ศาลล้มละลายสั่ง "อีพี" คืนเงิน "ทีพีไอ" 24ล้าน


ผู้จัดการรายวัน(2 มีนาคม 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

ศาลล้มละลายกลาง สั่ง "อีพี" คืนเงินทีพีไอกว่า 24 ล้านบาท เผยเป็นอีกคดีที่ย้ำความโปร่งใสในการทำงานของผู้บริหารแผนฯ ชุดที่ผ่านมา หลังจากสูบเงินลูกหนี้ผ่องถ่ายเข้าบริษัทลูกที่ไร้ตัวตน

รายงานข่าวจากศาลล้มละลายกลางแจ้งว่า เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2548 ที่ผ่านมา ศาลล้มละลายกลางได้พิจารณาคำร้องของบริษัท อุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย จำกัด(มหาชน) หรือทีพีไอ ในฐานะลูกหนี้ในคดี หมายเลข ฟ.8/2543 ตอนที่ 11 กรณีทีพีไอขอให้ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้บริษัท เอฟเฟ็คทีฟ แพลนเนอร์ส จำกัด (อีพี) ซึ่งเป็นผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการของทีพีไอชุดที่ผ่านมาคืนเงินที่อีพีสั่งจ่ายเงิน ทีพีไอนอกเหนือจากที่ระบุไว้ในแผนฟื้นฟูกิจการ โดยศาลล้มละลายกลางได้มีคำสั่งให้อีพีคืนเงินจำนวน 24,965,021.47 บาทให้กับทีพีไอหรือลูกหนี้ตามคำร้องดังกล่าว

ทั้งนี้ ทีพีไอในฐานะผู้บริหารแผนของลูกหนี้ยังได้ ยื่นคำร้องขอให้ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ผู้บริหารแผนหรืออีพีคืนเงินหลายคดีด้วยกัน รวมทั้งผู้บริหารแผนชุดปัจจุบันที่มาจากตัวแทนของกระทรวงการคลังซึ่งมีพฤติกรรมที่คล้ายกับอีพีที่ใช้จ่ายเงินทีพีไอไม่ถูกต้อง ซึ่งกำลังอยู่ในกระบวนการนัดสืบพยาน และรอฟังคำสั่งศาล

แหล่งข่าวจากทีพีไอ กล่าวว่า คำสั่งศาลล้มละลายกลางให้อีพีจ่ายเงินคืนแก่ทีพีไอครั้งนี้ถือเป็นอีกคดีที่ตอกย้ำความไม่โปร่งใสของผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการที่เข้ามาตักตวงผลประโยชน์จากลูกหนี้ ซึ่งคดีดังกล่าวเป็นกรณีที่อีพีสั่งจ่ายเงินค่าจ้างการรักษาความปลอดภัยแก่ผู้บริหารแผนซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงมาก โดยมีพฤติกรรมอำพรางด้วยการจัดตั้งบริษัทที่ไม่มีตัวตนในต่างประเทศขึ้นมารองรับแล้วโอนเงินจากทีพีไอออกไป

"เรายังตรวจสอบพบพฤติกรรมที่คล้ายกันเกิดขึ้นมาในยุคของผู้บริหารแผนชุดของทางการ โดยจัดตั้งบริษัทขึ้นมารับงานจากทีพีไอ ทั้งที่ตั้งสำนักงาน เป็นคอนโดฯร้าง โดยที่เราได้ส่งเอกสารหลักฐานให้ศาลพิจารณาแล้ว" แหล่งข่าวกล่าว

สำหรับการเข้ามาของอีพีในทีพีไอ เริ่มมาจากทีพีไอได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจเมื่อปี 2540 จนต้องปรับโครงสร้างหนี้กว่า 130,000 ล้านบาท โดยหลังจากศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ทีพีไอเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการเมื่อวันที่ 15 มี.ค.2543 และในวันที่ 15 ธ.ค.ปีเดียวกัน ศาลล้มละลายกลางได้มีคำสั่งเห็นชอบแผนฟื้นกิจการของทีพีไอ และแต่งตั้งให้บริษัทเอฟเฟ็คทีฟ แพลนเนอร์ส เข้ามาเป็นผู้บริหารแผน ซึ่งถือเป็นตัวแทนของกลุ่มเจ้าหนี้รายใหญ่ นำโดยธนาคารกรุงเทพ

ทว่าหลังจากที่อีพีเข้ามาบริหารทีพีไอได้ขัดแย้งกับลูกหนี้ในหลายกรณีเนื่องจากความไม่เชื่อมั่นว่าจะฟื้นฟูกิจการทีพีไอได้ ตั้งแต่การที่อีพีมีทุนจดทะเบียนเพียง 2 ล้านบาท เมื่อเทียบกับสินทรัพย์ของทีพีไอที่มีมากกว่าแสนล้านบาท การขาดความเข้าใจในธุรกิจปิโตรเคมีด้วยการสั่งลดกำลังการผลิตน้ำมันจนไม่สามารถทำให้ทีพีไอชำระหนี้ได้ตามกำหนดเวลา และประเด็นที่มีการขัดแย้งหนักและเป็นทีมาของการฟ้องร้องกันตามมาคือ การใช้จ่ายเงินอย่างไม่ชอบมาพากลของอีพี

จนกระทั่งเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2546 ศาลละลายกลางได้มีคำสั่งให้อีพีพ้นจากผู้บริหารแผนของทีพีไอ และกระทรวงการคลังเข้ามารับช่วงต่อจากการที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งแต่งตั้งเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2546


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.