สปอร์ท เอช เริ่มทำยี่ห้อใหม่ แชมเปี้ยน จากอเมริกา


นิตยสารผู้จัดการ( มกราคม 2541)



กลับสู่หน้าหลัก

นับแต่มกราคม 2541 เป็นต้นไป บริษัท ไนกี้ จากสหรัฐฯ จะเข้ามาดำเนินการตลาดขายผลิตภัณฑ์ไนกี้ด้วยตนเองในประเทศไทย นี่คือสาเหตุหลักที่ทำให้บริษัทสปอร์ท เอช ซึ่งเป็นผู้ถือลิขสิทธิ์การขายและทำตลาดให้ผลิตภัณฑ์ไนกี้มาตั้งแต่ปี 2527 ต้องหาสินค้าตัวใหม่เข้ามาทดแทน

แชมเปี้ยนหรือ Champion เป็นผลิตภัณฑ์เครื่องกีฬาอีกยี่ห้อหนึ่งที่รู้จักกันดีในสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะในวงการนักบาสเกตบอลและผู้นิยมชมชอบกีฬาชนิดนี้ เจ้าของแบรนด์เนมนี้คือบริษัท ซาร่าห์ ลี ซึ่งมีสินค้าหลากหลายประเภทในความดูแล เช่น กีวี-น้ำยาขัดรองเท้า ขนมเค้ก ซาร่าห์ ลี เป็นต้น

พงษ์ศักดิ์ ธีรนิพัทธ์ กรรมการผู้จัดการบริษัทสปอร์ท เอช จำกัด กล่าวว่า "เราเริ่มวางตลาดสินค้าแชมเปี้ยนตั้งแต่เมื่อต้นปี 2540 ที่เรารู้ว่าไนกี้จะไม่ต่อสัญญาให้เราโดยการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ แต่ตอนหลังค่าเงินและภาษีมูลค่าเพิ่มทำให้เราขอลิขสิทธิ์มาผลิตเอง ซึ่งตอนนี้เราก็ได้มา 4 อย่าง คือ หมวก กระเป๋า ถุงเท้า และรองเท้า"

แชมเปี้ยนเป็นสินค้าที่กลุ่มลูกค้าวัยรุ่นสหรัฐฯ รู้จักเป็นอย่างดี แม้ยี่ห้อนี้มูลค่าสินค้ารวมจะไม่ติดอันดับ top five แต่ในผลิตภัณฑ์เสื้อผ้าบาสเกตบอลแล้วอยู่ในอันดับ top ten และสินค้าเสื้อผ้านั้นบริษัทฯ ก็กำลังเจรจาของสิทธิ์ในการผลิต คาดว่าจะได้ในปีนี้ โดยลิขสิทธิ์ที่ได้จะมีอายุประมาณ 3 ปี

ทั้งนี้ สปอร์ท เอช ขายสินค้าไนกี้มาตั้งแต่ยอดขายแค่ 2-3 ล้านบาทในปีแรกๆ (2527) มาถึงจุดสูงสุดในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาที่ทำยอดขายได้ถึง 600 ล้านบาท

ส่วนยอดขายแชมเปี้ยนในปีนี้ประมาณการไว้ที่ระดับ 200 ล้านบาท โดยมีงบการทำโฆษณาประชาสัมพันธ์ในช่วงแรกนี้ประมาณ 10 ล้านบาท ซึ่งก็ไม่ได้มากมายนักและทางบริษัทแม่คือซาร่าห์ ลี ไม่ได้ช่วยเรื่องงบ แต่ช่วยเรื่องตัว print งานโฆษณา แต่ส่วนมากบริษัทต้องทำเอง เนื่องจาก print โฆษณาตัวนั้นไม่เหมาะสมกับตลาดไทยเท่าใดนัก

ในเรื่องอัตราการเติบโตของยอดขายนั้น พงษ์ศักดิ์ กล่าวว่า "เราไม่กล้าทำนายเลย เพราะอย่างไนกี้ที่ปีที่แล้วเรายังทำอยู่นั้น ในตอนต้นปีเราทำนายว่าต้องโต 10% แต่ก็พอทราบว่าเศรษฐกิจไม่ค่อยดี พอกลางปีเมื่อมีปัญหาจริง เราก็พยายามรักษาตัวเลขไว้"

ทั้งนี้ ปี 2540 ที่ผ่านมา สปอร์ตเอชทำยอดขายไนกี้ได้รวม 600 ล้านบาท ซึ่งเป็นยอดขายที่เท่ากับปีก่อนหน้าหมายความว่าไม่อาจเติบโตได้ 10% ตามที่คาดหมายตั้งแต่ต้นปี

"ผมก็ถือว่ายอดขายเราไม่ได้ตก เพียงแต่ว่าไม่ได้พุ่งสูงเท่านั้น"

สำหรับสินค้าแชมเปี้ยนนั้น พงษ์ศักดิ์กล่าวถึงอนาคตว่า "ในกรณีที่สินค้าที่ผลิตในไทย หากมีรูปแบบและคุณภาพในระดับที่พอใจและราคาซื้อขายสามารถตกลงกันได้ เราก็จะมีการส่งออกไปให้ แชมเปี้ยน ในประเทศต่างๆ โดยเฉพาะฮ่องกง แต่เราก็คงต้องเจอคู่แข่ง ไม่ว่าจะในจีน อินโดนีเซีย หรือกระทั่งเวียดนาม"

ในจีนนั้นยังไม่ได้มีการวางผลิตภัณฑ์แชมเปี้ยน แต่มีการสั่งให้ออกไปที่ญี่ปุ่น ซึ่งที่นั่น บริษัท ซาร่าห์ ลี เป็นคนไปทำตลาดเอง "เราก็หวังว่าต่อไป บริษัทอาจจะมาสั่งจากไทยบ้าง เพราะว่าในเรื่องของราคานั้น เราสามารถแข่งขันได้ แต่ตอนนี้ priority ของเราคือการผลิตสินค้าภายใต้แบรนด์เนมของเขา และวางตลาดในประเทศให้ได้ดีก่อน"

หากสปอร์ท เอช จะไปวางขายที่ประเทศอื่นนั้นต้องให้บริษัทแม่เป็นคนสั่งให้บริษัทฯ ผลิต และเขาจะเป็นคนเอาไปจำหน่ายในตลาดต่างๆ เอง เพราะสินค้านี้มีลิขสิทธิ์

ทั้งนี้ regional headquater ของซาร่าห์ ลี ตั้งอยู่ที่ฮ่องกง ซึ่งทำหน้าที่เป็นศูนย์กลาง และมีอีกบริษัททำหน้าที่เป็นตัวแทนขายไลเซนส์ให้ผู้อื่นไปดำเนินการผลิตในประทศนั้นๆ

สินค้าที่สปอร์ต เอช ผลิตภายใต้แบรนด์เนมดังต่างๆ นั้นมีส่วนประกอบที่เป็นวัตถุดิบพื้นเมืองอยู่ไม่น้อย บางชิ้นมีถึง 100% เช่น หมวก และกระเป๋าบางรุ่นก็ใช้วัตถุดิบในประเทศ 100% บางรุ่นก็มีการนำเข้าผ้าจากไต้หวัน เป็นต้น แม้กระทั่งรองเท้านั้น ก็พยายามใช้วัตถุดิบในประเทศให้มากที่สุดบางรุ่นใช้ได้ถึง 80% แต่บางรุ่นอาจจะได้แค่ 50% ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่าสามารถหาวัตถุดิบในประเทศได้หรือไม่

ในช่วงเดือนที่ผ่านมา สปอร์ต เอช มีสินค้ารุ่นเดียวที่ออกมา เป็นรองเท้าผ้าใบสำหรับเทนนิสหรือบาสเกตบอลสำหรับคนที่ไม่ชอบใส่หุ้มข้อ และในปีนี้บริษัทฯ จะเริ่มมีออกมาหลายแบบ ทั้งรองเท้าวิ่ง บาสเกตบอล รองเท้าฟุตบอล

นอกจากธุรกิจตัวนี้แล้ว บริษัทฯ ได้เปิดร้าน sport zone เพื่อขายเครื่องกีฬาหลายๆ ยี่ห้อหลายๆ แบบ มีทั้งแชมเปี้ยน ไนกี้ แพน อาดีดาส ฯลฯ โดยเน้นหนักเทนนิสและฟุตบอล ตอนนี้อยู่ในช่วงดำเนินการปรับปรุงตกแต่งใหม่จากร้านค้าเดิมที่มีอยู่ ซึ่งคาดว่าจะเปิดได้ 10 แห่ง แบ่งเป็นในกรุงเทพฯ 7 แห่ง และต่างจังหวัด 3 แห่ง ซึ่งใช้งบประมาณทำ sport shop ประมาณ 10 ล้านบาท

ตลาดรวมของรองเท้าที่เป็นอินเตอร์เนชั่นแนลแบรนด์ มีอัตราการเติบโตปกติปีละ 15%-20% แต่ปีนี้ไม่น่าจะโตและใน 2 ปีนี้ก็ไม่น่าจะโต "แต่ก็ไม่แน่ ผมกำลังมองในมุมที่ว่า มองวิกฤติให้เป็นโอกาสนั้น มันก็อาจจะเป็นไปได้คือคนจะมีเวลามากขึ้น จะออกกำลังกายเพื่อคลายเครียดมากขึ้น ดังนั้น แทนที่ตลาดจะไม่โตก็อาจจะโตขึ้นมาเพราะเหตุนี้ได้"

นอกจากแชมเปี้ยนแล้ว พงษ์ศักดิ์คาดว่าจะทำยี่ห้ออื่นอีก ทั้งนี้วัตถุประสงค์ที่ตั้งบริษัท สปอร์ท เอช ขึ้นมาเมื่อปี 2527 นั้นก็เพื่อจำหน่าย ไนกี้ อย่างเดียว ไม่ได้ทำยี่ห้ออื่นเลย จนกระทั่งมาทราบว่าไนกี้ไม่ต่ออายุให้ บริษัทจึงไปติดต่อยี่ห้อแชมเปี้ยนมา "จากนี้เราจะเปลี่ยน โดยเรากำลังติดต่อยี่ห้ออื่นเข้ามาเพิ่มอีก 2-3 ยี่ห้อ ซึ่งการทำเช่นนี้ไม่มีปัญหากับแชมเปี้ยน ในตัวสัญญาเราเขียนไว้ชัดเจน แต่ในช่วงที่ผ่านมานั้นเนื่องจากตลาดขยายมาก เราไม่มีเวลาไปดูยี่ห้ออื่น ได้แต่ทำตัวที่เราขายอยู่ให้ดีที่สุดเท่านั้น"

ซึ่งยี่ห้อที่บริษัทฯ กำลังติดต่ออยู่นั้น ต้องรอดูเวลาอีกสักพัก เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่ไม่ดีเวลานี้ทำให้ต้องใช้เวลาอีกระยะในการตัดสินใจ

สปอร์ท เอช เป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างกลุ่มสหยูเนี่ยน กับกลุ่มสหพัฒน์ โดยมีบริษัท สหพัฒนาอินเตอร์โฮลดิ้ง ถือหุ้น 25% บริษัท บางกอกรับเบอร์ 25% และบริษัทสหยูเนี่ยน 50% ดังนั้นบริษัทแม่จึงเป็นบริษัทมหาชนทั้งนั้น ซึ่งก็ช่วยเอื้อประโยชน์ในการติดต่อธุรกิจกับต่างชาติ เพราะเขาจะมีความมั่นใจในบริษัท

"ผมทำงานอยู่กับกลุ่มนี้มานาน โดยทำตัวไนกี้มาตั้งแต่ปี 2523 ที่เราติดต่อเอาเข้ามาผลิตและปี 2525 ติดต่อเข้ามาจำหน่าย จนปี 2527 ที่ตั้งสปอร์ท เอช มาขายไนกี้อย่างจริงจัง" พงษ์ศักดิ์กล่าว

มูลค่าตลาดของเสื้อผ้า รองเท้า กระเป๋ากีฬาอยู่ที่ประมาณ 1,200 ล้านบาท ในส่วนของแบรนด์ต่างประเทศ (ไม่รวม แพน บาจา) ซึ่งมาร์เก็ตแชร์ของไนกี้อยู่ที่ประมาณ 50% อาดิดาสประมาณ 20-25% รีบอคตกอันดับไปอยู่ที่ 10% -15% ที่เหลือก็เป็นแบรนด์เล็กๆ

พงษ์ศักดิ์อธิบายว่า "ปัจจัยที่ทำให้ไนกี้ขายดีคือ แนวคิดที่เราสร้างไนกี้มานั้นก็คือเราผูกกับกีฬามาตลอดว่ากีฬาก็คือไนกี้ โดยเฉพาะกีฬาวิ่ง ซึ่งเราให้การสนับสนุนหรือจัดการวิ่ง เช่น วิ่งเพื่อสุขภาพ วิ่งแบบ 10 กิโลฯ วิ่งมาราธอนต่างๆ ทุก match ที่เราจัดนั้นเพื่อการกุศลทั้งนั้น ซึ่งนี่เป็นนโยบาย เรายอมรับว่าไนกี้โตมากับการวิ่งเป็นหลักจะขายดีมากในเรื่องรองเท้าวิ่ง

ส่วนตัวแชมเปี้ยนนั้น แม้ว่าจะมีภาพลักษณ์เป็นบาสเกตบอล เราก็ยังคงภาพนั้นไว้ ไม่เปลี่ยนแปลง แต่ก็จะเน้นเรื่องกีฬาด้านอื่นๆ ด้วย

อย่างไรก็ดี ปัจจัยที่สินค้าเครื่องกีฬามีมูลค่าตลาดที่โตขึ้นมานั้น ส่วนหนึ่งก็เกี่ยวกับความนิยมเรื่องการรักษาสุขภาพที่เพิ่มมากขึ้นของคนไทยด้วย



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.