ธปท.ชงเกณฑ์คุมสินเชื่อบุคคลให้คลัง


ผู้จัดการรายวัน(15 มีนาคม 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

แบงก์ชาติเตรียมชงเรื่องกำหนดเพดานดอกเบี้ยสินเชื่อบุคคลให้ขุนคลังพิจารณาเร็วๆ นี้ แต่ยังไม่ขอเปิดรายละเอียด แย้มอิงหลักเกณฑ์เดียวกันเพดานดอกเบี้ยบัตรเครดิต แต่อาจมีการทบทวนใหม่หากพบช่องโหว่ พร้อมยืนยันฐานะแบงก์พาณิชย์แข็งแกร่ง ทั้งความสามารถการทำกำไรและการขยายตัวของสินเชื่อ ขณะที่หนี้เน่าลดลงตามเป้าหมายปี 2549 เหลือ 2%

นางธาริษา วัฒนเกส รองผู้ว่าการสายเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงความคืบหน้าการประกาศใช้มาตรการควบคุมสินเชื่อส่วนบุคคล ว่า ธปท. ได้ข้อสรุปในเกณฑ์การดูแลการปล่อยสินเชื่อส่วนบุคคลแล้ว โดยขณะนี้ ธปท.เตรียมส่งเกณฑ์ดังกล่าวให้นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังพิจารณาอนุมัติ ซึ่งเกณ์ที่กำหนดจะใช้เป็นมาตรฐานธนาคารพาณิชย์กับสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร (นอนแบงก์)

ทั้งนี้ เกณฑ์ที่ ธปท. กำหนดนั้นจะมีหลายเรื่องในเรื่องเดียวเช่นเกณฑ์การเก็บค่าธรรมเนียมว่าจะเก็บได้มากน้อยเพียงใด และสามารถเก็บได้ในกรณีใดบ้าง และกรณีใดไม่สามารถเก็บได้ รวมทั้งยังมีการกำหนดเพดานการปล่อยสินเชื่อ และอัตราดอกเบี้ยรวมทั้งรายได้ของผู้ขอสินเชื่อบุคคลด้วย ซึ่งเกณฑ์ในการควบคุมสินเชื่อส่วนบุคคลที่ ธปท.กำหนดบางข้อจะใช้เกณฑ์ใกล้เคียงกับเกณฑ์ที่ควบคุมบัตรเครดิต แต่ไม่เหมือนกันทั้งหมด เนื่องจากมีฐานที่แตกต่างกัน

"ก่อนหน้าที่จะได้ข้อสรุป ธปท.ได้หารือกับผู้ประกอบการทั้งธนาคารพาณิชย์ และไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์แล้ว รวมทั้งมีการศึกษาข้อมูลเป็นอย่างดีแล้ว แต่เกณฑ์ที่กำหนดออกใช้ในระยะต่อไปนั้นอาจเปลี่ยนแปลงหรือปรับปรุงแก้ไขอีกก็ได้ หากนำออกบังคับใช้แล้วมีช่องโหว่หรือปัญหาอื่นๆ"

สำหรับกรณีที่หลายฝ่ายแสดงความเป็นห่วงว่า หากมีเกณฑ์เข้มงวดออกมาอาจเป็นการผลักดันให้ประชาชนส่วนหนึ่งที่ไม่เข้าเกณฑ์หันกลับไปพึ่งการก่อหนี้นอกระบบได้นั้น รองผู้ว่าการธปท. กล่าวว่า ตัวเลขที่ออกมานั้น ธปท.ได้พิจารณาแล้วว่า เป็นจุดที่สมดุลและไม่ผลักดันให้เกิดการก่อหนี้นอกระบบมากขึ้นเพราะเป็นตัวเลขที่อยู่กึ่งกลางในการมองทั้ง 3 ด้านคือการปกป้องผู้บริโภค การก่อหนี้ล้นพ้นตัว และการผลักดันให้เกิดการก่อหนี้นอกระบบมากขึ้นโดยได้มีการสำรองข้อมูลจากผุ้บริโภค และบริษัทผู้ประกอบการแล้ว

" ธปท. ไม่ได้วางเกณฑ์ชนิดที่เรียกว่าไล่บี้ผู้ประกอบการมากนัก และก็ไม่ใช่เป็นการผลักไสไล่ส่งจนผู้ที่มีรายได้น้อยหันไปพึ่งพิงเงินกู้นอกระบบ การวางเกณฑ์จะต้องหาจุดเหมาะสม " นางธาริษา กล่าว

สำหรับการยกเลิกหรือขยายเพดานดอกเบี้ยบัตรเครดิต นางธาริษากล่าว ทางธปท. ยังไม่ได้มีการยกเลิกหรือเปลี่ยนแปลงเพดานดอกเบี้ยบัตรเครดิต ที่ปัจจุบันอยู่ที่อัตรา 18% และขณะนี้ยังไม่มีผู้ประกอบการายใดยื่นเรื่องเพื่อขอเปลี่ยนแปลงมาให้ธปท. พิจารณา แต่ในหลักการหากผู้ประกอบการมีเหตุผลที่เพียงพอ ธปท.ก็พร้อมที่จะพิจารณา

นางธาริษา กล่าวในงานการพบปะกับนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ "สถานการณ์ปัจจุบันของสถาบันการเงินไทย" ว่าฐานะทางการเงินและการดำเนินการของสถาบันการเงินไทยในปัจจุบันอยู่ในภาวะที่แข็งแกร่งดี และมีผลกำไรดี ขณะที่สินเชื่อก็ขยายตัวได้ดี และหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยปี 2547 ระบบธนาคารพาณิชย์มีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นจากปีก่อนกว่า 100% แม้ว่าสัดส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงจะลดลงจาก 4% เหลือ 12.7% แต่ยังถือว่าไม่น่าเป็นห่วงเพราะยังสูงกว่าเกณฑ์ของธปท.ที่ 8.5% มาก และเกิดขึ้นเนื่องจากสินเชื่อในปี 2547 ขยายตัวมากถึง 6.6% เพิ่มขึ้นจากปี 2546 ที่อยู่ในระดับ 3.6%

สำหรับในปี 2548 นี้ ระบบธนาคารพาณิชย์จะทำกำไรได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งคาดว่าจะสามารถขยายตัวสูงกว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยที่อยู่ในระดับ 5.25-6.25% แน่นอน โดยจะแข่งขันกันในด้านสินเชื่อรายย่อยและสินเชื่อที่จะให้กับโครงการขนาดใหญ่ของรัฐบาล (เมกกะโปรเจกต์)

ด้านภาระหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ในระบบธนาคารพาณิชย์มีเอ็นพีแอลเหลืออยู่เพียง 570,000 ล้านบาท ซึ่ง 43% ของหนี้หรือประมาณ 250,000 ล้านบาท เป็นหนี้ที่ผ่านการปรับโครงสร้างหนี้แล้วแต่อยู่ในกระบวนการของศาลและการบังคับหลักทรัพย์ ส่วนอีก 15% หรือประมาณ 70,000 ล้านบาท ปรับหนี้แล้วรอการกลับเข้าสู่การเป็นหนี้ดีภายใน 3 เดือน หากชำระดอกเบี้ยได้ตามโครงสร้างใหม่ ส่วนที่เหลืออีก 250,000ล้านบาทอยู่ระหว่างการเจรจาปรับโครงสร้างหนี้และกฎหมายการซื้อเอ็นพีแอล และสินทรัพย์รอการขาย (เอ็นพีเอ)

ก่อนหน้านี้ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ผู้ว่าการ ธปท.ได้ระบุว่า หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล)ของระบบธนาคารพาณิชย์จะลดลงเหลือ 2% ภายในปี 2549

นางธาริษา กล่าวต่อว่า ในระยะต่อไปจะเห็นการแข่งขันที่รุนแรงยิ่งขึ้นระหว่างธนาคารพาณิชย์ไทยที่แข่งขันกันเอง และจากการแข่งขันจากสถาบันการเงินต่างชาติที่จะเข้ามาจากการเปิดเสรีในภาคการเงินตามสัญญาการเปิดเสรีทางการค้า (FTA) อย่างไรก็ตาม ทาง ธปท.พยายามให้การเปิดเข้ามาเสรีในภาคการเงินอย่างช้าๆ เนื่องจากต้องการเตรียมสถาบันการเงินของไทยให้เข้มแข็งพอที่จะสามารถแข่งขันได้

"ขณะนี้มีแบงก์พาณิชย์บางแห่งที่กำลังอยู่ในกระบวนการเจรจาเพื่อควบรวมกิจการกัน โดยไม่ใช่การควบรวมกิจการในมาสเตอร์แพลน แต่เป็นการควบรวมเพื่อลดต้นทุนและเพิ่มศักยภาพและความเข้มแข็ง และคาดว่าในอนาคตจะมีการควบรวมกิจการมากขึ้น แต่ยังไม่สามารถบอกได้ว่าจะเหลือกี่แบงก์"


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.