Elmos Ice Cream ไอศกรีมช้อปเสิร์ฟรายแรกของคนไทย


นิตยสารผู้จัดการ( มกราคม 2541)



กลับสู่หน้าหลัก

หนึ่งในกลยุทธ์สำหรับผู้ประกอบการธุรกิจ ที่สามารถเอาตัวรอดได้ในภาวะเลวร้ายทางเศรษฐกิจเช่นทุกวันนี้ ก็คือการรู้ตัวว่าก้าวไปผิดทาง แล้วหาทางใหม่ได้ทัน

เช่นเดียวกับบริษัททอยส์ ฟิช แอนด์ ชิพส์ จำกัด ซึ่งเริ่มต้นด้วยการขายฟาสต์ฟู้ดในสไตล์อังกฤษ ที่ประกอบด้วยอาหารทอด อาทิ ปลา ปลาหมึก กุ้ง พาย และไอศกรีม แต่ก็ไปได้ไม่ค่อยดีนัก ในสไตล์คนไทย จนต้องกลับตัวเอาไอศกรีม ซึ่งเดิมเป็นเพียงส่วนประกอบส่วนหนึ่งของร้าน มาเป็นธงนำในการทำธุรกิจของบริษัทจนทุกวันนี้

สารสิทธิ์ พงศ์พูนลาภ ผู้จัดการทั่วไป บริษัททอยส์ ฟิช แอนด์ ชิพส์ จำกัด กล่าวกับ "ผู้จัดการรายเดือน" ถึงที่มาของบริษัทฯ ว่า บริษัทเริ่มก่อตั้งมาเมื่อปี 2537 โดยกำพล สุนทรเวช มีจุดมุ่งหมายแรกเพื่อดำเนินธุรกิจแฟรนไชส์ในสไตล์อังกฤษ ซึ่งกำพลเคยใช้ชีวิตอยู่ในสมัยเป็นนักเรียนไฮสคูล

โดยเริ่มลงทุนเปิดร้านฟิช แอนด์ ชิพส์ ขึ้นครั้งแรกที่บริเวณศูนย์อาหารชั้น 5 ของห้างเซ็นทรัล ปิ่นเกล้า ประมาณปลายปี 2538 พร้อมกับการเปิดห้างเซ็นทรัลปิ่นเกล้า แต่ไม่ประสบความสำเร็จจึงหาวิธีให้บริษัทอยู่รอดด้วยการขออนุญาตทางห้างฯ นำเครื่องกดไอศกรีมมาไว้หน้าร้าน เพื่อเป็นการเรียกลูกค้า ปรากฏว่าประสบผลสำเร็จจากการขายไอศกรีมได้ดีเกินคาด ทำให้ต้องมีการเจรจาเรื่องการเช่าพื้นที่กันใหม่ ระหว่างบริษัทกับห้างเซ็นทรัล เพื่อความอยู่รอดของธุรกิจ

"ตอนนั้นช่วงต้นปี 2539 เป็นช่วงที่ผมเข้ามาทำงานในบริษัท รายได้ของร้าน ฟิช แอนด์ ชิพส์ สู้ค่าเช่าไม่ไหว เราก็เลยขออนุญาตทางห้างฯ ใช้พื้นที่หน้าร้านเพื่อขายไอศกรีม ซึ่งทางห้างฯ ก็โอเค ไม่คิดค่าเช่าแล้วไอศกรีมก็ขายดีมาก" สารสิทธิ์ กล่าวและเล่าว่า

การที่บริษัทฯ สามารถมีรายได้จากการขายไอศกรีมถือเป็นเรื่องของโชค บวกกับความพยายามของกำพล ซึ่งได้ขอเจรจากับทางห้างฯ เพื่อขอพื้นที่เพิ่มเติมในการขายไอศกรีมเพราะพื้นที่ของบริษัทฯ ต้องการเปิดเคาน์เตอร์ไอศกรีม ซึ่งเป็นบริเวณชั้น G ของห้างฯ มักจะเป็นพื้นที่ที่ห้างไม่เปิดให้เช่าแต่ใช้ลงทุนเองมากกว่า

"พอไอศกรีมหน้าร้านขายดี เราก็เริ่มมองเห็นช่องทางขอเจรจาเช่าพื้นที่ชั้น G แล้วเอาเครื่องมาตั้ง หาร่มมากางเพื่อให้เป็นจุดดึงดูด เฉพาะตัวเครื่องไม่น่าสนใจ เมื่อธุรกิจไปได้ดีทางห้างฯ ให้เช่าพื้นที่ บริษัทก็ปรับปรุงเป็นเคาน์เตอร์และใสยี่ห้อ ELMOS เป็นการเปิดร้านไอศกรีมช้อปเสิร์ฟอย่างเต็มตัว มีบริการ มีภาชนะไว้ใส่นอกเหนือจากโคนที่เป็นเทกโฮม"

จากวันนั้น Eloms ถือว่าเป็นไอศกรีมเจ้าแรก ที่เป็นยี่ห้อไอศกรีมท้องถิ่นของไทยในรูปแบบสากล โดยมีไอศกรีมวานิลลา ช็อกโกแลต และไอศกรีมผสมระหว่างสองรส โดยขายผ่านเครื่องจ่ายไอศกรีมขนาด 3 หัวจ่ายทำเงินกว่าเดือนละ 1 แสนบาท บริษัทจึงยกเลิกสัญญาเช่าร้านฟาสฟู้ดที่ชั้น 5 ไปเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2540 ที่ผ่านมาพร้อมกับลุยธุรกิจไอศกรีมเพียงอย่างเดียว

อย่างไรก็ดี แม้ Elmos จะได้ชื่อว่าเป็นไอศกรีมซอฟต์เสิร์ฟยี่ห้อท้องถิ่นเจ้าแรกของไทย แต่ก่อนหน้านั้นไอศกรีมแบบซอฟต์เสริฟก็มีจำหน่ายอยู่มากแล้วในตลาด แถมยังมีทำเลในจุดมุ่งหมายเดียวกัน คือตามห้างสรรพสินค้าทั่วไป อาทิ โยเกินฟรุ๊ต ทีซีบีวาย หรือกระทั่งแดรี่ควีนที่กลับมาระดมเปิดเคาน์เตอร์ทั่วทุกแห่งในตอนนี้ หรือแม้กระทั่งห้างเซ็นทรัลเอง ที่มีไอศกรีมซอฟต์เสิร์ฟ เป็นส่วนประกอบหนึ่งของฟาสต์ฟู้ดด้วยเช่นกัน ถือได้ว่า Elmos มีคู่แข่งอยู่ไม่น้อยทีเดียว ในตลาดไอศกรีมซอฟเสิร์ฟ

ยิ่งเมื่อเทียบกับภาวะในปัจจุบันด้วยแล้ว ผู้จัดการทั่วไปกล่าวว่า แผนการขยายกิจการในปี 2541 เขายังไม่เห็นหนทางว่าจะทำอะไร แต่จะประคองบริษัทที่ยังถือว่าไปได้ดีให้ราบรื่นไปก่อน

ปัจจุบันนี้ Elmos มีสาขาอยู่เพียง 2 แห่ง คือ เซ็นทรัล ปิ่นเกล้า และเมเจอร์ซีนิเพล็กซ์ ซึ่งอยู่ตรงข้ามกันนั่นเอง กับอนาคตที่เซ็นทรัลพระราม 3 อีกหนึ่งแห่งหากการเจรจาเช่าพื้นที่ประสบความสำเร็จ โดยที่รายได้หลักอยู่ที่เซ็นทรัล ปิ่นเกล้า คือมีรายได้เดือนละ 3 แสนบาทต่อเดือน ในขณะที่เมเจอร์ซีนิเพล็กซ์ยังมีปริมาณการขายเพียง 2 หมื่นบาทต่อเดือน ไม่คุ้มกับค่าเช่าที่สูงถึงเดือนละ 4 หมื่นบาท

รวมทั้งการผลิตไอศกรีม ซึ่งใช้ปริมาณนมซอฟต์เสิร์ฟเป็นวัตถุดิบหมุนเวียนเดือนละประมาณ 1 แสนบาท กับตัวเครื่องผสมไอศกรีม ซึ่งต้องนำเข้ามาและมีราคาตกเครื่องละ 8 แสนบาท เมื่อคิดตามค่าเงินดอลลาร์ในปัจจุบัน ทำให้นอกจากการพัฒนารสชาติไอศกรีมแล้ว สารสิทธิ์ กล่าวว่า บริษัทยังคิดค้นช่องทางใหม่ๆ เพิ่มขึ้น ซึ่งเรียกได้ว่าอยู่ในระยะทดลองว่าจะใช้ได้หรือไม่

ไอศกรีมที่บริษัทผลิตได้ในปัจจุบันที่ได้รับความนิยมหลักๆ คือ รสวานิลา ช็อกโกแลต ซึ่งตกราคาโคนละ 12 บาท หรือถ้วยละ 20 บาท และโคนละ 15 บาท หรือถ้วยละ 25 บาท สำหรับไอศกรีมรสผลไม้ บวกกับท็อปปิ้งแบบไทยๆ คือถั่วลิสง แยมสตรอเบอรี่ และช็อกโกแลตเหลว ที่ให้เลือกได้ 2 ใน 3 อย่าง ในราคา 5 บาท

"สำหรับรสชาติไทยๆ ก็มีไอศกรีมกะทิ ซึ่งเป็นรสชาติที่เราทำได้ดีมากๆ กับ ทุเรียน และผลไม้อื่นๆ ที่เราพัฒนารสชาติเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ" สารสิทธิ์ กล่าว

สำหรับเรื่องของช่องทางใหม่ๆ ที่กล่าวถึง สารสิทธิ์เล่าว่า ตอนนี้บริษัทได้ทำรถไอศกรีมออกมาหนึ่งคัน เพื่อให้บริการตามงานจัดเลี้ยงตามสถานที่ต่างๆ นอกเหนือจากในห้างซึ่งมีแนวโน้มจะเปิดเวลาทำการน้อยมากแต่ก็ยังอยู่ในขั้นทดลอง เพราะต้นทุนการผลิตสูงมาก เพราะต้องใช้รถยนต์หนึ่งคัน เครื่องผสมไอศกรีมหนึ่งเครื่อง เครื่องปั่นไฟเองในรถ ตู้เย็นที่บริษัทออกแบบเองเพื่อใช้กับรถไอศกรีม รวมแล้ว ตกต้นทุนคันละเกือบ 1 ล้านบาท ในขณะที่บริษัทรับจัดส่งไอศกรีมในงานเลี้ยงต่างๆ เริ่มต้นที่ครั้งละ 2,700 บาท ทำให้เห็นโอกาสคืนทุนและกำไรค่อนข้างยาก จึงต้องศึกษาไปก่อน

"จากเหตุผลเรื่องต้นทุนนี้ เราก็เลยไม่คิดที่จะขายแฟรนไชส์อย่างน้อยก็ใน 5 ปีนี้แน่นอน เพราะธุรกิจของเราไม่เหมาะกับแฟรนไชส์ ต้นทุนแพง บริหารยาก แต่ถ้าในอนาคตทุกอย่างลงตัวก็ไม่แน่ว่าเราจะทำ อย่างไรก็ดี ทัศนะของผมเชื่อว่า แฟรนไชส์เป็นธุรกิจสำเร็จรูปสำหรับคนมีเงินทุน แต่ถ้าคนไม่มีเงินทุนน่าจะเริ่มต้นจากทุนน้อยๆ หรือเริ่มด้วยตัวเองจะดีกว่า" สารสิทธิ์ให้แง่คิดถึงการทำธุรกิจในยุคนี้จากการทำงานของเขา

การผลิตรถทำไอศกรีมแบบซอฟต์เสิร์ฟของบริษัททอยส์ ฟิช แอนด์ ชิพส์ ถือเป็นคันแรกในประเทศไทย ซึ่งจะเป็นรถไอศกรีมที่สามารถวิ่งไปได้ทุกที่ รวมทั้งที่ไม่มีไฟฟ้าใช้ เหมาะสำหรับจัดงานตั้งแต่ 20-500 คน

โดยบริษัทจะคิดค่าบริการประมาณคนละ 13.50 บาท เป็นมาตรฐานหากเป็นที่ที่ต้องปั่นไฟเองจะคิดเพิ่มอีก 20 บาท และถ้าเป็นสถานที่นอกเขตกรุงเทพฯ แต่ไม่ไกลกว่าจังหวัดรอบๆ กรุงเทพฯ คิดกิโลเมตรละ 10 บาท

ทั้งนี้ สารสิทธิ์ย้ำว่ารถไอศกรีมเป็นเพียงอีกช่องทางหนึ่งในการทำตลาดที่บริษัทคิดขึ้น แต่จะไปได้ดีหรือไม่นั้น ยังต้องขึ้นอยู่กับความพอใจของลูกค้าเป็นคนตัดสินใจในขั้นตอนสุดท้าย



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.