|

บล.ภัทรขาย60ล้านหุ้นไตรมาส2
ผู้จัดการรายวัน(7 มีนาคม 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
"บล.ภัทร" เผยยังสรุปไม่ได้ "ไทยเบรฟเวอร์เรจ" เข้าตลท.เมื่อไหร่ต้องรอตลาดหลักทรัพย์ฯ ระบุดีลในมือปีนี้ยังมี "ทศท-กสท-โกลว์พลังงาน" ขณะที่บล.ภัทร เตรียมระดมทุนในไตรมาส 2 เสนอขาย 60 ล้านหุ้น พาร์ 5 บ.หวังขยายธุรกิจ เน้นอินเทอร์เน็ตเทรดดิ้ง-บทวิเคราะห์ หวังเพื่อมาร์เกตแชร์นักลงทุนต่างชาติ
นายสุวิทย์ มาไพศาลสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ภัทร จำกัด เปิดเผยถึงการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ของบริษัท ไทยเบรฟเวอร์เรจ จำกัด (มหาชน) หรือเบียร์ช้าง ว่า การเข้าจดทะเบียนของเบียร์ช้างไม่สามารถเปิดเผยได้ว่าจะเข้าช่วงไหน ขึ้นอยู่กับทางตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งขณะนี้บริษัทก็อยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างทางธุรกิจ
ทั้งนี้ บริษัทรับเป็นที่ปรึกษาทางการเงินในการนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในปีนี้เบื้องต้น 4 บริษัท ซึ่งประกอบด้วย ทศท คอเปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TOT, บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน), บริษัทโกลว์พลังงาน และเบียร์ช้าง
ส่วนความคืบหน้าในการเข้าจดทะเบียนใน ตลท.ของภัทร ซึ่งบริษัทจะเสนอขายหุ้นจำนวน 60 ล้าน มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 5 บาท โดยการคาดว่าจะเข้าจดทะเบียนในตลท.ประมาณไตรมาส 2/2548 ซึ่งมองว่าเป็นจังหวะที่เหมาะสม เพราะภาวะตลาดดี จากการที่นักลงทุนต่างประเทศยังคงเข้าลงทุนในตลาดหุ้นไทยอย่างต่อเนื่อง โดยบริษัทแต่งตั้งบล.กิมเอ็ง (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ KEST เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน ซึ่งปัจจุบันบริษัทมีทุนจดทะเบียนจำนวน 800 ล้านบาท
นายสุวิทย์ กล่าวว่า การเข้ามาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อต้องการเงินระดมทุนเพื่อไปขยายธุรกิจเป็นส่วนใหญ่ และที่ต้องการเข้าตลท.ในปีนี้เพื่อที่จะได้รับสิทธิประโยชน์ทางด้านภาษี
สำหรับในปีนี้บริษัทยังไม่มีแผนที่จะมีการเปิดสาขาใหม่ แต่จะมีการลงทุนในเรื่องของด้านบุคลากร และเรื่องระบบอินเทอร์เน็ตเทรดดิ้ง โดยจะใช้เงินลงทุนในส่วนดังกล่าวประมาณ 5-8 ล้านบาท และบริษัทจะเน้นในเรื่องการทำบทวิเคราะห์ให้มากขึ้น และครอบคลุมทุกกลุ่ม เพื่อช่วยทำให้สัดส่วนลูกค้าสถาบันของบริษัทเพิ่มขึ้น เพราะเมื่อบริษัทมีลูกค้าสถาบันมากขึ้น ก็จะส่งผลให้บริษัทมีส่วนแบ่งการตลาด (มาร์เกตแชร์)เพิ่มขึ้น จากการที่นักลงทุนสถาบันจะซื้อหุ้นในจำนวนที่มาก
"การที่มาร์เกตแชร์ของบริษัทจะเพิ่มขึ้นหรือไม่ขึ้นอยู่กับการซื้อขายของนักลงทุนสถาบัน เพราะเมื่อนักลงทุนสถาบันจะมีการซื้อหุ้นในปริมาณที่สูง ซึ่งบริษัทมีแผนที่จะเพิ่มนักลงทุนสถาบันให้มากขึ้น โดยการทำบทวิเคราะห์ให้เพิ่มขึ้นเช่นกัน ซึ่งในปัจจุบันบริษัทมีมาร์เกตแชร์ในส่วนของนักลงทุนประมาณ 12% ของจำนวนนักลงทุนสถาบันทั้งหมด" นายสุวิทย์กล่าว
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|