KTCปรับรอธปท.คุมเข้ม


ผู้จัดการรายวัน(9 มีนาคม 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

ผู้บริหาร "บัตรกรุงไทย" ปรับกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจเพื่อรองรับการประกาศใช้มาตรการควบคุมการปล่อยสินเชื่อส่วนบุคคลของ ธปท.ที่จะนำมาประกาศใช้ พร้อมปรับลดเป้าสินเชื่อบุคคลปีนี้โตแค่ 1 พันล้านบาท และขยายกลุ่มลูกค้าที่มีรายได้สูงเกิน 1 หมื่นบาทต่อเดือน ด้าน ธปท. ยืนยันไม่ผ่อนปรนเกณฑ์คุมธุรกิจบัตรเครดิต

หลังจากที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกมาระบุว่า ธปท.กำลังอยู่ระหว่างการศึกษาเพื่อหาหลักเกณฑ์ออกมาควบคุมสถาบันการเงินที่ทำธุรกิจให้สินเชื่อส่วนบุคคล โดยกรอบเบื้องต้นอาจจะมีการกำหนดเพดานการคิดอัตราดอกเบี้ย ค่าธรรมเนียม และเงินเดือนขั้นต่ำของผู้กู้ ซึ่งหลักเกณฑ์ต่างๆ ที่จะนำมาใช้อาจจะคล้ายกับหลักเกณฑ์การควบคุมธุรกิจบัตรเครดิตนั้น

นายธวัชชัย ธิติศักดิ์สกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารอาวุโส บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) KTC กล่าวว่า จากมาตรการของธปท. ทำให้บริษัทต้องมีการปรับแผนการดำเนินธุรกิจใหม่เพื่อรองรับมาตรการคุมเข้มการปล่อยสินเชื่อส่วนบุคคลทั้งนี้ ในปี 2548 นี้ บริษัทตั้งเป้าเพิ่มยอดสินเชื่อบุคคลไว้เพียง 1,000 ล้านบาท เนื่องจากตลาดมีความเสี่ยงสูงขึ้น จากการที่ ธปท.จะเข้ามาควบคุม ขณะเดียวกันบริษัทได้ปรับเพิ่มกลุ่มเป้าหมายโดยกำหนดให้มีรายได้ตั้งแต่ 1 หมื่นบาทต่อเดือนขึ้นไป รวมทั้งการรักษาระดับอัตราดอกเบี้ยให้ใกล้เคียงกับธนาคารพาณิชย์ของรัฐบาล เพื่อป้องกันผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น

"หากธปท.เข้าคุมสินเชื่อบุคคล บริษัทจะมีผลกระทบไม่ถึง 10 ล้านบาท จากจำนวนสินเชื่อที่ปล่อยและถ้ามีการหักค่าใช้จ่ายผลกระทบก็จะมีไม่ถึง 2 ล้านบาท"

นายสามารถ บูรณวัฒนาโชค ผู้อำนวยการอาวุโส สายนโยบายสถาบันการเงิน ธปท. กล่าวว่า หลังจากที่ ธปท.ได้ประกาศใช้หลักเกณฑ์ควบคุมธุรกิจบัตรเครดิต โดยกำหนดให้ผู้ประกอบการปล่อยสินเชื่อให้ลูกค้าผู้ถือบัตรเครดิตได้ไม่เกิน 5 เท่าของรายได้ ที่ออกมาบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 6 มีนาคม 2547 นั้น หากลูกค้ารายเก่าที่มีวงเงินเกินกว่า 5 เท่าของรายได้ ทางธนาคารพาณิชย์เจ้าของบัตรต้องปรับลดวงเงินลงมา หรือต้องยกเลิกการใช้บัตรเครดิตไป ซึ่งหากไม่ปฏิบัติตามจะถือว่าผิดกฎหมาย

ส่วนลูกค้าเก่าที่มีรายได้ไม่ถึง 15,000 บาทต่อเดือน หากหมดอายุสัญญาแล้ว และรายได้ไม่ถึง 15,000 บาทต่อเดือน ผู้ประกอบการจะต้องยกเลิกการใช้บัตรเครดิตเช่นกัน

นายสามารถกล่าวถึงกรณีที่ชมรมผู้ประกอบการบัตรเครดิตขอปรับขึ้นเพดานดอกเบี้ยสินเชื่อบัตรเครดิต ตามทิศทางอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในช่วงขาขึ้นว่า ขณะนี้ยังไม่ได้รับหนังสือคำร้องการขอปรับอัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิตจากสถาบันการเงินใดๆ ทั้งสิ้น แต่หากเสนอมา ธปท. จะพิจารณาในเหตุผลของผู้ประกอบการและผลกระทบด้านต่างๆ

"ธปท. ได้ออกกฎคุมสินเชื่อบัตรเครดิตไปแล้ว การดำเนินธุรกิจของสถาบันการเงินก็ยังมีการขยายตัวดีมีกำไรอยู่ ขณะที่ต้นทุนเพิ่มสูงขึ้น สถาบันการเงินเองน่าจะมีวิธีในการบริหารต้นทุนของตัวเองให้สามารถแข่งขันได้" นายสามารถกล่าว

แหล่งข่าวจาก ธปท.กล่าวว่า หาก ธปท.ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของสินเชื่อบัตรเครดิต คงต้องพิจารณาจากผลประกอบการและผลกำไรของสถาบันการเงิน รวมทั้งรายละเอียดของสถาบันการเงินที่ส่งมาด้วย ต้องดูว่าดอกเบี้ยนโยบายที่ปรับขึ้นจะส่งผลต่อต้นทุนของผู้ประกอบการเพียงใด

"ธปท.จะพิจารณาจากเหตุผลเป็นหลัก รวมทั้งคำนึงถึงความเหมาะสมต่อผู้ประกอบการผู้บริโภคและด้านสังคมด้วย เนื่องจากตัวเลขหนี้ภาคครัวเรือนในขณะนี้ยังอยู่ในระดับที่สูงพอสมควร"


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.