อานันท์ ปันยารชุน "ถึงเวลาที่เราต้องกลับไปสู่สิ่งที่เรียกว่า พื้นฐาน"


นิตยสารผู้จัดการ( มกราคม 2541)



กลับสู่หน้าหลัก

ว่าทิศทางของบริษัทจะไปในทิศทางไหน เราพูดถึงการเมืองว่าจะต้องมี GOOD GOVERNANCE ทางด้านเอกชนจะต้องมี GOOD CORPERATE GOVERNANCE ความผิดพลาดในอดีตจะต้องหยุดไป ทิศทางใหม่จะต้องเป็นทิศทางที่จะร่วมกับภาครัฐบาล ที่จะนำเมืองไทยไม่ให้กลับไปสู่ยุคฟองสบู่

ไม่ใช่กลับไปในลักษณะที่อสังหาฯ ราคาพุ่งพรวด ไม่ใช่กลับไปสู่วันดีคืนดีชาวไร่ชาวนาหรือคนเลี้ยงวัวเป็นเศรษฐีทันตา ไม่ใช่กลับไปสู่การที่ใครอยากสร้างอะไรก็สร้างได้ แต่จะต้องกลับไปในลักษณะที่เป็นการพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นการพัฒนาที่ยึดถือหลักการว่า โตเท่าที่เราโตได้ โตเท่าที่ทรัพยากรของชาติและพละกำลังของชาตินั้น จะสามารถทำให้มีความยั่งยืนได้ด้วยตัวเอง

ถึงเวลาแล้วครับ ใครช่วยอะไรจากข้างนอกได้เรายินดี ถึงเวลาแล้วครับ ที่เราจะต้องกลับไปสู่สิ่งที่เรียกว่าพื้นฐานกลับไปสู่การพัฒนาที่ให้ความสำคัญกับพื้นที่ การพัฒนาที่ให้ความสำคัญกับทรัพยากรที่เรามีอยู่ การพัฒนาที่ยึดติดหรือมีความผูกพันโยงใยกับกระแสปละพลังของท้องถิ่น การพัฒนาที่ไม่หวือหวา การพัฒนาที่ไม่ทำให้คนร่ำรวย

แต่เป็นการพัฒนาที่ทำให้เกิดการสร้างงานให้คนมีรายได้ทั่วถึงกันทุกๆ สังคมจะอยู่ไม่ได้ถ้ามีแต่คนรวยกับคนจน เราต้องพยายามสร้างสังคมของเรา ในแนวทางของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในลักษณะที่ยั่งยืน ในลักษณะที่เป็นนายของตัวเอง และในลักษณะที่เป็นประโยชน์แก่คนในสังคมโดยทั่วไป ไม่ใช่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

นี่แหละครับคือจุดเป้าหมายในสายตาของผม ที่อยากเห็นภาครัฐบาลและภาคเอกชน มีนโยบายและมาตรการดำเนินงานสอดคล้องกันไป ในอันที่จะทำให้สังคมเราพ้นวิกฤติแล้วเริ่มต้นฉากใหม่ เริ่มต้นศักราชใหม่ ศักราชที่เฮฮาได้ แต่จะต้องเป็นการเฮฮาโดยถ้วนหน้ากัน มิใช่เฮฮาเฉพาะกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

สถาพร กวิตานนท์

"ตลาดต่างประเทศ กำลังซื้อมีอีกมาก"

สถาพร กวิตานนท์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ กล่าวว่า จากนโยบายของรัฐบาลในเรื่องนโยบายส่งเสริมการลงทุน ภาวการณ์ปัจจุบันควรจะเร่งให้มีการส่งเสริมอุตสาหกรรมการเกษตร และกิจการเกษตร โดยเฉพาะกิจการที่ผลิตวัตถุดิบป้อนโรงงานุตสาหกรรมการเกษตรให้มากขึ้น

สำหรับอุตสาหกรรมขนาดเบา ที่เป็นซับ คอนแทรคท์ให้มีโอกาสและช่องทางมากขึ้น ช่วยให้ผู้ที่ว่างงานได้มีโอกาสในการทำงานในกิจการที่ช่วยสนับสนุนอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เช่น อุตสาหกรรมชิ้นส่วน รถยนต์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ส่งวัตถุดิบป้อนเข้าโรงงาน เป็นโอกาสในการสร้างงานเพิ่มขึ้น พัฒนาคุณภาพของวัตถุดิบในประเทศ ลดการนำเข้าจากต่างประเทศ ประหยัดต้นทุน

สถาพรย้ำว่า อุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มที่ดีในปีหน้านั้น ควรเป็นการผลิตเพื่อการส่งออกไปต่างประเทศ เพราะตลาดต่างประเทศยังมีความต้องการ และกำลังซื้ออีกมาก

ความช่วยเหลือในภาครัฐนี้ นอกจากการวางแนวทางนโยบายจากทางรัฐบาลแล้ว หน่วยงานรัฐอย่างบีโอไอก็ได้มีการเริ่มมาตรการให้การสนับสนุนธุรกิจขนาดเล็กแล้ว

จากที่ผ่านมาในปี 2540 รูปแบบการขอรับการส่งเสริมได้เปลี่ยนแปลงไป จากการที่ลงทุนเคยกระจุกตัวอยู่ในอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่ใช้ทุนเข้มข้น (Capital Intensive Industries) ที่เน้นผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ เช่น อุตสาหกรรมเหล็ก ยานยนต์ ปิโตรเคมี ฯลฯ ได้เปลี่ยนแปลงมาเป็นการขอรับการส่งเสริมการลงทุน ในโครงการที่ผลิตเพื่อส่งออกที่มีการจ้างงานมาก เนื่องจากเงินบาทมีค่าอ่อนตัวลง และปัญหาขาดแคลนแรงงานได้ลดความรุนแรงลง อุตสาหกรรมที่นักลงทุนยังมีความสนใจอยู่มาก คือ อิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมการเกษตร สิ่งทอ และเครื่องนุ่งห่ม

อภิรักษ์ วรรณสาธพ "ยิ่งรายเล็กแข็ง รายใหญ่ก็ยิ่งแข็ง และขยายใหญ่ขึ้นได้"

อภิรักษ์ วรรณาสาธพ ผู้อำนวยการฝ่ายแผนงานของบีโอไอ กล่าวเสริมถึงงานของบีโอไอในส่วนที่ให้ความช่วยเหลือกิจการขนาดกลางและเล็กว่า การให้การสนับสนุนผู้ประกอบการรายย่อย กลไกจริงๆ น่าจะอยู่ที่ปัจจัยหลักสามประการคือ กระทรวงอุตสาหกรรม สถาบันการเงิน และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

เพราะผู้ประกอบการรายย่อยทั่วไปนั้น สิ่งที่ขาดคือเงินกับโนว์ฮาว สองขั้นตอนนี้เป็นสองจุดแรกที่เขาต้องการก่อนที่จะมีการเริ่มต้น

กลไกรัฐที่เข้าไปช่วยได้อย่างกระทรวงอุตสาหกรรม มีสินเชื่อเพื่อุตสาหกรรมขนาดย่อม ซึ่งสามารถให้ความช่วยเหลือด้านการเงินได้ เรื่องเทคนิค การผลิต การประกอบการ เราดูว่าหน่วยงานไหนที่พร้อมที่สุด ก็คือกระทรวงอุตสาหกรรม เพราะเขามีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมจัดหลักสูตรให้

และทางกระทรวงอุตสาหกรรมเองก็มีสำนักงานให้ความช่วยเหลือดูแล อยู่ในทุกจังหวัดทั่วประเทศ ขณะที่ของบีโอไอมีน้อยกว่า

ด้านสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยเอง ก็มีแผนที่จะพัฒนาอยู่แล้วในอุตสาหกรรมขนาดย่อม เพราะส่วนของบีโอไอเองมีข้อจำกัดเรื่องกำลังคน งบประมาณ และลักษณะของอุตสาหกรรม หรือจากการที่คงไม่สามารถลงไปถึงรายย่อยได้หมดทุกประเภท ซึ่งหากเป็นสินค้าพื้นเมืองรายเล็กๆ ที่ทำเพื่อขายภายในชุมชนก็คงไม่จำเป็นต้องมาขอรับการส่งเสริม

อภิรักษ์ กล่าวว่า บีโอไอคงไม่ลงไปในกิจการที่ต่ำกว่า 1 ล้านบาท เพราะมีจำนวนอยู่มาก เพื่อไม่ให้แยกย่อยมากเกินไป แต่ทุกวันนี้ การลงทุน 1 ล้านบาทก็ไม่ได้มากนัก อุตสาหกรรมขนาดย่อมที่มีขนาดลงทุน 1 ล้านบาทมีจำนวนมาก กิจการก็ไม่ได้จำกัด ทั้งมูลนิธิ สหกรณ์เองก็สามารถมาขอรับการส่งเสริมได้ ซึ่งจะดูกิจการว่ามีลักษณะของอุตสาหกรรมเกิดขึ้น ถ้าเป็นเกษตรกรรายย่อยก็สามารถรวมกลุ่มกันได้

สิ่งที่บีโอไอเห็นว่าสามารถทำได้ถนัดมากที่สุดก็คือ การจับคู่กันระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขาย ทำด้านการตลาดให้ ถ้าเขามีเงินทุน มีโนว์ฮาว ซึ่งเป็นการผลิตชิ้นส่วนต้องการรู้ว่าจะขายตรงไหนเราก็ช่วยได้ หรือสมมุติว่ากิจการด้านจักสานต้องการส่งออก ก็สามารถไปหากระทรวงพาณิชย์ช่วยเหลือก็ได้

ซึ่งการทำงานของหน่วยงานรัฐ ใครเก่งตรงไหนก็ทำตรงนั้น อย่าให้มีการซ้อนกัน โดยให้แต่ละหน่วยงานมาช่วยประสานกัน ในการให้ความช่วยเหลือกับผู้ประกอบการรายย่อย ซึ่งอุตสาหกรรมการเกษตร กับอุตสาหกรรมรายย่อย มีความสามารถรองรับคนตกงานได้มากที่สุด

สำหรับอุตสาหกรรมเบา หรือกิจการรายย่อยที่มีอยู่แล้ว บีโอไอจะเข้าไปมีส่วนให้การส่งเสริมได้ในระดับที่สาม คือ การขยายการผลิตเพื่อการส่งไปจำหน่ายทั้งในประเทศและต่างประเทศ หลังจากที่ระดับแรกผู้ประกอบการเป็นเพียงรับสินค้ามาขาย และมีการทำเป็นอุตสาหกรรมรวมกลุ่มขายในท้องถิ่น ซึ่งทั้งสองขั้นนี้ ยังไม่มีความจำเป็นต้องรับการส่งเสริมการลงทุน

อุตสาหกรรมเบา ถ้าเป็นวิศวกรที่มีความรู้ มีการจ้างลูกจ้างเข้ามาทำงาน ผลิตชิ้นส่วนป้อนโรงงานขนาดใหญ่ เราก็สามารถสร้างกิจการที่มีเจ้าของเองได้ ยกตัวอย่างโครงการผลิตรถยนต์ของ จีเอ็มที่เข้ามาตั้งโรงงานในไทย เขาต้องการชิ้นส่วนในประเทศจำนวนมาก เพราะมีราคาถูกสามารถผลิตสินค้าส่งออกได้

ผู้ประกอบการรายย่อยรายเดิมที่มีอยู่แล้วก็สามารถเพิ่มกำลังการผลิต และพัฒนามาตรฐานให้เข้ากับที่จีเอ็ม หรืออาจเกิดรายใหม่ที่จะเข้าช่วยเสริมให้เท่ากับความต้องการของจีเอ็ม

"อุตสาหกรรมขนาดเล็กไม่ต้องการลงทุนสูง แต่ต้องการความเชี่ยวชาญมาก ความคล่องตัว เป็นจุดแข็งของธุรกิจขนาดกลาง และเล็ก ซึ่งอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ไม่มี หากอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ตัดภาระในเรื่องปลีกย่อย ก็มีเวลาไปพัฒนางานหลักให้ดีขึ้นได้ การพัฒนากิจการขนาดกลางและเล็ก จึงช่วยสนับสนุนให้อุตสาหกรรมใหญ่เข้มแข็งขึ้น"

อภิรักษ์แสดงความเห็นว่า เศรษฐกิจของประเทศไทยช่วงนี้เป็นเหมือนช่วงหลังสงครามอย่างที่ญี่ปุ่น หรือเยอรมนีเคยประสบมาแล้ว เป็นโอกาสที่ดีที่จะเข้าไปปรับปรุงอุตสาหกรรมขนาดกลาง กับขนาดเล็กให้มีเพิ่มมากขึ้น ที่สามารถเข้าไปช่วยสนับสนุนอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ได้

ยกตัวอย่างของเครื่องหนังที่อิตาลี ซึ่งปัจจุบันเป็นสินค้าคุณภาพดีได้รับการยอมรับจากตลาดโลก ก็ใช้วิธีจ้างผู้ประกอบการรายย่อยผลิตวัตถุดิบให้ผู้ประกอบการรายย่อยลงทุนน้อย คล่องตัวสูง มีความชำนาญ ผู้ผลิตรายใหญ่เองมีเวลาในการปรับปรุงด้านการตลาดเพื่อแข่งขันกันได้ ตัดราคากันได้ เพราะสินค้าแฟชั่นต้องมีการปรับปรุงได้รวดเร็ว พัฒนาตลาดและแข่งขันราคาได้ง่าย

"ยิ่งรายเล็กแข็ง รายใหญ่ก็ยิ่งแข็ง และขยายใหญ่ขึ้นได้" อภิรักษ์ย้ำ

ด้านอุตสาหกรรมการเกษตรของไทย เราเป็นประเทศที่มีศักยภาพสูงในด้านนี้ แต่ต่อไปการผลิตสินค้าเกษตรแบบเดิมคงทำไม่ได้อีกแล้ว ต้องมีการพัฒนาพันธุ์ ปรับปรุงตลาด สินค้ามีความสม่ำเสมอในการป้อนโรงงานมีมาตรฐานที่ดี

บีโอไอยังได้เสนอกับทางรัฐบาล ให้การส่งเสริมกับผู้ประกอบการรายย่อยในขนาดราคาลดลงที่ 500,000 บาทในเขต 4 หรือเขตพิเศษบริเวณ 12 จังหวัดภาคอีสาน ซึ่งศึกษาตัวเลขรายได้ของประชากรว่ามีความยากจนติดต่อกัน 10 ปีขึ้นไป ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของรัฐบาล ซึ่งเท่ากับเป็นการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยมากขึ้น

ถึงตอนนี้บทบาทของบีโอไอพยายามที่จะช่วยเหลือผู้ประกอบการรายเล็กมากขึ้น หากใครต้องการลงทุนในธุรกิจสาขาไหน และยังไม่มีความรู้พอที่จะดำเนินการก็สามารถมาหารือกับบีโอไอได้ โดยจะแนะนำให้ไปติดต่อหน่วยงานที่สามารถให้ความช่วยเหลือได้ ทั้งด้านเงินทุน และโนว์ฮาว



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.