สมิติเวชจำใจเปิดสาขา 2 แม้เศรษฐกิจไม่เป็นใจ


นิตยสารผู้จัดการ( มกราคม 2541)



กลับสู่หน้าหลัก

เดือนพฤศจิกายน บริษัทสมิติเวช จำกัด มหาชน เจ้าของโรงพยาบาลสมิติเวชได้ฤกษ์เปิดให้บริการโรงพยาบาลสมิติเวชศรีนครินทร์ อันเป็นแผนการขยายงานเพื่อรองรับความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งได้วางไว้ก่อนที่เศรษฐกิจไทยจะล้มไม่เป็นท่าในทุกวันนี้ ซึ่งส่งผลให้ทางผู้บริหารต้องมีการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์กันใหม่ เพื่อประคองให้สามารถอยู่รอดผ่านพ้นช่วงวิกฤตนี้ไปให้ได้

สมิติเวชศรีนครินทร์ เป็นโรงพยาบาลขนาด 400 เตียง สามารถรับผู้ป่วยนอกได้ประมาณ 2,000 คนต่อวันและผู้ป่วยในได้วันละ 400 คน นับตั้งแต่เปิดให้บริการมาได้ราว 2 เดือน คนไข้ที่เข้ามาใช้บริการเฉลี่ยวันละประมาณ 70 คน และก็มีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากทางโรงพยาบาลได้มีการปรับกลุ่มลูกค้าเป้าหมายลงมา ต่างจากสาขาสุขุมวิทที่เน้นกลุ่มเป้าหมายที่มีรายได้สูง

ในแต่ละวันจะมีคนไข้ใหม่เข้ามาใช้บริการประมาณวันละ 10 คนที่สมิติเวชศรีนครินทร์ ขณะที่สมิติเวชสุขุมวิท รับผู้ป่วยได้สูงสุดวันละ 1,800 คน และผู้ป่วยในได้ 280 คน ซึ่งปัจจุบันผู้ป่วยเข้ามาใช้บริการที่สาขาสุขุมวิทเฉลี่ยวันละ 1,200 คนสำหรับผู้ป่วยนอก และ 180 คนสำหรับผู้ป่วยใน ทว่าในภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้เป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ยอดผู้ป่วยจะต้องลดลง เพราะกำลังซื้อของคนเริ่มเสื่อมถอยลง แม้ที่ผ่านมาการรักษาด้วยเทคโนโลยีทางการเแพทย์ที่ทันสมัยได้ ทำให้อัตราผู้ป่วยในของสมิติเวชสุขุมวิทลดน้อยลง แต่หากพิจารณาจากอัตราการหมุนเวียน (Turnover) ของผู้ป่วยแล้วจะปรากฏให้เห็นชัดถึงการเปลี่ยนแปลงนี้

นับตั้งแต่ทางการได้ตัดสินใจปลดพันธนาการของเงินบาทออกจากดอลลาร์ จนทำให้ค่าเงินบาทตกลงฮวบฮาบอย่างน่าใจหาย ซึ่งก็ได้ผลกระทบในเชิงลบโดยตรงต่อโครงการลงทุนต่างๆ ทั้งในแง่ของอัตราการแลกเปลี่ยน และดอกเบี้ย ที่ฉุดให้ต้นทุนพุ่งสูงขึ้นไปกว่าที่ประมาณการไว้ เพราะเงินลงทุนบางส่วนเป็นการกู้จากต่างประเทศในรูปของ Syndication ประมาณ 1,400 ล้านบาท ขณะที่อัตราดอกเบี้ยภายในประเทศก็ผันผวนไปตามปัญหาสภาพคล่องของระบบการเงิน ดังนั้น ในช่วงเริ่มต้นนี้ ทางสมิติเวช จึงได้เปิดให้บริการแก่ผู้ป่วยเพียง 70 เตียงเท่านั้น ซึ่งก็ใช้เงินลงทุนไปประมาณ 2,500 ล้านบาท โดยเป็นการลงทุนในเรื่องของอุปกรณ์ทางการแพทย์ประมาณ 400 ล้านบาท

"สมิติเวชก่อตั้งมาได้ 19 ปี เกิดจากการรวมตัวกันของแพทย์รามาธิบดี โดยมี น.พ. ม.ร.ว. พัชรีสาณ ชุมพล เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการก่อตั้งและมีบัญชา ล่ำซำ ในสมัยเป็นประธานกรรมการของธนาคารกสิกรไทย เป็นผู้สนับสนุนเงินทุน ตลอดเวลาในช่วง 18 ปีที่ผ่านมา แม้เราจะเป็น Oversea Hospital แต่เราทำไม่ได้ 3 เรื่อง คือการผ่าตัดหัวใจ การเปลี่ยนอวัยวะ และการรักษามะเร็งโดยรังสีรักษา ซึ่งเหตุผลหลักมาจากเรื่องค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง แต่ในปัจจุบันสมิติเวชสามารถทำได้ในทุกเรื่องแล้ว" น.พ. จินดา สุวรรณรักษ์ ประธานกรรมการบริหารบริษัทและในฐานะผู้ร่วมก่อตั้งได้เล่าถึงความเป็นมาของสมิติเวช ก่อนที่จะก้าวขึ้นมาเป็นโรงพยาบาลที่สามารถให้บริการผู้ป่วยได้อย่างครบวงจร และมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จัก ยอมรับของคนทั่วไป

ณ สาขาศรีนครินทร์สามารถรองรับผู้ป่วยในเขตรัศมีศรีนครินทร์ หนองจอก มีนบุรี รามคำแหง สุขาภิบาล 1-2-3 รวมไปถึงย่านปริมณฑลจากฝั่งดาวคะนอง สมุทรสาครและแจ้งวัฒนะ เพราะมีจุดเชื่อมต่อทางด่วนซึ่งสามารถมาใช้บริการของสมิติเวชได้ไม่ยากนัก นอกจากนี้ ทางโรงพยาบาลยังมีแผนที่จะรองรับผู้ป่วยต่างจังหวัดที่อยู่กรุงเทพฯ โดยเฉพาะในกรณีเกิดเหตุการณ์ หรืออุบัติเหตุร้ายแรงอย่างเช่นกรณีไฟไหม้โรงแรมรอยัล จอมเทียน พัทยา เป็นต้น ขณะที่ในบริเวณแถบนั้นมีอุบัติเหตุทางรถยนต์เกิดขึ้นเป็นประจำ

"สมิติเวช ศรีนครินทร์ มีลักษณะเป็นลูกโซ่สอดคล้องกับที่สุขุมวิท โดยให้มีการแลกเปลี่ยนการใช้บริการซึ่งกันและกันและมีการตรวจรักษาที่ลึกลงไปยิ่งขึ้น นอกจากนี้ที่นี่ยังมีการเปลี่ยนโครงสร้างของกระบวนการให้บริการ ให้มีความคล่องตัวและสะดวกมากขึ้น โดยทุกจุดเมื่อคนไข้ก้าวเข้ามาก็สามารถนำตัวส่งไปยังจุดต่อไปได้ โดยไม่ต้องย้อนกลับไปยังจุดเริ่มต้น ซึ่งเป็นโครงสร้างการบริหารแบบเก่าที่กำลังจะล้าสมัยไปแล้ว โดยคนไข้ที่เข้ามาถึงจะต้องไปยังจุดประชาสัมพันธ์ หรือฝ่ายทะเบียนผู้ป่วย" นี่คือคอนเซ็ปต์ที่มีการออกแบบมาสำหรับสมิติเวชศรีนครินทร์ โดยการบอกเล่าของ น.พ. ทองดี ชัยพานิช ในฐานะผู้อำนวยการโรงพยาบาล

โดยภาพรวมของธุรกิจโรงพยาบาลเอกชน โดยเฉพาะโรงพยาบาลระดับ 4-5 ดาว มีการแข่งขันกันสูงเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว และยิ่งต้องมาเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยเช่นนี้การทำธุรกิจยิ่งยากขึ้นเป็นทวีคูณ ซึ่งสมิติเวชก็ตกอยู่ในสถานะนี้ ดังนั้นเพื่อความอยู่รอด กลยุทธ์ทางการตลาดจึงจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนตามสภาพการณ์ โดยจะมีลักษณะ aggressive มากขึ้น เน้นการประชาสัมพันธ์เชิงรุกมากขึ้น มีการคิดค้นผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพใหม่ๆ ส่วนใหญ่จะเป็นการตรวจสุขภาพ และการฟื้นฟูสุขภาพ โดยให้ทีมขายออกไปเสนอแก่ลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักธุรกิจ และผู้ที่มีรายได้ระดับสูง

ด้วยชื่อเสียงในระดับสากลของสมิติเวช จึงทำให้ลูกค้าของสมิติเวชไม่จำกัดเพียงแค่คนไทยเท่านั้น ลูกค้าต่างชาติก็เป็นกลุ่มเป้าหมายหนึ่งที่สร้างรายได้ให้กับสมิติเวชสุขุมวิทอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะลูกค้าชาวญี่ปุ่น ดังนั้นในภาวะที่ค่าเงินบาทอ่อนยวบยาบเช่นนี้ ทำให้สมิติเวชเริ่มหันมารุกการตลาดไปยังกลุ่มชาวญี่ปุ่นโดยตรง เพราะตลาดนี้อำนาจซื้อยังมีสูงมาก โดยมีสมปอง ห้านิรัติศัย Marketing มือดีที่กรำงานทางด้านโรงพยาบาลระดับ 5 ดาวมาอย่างโชกโชนก่อนที่จะมาปักหลักอยู่ที่สมิติเวช ซึ่งมีความคุ้นเคยกับวัฒนธรรม และความสามารถสื่อสารเป็นภาษาญี่ปุ่นได้ เพราะเป็นนักเรียนญี่ปุ่นมาก่อน โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นผู้สูงอายุที่ต้องการมาพักฟื้น ฟื้นฟูสุขภาพ และตรวจร่างกาย พร้อมทั้งมีโปรแกรมท่องเที่ยวยังที่ต่างๆ ของไทยรวมเป็นชุด หรือ package ระยะเวลาประมาณ 1 เดือน

ในภาวะเช่นนี้การประคองตัวให้อยู่รอดถือเป็นวิธีที่ดีที่สุดไม่ว่าจะด้วยหนทางใดก็ตาม ซึ่งเมื่อ 2 เดือนก่อนทางผู้บริหารสมิติเวช ตั้งแต่ระดับ Director ขึ้นไป ได้เสียสละไม่รับเงินเดือนตัวเองเพื่อมิให้พนักงานต้องเดือดร้อนไปมากกว่านี้ หากผู้บริหารประเทศมีสำนึกและจิตวิญญาณเช่นนี้ได้สักครึ่ง ก็คงจะส่งเสริมสนับสนุนให้เกิดความรับผิดชอบหรือ accountability ต่อสังคมได้มากกว่านี้!



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.