ทหารไทยตั้งเป้าล้าง4หมื่นล้าน


ผู้จัดการรายวัน(26 เมษายน 2545)



กลับสู่หน้าหลัก

เอ็มดีแบงก์ทหารไทย ชี้ทางออกล้างขาดทุนสะสม 4.2 หมื่นล้านบาทภายใน 4 ปี ผ่านแนวทางเพิ่มทุนดึงส่วนล้ำมูลค่าหุ้น เร่งระบายสินทรัพย์รอการขาย (NPA) 60,000 ล้านบาท และสร้างรายได้ ภายใต้เงื่อนไขเศรษฐกิจไทยต้องขยายตัว 3-5% ยันไม่ลดดอกเบี้ยตามแบงก์เอเชีย เหตุสามารถบริหารสภาพคล่องได้ดี

ถึงแม้ผลการดำเนินงานของธนาคารพาณิชย์ในไตรมาสแรกปี 45 จะเริ่มปรับตัวดีขึ้นจนสามารถทำกำไรได้เกือบ10,000 ล้านบาทแม้จะเป็นสัญญาณที่บ่งชี้ให้เห็นถึงความสามารถของธนาคารพาณิชย์ แต่ยังมีประเด็นที่ทุกธนาคารกำลังเร่งแก้ไขเพื่อส่งผลดีต่อธนาคารในระยะยาวแม้จะไม่ใช่ประเด็นที่เร่งด่วนในภาวะขณะนี้ คือ ปัญหาการขาดทุนสะสมของธนาคารพาณิชย์ไทยที่มีอยู่ประมาณ 5 แสนล้านบาท(แต่หากหักสำรองแล้วจะมียอดขาดทุนสะสมประมาณ 3.3 แสนล้านบาท)

ขณะเดียวกันปัญหาเรื่องหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(เอ็นพีแอล)แม้จะลดลงอย่างต่อเนื่องและเข้าสู่ภาวะทรงตัว ณ สิ้นมี.ค.45 รวมสถาบันการเงินมีประมาณ 471,580 ล้านบาท คิดเป็น 10.36% รวมถึงปัญหาการแก้ไขสินทรัพย์รอการขาย(NPA)ที่ทั้งระบบคงค้างไม่ต่ำกว่า 1.4 แสนล้านบาท

“ตัวเลขขาดทุนสะสมที่มีอยู่ 4.2 หมื่นล้านบาทของธนาคารทหารไทย จะพยายามล้างให้ได้ภายใน 4 ปี ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่บนสมมุติฐานที่ว่าเศรษฐกิจไทยโตไม่ต่ำกว่า 3-5%”นายสมชาย สกุลสุรรัตน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) TMB กล่าว

โดยแนวทางที่ธนาคารอาจดำเนินการจะมีหลายช่องทาง ไม่ว่าการนำกำไรที่เกิดจากการดำเนินงานมาล้างขาดทุนสะสม รวมทั้งธนาคารก็จะมีรายได้อีกส่วนจาการขายสินทรัพย์รอการขาย

“หากภาวะตลาดหุ้นดีในอนาคต ธนาคารสามารถออกหุ้นใหม่และมีส่วนล้ำมูลค่าหุ้น ธนาคารก็สามารถนำเงินส่วนเกินดังกล่าวมาล้างขาดทุนสะสมได้ ถึงแม้ปีนี้ธนาคารจะไม่สามารถจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นได้แต่ก็จะพยายามจ่ายเงินปันผลให้ได้เร็วที่สุด”นายสมชายกล่าว

นายบดี จุณณานนท์ ประธานกรรมการตรวจสอบธนาคารทหารไทย กล่าวถึงแนวทางการล้างผลขาดทุนสะสมโดยการใช้ส่วนล้ำมูลค่าหุ้นว่า ในระยะเวลา 4 ปีธนาคารมีโอกาสที่จะเพิ่มทุนหากภาวะเศรษฐกิจดีและหุ้นของธนาคารสามารถขายได้มากกว่าราคาพาร์ ธนาคารก็จะนำส่วนล้ำมูลค่าหุ้นดังกล่าวมาล้างขาดทุนสะสมได้

ปัจจัยหลักในการเพิ่มทุนมีเป้าหมายเพื่อขยายสินเชื่อ ซึ่งหากธนาคารเพิ่มทุนใหม่ก็จะขายให้กับประชาชนเป็นหลัก เพราะกระทรวงการคลังซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ประมาณ 49.9%คงไม่มีนโยบายเข้ามาถือหุ้นเพิ่มอีกเพราะจะส่งผลให้เป็นธนาคารรัฐวิสาหกิจไป

นอกจากนี้การล้างขาดทุนสะสมยังทำได้จากการที่ธนาคารมีผลกำไรสุทธิอย่างต่อเนื่องและนำผลกำไรดังกล่าวมาล้างขาดทุนสะสม ซึ่งไตรมาส1ที่ผ่านมาธนาคารมีกำไรสุทธิจำนวน 352 ล้านบาทกำไรดังกล่าวก็จะถูกนำมาล้างขาดทุนสะสม

“คาดว่าในปีนี้ธนาคารจะมีกำไรสุทธิไม่น้อยกว่า 1,000 ล้านบาทและหากภาวะเศรษฐกิจโตต่อเนื่องกำไรของธนาคารก็จะเพิ่มขึ้นเป็นปีละ 2-3 พันล้านบาท ธนาคารก็สามารถนำผลกำไรที่คาดว่าจะได้ดังกล่าวมาล้างขาดทุนสะสมได้”

นายบดีกล่าวว่า ธนาคารจะนำสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ ที่ธนาคารได้ตัดหนี้เสียไปแล้วมาทะยอยออกขายและนำเงินกำไรที่ได้ไปล้างขาดทุนสะสม ปัจจุบันธนาคารมีสินทรัพย์ด้อยคุณภาพกว่า 6 หมื่นล้านบาท ส่วนการขายสินทรัพย์ดังกล่าวจะทยอยขาย เพราะราคาสินทรัพย์อยู่ในระดับต่ำสุดแล้วและในอนาคตราคาก็จะปรับตัวสูงขึ้น

“แนวทางการล้างขาดทุนสะสมของแบงก์ แบงก์จะใช้หลักการทั้งหมดมาดำเนินการร่วมกันจะได้จ่ายปันผลให้ผู้ถือหุ้นโดยเร็วที่สุด ซึ่งเป้าหมายคาดว่าจะดำเนินการนได้ภายใน 4 ปี”

นายสมชาย กล่าวว่าคณะกรรมการธนาคารยังไม่มีมติอนุมัติให้ธนาคารเพิ่มทุนในปีนี้ เนื่องจากเงินกองทุนที่มีอยู่เพียงพอต่อการขยายสินเชื่อต่อเนื่องอย่างน้อย 3 ปี

ปัจจุบันธนาคารมีเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง(BIS)จำนวน 12.53% และมีหนี้เสียที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง ณ เดือนมีนาคม ธนาคารมีหนี้เสียจำนวน 34,562.72 ล้านบาทหรือ 12.08%

ยันไม่ลดดอกเบี้ย

บริหารสภาพคล่องได้

นายสมชายกล่าวถึงนโยบายทางด้านอัตราดอกเบี้ยภายหลังที่ธนาคารเอเชีย จำกัด (มหาชน) BOA ได้ลดดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้อีก 0.25% ว่าขณะนี้ธนาคารยังไม่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยทั้งกู้และฝากลงตาม เนื่องจากสภาพคล่องของธนาคารทหารไทยยังอยู่ในระดับเหมาะสมและยังสามารถจัดการได้

นอกจากนี้สัดส่วนการปล่อยสินเชื่อต่อเงินฝากปัจจุบันอยู่ที่ 90.6 %นั้นถือว่าเหมาะสมและเป็นไปตามเป้าหมายของธนาคาร เพราะหากอัตราสูงเกินไปก็จะกระทบต่อความเสี่ยงของการปล่อยสินเชื่อ แต่หากน้อยเกินไปก็จะส่งผลกระทบต่อรายได้ของธนาคาร

“ธนาคารยังไม่ลดดอกเบี้ย รวมทั้งก็ไม่มีใครหรือองค์กรใดๆมาแทรกแซงหรือบอกว่าไม่ต้องลดดอกเบี้ย แต่แบงก์ไม่ลดเพราะยังสามารถบริหารสภาพคล่องได้”

อนึ่ง การลดดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์จะมีผลดีต่อภาระดอกเบี้ยจ่ายที่ลดลงแต่ขณะเดียวกันรายได้จากดอกเบี้ยจะปรับลงตามไปด้วย ซึ่งแต่ละธนาคารพยายามส่งเสริมรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย(ค่าธรรมเนียม)เพื่อชดเชยรายได้จากดอกเบี้ย

นายธวัชชัย ยงกิตติกุล เลขาธิการสมาคมธนาคารไทย กล่าวถึงกรณีที่นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังให้ความเห็นว่า สมาคมธนาคารไทยขาดเอกภาพในการแก้ไขปัญหาไม่เหมือนสมาคมหอการค้าไทย และสภาอุตสาหกรรม โดยเฉพาะการลดดอกเบี้ยว่า เรื่องดังกล่าวคิดว่านายสมคิดคงคุยในที่สาธารณะ ซึ่งสมาคมก็มีการพูดคุยและหารือกันเป็นระยะในทุกเรื่องอยู่แล้ว แต่เรื่องการปรับขึ้นหรือลดดอกเบี้ยคงจะหารือกันไม่ได้ เพราะขึ้นอยู่กับการบริหารต้นทุนของแต่ละธนาคาร

“หากมีการหารือในเรื่องดอกเบี้ยก็จะมองว่าเป็นการตกลงร่วมกันระหว่างธนาคารซึ่งจะไม่ส่งผลดีต่อลูกค้า”

ยกเลิกค้ำเงินฝากต้องทำให้ได้ก่อน

นายธวัชชัย กล่าวถึงการยกเลิกการค้ำประกันเงินฝากว่าเรื่องดังกล่าวหากสามารถดำเนินการได้จะส่งผลดีต่อผู้บริโภค ที่จะสามารถควบคุมธนาคาร แต่ต้องการ

ให้ภาวะเศรษฐกิจขยายตัวอย่างมีเสถียรภาพมากกว่า เพื่อไม่ให้เกิดความโกลาหลเหมือนอย่างประเทศญี่ปุ่นที่ประชาชนเกิดความตื่นตระหนก และไปถอนเงินมาเก็บไว้ที่บ้าน

การยกเลิกค้ำประกันเงินฝากถือว่าเป็นเรื่องดี และส่งผลต่อลูกค้าที่จะสามารถควบคุมธนาคารได้เพราะแต่เดิมผู้ฝากเงินจะขาดดุลพินิจในการนำเงินไปฝากธนาคาร เพราะเชื่อมั่นว่ามีรัฐบาลช่วยค้ำประกันเงินฝากของตนเองอยู่ แต่หากยกเลิกแล้วผู้ฝาก็จะเป็นผู้เลือกว่าควรจะใช้บริการของธนาคารใด และในแง่ของผลดีด้านดอกเบี้ยธนาคารจะได้ไม่ต้องเป็นตัวชี้นำในการลดดอกเบี้ย เพราะปัจจุบันเมื่อธนาคารไม่ต้องการเงินฝากหรือมีสภาพคล่องล้นก็จะใช้วิธีลดดอกเบี้ย



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.