The Capitalist Philosophers


นิตยสารผู้จัดการ( สิงหาคม 2543)



กลับสู่หน้าหลัก

นักคิดทางการบริหารธุรกิจคนสำคัญของโลกอย่างเฟรดเดอริค เทเลอร์,ปีเตอร์ ดรัคเกอร์ และดับบลิว เอ็ดเวิร์ด เดมมิง มีความคิดอ่านอย่างไร คิดค้นทฤษฎีทางการบริหารอันโดดเด่นขึ้นมาภายในบริบทสังคมเช่นไร นี่คือสิ่งที่แอนเดรีย เกเบอร์ ผู้สื่อข่าวสายธุรกิจผู้เขียน The Capitalist Philosophersนำเสนอไว้ในหนังสืออย่างละเอียด และยังกล่าวถึงนักคิดทางธุรกิจคนสำคัญอีก10 คนในศตวรรษที่ 20 ด้วย

ความเป็นวิทยาศาสตร์และความเป็นมนุษย์

ทฤษฎีการบริหารและภาวะผู้นำในศตวรรษที่ 20 ยังอยู่ในช่วงการถกเถียงกันระหว่างสำนักความคิดแบบที่เน้นความเป็นวิทยาศาสตร์ซึ่งริเริ่มโดยเฟรดเดอริค เทเลอร์ กับสำนักมนุษยนิยมที่มีผู้บุกเบิกอย่างแมรี ปาร์คเกอร์ ฟอลเล็ต ผู้เขียนไม่ได้เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่ชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนถึงจุดแข็งแกร่งและข้ออ่อนของทั้งสองสำนักคิด เช่น อะไรที่ทำได้ผล อะไรที่ทำไม่ได้ และทำไมจึงทำไม่ได้? เป็นต้น

เกเบอร์เริ่มต้นจากแนวคิดของเทเลอร์ ฟอลเล็ต แล้วตามด้วยเชสเตอร์ เบอร์นาร์ด ซึ่งนับเป็นผู้มีวิสัยทัศน์ทางการบริหารกว้างไกลและเป็นคนแรกที่กล่าวว่า องค์กรเป็นระบบสังคมที่สลับซับซ้อนไม่ใช่เครื่องจักรที่ประกอบด้วย "ส่วนต่างๆ" นอกจากนั้น ยังเสนอแนวคิดของฟริทซ์ โรธลิสเบอร์เจอร์ และเอลตัน เมโยแห่งฮาร์วาร์ด บิสซิเนส สกูล ซึ่งร่วมกันวางรากฐานทางด้านมนุษยสัมพันธ์

ในบทต่อๆ ไป เป็นเรื่องของอับราฮัม มาสโลว์ ผู้คิดสร้างแนวคิดเรื่องลำดับชั้นของความต้องการของมนุษย์ หรือ "hierarchy of needs" ตามด้วยแนวคิดของดักลาส แมคเกรเกอร์ ผู้ปฏิเสธการบริหารแบบควบคุมและสั่งการ (ซึ่งเขาใช้คำเรียกว่า Theory X) และเสนอแนวคิดการบริหารที่อิงกับการที่ให้พนักงานควบคุมดูแลตัวเองในการปฏิบัติงาน หรือที่เรียกว่า Theory Y

ส่วนแนวคิดที่ตรงข้ามกับแนวมนุษยสัมพันธ์ เกเบอร์บอกเล่าถึงโรเบิร์ต เอส. แมคนามารา และ "Whiz Kids" ซึ่งเป็นกลุ่มที่สืบทอดความคิดมาจากเทเลอร์ แนวคิดของแมคนามาราที่เน้นการวัดเชิงปริมาณไม่เพียงแต่จุดประกายแนวคิดยุคใหม่ของของการบริหารแบบวิทยาศาสตร์เท่านั้น แต่ยังนำไปสู่แนวทางการบริหารแบบ "นับจำนวน" ในนโยบายการต่างประเทศด้วย

หนังสือเล่มนี้ยังกล่าวถึงแนวคิดของนักคิดคนสำคัญๆ อาทิ

- ดับบลิว เอ็ดเวิร์ดส์ เดมมิง เจ้าพ่อทางด้านคุณภาพ

- เฮอร์เบิร์ต ไซมอน นักรัฐศาสตร์และนักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลซึ่งคิดสร้างทฤษฎีการตัดสินใจขององค์กรโดยอาศัยรากฐานความคิดของเชสเตอร์ เบอร์นาร์ด

- อัลเฟรด ดู ปองต์ แชนด์เลอร์ นักประวัติศาสตร์องค์กร และอัลเฟรดสโลน อดีตหัวเรือใหญ่ของเจเนอรัล มอเตอร์ และเป็นผู้สร้างองค์กรในลักษณะ corporation แห่งแรก

- ปีเตอร์ เอฟ ดรัคเกอร์ ผู้สร้างความเป็นวิชาการให้กับทฤษฎีการบริหาร และยังนำเสนอความคิดและวิสัยทัศน์ที่เชื่อมโยงไปถึงศตวรรษที่ 21

งานเขียนของเกเบอร์เล่มนี้ นับเป็นการรวบรวมและฉายภาพกว้างให้เห็นแนวความคิดของบรรดานักคิดทางด้านการบริหารคนสำคัญแห่งศตวรรษ ผู้บริหารที่ต้องรับมือกับประเด็น "ผู้คน" ในองค์กรไม่ควรพลาด



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.