ทิสโก้พลิกกลยุทธการลงทุนปี 48 เน้นตราสารระยะสั้นลดความเสี่ยง


ผู้จัดการรายวัน(2 มีนาคม 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

บลจ.ทิสโก้เผยกลยุทธ์การลงทุนในปี 48 เน้นลงทุนตราสารหนี้ระยะสั้นเป็นหลัก เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากการปรับตัวเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยในประเทศ ขณะที่ธนชาติ-อยุธยาเจเอฟเข็นกองทุนพันธบัตรระยะสั้นจ่อคิว ดึงฐานลูกค้าเงินฝาก

รายงานข่าวจากบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ทิสโก้ จำกัด เปิดเผยว่า แผนการลงทุนในไตรมาสแรกของปี 2548 บริษัทจะเน้นการลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้นเป็นหลัก เนื่องจากต้องการลดความเสี่ยงจากการปรับตัวเพิ่มขึ้นขชองอัตราดอกเบี้ยในประเทศ และทยอยปรับพอร์ตการลงทุนให้มีอัตราผลตอบแทนสูงขึ้นไปตามทิศทางของอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น

สำหรับแนวโน้มของตลาดตราสารหนี้ในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ การซื้อขายน่าจะเน้นไปที่ตลาดตราสารระยะสั้น เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยอยู่ในช่วงขาขึ้น ทำให้อัตราผลตอบแทนของตราสารระยะสั้นและระยะกลางมีแนวโน้มปรับตัวขึ้นได้อีก แต่ไม่น่าจะรุนแรงมากนัก เนื่องจากอัตราผลตอบแทนในปัจจุบันได้ตอบรับข่าวการรปับตัวขึ้นของอัตราดอกเบี้ยมากพอสมควร

อย่างไรก็ตาม ยังคงมีความเสี่ยงที่อัตราดอกเบี้ยในประเทศจะปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วกว่าคาดการณ์ไว้ได้ เมื่อมีการยกเลิกการตรึงราคาขายปลีกน้ำมันดีเซล ซึ่งจะมีผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อโดยตรง นอกจากนี้หากทางธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างรุนแรงก็อาจส่งผลต่ออัตราผลตอบแทนของตราสารในตลาดตราสารหนี้ไทยด้วยเช่นกัน

รายงานข่าวกล่าวว่า แม้ว่าแรงกดดันอัตราเงินเฟ้อจะลดลงจากการปรับลดลงของราคาน้ำมันในตลาดโลก และค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น ทางคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยังคงตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในตลาดซื้อคืนพันธบัตร (อาร์/พี) 14 วัน อีก 0.25% ในการปรับชุมรอบเดือนธันวาคม 2547 เป็นการปรับขึ้นครั้งที่ 2 ในไตรมาสสุดท้ายของปี 2547 ทำให้อัตราดอกเบี้ยในไตรมาสที่ 4 ปรับขึ้นรวม 0.50% มาอยู่ที่ 2% เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับดอกเบี้ยสหรัฐ

ขณะเดียวกันการทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากของธนาคารพาณิชย์เป็นผลให้อัตราผลตอบแทนของตราสารระยะสั้นและระยะปานกลางปรับตัวขึ้นตาม ในส่วนของการขยายตัวของระบบเศรษฐกิจก็เริ่มมีแนวโน้มชะลอตัวลงจากผลกระทบของราคาน้ำมันดิบที่สุงขึ้น เห็นได้จากตัวเลขการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ในไตรมาสที่ 3 ที่ลดลงมาอยู่ที่ 6% จาก 6.6% ในครึ่งแรกของปี 2547 ทำให้อัตราผลตอบแทนของตราสารระยะยาวยังคงไม่ปรับตัวสูงขึ้นจากระดับเดิม

รายงานข่าวระบุว่า ภาวะการลงทุนในช่วงไตรมาส 4 ของปี 2547 ของตลาดตราสารหนี้ไทยเริ่มแสดงให้เห็นถึงทิศทางที่ชัดเจนมากขึ้น โดยอัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้ระยะสั้น และระยะกลางได้ทยอยปรับตัวขึ้นตามทิศทางของอัตราดอกเบี้ยซื้อคืนพันธบัตรประเภท 14 วัน ในขณะที่อัตราผลตอบแทนของตราสารระยะยาวยังทรงตัวอยู่ใกล้เคียงระดับเดิม เนื่องจากนักลงทุนส่วนใหญ่ยังคงหลีกเลี่ยงที่จะลงทุนในตราสารระยะยาว ทำให้ดัชนีพันธบัตรรัฐบาลปรับตัวขึ้นเพียง 0.31% ในไตรมาสที่ 4 อยู่ที่ 147.42 จุด

รายงานข่าวจากบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ธนชาติ จำกัด กล่าวว่า กองทุนเปิดธนชาติตราสารหนี้ระยะสั้น1 ที่เสนอขายครั้งแรกระหว่างวันที่ 14-22 กุมภาพันธ์ มียอดจองซื้อสูงกว่า 1,076.35 ล้านบาท ล่าสุดกองทุนเปิดธนชาติพันธบัตร ที่เปิดเสนอขายระหว่างวันที่ 16-22 กุมภาพันธ์นั้น ได้รับความสนใจจากผู้ลงทุนเป็นอย่างมาก โดย บลจ.ธนชาติ จะเสนอขายกองทุนเปิดธนชาติพันธบัตรในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ เป็นต้นไปและรับซื้อคืนทุกวันที่ 20 ของเดือน เพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้ลงทุนที่ต้องการลงทุนในตราสารที่มีความเสี่ยงต่ำ

สำหรับกองทุนเปิดธนชาติพันธบัตร (NASSET GOVERNMENT BOND FUND : NGB) จะเน้นลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล และพันธบัตรที่ รัฐวิสาหกิจเป็นผู้ออกโดยมีกระทรวงการคลังค้ำประกันเป็นหลัก มูลค่าโครงการ 1,500 ล้านบาท เสนอขายทุกวัน

รายงานข่าวจากบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) อยุธยาเจเอฟ จำกัด หรือ AjF กล่าวว่า กองทุนรวมอยุธยาพันธบัตรรัฐบาล 3/49 คุ้มครองเงินต้น โครงการมีอายุ 1 ปี ซึ่งเน้นลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลที่มีอายุใกล้เคียงหรือเท่ากับกองทุน เริ่มเสนอขายหน่วยลงทุนครั้งแรกตั้งแต่วันที 1-7 มีนาคม 2548 ลงทุนขั้นต่ำ 10,000 บาท

ก่อนหน้านี้ นายเรืองวิทย์ นันทาภิวัฒน์ กรรมการผู้จัดการบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) อยุธยาเจเอฟ จำกัด กล่าวว่า ในปีนี้บริษัทมีแผนออกกองทุนตราสารหนี้เฉลี่ยเดือนละ 1 กอง กองทุนละ 1 พันล้านบาท เพื่อให้ง่ายต่อการบริหาร เพราะถ้าหากออกเป็นจำนวนมากจะทำให้หาสินค้าในตลาดได้ยาก ซึ่งอาจทำให้เกิดความเสี่ยงในการลงทุน

อย่างไรก็ตาม ในอนาคตหากสินค้าที่เป็นตราสารหนี้ระยะสั้นได้ยาก บริษัทก็เตรียมปรับกลยุทธ์การออกกองทุน โดยหันไปให้ความสำคัญกับการออกตราสารหนี้ภาครัฐเพิ่มขึ้น ซึ่งจะมีอายุเฉลี่ยประมาณ 9 เดือน หรือ 12 เดือน


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.