"คดีทรัพย์สินทางปัญญาและคดีการค้าระหว่างประเทศมีความยุ่งยากซับซ้อน
และมีลักษณะพิเศษแตกต่างจากคดีอาญาและคดีแพ่งโดยทั่วไป" เหตุผลหลักนี้ทำให้เป็นที่มาของการตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง
โดยกระทรวงยุติธรรม ซึ่งต้องการให้เกิดศาลชำนัญพิเศษ พิจารณาคดีได้อย่างมีประสิทธิภาพ
โครงการนี้เริ่มมาตั้งแต่ปี 2536 ด้วยความเชื่อมั่นของกระทรวงยุติธรรมที่จะทำให้ศาลทรัพย์สินทางปัญญา
และการค้าระหว่างประเทศกลาง เป็นศาลระบบใหม่ที่มีความทันสมัย และเป็นสากลสอดคล้องกับระบบการค้าระหว่างประเทศที่มีการขยายตัวมากขึ้น
สำหรับประเทศไทยเองนั้น ศาลทรัพย์สินทางปัญญานี้ เป็นศาลเดียวในโลกที่เป็นที่รวมของการตัดสินคดีความด้านทรัพย์สินทางปัญญา
และการค้าระหว่างประเทศเข้าไว้ด้วยกัน เปิดดำเนินการแล้วเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม
2540 ที่ผ่านมา
สุทธิพล ทวีชัยการ ซึ่งรับหน้าที่เป็นเลขานุการศาลทรัพย์สินทางปัญญา และการค้าระหว่างประเทศกลางกล่าวย้ำบทบาทว่า
เป็นเขตอำนาจพิพากษาเฉพาะคดีด้านทรัพย์สินทางปัญญา และการค้าระหว่างประเทศ
ที่มีวิธีพิจารณาพิเศษแตกต่างจากคดีทางอาญา และคดีแพ่งทั่วไป อธิบดีศาลมีอำนาจในการออกข้อกำหนด
และมีผู้เชี่ยวชาญเฉพาะในกิจการหลากหลายสาขาที่เกี่ยวข้องเป็นผู้พิพากษาสมทบ
ที่สำคัญก็คืองานของศาลนี้ต่างจากระบบของศาลทั่วไป การดำเนินงานของศาลต้องได้รับการยอมรับทั้งในประเทศและต่างประเทศ
คำตัดสินของศาลต้องอยู่ในระดับมาตรฐานสากล
ขั้นตอนที่จะพิจารณาก็ต้องมีความรวดเร็วรัดกุม ไม่ต้องมีการพิจารณาถึงระดับ
3 ศาล คือ ศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา แต่จะมีการพิจารณาเนื้อหาของคดีโดยละเอียดก่อนส่งเข้าทำการพิจารณา
หากฝ่ายโจทก์ หรือจำเลยยังไม่พอใจต่อคำตัดสินนั้น สามารถทำเรื่องอุทธรณ์ถึงระดับศาลฎีกาได้เลย
และระดับผู้พิพากษาประจำ 2 ท่านที่นั่งบัลลังก์ในศาลนี้ ก็ถูกคัดสรรมาจากผู้พิพากษาในระดับ
5 ถึงระดับ 6 ขึ้นไป ซึ่งมีอำนาจเท่าเทียมถึงในระดับศาลฎีกา จึงทำให้สามารถตัดขั้นตอนในระดับศาลอุทธรณ์ได้
และเป็นผู้มีความรู้ด้านภาษาอังกฤษเป็นอย่างดี และการพิจารณาตัดสินส่วนใหญ่ต้องใช้ภาษาสากล
สุทธิพลกล่าวว่า การเกิดของศาลแห่งนี้ไม่ได้มาจากแรงบีบของต่างประเทศ ด้านสิทธิทางทรัพย์สินทางปัญญากับการค้าระหว่างประเทศ
ที่ต้องการให้ไทยคุ้มครองด้านทรัพย์สินทางปัญญากับประเทศคู่ค้า แต่คดีความที่เกิดขึ้นในศาลที่ผ่านมานั้น
ไม่ว่าจะเป็นคดีทางแพ่ง หรือทางอาญา ได้รับการร้องเรียนเสมอว่าศาลนั้นขาดความรู้ความสามารถและไม่คล่องตัวเพียงพอที่จะใช้ได้
ทั้งนี้ต่างประเทศที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทย ต้องการทราบว่ากฎหมายของไทยให้ความคุ้มครองกับผู้ลงทุนมากน้อยแค่ไหน
หากเห็นว่ากฎหมายไทยมีความเป็นสากลและให้ความคุ้มครองได้เหมือนนานาประเทศ
ก็จะให้ความไว้วางใจในการเข้ามาทำกิจการในประเทศไทย
เสียงร้องเรียนดังกล่าว กระทรวงยุติธรรมเองก็ได้เร่งหาวิธีการที่จะทำให้ศาลที่พิจารณามีความรู้ความสามารถมากขึ้น
เริ่มด้วยการตั้งแผนกเฉพาะที่เกี่ยวข้องฝึกอบรม ให้ความรู้กับผู้พิพากษาวิชาเฉพาะการส่งไปศึกษาต่อต่างประเทศ
แต่ก็ไม่ได้ช่วยแก้ไขให้ดีขึ้นได้เต็มที่ เพราะผู้พิพากษาถูกโยกย้ายสับเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา
จึงหาผู้ชำนาญเฉพาะด้านไม่ได้
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาฯ นี้ให้อำนาจที่จะสามารถคัดเลือกผู้พิพากษาศาลสมทบ
ซึ่งไม่ได้เป็นผู้พิพากษาจริง แต่เป็นนักธุรกิจ ผู้บริหารกิจการ นักวิชาการ
ข้าราชการระดับสูง ที่จบการศึกษาจากต่างประเทศ และมีความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะในกิจการที่เป็นคดีกันอยู่
อันจะช่วยให้ศาลฯ มีความรู้อย่างแท้จริงในการตัดสินคดีที่เป็นข้อพิพาทกันอยู่
ผู้พิพากษาศาลสมทบที่มีอยู่ทั้งสิ้น 40 คน จากผู้สมัครจำนวน 119 คน ที่คัดเลือกเหลือ
48 คนและผ่านการฝึกอบรมจนเหลือจำนวน 40 คน ที่จะเข้าร่วมพิจารณาคดีกับผู้พิพากษาประจำ
18 คน
"การคัดเลือกนั้น เราใช้ความเข้มงวดอย่างมาก ผู้สมัครแต่ละท่านทั้งที่สมัครเองและถูกเสนอชื่อเข้ามา
ต้องมีการพิจารณาถึงวุฒิการศึกษา ประสบการณ์ด้านการทำงานซึ่งจะมีผู้บริหารบริษัทที่มีชื่อเสียง
ซึ่งจบการศึกษาจากต่างประเทศ มีความรู้ด้านภาษาต่างประเทศเป็นอย่างดี เนื่องจากมีความจำเป็นในการพิจารณาคดี
และผ่านการฝึกอบรมอย่างเข้มงวด ก่อนที่จะได้รับการบรรจุเข้าเป็นผู้พิพากษาสมทบ"
ไม่เพียงแต่บุคลากรจากภายนอกที่ต้องใช้ผู้มีความสามารถอย่างมาก แม้แต่บุคลากรในศาลทรัพย์สินทางปัญญาฯ
เองนั้น ก็ต้องมีการผ่านการคัดเลือก และฝึกอบรมตั้งแต่อธิบดีผู้พิพากษาฯ
อัครวิทย์ สุมาวงศ์ ซึ่งจบการศึกษาด้านกฎหมายจากประเทศอังกฤษ
สำหรับสุทธิพล ในตำแหน่งเลขานุการศาลฯ นั้นจบการศึกษาด้านกฎหมายจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
เมื่อปี 2525 และได้ทุนเล่าเรียนหลวงจากมูลนิธิอานันทมหิดลไปศึกษาปริญญาโทด้านกฎหมาย
และทรัพย์สินทางปัญญาที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และปริญญาโทด้านกฎหมายจากมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย
จากนั้นก็ได้ทุนจากมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนียศึกษาระดับปริญญาเอก ด้านการวิเคราะห์อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการซื้อขายสินค้าระหว่างประเทศ
และยังได้ร่วมทำงานในบริษัทที่ปรึกษากฎหมายระหว่างประเทศหลายแห่ง ที่สหรัฐฯ
เป็นเวลา 2 ปีก่อนเดินทางกลับประเทศไทย และเข้าทำงานเป็นนิติกร 5 กรมเศรษฐกิจการพาณิชย์
กระทรวงพาณิชย์ ก่อนย้ายโอนมาเป็นผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา และจับงานด้านทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเต็มตัว
ทำให้เป็นผู้มีความเชี่ยวชาญในสาขานี้
สุทธิพลเชื่อมั่นว่าประสบการณ์ด้านกฎหมายในสหรัฐอเมริกาด้วยเวลาถึง 9 ปีนั้นจะสามารถนำมาใช้ปรับปรุงกิจการของศาลทรัพย์สินทางปัญญาฯ
ที่ถูกจัดตั้งขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ และทันสมัย ตั้งแต่งานด้านห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์
ที่เชื่อมต่อกับนานาประเทศ การออนไลน์ระบบงานคอมพิวเตอร์เพื่อใช้ในงานของศาล
ตลอดจนมาตรการด้านรักษาความปลอดภัยซึ่งเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับศาลที่พิจารณาคดีความ
แม้จะต้องใช้เวลาถึง 5 ปีกว่าจะลงตัว เนื่องจากรัฐบาลยังติดขัดในเรื่องการจัดสรรงบประมาณ
งานด้านคดีทรัพย์สินทางปัญญาฯ ประมาณ 700-800 คดีต่อปี กับคดีด้านการค้าระหว่างประเทศประมาณ
1,000 คดีต่อปี คดีส่วนใหญ่เป็นเรื่องของลิขสิทธิ์ สิทธิบัตร เครื่องหมายการค้า
หากมีเพิ่มมากขึ้นในอนาคต อาจต้องมีการแยกจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญา และการค้าระหว่างประเทศจากกัน
ไม่เพียงเป็นการรองรับนักลงทุนจากต่างประเทศ สำหรับคนไทยเองนั้นก็จะได้รับความคุ้มครองด้านทรัพย์สินทางปัญญา
และทำการค้าระหว่างประเทศทัดเทียมกันด้วย