พญาไทเพลสเข้าอบส.ก่อนก็ไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด


นิตยสารผู้จัดการ( มกราคม 2541)



กลับสู่หน้าหลัก

นับว่าเป็นโชคดีอย่างมาก ที่โครงการพญาไทเพลสเป็นโครงการอสังหาริมทรัพย์แห่งแรกที่เข้าองค์การ อบส. ได้ทันการตั้งแต่ประมาณเดือนกรกฎาคม 2540 ที่ผ่านมา ซึ่งหลังจากนั้นบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ เอ็ม.ซี.ซี. ซึ่งเป็นสถาบันการเงินที่สนับสนุนโครงการก็ถูกสั่งปิด การก่อสร้างโครงการก็เลยเสร็จเรียบร้อยตอนนี้เลยเร่งยอดขายอย่างเดียวเพื่อใช้เงินคืน อบส.

ต่อตระกูล ยมนาค กรรมการผู้จัดการใหญ่และผู้ถือหุ้นรายใหญ่โครงการนี้ได้เปิดเผยว่า เงินกู้ อบส. ประมาณ 265 ล้านบาทนั้นประมาณเดือนธันวาคมได้ใช้คืนไปแล้วประมาณ 160 ล้านบาท

อย่างไรก็ตามก็ยังมีปัญหาเกิดตามมาเช่นกันคือ จากโครงการทั้งหมดประมาณ 500 ยูนิตนั้นขณะนี้เหลือเพียงประมาณ 60 ยูนิตก็จริง แต่จากจำนวนทั้งหมดที่ขายได้นั้น มีลูกค้ายังค้างโอนอยู่เป็นจำนวนมากเพราะหาแหล่งเงินกู้ระยะยาวไม่ได้ ทำให้มีโอนไปแล้วเพียง 50% เท่านั้น

"ปัญหาแหล่งเงินกู้ระยะยาวเป็นปัญหาของโครงการอย่างมาก และเป็นปัญหาเร่งด่วนที่รัฐบาลควรให้ความสนใจ เพราะแม้โครงการนี้จะอยู่ภายใต้การดูแลของ อบส. ซึ่งเป็นองค์การของรัฐแท้ๆ แต่ก็ยังไม่มีเครดิตพอที่จะดึงแหล่งเงินกู้ระยะยาวมาได้" ยุทธนา สันติกุล กรรมการอีกท่านหนึ่งกล่าวกับ "ผู้จัดการรายเดือน"

แหล่งเงินกู้ระยะยาวที่ทางโครงการกำลังติดต่อให้ก็เลย มีแต่ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ซึ่งระยะนี้มีคิวการกู้ยาวมาก การโอนก็ล่าช้าตามไปด้วย ทางบริษัทจึงจำเป็นต้องหากลยุทธ์ใหม่ทางการขายเพื่อปล่อยยูนิตที่เหลือให้หมดเร็วที่สุด เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาทางด้านการเงิน

ต่อตระกูลเป็นอาจารย์และนักวิชาการ ที่คอยเป็นที่ปรึกษาให้ผู้ประกอบการรวยไปแล้วหลายคน วันดีคืนดีช่วงปี 2537 อาจารย์ต่อตระกูล ยมนาค อยากร่ำรวยเองบ้าง จึงชักชวนเพื่อนฝูง และผู้ใหญ่หลายท่านมาทำโครงการเอง คือ พญาไทเพลส อาคารพักอาศัยสูง 29 ชั้น ในพื้นที่ 2 ไร่ใจกลางเมือง บริเวณสี่แยกพญาไท เสร็จเรียบร้อยไปแล้วโดยพกเอาความมั่นใจเต็มร้อยว่า รูปแบบโครงการดีมาก ในขณะเดียวกันทำเลก็ดีกว่าอีกหลายๆ โครงการ เพราะอยู่ในใจกลางธุรกิจของกรุงเทพฯ สถานศึกษา โรงพยาบาล และห้างสรรพสินค้าหลายแห่ง

แต่จะดีอย่างไรก็หนีไม่พ้น เจอพิษสงเศรษฐกิจตกต่ำฟาดเอาเต็มเปาเหมือนกัน จากจำนวนที่เหลือประมาณ 60 ยูนิตนั้นเป็นยูนิตที่มีขนาดประมาณ 50 ตร.ม. ราคาเฉลี่ยประมาณ 3 ล้านบาท ซึ่งจำนวนนี้หากเป็นช่วงเศรษฐกิจดีๆ ทางเจ้าของโครงการมักจะเก็บไว้ เพื่อรอเวลาปล่อยขายในราคาที่ดีกว่า แต่ ณ ปัจจุบันนี้ยากที่จะคาดเดาได้ว่าเศรษฐกิจจะดีขึ้นเมื่อไหร่ ทางบริษัทเลยจำเป็นต้องปล่อยขายซึ่งปรากฏว่า ที่ผ่านมายอดขายจะได้ประมาณเดือนละ 1-2 ยูนิตเท่านั้น และแน่นอนคงต้องใช้เวลาในการขายนานมากกว่าจะหมด

อาจารย์ต่อตระกูล ก็เลยปล่อยหมัดเด็ดออกมาคือพุ่งเป้าไปยังลูกค้าของ 42 ไฟแนนซ์ที่ถูกประกาศปิดไปรอบที่ 2 และปัจจุบันได้ปิดกิจการไปแล้วโดยถาวร ซึ่งกลุ่มนี้จะมีตั๋วเงินฝากอยู่ที่ธนาคารกรุงไทยประมาณ 3 แสนล้านบาท โดยให้เอาตั๋วเงินฝากนั้นมาแลกซื้อโครงการพญาไทเพลสได้ สำหรับขั้นตอนปฏิบัติของกรณีตั๋วเงินฝากแลกซื้อคอนโดก็คือ ขั้นตอนแรกทางโครงการตรวจสอบว่าตั๋วเงินฝากของลูกค้าเป็นไปตามประกาศของ คปต. 42 หรือไม่ ตรวจสอบมูลค่าตั๋วเงินฝากและอายุของตั๋วเงินฝาก เมื่อถูกต้องแล้วก็คำณวนจำนวนเงินที่ลูกค้าต้องชำระจริง หลังจากนั้นก็แจ้งให้ลูกค้าดำเนินตามขั้นตอนของ คปต. 42

ต่อจากนั้นก็แจ้งให้ลูกค้าดำเนินการตามขั้นตอนของ คปต. 42 เริ่มจากแจ้งให้ลูกค้ายื่นเรื่องขอเปลี่ยนตั๋วเงินฝากของ 42 ไฟแนนซ์ เป็นตั๋วเงินฝากของธนาคารกรุงไทยขั้นตอนนี้ใช้เวลาประมาณ 3 สัปดาห์ เมื่อเปลี่ยนตั๋วเป็นของธนาคารกรุงไทยแล้ว ให้ไปยื่นเรื่องเข้าร่วมโครงการ คปต. 42 ที่ธนาคารกรุงไทยสำนักงานใหญ่ หลังจากยื่นเรื่องแล้วประมาณ 1 สัปดาห์ ทางกรุงไทยจะนัดสลักหลังตั๋ว พร้อมเปิดบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ โดยทางธนาคารกรุงไทยจะโอนเงินเข้าบัญชีของลูกค้าในวันทำการถัดไป ตามอัตราที่ระบุไว้ พร้อมทั้งหักภาษีเงินได้ 15%

เมื่อลูกค้าได้รับเงินแล้วก็ให้นำมาชำระส่วนที่เหลือให้กับโครงการพญาไทเพลส หลังจากนั้นก็ทำสัญญาซื้อขาย

"ผมเชื่อมั่นว่า ใน 42 ไฟแนนซ์นั้นต้องมีคนกลุ่มหนึ่งที่ต้องการที่อยู่อาศัยจริง แต่เงินไปติดอยู่ที่สถาบันการเงิน รวมทั้งบางรายอาจจะต้องการเอาตั๋วเงินมาเปลี่ยนเป็นทรัพย์สินไว้ดีกว่า โดยเฉพาะโครงการของเราที่สร้างเสร็จแล้วและมีมูลค่าเพิ่มขึ้นทุกวัน" ต่อตระกูล กล่าวย้ำ

ถึงแม้โดยกลยุทธ์นี้ทางโครงการมั่นใจเป็นอย่างมากว่าจะประสบความสำเร็จ แต่อย่างไรก็ตามก็ได้มีการเตรียมแผนต่อๆ ไปไว้รองรับเหมือนกัน เช่นกำลังพุ่งเป้าไปยังลูกค้าที่มีแหล่งเงินแน่นอนเช่นสหกรณ์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือกรมการแพทย์ทหารบก รวมทั้งได้จัดแคมเปญพิเศษ ประกาศรับสมัครทีมงานขายตรงอิสระ เพื่อให้การขายกว้างขึ้น ในขณะเดียวกันก็เพื่อช่วยเหลือผู้ที่ว่างงานในตอนนี้ด้วย

ทางออกของบริษัทอีกอย่างหนึ่งก็คือ พยายามเอาโครงการดังกล่าวไปขายต่างประเทศ โดยเฉพาะฮ่องกงและไต้หวัน เพื่อดึงเอายอดขายเข้ามา และหลังจากนี้เห็นทีอาจารย์คงหยุดสร้างโครงการใหม่ไปอีกนานทีเดียว คอยรับเป็นที่ปรึกษาทางด้านเรียลเอสเตทอย่างเดียว จะแน่นอนกว่า



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.