กุมภาพันธ์ปี 2465 หนังสือ Reader's Digest ได้ปรากฏโฉมสู่สายตาชาวโลกเป็นเล่มแรก
และนับจากนั้นเป็นต้นมาหนังสือหลายเล่ม หลายภาษา รวมทั้งสินค้าด้านเทคโนโลยี
ต่างทยอยออกมาจนเป็นที่รู้จักกันทั่วโลก และปัจจุบัน Reader's Digest สามารถเข้าไปอยู่ในหัวใจของนักอ่านทั่วโลก
ดูได้จากขณะนี้มียอดขายเดือนละ 27 ล้านฉบับจาก 19 ภาษา ผลการดำเนินงาน 3
ปีล่าสุด โดยปี 2538-2540 (สิ้นสุด 30 มิถุนายน) ที่มีรายได้ 3,068.5, 3,098.1
และ 2,839 ล้านเหรียญสหรัฐ และกำไรสุทธิปี 2538-2540 เท่ากับ 264, 80.6 และ
133.5 ล้านเหรียญสหรัฐตามลำดับ
โดยมีส่วนแบ่งรายได้จากอเมริกา 45% ยุโรป 41% และเอเชียแปซิฟิกและตลาดอื่นๆ 16% และมีผลิตภัณฑ์หลักๆ คือ หนังสือความรู้ทั่วไปและสิ่งบันเทิงต่างๆ สามารถทำรายได้สูงถึง 65% ของรายได้ทั้งหมด รองลงไป คือ นิตยสาร Reader's
Digest 26% ผลิตภัณฑ์อื่นๆ 6% และนิตยสารเฉพาะด้าน 3%
สำหรับคนไทยรู้จักหนังสือ Reader's Digest ที่แปลเป็นภาษาไทย ในนาม "Reader's
Digest สรรสาระ" ที่เข้ามาบุกตลาดคนไทยเมื่อปี 2538 และเล่มแรกที่ออกวางจำหน่ายเมื่อเดือนเมษายน
2539 ขนถึงปัจจุบันมียอดจำหน่ายต่อเดือนสูงถึง 116,314 ฉบับ (ตรวจสอบและรับรองอย่างเป็นทางการโดย
Audit Bureau of Circulations : ABC)
จุดเริ่มต้นของ Reader's Digest ในไทย เกิดจากความมั่นใจของบริษัทแม่ที่อเมริกาคาดว่าในอนาคต
ตลาดนักอ่านในไทยจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังจากประสบความสำเร็จในประเทศเพื่อนบ้าน
เช่น มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ไต้หวัน ฮ่องกง สิงคโปร์ หรือญี่ปุ่นมาแล้ว ดังนั้น
จึงได้ตั้งบริษัทลูกขึ้นชื่อ บริษัท รีดเดอร์ส ไดเจสท์ (ประเทศไทย) จำกัด
โดยมี ศุภชัย สุนทรผดุงสิน เป็นกรรมการบริหารผู้จัดการใหญ่ ด้วยทุนจดทะเบียน
4 ล้านเหรียญสหรัฐ
"เราเริ่มจากไม่มีอะไรเลยในการตั้ง Reader's Digest ในไทย ช่วงแรกๆ ต้องรับการช่วยเหลือจากบริษัทแม่ในอเมริกาและ Reader's Digest ในฮ่องกงอย่างมาก
เดี๋ยวนี้เรายังต้องการพี่เลี้ยงเหมือนเดิมทั้งวิธีการผลิต บริหาร หรือด้านข้อมูล"
ศุภชัย กล่าว
จากตัวเลขยอดขายที่ทำได้ระดับแสนเล่มภายในไม่ถึง 2 ปี นับว่าประสบความสำเร็จมากทีเดียว
เป็นผลมาจากการทำตลาดแบบเชิงรุกด้วยการส่งจดหมายไปตามที่อยู่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล
ซึ่งในจดหมายนั้นมีทั้งใบตอบรับสมาชิก ใบชิงโชครางวัลต่างๆ โดยผู้ที่ไม่ได้เป็นสมาชิกก็สามารถมีสิทธิ์ชิงรางวัลได้
ด้วยวิธีการทำตลาดดังกล่าวในไทยนี้ถือว่ายังใหม่อยู่มาก
วิธีการตลาดดังกล่าวของ Reader's Digest หลายๆ คนที่ได้รับจดหมายนอกจากจะได้รับใบตอบรับสมาชิกหรือใบชิงรางวัล
ยังจะได้รับของชำร่วยต่างๆ นานา หรืออาจจะได้รับใบเสร็จรับเงินทั้งๆ ที่ไม่ได้เป็นสมาชิก
แม้บางคนจะไม่ตอบกลับแต่ก็ยังจะได้รับจดหมายอยู่บ่อยครั้ง วิธีการนี้อาจเรียกได้ว่า
ตื๊อเท่านั้นที่จะครองโลก แต่ทำให้เกิดความไม่พอใจและหงุดหงิดต่อหลายคนพอสมควร
"ช่วงแรกๆ จะส่งจดหมายไปตามบ้าน และเนื่องจากเรายังใหม่มากคนไทยไม่รู้จักและยังไม่เข้าใจ
ทำให้คนที่ได้รับจดหมายโทรเข้ามาและไถ่ถามว่า 'อะไร' นี่คือปัญหาของเรา และบางคนยังโทรมาบอกว่าวิธีการอย่างนี้เป็นวิธีการไม่ถูกต้อง
'หลอกลวง' แต่ช่วงนี้ก็เริ่มลดลงจนเกือบหมดแล้ว และเราคาดว่าปัญหาต่างๆ
เหล่านี้จะค่อยๆ หมดไปและคาดว่าไม่เกิน 5 ปีการทำงานของเราจะง่ายขึ้นกว่านี้"
ศุภชัย กล่าว
จากยอดขายรวมทั้งหมดต่อเดือนเกือบทั้งหมดจะมาจากการเป็นสมาชิกที่มีสูงถึง
111,959 ฉบับ จำหน่ายตามแผงทั่วไป 4,000 ฉบับ และจำหน่ายให้กับบริการการบินไทยอีก
355 ฉบับ และจากข้อมูลเกี่ยวกับสมาชิกของ Reader's Digest ในไทยปรากฏว่าผู้อ่านจะกระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพฯ
90.5% ต่างจังหวัด 9.5% โดยผู้อ่านส่วนใหญ่จะมีอายุประมาณ 26-35 ปี รองลงไปอายุประมาณ
36-45 ปี มีรายได้อยู่ในช่วง 25,001-75,000 บาทต่อเดือน และส่วนใหญ่จะเป็นผู้บริหารภาคเอกชน
รองลงไปเป็นภาครัฐบาลและรัฐวิสาหกิจนั่นหมายความว่าผู้อ่าน Reader's Digest
ส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมดประมาณ 85% จะมีการศึกษาระดับปริญญาตรีหรือสูงกว่า
ที่ผ่านมา ศุภชัย ได้นำหนังสือเข้ามาจำหน่ายในไทยเพียงไม่กี่เล่ม โดยหนังสือที่สามารถทำรายได้ให้
Reader's Digest ประเทศไทยมากที่สุดเป็นหนังสือความรู้ทั่วไป เทป วิดีโอ
ประมาณ 55% นิตยสาร Reader's Digest สรรสาระประมาณ 35% และจากค่าโฆษณาประมาณ
10% และสามารถทำยอดขายให้บริษัทแม่เป็นอันดับ 4 รองจากไต้หวัน ฟิลิปปินส์
อินเดีย ตามลำดับ
อย่างไรก็ตามการรุกด้านการตลาดในไทยยังไม่เต็มที่ เพราะหนังสือที่บริษัทจะนำเข้ามาหรือผลิตออกมาจำหน่ายยังมีอีกมาก
เรื่องนี้ ศุภชัย เปิดเผยว่า ปี 2541 จะมีหนังสือออกวางจำหน่าย คือ หนังสือเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ,
การปรุงอาหาร, ความเร้นลับด้านธรรมชาติและศาสตร์แห่งศัพท์ ซึ่งจะเน้นภาษาอังกฤษ
"คิดว่าคนไทยยังอ่านหนังสือเราไม่มาก ตัวเลขแสนเล่มยังน้อยไป ซึ่งตามความรู้สึกน่าจะประมาณ
3 แสนเล่ม เพราะพฤติกรรมการอ่านหนังสือคนไทยยังไม่มากเท่ากับฮ่องกง สิงคโปร์
ไต้หวัน เกาหลีใต้ ดังนั้นเราคาดว่าในอนาคตการอ่านหนังสือคนไทยจะมากขึ้นเรื่อยๆ และเราจะบุกตลาดมากขึ้น"
และในปี 2541 นี้ นับว่าเป็นก้าวสำคัญของ Reader's Digest ในไทยอย่างแท้จริง
เนื่องจากเป็นปีแห่งความซบเซาทุกวงการ ดังนั้นคนไทยส่วนใหญ่จะต้องประหยัดกันมากขึ้น
การใช้จ่ายคงต้องคำนึงถึงความจำเป็นสำคัญเช่นเดียวกับการใช้จ่ายเพื่อซื้อหนังสือสักเล่ม
เรื่องนี้ ศุภชัย เล่าว่า นโยบายของบริษัท คือ การไม่ขึ้นราคาซึ่งจะเน้นปริมาณยอดขายดีกว่าขึ้นราคาแล้วยอดขายลดลง
"และปีนี้การเติบโตเราจะสวนกระแส โดยตั้งเป้ายอดขายไว้ว่าจะโตกว่าปีที่ผ่านมาประมาณ
10% และมีรายได้เพิ่มขึ้นประมาณ 900% สาเหตุที่สูงเช่นนี้เพราะมีสินค้ามากขึ้น
อีกทั้งค่อนข้างโชคดี คือ รายได้จากค่าโฆษณาจะเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 20% จากที่เคยทำได้เดือนละ
1 ล้านบาท" ศุภชัย กล่าว
คงจะต้องติดตามกันต่อไปว่าหนังสือระดับโลกอย่าง Reader's Digest จะฝ่าฝันเศรษฐกิจปี
2541 ไปได้หรือไม่ เพราะหลายๆ คนยังดูไม่ออกว่าอัตราการเติบโตที่ผ่านมาเป็นของจริงหรือของปลอม