|
ฤทธิ์เดชใบปลิวในวงการธุรกิจ พัฒนาเงินทุนก็โดนอภินิหารของใบปลิวเหมือนกัน
นิตยสารผู้จัดการ( พฤศจิกายน 2526)
กลับสู่หน้าหลัก
เรื่องใบปลิวและบัตรสนเท่ห์นั้น สมัยก่อนมีแต่เฉพาะในวงการราชการและในแวดวงการเมือง
การเขียนใบปลิวเป็นการกระทำที่ขี้ขลาดตาขาวที่สุด แต่ก็ค่อนข้างจะได้ผลที่สุด เพราะนิสัยใจคอคนไทยเป็นสังคมที่ชอบการซุบซิบนินทาอยู่ในกมลสันดานแล้ว
ใบปลิวโจมตีกันทางธุรกิจถ้าจะมีก็มักจะออกมาในรูปของคนในองค์กรนั้น และก็จะแพร่อยู่เฉพาะองค์กรนั้น
แต่ใบปลิวเจ็ดหน้าที่โจมตีบุญชู โรจนเสถียร ซึ่งกระจายออกมาในช่วงเดือนกรกฎาคมและสิงหาคม เป็นจุดเริ่มของการทำลายบุญชูทั้งในด้านธุรกิจและการเมืองพร้อมๆ กัน
และธุรกิจไหนก็ไม่อ่อนไหวต่อข่าวคราวมากเท่าธุรกิจการเงิน
จะเป็นโชคที่ค่อนข้างอับเฉาของตึกดำด้วยกระมัง ที่เวลาทำธุรกิจการค้าอะไรก็ตามมักจะชอบอ้างบารมีของบุญชูเสมอไป
แม้การหาเงินฝากของพัฒนาเงินทุน คนหาเงินก็ชอบพูดเสมอว่า เป็นบริษัทของบุญชูฝากเงินเอาไว้รับรองว่ามั่นคงแน่
และนี่ก็เป็นดาบสองคมที่กลับมาหาตัวเอง
ใบปลิว 7 หน้านี้ ได้แพร่ในระหว่างที่กลุ่มบุญชูกับกลุ่มมหาดำรงค์กุลกำลังเกิดความขัดแย้งกันอย่างหนัก
ใบปลิวนี้ถูกจ่าหน้าถึงทุกๆ คนที่มีอำนาจวาสนา มีตำแหน่งบารมีตั้งแต่คณะองคมนตรี รัฐสภา สามเหล่าทัพ บรรดาสถาบันการเงินต่างๆ และสื่อมวลชน
ใบปลิวนี้ขึ้นต้นด้วยการแจ้งข่าวว่า ธุรกิจตึกดำกำลังจะล้มละลาย พูดถึงประวัติของบุญชูตั้งแต่เด็ก ทำลายบุญชูทุกวิถีทาง จนถึงการกล่าวหาบุญชูในเรื่องเก่าคือเทเล็กซ์น้ำมัน จนถึงการที่บุญชูเอาพันธบัตรรัฐบาลของพัฒนาเงินทุนไปจำนองไว้กับธนาคารนครหลวงฯ เพื่อหาทางกอบกู้ฐานะของตัวเอง
แต่เรื่องจะจริงหรือไม่จริงนั้นกลับไม่สำคัญไปเสียแล้ว
ที่สำคัญคือ คนที่ได้รับถ้ามีผลประโยชน์เกี่ยวพันกับตึกดำก็จะรีบทบทวนถึงบทบาทของตัวเองทันที
กรรมการผู้จัดการบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ขนาดค่อนข้างใหญ่แห่งหนึ่งยอมรับกับ “ผู้จัดการ” ว่า “พอผมได้อ่านใบปลิวแล้วผมรีบให้แผนก TREASURY ผมดูว่าเราปล่อยเงินให้พัฒนาเงินทุนบ้างหรือเปล่า แต่เผอิญของผมไม่มี ซึ่งถ้ามีผมก็คงจะต้อง PLAY IT SAFE ก่อน ก็ต้องเรียกคืนมาก่อนเรื่องอื่นค่อยว่ากันทีหลัง”
สำหรับผู้ฝากเงินนั้นก็มีหลายรายที่ถอนเพราะใบปลิวนี้ “มีลูกค้าหลายรายถอนเงินเพราะใบปลิวนี้ เขาบอกกับเราว่า เขาขอถอนเพราะไม่สบายใจ” ฝ่ายหาเงินฝากพัฒนาเงินทุนเล่าให้ “ผู้จัดการ” ฟัง
แม้แต่อนงค์ สุนทรเกียรติ ประธานกรรมการบริหารซึ่งรับผิดชอบในเรื่องหาเงินฝากขณะที่ให้สัมภาษณ์กับประชาชาติธุรกิจก็ยอมรับว่า การถอนเงินเพราะผลของใบปลิวนั้นมีจริง
ใบปลิว 7 หน้าที่ส่งมานั้นลงชื่อว่า “จากผู้ถือหุ้นใหญ่ธนาคารนครหลวงฯ” ลงวันที่ 13 สิงหาคม 2526
ในต้นเดือนกันยายนก็เกิดมีใบปลิวอีกชนิดหนึ่งหนา 16 หน้า ลงท้ายโดย “ผู้ถือหุ้นรายย่อยธนาคารนครหลวงไทย” ส่งเวียนออกมาโต้ตอบใบปลิวชุดแรก
ใบปลิวชุดสองพยายามชี้ให้เห็นว่า การบริหารธนาคารซึ่งเอาเงินประชาชนมาฝากให้อยู่ในกำมือของกลุ่มครอบครัวนั้นเป็นอันตรายต่อประชาชน เพราะมีตัวอย่างมาแล้วและใบปลิวได้เปรียบเทียบธนาคารนครหลวงฯ ยุคนี้กับธนาคารไทยพัฒนาที่ล้มมาแล้วว่าคล้ายๆ กัน นอกจากนั้นแล้วใบปลิวชุด 16 หน้านี้ยังได้เอาหนี้สินของเสี่ยเม้งหรือนายมงคล กาญจนพาสน์ ที่ธนาคารนครหลวงฯ ค้ำประกันหนี้ไว้มาตีแผ่ โดยเอาข้อความที่ธนาคารแห่งประเทศไทย ส่งรายงานเตือนมายังธนาคารนครหลวงฯ มาตีพิมพ์ลงในใบปลิว ใบปลิวชุดหลังยังได้กล่าวหาว่า ที่ธนาคารนครหลวงฯ ทำมาได้ตลอดเพราะเหตุ 2 ประการ ประการแรกคือ การละเลยและสมยอมของธนาคารแห่งประเทศไทย และประการที่สองคือ การทำบัญชีปลอม และจากการที่บุญชู โรจนเสถียร ต้องการจะกระจายอำนาจในธนาคารฯ ออกไป ก็เลยทำให้ฝ่ายของไพโรจน์ มหาดำรงค์กุล (ในใบปลิวเขียนไพโรจน์ ซึ่งก็คงหมายถึงชัยโรจน์) พยายามคัดค้านเพราะกลัวว่าตัวเองจะสูญเสียอำนาจ
ใบปลิวชุด 2 นี้ยังตบท้ายด้วยการกล่าวหาว่า อีกฝ่ายหนึ่งร่ำรวยขึ้นมาได้เพราะการขนของหนีภาษีมาขาย และพูดถึงการจะให้นาฬิกาแก่จังหวัดต่างๆ เพื่อแลกกับเหรียญตราและสายสะพายก็ได้ แต่จังหวัดต่างๆ ก็ยังไม่ได้นาฬิกา
ศึกใบปลิวครั้งนี้ถ้าจะให้เดาว่าเป็นศึกระหว่างใครก็คงจะเดาไม่ยาก
แต่จะเป็นใครที่ขี้ขลาดตาขาวเขียนออกมาในตอนนี้กลับไม่สำคัญเท่ากับว่าใบปลิวชุดแรกที่ออกมาได้ผูกตัวบุญชูไว้กับตึกดำทั้งหมดว่าเป็นธุรกิจของบุญชูและผลที่ตามมาคือการเคลื่อนไหวของวงการเงิน
“คนในวงการเงินมักจมูกไวจะตาย เพียงแค่คุณไม่สบายเท่านั้น มันก็รู้กันหมดแล้ว และนี่เป็นระดับบุญชู โรจนเสถียร ซึ่งในวงการเขาก็เข้าใจว่าเป็นผู้หนุนหลังสุธี นพคุณ มาตลอด แล้วคุณจะไม่ให้เขาตกใจได้อย่างไร” ผู้ที่ได้รับใบปลิวอีกคนชี้แจงให้ “ผู้จัดการ” ฟัง
ใบปลิว 7 หน้า และ 16 หน้า ทั้งสองนี้คงจะไม่ใช่ใบปลิวชุดสุดท้ายในวงการธุรกิจแน่ ที่น่าเป็นห่วงก็เห็นจะเป็นที่ว่าในอนาคตอันใกล้นี้ ก็คงจะต้องมีใบปลิวร่อนไปมาระหว่างบริษัทกับบริษัทเป็นแน่
ถ้าจะให้ “ผู้จัดการ” วิจารณ์สไตล์การเขียนใบปลิวแล้วก็ต้องยกให้ใบปลิวชุดที่ 2 หนา 16 หน้า ว่าเขียนได้มืออาชีพกว่าชุดแรกมากที่เอาแต่ด่าลูกเดียว ชุดที่ 2 มีการอ้างอิงข้อความที่ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์จนกระทั่งมีการเท้าความถึงเหตุการณ์ในอดีตนำมาเปรียบเทียบกับเหตุการณ์ปัจจุบันว่าคล้าย ๆ กัน
มองตามรูปการณ์นี้แล้ว บรรณาธิการ “ผู้จัดการ” พึมพำกับผู้เขียนว่า “คนเขียนใบปลิวชุดแรกต้องเป็นไหหลำแน่ๆ เพราะรู้เรื่องตำนานไหหลำของบุญชูเหลือเกิน ส่วนคนเขียนใบปลิวชุด 2 ก็คงต้องเป็นคนที่รู้จักไหหลำฝ่ายมหาดำรงค์กุลดีจนรู้เรื่องการมอบนาฬิกาให้กับจังหวัดต่างๆ ได้ดีเหมือนกัน”
สรุปแล้วงานนี้เรียกได้ว่าเป็น “ใบปลิวไหหลำ”
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|