|

ลุ้นศาลชี้ขาดประชัยซื้อTPI วายุภักษ์แหยง
ผู้จัดการรายวัน(7 มีนาคม 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
ศาลล้มละลายกลางนัดตัดสินชี้ขาดกรณี "ประชัย" ขอซื้อหุ้น "ทีพีไอ" ทั้งหมดคืนในวันที่ 9 มี.ค.นี้ คาดสามารถคืนหนี้ให้กับสถาบันการเงินเจ้าหนี้ทั้งหมดได้ในปีนี้ ขณะที่วายุภักษ์ 1 ลังเลเข้าเสียบ หวั่นขัดหลักเกณฑ์การลงทุน
รายงานข่าวเปิดเผยว่า ศาลล้มละลายกลางได้นัดพร้อมพิจารณาคดีกรณีที่นายประชัย เลี่ยวไพรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย จำกัด (มหาชน) หรือทีพีไอ ในฐานะ ผู้บริหารแผนลูกหนี้ ซึ่งได้ยื่นคำร้องต่อศาลล้มละลายกลางเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยศาลล้มละลายกลางได้รับคำร้องและนัดพร้อมในวันที่ 9 มีนาคมนี้ โดยเชิญตัวแทนสถาบันการเงิน เจ้าหนี้ และผู้บริหารแผนเข้าร่วมพิจารณาคำร้อง
ทั้งนี้ นายประชัยร้องขอให้ผู้ถือหุ้นเดิมของทีพีไอมีสิทธิในการซื้อส่วนทุนตามแผนทั้งหมดที่ได้เสนอก่อนหน้า โดยนายประชัยพร้อมซื้อหุ้นคืนทั้งหมด 2.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งตามแผนนายประชัยระบุว่าสามารถคืนหนี้ให้กับเจ้าหนี้ได้ทั้งหมดภายใน 1 ปี โดยส่วนแรกจะชำระคืน 900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และส่วนที่เหลือ 1.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ จะคืนในเดือนธันวาคม
"กระบวนการขอซื้อหุ้นทีพีไอคืนของนายประชัยยังคงเดินหน้าต่อไป และนายประชัยก็ยืนยันว่าพร้อมที่จะซื้อหุ้นคืน หากผู้บริหารแผนกระทรวงการคลัง และเจ้าหนี้เปิดโอกาสให้ซื้อคืน" รายงานข่าวระบุ
อย่างไรก็ตาม ความพยายามในการไกล่เกลี่ยระหว่างนายประชัยกับกระทรวงการคลังและเจ้าหนี้ เพื่อขอซื้อหุ้นคืนในช่วงก่อนหน้าไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากในวันที่ 4 มี.ค.ที่ผ่านมา นายเสงี่ยม สันทัด ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายระดับ 10 กระทรวงการคลัง ในฐานะตัวแทนกระทรวงการคลัง ได้แถลงต่อศาลล้มละลายกลางว่า กระทรวงการคลังไม่อาจพิจารณาข้อเสนอในการขอซื้อส่วนทุนตามคำขอของผู้บริหารลูกหนี้ และขอยุติกระบวนการไกล่เกลี่ยหลังจากนี้ไป เพื่อที่จะไม่ส่งผลกระทบต่อกระบวนการฟื้นฟูกิจการ และสาเหตุที่ต้องยุติ เพราะมีความเชื่อมั่นในศักยภาพของกระทรวงการคลังและพันธมิตรที่เข้ามาฟื้นฟูกิจการของทีพีไอ และไม่ต้องการให้ลูกหนี้เข้าสู่กระบวนการล้มละลาย
รายงานข่าวจากคณะกรรมการกองทุนวายุภักษ์ 1 เปิดเผยว่า กองทุนวายุภักษ์ 1 ยังไม่สามารถเข้าไปร่วมลงทุนในทีพีไอได้ เนื่องจากขัดหลักเกณฑ์การลงทุนของวายุภักษ์ 1 เพราะกรอบการลงทุนจะต้องลงทุนในหุ้นที่กระทรวงการคลังถือ และอยู่ใน SET 50 หากไม่มีการปรับเกณฑ์การลงทุนกองทุนวายุภักษ์ จะทำให้ไม่สามารถเข้าไปลงทุนในกิจการของทีพีไอได้ จากที่ก่อนหน้าแสดงความจำนงเข้าลง ทุนในวงเงิน 4 พันล้านบาท
ขณะที่นายวิสิฐ ตันติสุนทร เลขาธิการกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) กล่าวว่า กบข.อยู่ระหว่างการประเมินสถานะทางการเงินของทีพีไอ โดยจะเข้าร่วมลงทุนกับกองทุนไทยทวีทุน ซึ่งถือหุ้นร่วมกับรัฐบาลบรูไน โดยกบข.ได้กันเงินสำหรับลงทุนในทีพีไอประมาณ 4 พันล้านบาท
เมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา นายสนิท จันทรวงศ์ ส.ว.อุบลราชธานี และนายบุญเลิศ ไพรินทร์ ส.ว. ฉะเชิงเทรา ในฐานะผู้ถือหุ้น ซึ่งมีส่วนได้เสียในกิจการบริษัททีพีไอ ได้มอบอำนาจแก่ตัวแทนเข้าร้องทุกข์สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ให้ดำเนินคดีเพิ่มเติมกับพล.อ.มงคล อัมพรพิสิฏฐ์,นายทนง พิทยะ และนายพละ สุขเวช ซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติงานแทนกระทรวงการคลังในการบริหารแผนฟื้นฟูกิจการทีพีไอ โดยกล่าวหาว่า สมรู้ร่วมคิดกันทำให้ทีพีไอได้รับความเสียหาย จากการที่ร่วมกันจัดประชุมคณะผู้บริหารเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2546 อนุมัติว่าจ้าง บริษัท ซินเนอจี โซลูชั่น ให้เป็นผู้บริหารกิจการและทรัพย์สินของทีพีไอด้วยค่าจ้างเดือนละ 20 ล้านบาท
นอกจากนี้ยังปฏิบัติไม่ชอบในการอนุมัติค่าตอบแทนคณะผู้บริหารแผนซึ่งเป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจในการรับเงินที่มิควรได้จากภาคเอกชน ประกอบด้วยพล.อ.มงคลเองเดือนละ 1 ล้านบาท, นายปกรณ์ มาลากุล ณ อยุธยา, นายพละ สุขเวช, นายอารีย์ วงศ์อารยะ,นายทนง พิทยะ คนละ 750,000 บาทต่อเดือน และคณะที่ปรึกษาคือ นายนิพัทธ พุกกะณะสุต,นายวิจิตร สุพินิจ, นายวิเชียร วิริยะประสิทธิ์ และนายวีระพงษ์ รามางกูร คนละ 200,000 บาทต่อเดือน
ในส่วนของตำรวจได้ตั้งคณะทำงานขึ้น 10 คน เพื่อสืบสวนเรื่องดังกล่าว
โดยการอนุมัติค่าตอบแทนแก่ตัวเองและค่าที่ปรึกษาดังกล่าวมาตั้งแต่กรกฎาคม 2546-มิถุนายน 2547 ประมาณ 12 เดือน ได้ใช้จ่ายเงินทีพีไอไปแล้วกว่า 422 ล้านบาท ยังไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่มอีก 29.5 ล้านบาท
การร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีบุคคลทั้ง 3 นี้ เป็นการกล่าวโทษเพิ่มเติม จากก่อนหน้านี้ได้แจ้งความดำเนินคดีข้อหาเดียวกันกับร.อ.สุชาติ เชาว์วิศิษฐ อดีตรมว.คลัง ในฐานะผู้บริหารแผนฟื้นฟูทีพีไอ และนายอารีย์ วงศ์อารยะ, นายปกรณ์ มาลากุล ณ อยุธยา และบริษัทซินเนอจี โซลูชั่นกับพวก ซึ่งได้รับแจ้งจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติว่า ได้ตั้งคณะทำงานขึ้นพิจารณาคดีนี้แล้ว
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|