ก้าวสำคัญของเลแมน บราเดอร์ส ปักธงในไทย


นิตยสารผู้จัดการ( มกราคม 2541)



กลับสู่หน้าหลัก

ในภาวะที่ไม่ใคร่มีใครเชื่อมั่นประเทศไทยแม้แต่คนในประเทศเอง แต่ เลแมน บราเดอร์ส-อินเวสเมนท์ แบงก์ยักษ์ใหญ่ระดับ TOP 5 ของตลาดหุ้นวอลล์สตรีท กลับประกาศลงหลักปักฐานเปิดสำนักงานตัวแทนอย่างเป็นทางการในไทย เพื่อแสดงถึง commitment ที่ให้กับเมืองไทยในการลงทุนระยะยาว ถือได้ว่านี่เป็นก้าวสำคัญของเลแมนฯ บริษัทที่ได้ชื่อว่าดำเนินธุรกิจอย่างอนุรักษ์นิยม!!

ในขณะที่ทุกคนกำลังแก้ไขปัญหาและปรับตัวกับภาวะเศรษฐกิจ การก้าวเข้ามาตั้งสำนักงานตัวแทนในประเทศไทยของเลแมน บราเดอร์ส ดูจะเป็นเรื่องที่น่าสนใจอยู่ไม่น้อยว่า ทางบริษัทแม่มองประเทศไทยอย่างไร ถึงขนาดมั่นอกมั่นใจกล้าลงทุนมาเปิดสำนักงานตัวแทน อย่างเป็นกิจจะลักษณะในภาวะเศรษฐกิจขาลงเช่นนี้

กิติวลัย เจริญสมบัติอมร มือเก๋าในวงการตลาดทุนผู้มากด้วยประสบการณ์กว่า 16 ปี รับหน้าที่หัวหน้าสำนักงานผู้แทนประจำประเทศไทย ดำรงตำแหน่งรองประธานอาวุโสให้ความกระจ่างว่า ที่เลแมนฯ เข้ามาประเทศไทยตอนนี้เพราะว่า 3 องค์ประกอบสำคัญ คือ ในเรื่องของต้นทุนค่าใช้จ่ายในการตั้งสำนักงาน ซึ่งต้องยอมรับว่าตอนนี้สิ่งต่างๆ ในประเทศไทยถูกลงทุนทั้งนั้น เหมาะสำหรับใครก็ตามที่ต้องการเริ่มต้นกิจการหรือริเริ่มอะไรใหม่ๆ

องค์ประกอบข้อสองคือ ปัจจัยทางด้านกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจ ในขณะที่ทุกคนกำลังไม่พร้อมที่จะแข่งขันกันนัก เพราะเพียงแค่เอาตัวรอดในสถานการณ์ปัจจุบันก็เป็นเรื่องยากแล้ว การเข้ามาช่วงนี้จึงมีเวลาสำหรับการเตรียมพร้อมของเลแมนฯ ทั้งภายในตัวองค์กรไม่ว่าจะเป็นเรื่องบุคลากรหรือการบริหารงานภายใน และภายนอกตัวองค์กรเอง ก็เป็นเวลาที่เหมาะสมในการทำความรู้จักกับลูกค้า ที่มีมากอยู่แล้วให้มากขึ้นไปอีก

องค์ประกอบข้อที่สาม ซึ่งเชื่อมโยงมาจากข้อที่สอง คือ ในด้านบุคลากรนั้น ในขณะนี้ถือว่าเป็นโอกาสของบริษัทต่างๆ ที่จะเลือกเฟ้นบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาร่วมงานได้ไม่ยากนัก ผิดกับช่วงเศรษฐกิจขาขึ้นซึ่งจะมีการแข่งขันดึงตัวบุคลากร แต่ในช่วงนี้นอกจากได้บุคลากรดีๆ แล้ว เงื่อนไขการว่าจ้างยังเป็นที่พอใจทั้งฝ่ายบริษัทและพนักงาน จากเดิมที่บริษัทจะต้องทุ่มค่าตอบแทนเพื่อดึงบุคลากรเป็นส่วนใหญ่

"ช่วงนี้เป็นช่วงที่เหมาะสม เป็นโอกาสในการทำธุรกิจที่เราถนัด คือ บริการให้คำปรึกษาด้านการเงิน เพราะถ้าเศรษฐกิจดีๆ ทำอะไรก็ง่าย จับอะไรก็เป็นเงินเป็นทองไปหมด แม้จะมีออฟฟิศอยู่หรือไม่ก็ตาม แต่ในช่วงนี้จะทำให้รู้ถึงความต้องการและความจำเป็นของลูกค้าอย่างแท้จริง ทำให้สามารถวิเคราะห์ลูกค้าได้ดีขึ้นว่า ควรให้บริการเช่นไรจึงจะเหมาะสมกับธุรกิจหลักของลูกค้าที่สุด" กิติวลัย กล่าว

เพราะในอดีตนั้นเนื่องจากสภาพคล่องมีสูงใครก็อยากปล่อยกู้ทั้งนั้น ดังนั้นไม่ว่าจะออกตราสารประเภทใดมาก็สามารถระดมเงินทุนมาได้ทุกครั้งไป แม้ว่าบางครั้งประเภทของเงินกู้ที่ระดมทุนมาไม่สอดคล้องกับผลตอบแทนของบริษัทนั้นๆ ก็ตาม อาทิ การกู้เงินระยะสั้นแล้วนำมาใช้ในโครงการลงทุนระยะยาว จำพวกอสังหาริมทรัพย์ทั้งหลาย สิ่งเหล่านี้เมื่อสภาพคล่องทางการเงินของระบบยังดีอยู่ย่อมไม่มีปัญหา เพราะมีเงินหมุนเวียนจากกิจการโดยรวมช่วยเหลืออยู่

แต่เมื่อสภาพคล่องตึงตัวหรือหยุดชะงักไป ค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยและเงินต้นที่กู้มาระยะสั้นต้องชำระคืนตามกำหนด ในขณะที่รายได้หรือผลตอบแทนที่มาในรูปเงินระยะยาว เช่น ค่าเช่าอาคาร หรือค่าโอนกรรมสิทธิ์บ้าน สิ่งเหล่านี้จึงเป็นสาเหตุของปัญหาอสังหาริมทรัพย์เกิดขึ้นเมื่อประมาณ 2 ปีที่แล้ว และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม เพราะบริษัทไฟแนนซ์ต่างๆ ที่มีปัญหาอยู่ในปัจจุบัน ก็มีสาเหตุมาจากการปล่อยสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ แล้วไม่สามารถเรียกเก็บคืนได้นั่นเอง

อย่างไรก็ตาม แม้ปัญหาที่เกิดขึ้นจะยังไม่จบ และในขณะนี้เป็นเพียงการรับรู้ปัญหาและเริ่มทำการแก้ไขเท่านั้น ดังนั้น การเข้ามาของเลแมนฯ ไม่ใช่เพียงการทำธุรกิจเท่านั้น "แต่แสดงถึง commitment ที่ทางเลแมนฯ มีต่อประเทศไทยในการตัดสินใจลงทุนระยะยาว" กิติวลัย กล่าว

เพราะขอบเขตงานของเลแมนฯ ซึ่งมีธุรกิจหลัก 5 ประเภทอันได้แก่ งานด้านวาณิชธนกิจ ตราสารหนี้ หุ้นตราสารอนุพันธ์ และบริการปัจเจกบุคคล เหล่านี้ถือเป็นงานที่เลแมนฯ มีความเชี่ยวชาญและจะนำมาใช้กับลูกค้าในประเทศไทยมากขึ้น เพราะเลแมนฯ มองว่าโอกาสในการดำเนินธุรกิจของลูกค้ายังมีอยู่ตลอด ไม่ว่าเศรษฐกิจจะอยู่ในลักษณะขาขึ้นหรือขาลง

"ที่ปรึกษาทางการเงินที่จะมีบทบาทตรงนี้มาก เพราะมีความเชี่ยวชาญและรู้ว่าบริการใดเหมาะสมกับลูกค้าประเภทใด" กิติวลัยกล่าว

ยกตัวอย่างกรณีหุ้นกู้ ถือเป็นเครื่องมือทางการเงินที่มีความหลากหลายในตัวเอง ที่เรียกว่า Specific Type of Market คือจะมีผู้สนใจลงทุนอยู่ทุกช่วงของความเสี่ยงในหุ้นกู้แต่ละประเภท หมายความว่าไม่ว่าหุ้นกู้นั้นๆ จะมีความเสี่ยงมากจนเป็น Junk Bond หรือมีความเสี่ยงน้อย ก็จะมีกลุ่มนักลงทุนที่สนใจอยู่ทุกกลุ่ม เพราะตลาดในต่างประเทศเป็นตลาดใหญ่มีนักลงทุนมาก และมีกำลังซื้อมหาศาล โดยเฉพาะตลาดในสหรัฐฯ ดังนั้นจะมีผู้ซื้อและผู้ขายตลอด เพียงแต่ต้องจับคู่ให้ลงตัวเท่านั้น ซึ่งนี่ถือเป็นงานของที่ปรึกษานั่นเอง

ทั้งนี้ สำหรับตัวเครดิตเรตติ้งเองนั้น กิติวลัยให้ความเห็นว่าในสายตาของนักลงทุน เป็นเพียงตัวชี้บ่ง (indicator) ตัวหนึ่งเท่านั้นในการตัดสินใจ เพราะปกติในการระดมทุนด้วยการออกตราสารต่างๆ นั้น การคำนวณโครงสร้างต่างๆ ของตราสาร ต้องนำเครดิตเรตติ้งมาคิดหักลบ (discount) ออกจากปัจจัยพื้นฐานอยู่แล้ว ดังนั้นเรตติ้งต่างๆ ที่ออกมาจะเป็นเพียงตัวช่วยเสริมในการมองหรือพิจารณาของนักลงทุนเท่านั้น แต่ไม่ใช่ตัวสลักสำคัญอะไรนัก เพราะหลักๆ ก็ยังดูจากผลการดำเนินงานในอดีตและปัจจุบัน (Track Record) และตัวผู้บริหารอยู่แล้ว

มองวิกฤตเป็นบทเรียน

ปัจจุบันแม้สถานการณ์ในประเทศจะมีปัญหา ทั้งในตลาดเงินและตลาดทุนก็ตาม แต่ในความเห็นของกิติวลัยแล้ว ถ้ามองในแง่ดีก็ถือเป็นประโยชน์หรือเป็นบทเรียน อย่างกรณีการออกตราสาร ซึ่งจะมีผลทั้งในแง่ของนักลงทุน (investor) และผู้ออกตราสาร (issuer)

กรณีนักลงทุนเองสมัยก่อนอาจจะดูเพียง track record ก็เพียงพอแล้วสำหรับการลงทุน แต่ในขณะนี้ไม่ใช่แล้วต้องเลือกมากขึ้น ระมัดระวังตัวมากขึ้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเป็นผลดีต่อตลาดโดยรวมที่จะมีการพัฒนาและทำให้แข็งแกร่งขึ้น

"เพราะจริงๆ แล้ว แม้สถานการณ์เศรษฐกิจเป็นเช่นนี้ก็ใช่ว่าจะแย่ไปทุก sector ที่น่าสนใจและยังมีศักยภาพอยู่ก็คือ sector ของแบงก์และพลังงาน" กิติวลัยกล่าว แต่ทั้งนี้ต้องการความโปร่งใสและเปิดเผยข้อมูลให้กับนักลงทุนมากกว่าในอดีต เพราะสิ่งนี้ยังเป็นข้อกังขาสำหรับนักลงทุนต่างชาติ และทำให้ไม่แน่ใจที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศ

ซึ่งก็เชื่อมโยงมาถึงตัว issuer เองที่กิติวลัยมองว่าต้องเตรียมตัวให้พร้อม คือ มีความโปร่งใสมากขึ้น ซึ่งสิ่งนี้เป็นสิ่งที่สำคัญมาก นอกเหนือจากเรื่องการบริหารงานขององค์กรที่มีประสิทธิภาพแล้ว เพราะอย่างที่กล่าวไว้ถ้านักลงทุนไม่เชื่อ ก็ไม่สามารถดึงเงินต่างประเทศให้เข้ามาลงทุนในไทยได้

เรื่องความโปร่งใสนี้ถือเป็นเรื่องสำคัญมากในการดึงคนเข้ามาลงทุน เพราะถ้าไม่มีความโปร่งใส ทำให้คนเกิดความเคลือบแคลงและไม่มั่นใจในที่สุดก็จะไม่มีใครกล้าเข้ามาลงทุน ซึ่งประเด็นนี้เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันมาก โดยเฉพาะขั้นตอนการแยกหนี้ดีและหนี้ที่มีปัญหาของ 56 ไฟแนนซ์ว่าจะลงเอยเช่นไร?

จากการประเมินคร่าวๆ ว่าจะมีหนี้ดีประมาณ 2-3แสนล้านบาท ในขณะที่หนี้ที่มีปัญหาประมาณ 7-8 แสนล้านบาท เกณฑ์ในการพิจารณาจะต้องมีความชัดเจนและเป็นที่ยอมรับในวงกว้าง เพราะถ้ามีความเคลือบแคลงน่าสงสัยตั้งแต่เริ่มต้น กระบวนการต่อมาก็ยากที่จะเกิดขึ้นได้

ในอดีต เลแมนฯ เคยมีประสบการณ์เรื่องการแยกหนี้ในสหรัฐอเมริกา เพราะเลแมนฯ ได้มีโอกาสทำงานอย่างใกล้ชิดกับ Resoration Trust Corporation (RTC) ซึ่งเป็นองค์กรที่ทำหน้าที่บริหารสินทรัพย์ของสถาบันการเงินที่มีปัญหา "หากเราสามารถนำประสบการณ์ของเลแมนฯ มาประยุกต์ใช้กับบ้านเราก็คงจะช่วยได้มาก" กิติวลัยกล่าว

เธอมีความเห็นว่า "ในการพิจารณาจะต้องมีเกณฑ์มาตรฐานที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากล เพราะนักลงทุนเราเป็นต่างชาติ เท่านั้นยังไม่พอราคาสินทรัพย์ที่ได้ต้องเป็นราคาที่เรียกว่า Right Price ไม่ใช่เพียงความพอใจของทุกฝ่ายหรือ Fair Price เท่านั้น เพราะต้องเป็นราคาที่เหมาะสมและยอมรับได้ มีมูลค่าตรงตามความจริง ที่ทำให้นักลงทุนที่ซื้อไปสามารถนำไปขายต่อได้เช่นกัน มิฉะนั้นก็คงไม่มีใครสนใจซื้อ หรืออาจจะถูกกดราคาจนต่ำกว่ามูลค่าที่ควรจะเป็น ซึ่งย่อมหมายถึงความเสียเปรียบที่เราจะได้รับอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้"

ในมุมมองของกิติวลัยเองกระบวนการแยกหนี้นั้นต้องทำแบบค่อยเป็นค่อยไป อย่างในสหรัฐฯ ที่เลแมนฯ ได้เข้าไปมีส่วนร่วมนั้นใช้เวลาถึง 5 ปี กว่าจะจัดการขายสินทรัพย์หมด เพราะอะไรก็ตามถ้ารีบขายจะได้ราคาถูกกว่ามูลค่าที่ควรจะเป็นเสมอ

ดังนั้น โดยรวมแล้วกิติวลัยก็เป็นอีกคนหนึ่งที่เห็นว่าสามารถทำวิกฤตให้เป็นโอกาสได้ ด้วยการมองว่า

1. เวลานี้เป็นจังหวะสำคัญที่คนไทย นักธุรกิจไทย บริษัทไทย รวมทั้งประเทศไทยเอง ที่ต้องหาทางแก้ไขปัญหาข้อบกพร่องต่างๆ ที่ยังคั่งค้างและเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินธุรกิจดังเช่นในอดีตที่ผ่านมา

2. ควรเร่งแก้ไขปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ให้พร้อม อาทิ ข้อมูลที่โปร่งใส การบริหารงานที่มีประสิทธิภาพ

เพราะไทยเองนั้น ในระยะยาวแล้วยังน่าเชื่อถือและน่าลงทุนในสายตานักลงทุนต่างชาติอยู่ แต่มีอีกหลายด้านที่ต้องมีการพัฒนาให้เท่ากับระดับนานาชาติ เพราะปัจจุบันโลกแคบลง (Globalisation) ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นที่ไหนทุกคนจะได้รับผลกระทบหมดไม่โดยตรงก็โดยอ้อม และจะกระทบไปยังธุรกิจต่างๆ ในลักษณะที่เป็นลูกโซ่ไปเรื่อยๆ อย่างที่เห็นกันอยู่คือเรื่องค่าเงินในภูมิภาคเอเชีย ก็เป็นตัวอย่างที่ดี

นอกจากนี้ การที่โลกแคบลงนี้เองยังส่งผลให้การเคลื่อนย้ายข้อมูลเป็นไปได้อย่างรวดเร็ว อาทิ การใช้อินเตอร์เน็ต สิ่งเหล่านี้จะเป็นตัวเร่งอีกอันหนึ่งที่ทำให้ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในตลาดหนึ่งๆ จะขยายตัวลุกลามไปยังตลาดอื่นๆ อย่างรวดเร็ว

"การสื่อสารที่รวดเร็วนี้ก็ทำให้ที่ปรึกษามีความสำคัญมากขึ้น แต่ต้องเลือกที่มี commitment ต้องเป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญและมีผลงานในอดีตที่ดี (Track record)" กิติวลัยกล่าว

แต่ใช่ว่าการมีที่ปรึกษาที่ดี มีการบริหารงานที่ดีแล้วจะเพียงพอ เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นในอดีต จนลุกลามใหญ่โตมาถึงในปัจจุบันอย่างวงการไฟแนนซ์บ้านเรานั้น กิติวลัยมองว่าสิ่งสำคัญคือ การได้รับข้อมูลที่ไม่ถูกต้องของผู้บริหาร ส่งผลให้การตัดสินใจผิดพลาด ทำให้การบริหารงานผิดไปจากแนวทางที่ควรจะเป็น

เป็นที่น่าสังเกตว่า ไม่เพียงแต่ในระดับบริษัทเท่านั้นที่มีข้อมูลที่ไม่ถูกต้องโปร่งใส เมื่อข้อมูลดังกล่าวถูกส่งต่อไปยังการบริหารในระดับประเทศ ก็ยิ่งทำให้โดยรวมแล้วเกิดการผิดพลาดมากขึ้นด้วยเช่นกัน หรือบางครั้งแม้จะมีข้อมูลที่ถูกต้อง แต่ไม่ได้รับการเปิดเผยจากทางการอย่างเพียงพอ ก็ทำให้การดำเนินธุรกิจเป็นไปอย่างลำบากเช่นกัน

"หลังจากนี้ก็ต้องมาดูกันอย่างใกล้ชิดว่าในการเปิดเผยข้อมูลที่กำกับโดยรัฐจะเป็นอย่างไร อย่างเช่นการประกาศแยกสินทรัพย์ดีกับสินทรัพย์ที่มีปัญหาของ 56 ไฟแนนซ์ โดยขั้นแรกจะนำสินทรัพย์ดีมาประมูลขายนั้น ต้องพิจารณาถึงเกณฑ์ในการพิจารณาแยกประเภทสินทรัพย์ และข้อมูลที่จะให้กับผู้ที่สนใจประมูลว่ามีความโปร่งใสมากน้อยเพียงใด และนี่เป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างความโปร่งใสของข้อมูลว่าจะเป็นที่ยอมรับหรือไม่ มีการตระหนักถึงปัญหามากน้อยเพียงใด และที่สำคัญทันต่อเหตุการณ์หรือไม่" กิติวลัยกล่าว

เลแมนฯ เล็งไทย..เล็งยาว

เลแมนฯ สะสมประสบการณ์ในฐานะบริษัทชั้นนำระดับ Top 5 ในตลาดหุ้นวอลล์สตรีท มาเป็นเครื่องการันตีว่าเมืองไทยรอดแน่ในระยะยาว และไม่พูดเปล่า แต่มั่นใจถึงขั้นเข้ามาลงทุนในประเทศอย่างชนิดปักหลัก ช่วงต้นยังมีพนักงานไม่มากนัก มีบุคลากรไทยรวมทั้งกิติวลัยด้วยแล้วเพียง 3 คน แต่ในอนาคตกิติวลัยยืนยันว่า จะพยายามให้โอกาสคนไทยที่มีความสามารถเข้ามาร่วมงานด้วยแน่นอน

กลับมาที่ความมั่นใจในประเทศไทยของบริษัทยักษ์ใหญ่อย่างเลแมนฯ นั้นย่อมไม่เป็นเพียงการกล่าวเพื่อหวังผลทางธุรกิจเพียงอย่างเดียว แต่อยู่บนข้อเท็จจริงที่ได้จากการศึกษาวิจัยมาก่อนหน้า เพราะในความเป็นจริงแล้ว แม้อนาคตจะสดใส แต่ปัญหาเฉพาะหน้าที่ต้องแก้ไขยังมีอยู่ นั่นคือปัญหาการขาดสภาพคล่อง

เป็นที่ทราบกันว่า มีนักลงทุนต่างประเทศจำนวนไม่น้อยที่กำลังจับตามองประเทศไทยอยู่ เหมือนกับที่หลายๆ คนพูดว่า ตอนนี้ฝรั่งเอาเงินมากองที่ประตูบ้านแล้ว รอเพียงความชัดเจนของนโยบายและการปฏิบัติของทางภาครัฐเท่านั้น ที่จะไม่มีการเปลี่ยนแปลง จนทำให้ปัจจัยต่างๆ ดิ่งลงไปอีก และสมัยก่อนต่างชาติดูเพียงนโยบายรัฐก็ลงทุนแล้ว แต่ตอนนี้เขาต้องดูถึงนโยบายไปปฏิบัติใช้ด้วย (impliment) รวมทั้งดูลึกไปว่าทำไปแล้วผลที่ออกมาเป็นอย่างไร คือระวังมากขึ้นกว่าเดิมมาก

ดังนั้นปัญหาที่ตามมาคือ ทำอย่างไรให้นักลงทุนมีความแน่ใจว่าถึงจุดที่ควรลงทุนแล้ว หรือรอไปก็ไม่มีอะไรถูกไปกว่านี้อีกแล้ว รังแต่จะทำให้ธุรกิจย่ำแย่และฟื้นตัวได้ยาก ซึ่งจะหมายถึงต้นทุนที่จะลงทุนก็ต้องสูงขึ้นและเสียเวลามากขึ้นด้วย

อย่างไรก็ตามธุรกิจของไทยยังไม่ถึงทางตันเสียทีเดียว เพราะแนวทางที่ภาครัฐประกาศออกมาและปฏิบัติใช้ อาทิ การประกาศผ่านแผนฟื้นฟู 2 บริษัทไฟแนนซ์ ก็ไม่ทำให้ผิดความคาดหวังมากนัก และเป็นที่ยอมรับทั้งในและต่างประเทศ ก็ถือเป็นสัญญาณที่ดีอย่างหนึ่งเหมือนกัน

นอกจากนี้ ช่องทางการระดมทุนเพื่อเสริมสภาพคล่องของบริษัทยังมีอยู่บ้าง ซึ่งในช่วงนี้วิธีการที่น่าสนใจคือ การระดมทุนระยะยาวในตลาดทุน เช่น ออกแยงกี้ บอนด์, การแปรรูปสินทรัพย์ หรือ Securitisation และการระดมเงินจากหุ้นทุน ด้วยการเพิ่มทุนจดทะเบียนนำมาเสริมฐานเงินทุนของบริษัท ส่วนว่าจะมีความเหมาะสมกับบริษัทใดนั้น ต้องเป็นการพูดคุยระหว่างบริษัทผู้ออกกับที่ปรึกษาทางการเงิน

การออกตราสารหนี้ ประเภท 10 ปี หรือ 15 ปี นั้นต้องมีการทำสวอป (swap) เพื่อป้องกันความเสี่ยงไว้บ้าง เพื่อให้บริษัทผู้ออกสามารถคำนวณต้นทุนและรู้สถานภาพของตัวเองบ้างพอสมควร โดยเฉพาะในแง่ของอัตราแลกเปลี่ยน

สำหรับการทำ securitisation หรือการแปลงหนี้ให้เป็นทุน แม้แนวคิดจะดี แต่ต้องใช้เวลาในการปรับปรุงระเบียบวิธีและขั้นตอนการทำให้รัดกุม และมีประสิทธิภาพมากกว่านี้ มิฉะนั้นจะเป็นเหมือนในอดีตที่เรามีองค์การบริหารสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ (อบส.) เรามี Property Fund เรามีตลาดรองสินเชื่อเพื่อการเคหะและสินเชื่อเพื่ออสังหาริมทรัพย์ (Secondary Mortage Corporation : SMC) เรามีหน่วยงานอีกมากมาย แต่ไม่สามารถทำงานได้อย่างแนวทางที่วางไว้ เพราะติดปัญหาในเรื่องการทำงานที่ไม่ประสานสอดคล้องทั้งๆ ที่ทำหน้าที่ในขอบข่ายงานที่คล้ายคลึงกัน ผลจึงลงเอยว่าแนวคิดดีแต่ทำไม่ได้

นอกจากการระดมทุนที่จะมาช่วยสภาพคล่องแล้ว วิธีหนึ่งซึ่งเลแมนฯ ถนัดและมองว่าเป็นประโยชน์ต่อประเทศคือ การแปรรูปกิจการ (Privatization) ซึ่งในกรณีประเทศไทยที่ทำอยู่คือการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ซึ่งเลแมนฯ ก็ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาในการแปรรูปกิจการให้แก่ 3 หน่วยงานรัฐ ได้แก่ การท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย รวมทั้งรับทำประเมินองค์กร (Valuation) ให้กับองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย เพื่อเข้าโครงการแปรรูปด้วยเช่นกัน ซึ่งถ้าโครงการนี้สามารถดำเนินงานได้จริงและได้เร็วเท่าไร งานบริการที่หน่วยงานเหล่านี้ดูแลอยู่ก็จะเกิดความคล่องตัวและมีประสิทธิภาพมากขึ้น นั่นหมายถึงผลประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับนั่นเอง

นอกจากงานข้างต้นที่ได้กล่าวมาแล้วนั้น การมาตั้งสำนักงานตัวแทนในประเทศไทยอย่างเป็นรูปเป็นร่างของเลแมนฯ ก็จะช่วยให้นำบริการที่มีอยู่มาเสนอให้กับบริษัทธุรกิจหรือหน่วยงานของรัฐเลือกใช้ได้ดียิ่งขึ้น นี่จึงเป็นอีกเหตุผลหนึ่งเช่นกันที่ทำให้เลแมนฯ เข้ามาเปิดสำนักงานตัวแทนจากเดิมที่ใช้ฮ่องกงเป็นฐานอยู่ระยะหนึ่ง

เลแมน บราเดอร์ส เป็นธนาคารด้านการลงทุน (Invesment Banking) ในระดับโลกมานานกว่า 150 ปี มีชื่อเสียงทางด้านวาณิชธนกิจ บริการให้คำปรึกษาด้านการเงิน การขายตราสารหนี้ การขายและค้าหลักทรัพย์ และการวิจัยความเชี่ยวชาญเหล่านี้คาดว่า จะถูกนำเข้ามาใช้และเป็นประโยชน์ต่อเมืองไทยมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงที่ประเทศกำลังมีปัญหาเรื่องสภาพคล่อง

สำหรับในภูมิภาคเอเชียนี้ เลแมนฯ ได้เข้ามาทำธุรกิจให้คำปรึกษาด้านการเงินแก่ธนาคารและรัฐบาลประเทศต่างๆ ตลอดจนองค์กรสำคัญหลายแห่ง ตั้งแต่ พ.ศ. 2443 และปัจจุบันถือว่า เป็นองค์กรที่ได้จัดและรับประกันการจำหน่ายหุ้นและตราสารหนี้ที่ใหญ่ที่สุด ให้กับประเทศจีน อินเดีย อินโดนีเซีย เกาหลี และประเทศไทย ซึ่งผลงานแต่ละอย่างก็ประสบความสำเร็จเป็นที่ยอมรับทั้งนั้น

แม้ว่าในประเทศไทยจะเกิดความผิดพลาดสำหรับกรณีของ บง. เอกธนกิจ (Fin1) แต่นั่นก็เป็นเพียงรายเดียวเท่านั้น และถือว่าเป็นกรณีศึกษาที่ทุกฝ่ายเข้าใจได้ในเรื่องความโปร่งใสของข้อมูลที่ได้รับ ทำให้เกิดเหตุการณ์เช่นนั้นขึ้น

สำนักงาน เลแมนฯ ในไทยมีจำนวนลูกค้าเดิมที่เชื่อมือกันมานานอยู่มาก ประกอบกับการได้กิติวลัยมาเป็นหัวหน้าในเมืองไทย ซึ่งเป็นคนในพื้นที่ย่อมเข้าใจตลาดเป็นอย่างดี และคงมีฐานลูกค้าจาก Fin1 อยู่ไม่ใช่น้อย ซึ่งลูกค้าเหล่านี้ก็ล้วนแต่เป็นระดับคุณภาพทั้งนั้น เมื่อรวมกับลักษณะการทำงานที่พยายามรับความเสี่ยงให้น้อยที่สุด และมีการคัดเลือกลูกค้าอย่างระมัดระวังจนติดจะอนุรักษนิยมด้วยแล้ว ย่อมทำให้ธุรกิจในไทยที่เคยดีอยู่จะยิ่งดีขึ้นไปอีกมาก

การเข้ามาตั้งสำนักงานตัวแทนในประเทศไทยของเลแมนฯ แม้จะมาหลังคู่แข่งอย่างโกลด์แมน แซค และเมอร์ริล ลินช์ ก็ตาม แต่ก็ไม่ถือว่าช้าเกินไป เพราะยังมียักษ์ใหญ่รายอื่นที่ยังไม่ได้เข้ามาอีก เช่น เจพี มอร์แกน เป็นต้น

แต่ที่สำคัญไปกว่านั้นคือ การตั้งสำนักงานครั้งนี้ถือเป็นโอกาสสำคัญของทั้งเลแมนฯ ที่จะเข้ามาทำธุรกิจในไทยได้มากขึ้นและคล่องตัวขึ้น ในขณะที่ประเทศไทยก็จะได้เทคโนโลยีจากต่างชาติ และด้วยขนาดของบริษัทก็ดี ความสามารถจนเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติก็ดี การเข้ามาของเลแมนฯ ถือเป็นสัญญาณที่ดีสำหรับประเทศไทย ที่จะทำให้นักลงทุนต่างชาติมองเห็นถึงศักยภาพของประเทศไทย ว่ายังมีอนาคตอยู่อย่างแน่นอน



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.