บีเอสเอกับเกมไล่ล่าซอฟต์แวร์เถื่อน


นิตยสารผู้จัดการ( มกราคม 2541)



กลับสู่หน้าหลัก

ผู้จัดการฝ่ายสารสนเทศขององค์กรเอกชนและหน่วยงานราชการของเมืองไทยในเวลานี้ นอกจากต้องใช้เวลาจัดการไอทีภายในองค์กรหรือแก้ปัญหาระบบคอมพิวเตอร์ แต่เขาเหล่านั้นยังต้องแบ่งเวลาส่วนหนึ่งมาตรวจสอบ เพื่อไม่ให้ซอฟต์แวร์ก๊อปปี้หลุดรอดอยู่ในเครื่องพีซีที่ตั้งเรียงรายอยู่ในบริษัท

ทั้งที่ก่อนหน้านี้การใช้ซอฟต์แวร์ก๊อปปี้ถือว่าเป็นเรื่องปกติ ที่เมื่อซื้อคอมพิวเตอร์มาแล้วจะมีซอฟต์แวร์แถมฟรีมาให้มากมายโดยไม่ต้องเสียสตางค์ เรียกว่ามีซอฟต์แวร์ก๊อปปี้ใช้กันอย่างแพร่หลาย

หากไม่เป็นเพราะตลาดคอมพิวเตอร์เริ่มใหญ่ขึ้น บรรดาผู้ผลิตซอฟต์แวร์จากต่างประเทศจึงต้องเข้ามาพิทักษ์รักษาผลประโยชน์ของตัวเอง พร้อมๆ กับการมาของกลุ่มพันธมิตรธุรกิจซอฟต์แวร์ (บีเอสเอ) อันเกิดจากการรวมตัวของผู้ผลิตซอฟต์แวร์ ทำหน้าที่ปราบปรามซอฟต์แวร์เถื่อนในประเทศต่างๆ

ตลอด 3 ปีเต็มที่บีเอสเอนำมาตรการปราบปรามซอฟต์แวร์เถื่อนออกมาใช้ในเมืองไทย ทั้งยังจับกุมผู้ค้าซอฟต์แวร์เถื่อน ตลอดจนผู้ใช้ประเภทองค์กร โดยมีศูนย์ฮอตไลน์เอาไว้สำหรับแจ้งเบาะแส เพื่อจับกุมผู้ใช้ประเภทองค์กรที่ใช้ซอฟต์แวร์เถื่อน และรายล่าสุดที่ถูกดำเนินคดีคือบริษัทอาเซียน มารีน เซอร์วิส บริษัทต่อเรือแห่งแรกของเมืองไทยที่จะทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

แต่การปราบปราบซอฟต์แวร์เถื่อนไม่ใช่ครั้งแรกของบีเอสเอ เพราะไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ที่จะทำการก๊อปปี้ใช้ของฟรีหมดไปได้ง่ายๆ เปรียบแล้วก็เหมือนกับแมวจับหนูที่ไล่ล่ากันไม่รู้จักจบสิ้น และดูเหมือนการดำเนินงานของบีเอสเอ จะไม่ทันอกทันใจบรรดาสมาชิกผู้ผลิตซอฟต์แวร์เท่าใดนัก

ยิ่งในภาวะเศรษฐกิจทรุดหนักปัญหาการก๊อปปี้ซอฟต์แวร์ก็ยิ่งทวีความรุนแรง บีเอสเอจึงอาศัยจังหวะนี้เพิ่มเงินรางวัลนำจับให้กับผู้แจ้งเบาะแสไปยังศูนย์ฮอตไลน์จาก 1 แสนบาทเป็น 2.5 แสนบาท เพราะข้อมูลอย่างหนึ่งที่บีเอสเอตรวจพบจากศูนย์ฮอตไลน์ก็คือ ผู้ที่โทรมาแจ้งเบาะแสมักจะเป็นอดีตพนักงานของบริษัท ยิ่งตัวเลขการว่างงานของคนไทยกำลังเพิ่มสูงขึ้นเช่นนี้ ศูนย์ฮอตไลน์ของบีเอสเอคงต้องทำงานหนักขึ้นอีกเยอะ

"เราคิดว่าการตั้งเงินรางวัลให้เหมาะสมจะทำให้มีคนโทรเข้ามาแจ้งที่ศูนย์ฮอตไลน์มากขึ้น" ฮิวอี้ ตัน โฆษกฝ่ายกฎหมายของบีเอสเอ ที่ต้องรับผิดชอบงานในเมืองไทยเล่า

นอกจากการเพิ่มเม็ดเงินรางวัลแล้ว บีเอสเอยังสร้างแรงจูงใจให้ผู้โทรเข้าศูนย์ฮอตไลน์เพิ่มขึ้น ด้วยการขยายรางวัลนำจับอีก 1 รางวัล มูลค่า 1 หมื่นบาทให้กับผู้ที่โทรมาแจ้งเบาะแสให้กับบีเอสเอผ่านทางศูนย์ฮอตไลน์ โดยไม่ต้องบอกชื่อและนามสกุล แต่มีข้อแม้ว่าข้อมูลที่แจ้งมานั้นจะต้องมีรายละเอียด จนสามารถนำไปสู่การดำเนินคดีทางกฎหมายได้ ซึ่งแตกต่างจากรางวัลนำจับ 2.5 แสนบาท ที่นอกจากจะต้องมีเงื่อนไขในเรื่องข้อมูลแล้ว จะต้องบอกชื่อและนามสกุลด้วยทุกครั้ง

"เราจะมุ่งเน้นไปที่ผู้ใช้ระดับองค์กรให้ตระหนักถึงข้อเสียของการใช้ซอฟต์แวร์ก๊อปปี้ เราพยายามส่งเสริมให้มีการโทรเข้ามาแจ้งที่ศูนย์ฮอตไลน์มากขึ้น" ฮิวอี้ ตันกล่าว

การไล่ล่าขโมยของบีเอสเอในครั้งนี้ แม้จะมุ่งเน้นไปที่กลุ่มลูกค้าองค์กรที่ใช้ซอฟต์แวร์เถื่อนเป็นสำคัญ เพราะต้องการย้ำให้เห็นถึงผลเสียของการใช้ซอฟต์แวร์เถื่อน แต่โฆษกของบีเอสเอออกมาย้ำว่าบีเอสเอไม่ได้ละเลยผู้ค้าซอฟต์แวร์เถื่อน เพราะจะมีมาตรการใหม่ๆ ออกมาในอนาคตเช่นเดียวกัน

อเล็กซ์ เมอร์เซอร์ โฆษกด้านสื่อสารของบีเอสเอที่เดินทางมาร่วมในการแถลงข่าวครั้งนี้ เธอกล่าวว่า การละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ไม่ว่าจะเป็นการขายหรือการใช้ ล้วนแต่เป็นความผิดทางอาญาเพราะเป็นการกระทำเยี่ยงขโมย

เมอร์เซอร์ กล่าวว่าจุดมุ่งหมายของบีเอสเอไม่ใช่การ "ขจัด" ซอฟต์แวร์เถื่อน แต่เป็นการรณรงค์ให้ทุกคนตระหนักถึงผลเสียของการใช้ซอฟต์แวร์ผิดกฎหมาย ที่จะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการผลิตซอฟต์แวร์ภายในประเทศ และยังส่งผลกระทบไปถึงการลงทุนจากนักลงทุนต่างประเทศด้วย

"ผู้ใช้ซอฟต์แวร์ควรตระหนักในเรื่องของการใช้ซอฟต์แวร์ที่ถูกกฎหมาย เพราะไม่มีใครอยากพัฒนาซอฟต์แวร์มาแล้วก็เกิดปัญหาถูกก๊อปปี้ ซึ่งเวลานี้บีเอสเอได้ว่าจ้างให้ไพรซ์วอเตอร์เฮาส์จัดทำข้อมูลในเรื่องนี้ขึ้นมาโดยเฉพาะ คาดว่าคงเสร็จประมาณปีหน้า

เธอกล่าวย้ำด้วยว่า สิ่งที่เป็นเป้าหมายของบีเอสเอคือการลดอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์จาก 80% ในปี 2539 (ดูตารางประกอบ) ให้เหลือเพียงแค่ 60 % ภายใน 3-5 ปีข้างหน้า

สำหรับปัญหาในเรื่องราคาซอฟต์แวร์ของแท้ที่มีราคาแพง อันเป็นสาเหตุสำคัญให้มีการละเมิดลิขสิทธิ์ที่เพิ่มมากขึ้นตลอดเวลา โดยเฉพาะในภาวะที่เศรษฐกิจตกต่ำเช่นนี้ แต่สำหรับเมอร์เซอร์แล้ว เธอกลับมองว่าไม่ใช่ปัญหา แต่เป็นคนละเรื่องกัน

"เพราะสิ่งที่เราพบก็คือ แม้แต่ซอฟต์แวร์อินเตอร์เน็ต เอ็กซพลอเรอร์ 4.0 ที่ไมโครซอฟท์แจกฟรีอยู่แล้วยังถูกก๊อปปี้ออกขาย" ปัญหาจึงไม่ได้อยู่ที่ราคาของซอฟต์แวร์ แต่อยู่ที่ผู้ใช้และผู้ขายซอฟต์แวร์เถื่อนจะต้องตระหนักถึงผลเสียของการใช้ซอฟต์แวร์เถื่อน"

แต่บีเอสเอก็พบว่า อุปสรรคอย่างหนึ่งที่จะทำให้อัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ในเมืองไทย ไม่ได้ลดลงมาเท่าที่ควร นอกจากปัญหาในเรื่องเศรษฐกิจตกต่ำแล้ว ก็คือการที่ยังไม่มีผู้ใดที่ถูกดำเนินคดีแล้วถูกลงโทษขั้นจำคุกเลย ส่วนใหญ่หากไม่ยอมความก็จะถูกปรับเป็นเงินเท่านั้น

"สิ่งที่บีเอสเอต้องทำก็คือ การปราบปรามทางกฎหมายควบคู่กับความรู้ เราคิดว่าทั้งสองสิ่งนี้จะช่วยให้ปัญหาการก๊อปปี้ซอฟต์แวร์ลดลงได้"

แน่นอนว่า ตราบใดที่ซอฟต์แวร์เถื่อน หรือบรรดานักขโมยซอฟต์แวร์ยังมีอยู่ เมื่อนั้นการไล่ล่าซอฟต์แวร์เถื่อนก็ยังคงมีขึ้น



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.