินทองไปอย่างไร อย่างน้อยก็เป็นการให้การศึกษาแก่ประชาชนได้ว่า การทำงานของบริษัทเงินทุนที่เหลวแหลกนั้นทำกันแบบใด!
แน่นอนที่สุด ความคิดกับการปฏิบัติบางครั้งย่อมเดินไปด้วยกันไม่ได้ แต่ถ้าเรายึดมั่นความถูกต้องเอาไว้แล้ว วิธีการปฏิบัติก็คงจะไม่แตกต่างกันเท่าใดนัก
อย่าลืมว่าพวกเรามักจะโวเสมอว่าเราอยู่ในระบบการค้าเสรีไม่ใช่หรือ?
คอลัมน์: ความเห็น
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|