|

ดอกเบี้ยแบงก์จ่อขึ้นQ2 เงินเฟ้อกดดันธปท.ขยับR/Pสูงสุดรอบ3ปี
ผู้จัดการรายวัน(3 มีนาคม 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
ธปท.ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ขยับมาอยู่ที่ 2.25% สูงสุดในรอบ 3 ปี 3 เดือน เหตุน้ำมันขึ้นราคา หวั่นกดดันเงินเฟ้อเกินเป้า "ขุนคลัง" เชื่อไม่กระทบการขยายตัวเศรษฐกิจ ขณะที่นายแบงก์ชี้กระทบดอกเบี้ยเงินฝาก และเงินกู้ของธนาคารพาณิชย์ คาดไตรมาส 2 แบงก์พาเหรดขึ้น ส่วนแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยของไทยคาดจะทยอยปรับขึ้นได้ 1-1.5% ตามดอกเบี้ยสหรัฐฯ เพื่อลดส่วนต่าง
นางอัจนา ไวความดี ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า คณะกรรมการนโยบายการเงินมีมติให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยตลาดซื้อคืนพันธบัตรระยะ 14 วัน (อาร์/พี) 0.25% จากเดิมอยู่ที่ระดับ 2.00% เป็น 2.25% โดยมีผลทันที เนื่องจากเห็นว่าการที่ราคาน้ำมันที่จะอยู่ในระดับสูงตลอดทั้งปีอาจทำให้อัตราเงินเฟ้อเร่งตัวกว่าที่คาดการณ์ไว้ และมีโอกาสที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานจะสูงกว่าเป้าหมาย 0-3.5% ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2549
จากการปรับดอกเบี้ยอาร์/พี ครั้งนี้ ทำให้ดอกเบี้ยอาร์/พี ปรับตัวขึ้นไปอยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 3 ปี 3 เดือน นับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2544 และตั้งแต่ เดือนสิงหาคม 2547-มีนาคม 2548 ธปท.มีการปรับอัตราดอกเบี้ยอาร์/พีแล้ว 1% จากการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินรวม 5 ครั้ง
"ธปท.คาดการณ์ว่า ถ้าราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยทั้งปี 38 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล รวมทั้งการผ่อนคลายมาตรการอุดหนุนราคาน้ำมันดีเซล สู่การลอยตัวราคาน้ำมันในครึ่งหลังของปี อาจจะกดดันเงินเฟ้อให้เร่งตัวกว่าที่คิดไว้ และอาจส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานจะสูงกว่าเป้าหมาย 0-3.5% ช่วงไตรมาสที่ 3 ในปีหน้า" นางอัจนา กล่าว
นอกจากนี้ จากการติดตามสถานการณ์ผลกระทบที่เกิดจากภัยธรรมชาติคลื่นยักษ์ที่เกิดในเขตภาคใต้ ในรอบ 1 เดือนแรกของปีนี้ พบว่าไม่มีผลกระทบเพิ่มรุนแรงกว่าที่ ธปท.ประมาณการไว้ในครั้งก่อนหน้า ส่วนการที่ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลในเดือนมกราคมเนื่องจากการนำเข้าที่เร่งตัวสูงขึ้น และนักท่องเที่ยวที่ลดลงเชื่อว่าเป็นภาวะที่เกิดขึ้นชั่วคราวเท่านั้น
นางอัจนากล่าวต่อว่า การที่คณะกรรมการฯ ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ซึ่งจะเอื้อประโยชน์ต่อการขยายตัวอย่างต่อเนื่องในระยะยาว แต่ก็ไม่ได้ละเลยการสนับสนุนการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจไทย เพราะจากการพิจารณา แม้ว่าแนวโน้มของเศรษฐกิจในช่วง ปลายปี 2547 ที่ผ่านมาและตัวเลขเศรษฐกิจเดือนมกราคมที่ผ่านมาจะเริ่มชะลอตัวลงจากผลกระทบของคลื่นยักษ์สึนามิ ภัยแล้ง และการชะลอตัวของการส่งออก แต่หากมองในภาพรวมจะเห็นว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจยังเป็นแนวโน้มช่วงขาขึ้น
อย่างไรก็ตาม หากไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย อาจเกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว เนื่องจากเงินเฟ้อที่สูงขึ้นจะทำให้อำนาจการซื้อของประชาชนลดลง ราคาสินค้าปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจขยายตัวไม่ได้ในที่สุด แต่การกดเงินเฟ้อไว้จะช่วยให้เศรษฐกิจไทยสามารถเติบโตได้ในระยะยาว เพราะการเพิ่มขึ้นของดอกเบี้ยในระดับนี้ถือว่ากระทบต่อต้นทุนการผลิตโดยรวมน้อยมาก
"ต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องบวกกับราคาน้ำมันที่สูงขึ้นจะทำให้ราคาสินค้าปรับตัวขึ้น ประกอบกับการปรับสู่การลอยตัวราคาน้ำมันดีเซล ต้นทุนการผลิต และค่าขนส่งจะสูงขึ้นอีก ราคาสินค้ายิ่งจะปรับตัวขึ้น ค่าจ้างแรงงานก็ต้องปรับตัวขึ้นตาม ฉะนั้นในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจไทยยังขยายตัวได้ดี และภาวะตลาดแรงงานเริ่มตึงตัวอย่างในปัจจุบัน แรงกดดันต่อระดับราคายิ่งเพิ่มขึ้นได้รวดเร็วขึ้น"
ทั้งนี้ ในการที่ ธปท.ปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นดังกล่าว เชื่อว่าจะยังไม่ทำให้ธนาคารพาณิชย์ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ตามในทันที เนื่องจากยังมีสภาพคล่องเหลือในระบบค่อนข้างมาก แต่ธปท.ต้องการที่จะส่งสัญญาณถึงประชาชน และภาคธุรกิจที่จะกู้เงินเพิ่มหรือว่าลงทุนในอนาคตว่า วัฏจักรขาขึ้นของเศรษฐกิจไทยที่กำลังดำเนินอยู่จะมาควบคู่กับวัฏจักรขาขึ้นของอัตราดอกเบี้ย
ด้านนายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะกรรมการนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า จากการศึกษาข้อมูลจึงพบว่าแม้จะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแต่ก็ไม่มีผลต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งที่ประชุมได้ให้ความสำคัญต่อความเหมาะสมของอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง รวมทั้งดูจำนวนสภาพคล่อง การขยายตัวทางเศรษฐกิจ และอัตราเงินเฟ้อ มาพิจารณาเพื่อหาความเหมาะสมในครั้งนี้
ส่วนการปรับอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯหรือเฟด เป็นเพียงปัจจัยภายนอก ไม่ใช่ปัจจัยหลักในการนำมาพิจารณา นอกจากนี้ ยังได้นำปัจจัยด้านราคาน้ำมัน ผลกระทบจากภัยแล้ง และผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบในภาคใต้มานำคำนวณไว้แล้วว่าจะกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจเท่าใด โดยเฉพาะการที่ราคาน้ำมันดิบได้มีการปรับสูงขึ้นกว่าที่ประมาณการไว้เดิม ซึ่งธปท.ได้ปรับสมมติฐานราคาน้ำมันในตลาดดูไบใหม่
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธปท. เป็นการดูตามความเหมาะสม ซึ่งการปรับอัตราดอกเบี้ยของสถาบันการเงินขึ้นตามอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมและความพอดีของสถาบันการเงินแต่ละแห่ง
"การปรับอาร์/พี ขึ้น 0.25% ไม่เท่าไหร่ แบงก์ชาติต้องการสกัดกั้นไม่ให้เงินเฟ้อปรับตัวขึ้นสูง และฐานะประเทศเราก็ดีมาก นายกรัฐมนตรีสั่งการให้ดูแลเรื่องการนำเข้าเพื่อควบคุมการใช้จ่ายอย่างจริงจังแล้ว คิดว่าทางแบงก์ชาติคงพิจารณาเรื่องอย่างรอบคอบแล้วว่าการปรับอัตราดอกเบี้ยในครั้งนี้ไม่ได้ส่งผลกระทบมากเท่าไหร่"
ด้านนายจำลอง อติกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอาร์/พี ของธปท. เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้เพื่อสกัดเงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้น และต้องการให้เงินเฟ้ออยู่ในกรอบนโยบาย รวมทั้งเป็นการลดช่องว่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยไทยและต่างประเทศลง เพราะคาดว่าการธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟด ในวันที่ 23 มีนาคมนี้คงจะมีการปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นอีก
จากการปรับอัตราดอกเบี้ยของ ธปท.จะกระทบถึงอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก และเงินกู้ของธนาคารพาณิชย์ โดยคาดว่าธนาคารพาณิชย์น่าจะมีการปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นในช่วงไตรมาส 2 และทั้งปีคาดว่าอัตราดอกเบี้ยของไทยจะทยอยปรับขึ้นได้ 1-1.5% และดอกเบี้ยสหรัฐฯจะปรับขึ้นได้ประมาณ 1.50-2.00%
สำหรับแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยจะปรับขึ้นเป็นเรื่องที่ดี ที่จะสะท้อนถึงอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงจากปัจจุบันยังคงติดลบอยู่เนื่องจากเงินเฟ้ออยู่ในอัตราที่สูงกว่าอัตราดอกเบี้ย ขณะที่ราคาน้ำมันมีการปรับตัวสูง รวมทั้งรัฐบาลเตรียมจะประกาศลอยตัวดีเซล จะส่งผลกระทบต่อราคาสินค้า และทำให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้น ซึ่งธนาคารมองว่าอัตราเงินเฟ้อทั้งปีน่าจะอยู่ที่ระดับ 3.3% จากปีก่อนที่อยู่ในระดับ 2.7%
"การขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะกระทบทำให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจชะลอตัว แต่เชื่อว่ารัฐบาลคงจะมีมาตรการที่จะกระตุ้นด้านอื่นๆ มาชดเชย ไม่ให้เศรษฐกิจชะลอตัวมากไป เช่น โครงการเมกะโปรเจกต์ การลดภาษีให้กับประชาชน รวมทั้งเศรษฐกิจเองยังมีแนวโน้มขยายตัวได้ดีอยู่ ทำให้การบริโภคของประชาชนน่าจะดีขึ้น
ด้านสภาพคล่องของธนาคารกรุงศรีอยุธยานั้น นายจำลอง กล่าวว่า ธนาคารยังมีสภาพคล่องเหลืออยู่ เพียงพอต่อการดำเนินธุรกิจ โดยในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา มีเงินฝากเข้ามามากกว่าการปล่อยสินเชื่อ โดยมีเงินฝากเพิ่มขึ้น 1 หมื่นล้าน สินเชื่อเพิ่มขึ้น 4-5 พันล้านบาท โดยการเพิ่มขึ้นของเงินฝากส่วนใหญ่เป็นรายย่อยทั่วไป และอาจจะมีบางบริษัทที่เตรียมเงินไว้ลงทุน ซึ่งเป็นไปตามภาวะปกติ
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|