เมื่อดร.วุฒิพงษ์โบกมือลา..ทริส


นิตยสารผู้จัดการ( มกราคม 2541)



กลับสู่หน้าหลัก

ในวันแถลงผลการดำเนินงานของทริสในรอบปี' 40 เมื่อปลายเดือนธันวาคม เจ้าหน้าที่ประกาศว่าจะมีหัวข้อที่แถลง 4 หัวข้อ โดย 3 หัวข้อแรกจะเกี่ยวกับงานของทริสที่ทำตลอดระยะเวลา 1 ปี และทิศทางในอนาคต รวมทั้งผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจ ส่วนหัวข้อสุดท้ายจะเป็นเรื่องเฉพาะกิจของกรรมการผู้จัดการ

นักข่าวที่นั่งฟังการแถลงผลการดำเนินงานคงมีความรู้สึกที่ไม่ต่างกันนักว่า 3 หัวข้อแรกน่าสนใจกว่า ส่วนเรื่องสุดท้ายที่จะคุยคงเป็นไอเดียทำธุรกิจหรือออกสินค้าใหม่ของทริสเป็นแน่ เพราะเป็นปกติของกรรมการผู้จัดการที่ชื่อ ดร. วุฒิพงษ์ เพรียบจริยวัฒน์ ซึ่งจะมีความคิดใหม่ๆ ทั้งที่ทำได้หรือทำได้ยากออกมาอยู่ตลอดเวลา

แต่หลังจากฟังการแถลงข่าวจนจบแล้ว ความสนใจกลับมุ่งไปที่เรื่องสุดท้ายมากกว่าประเด็นผลการดำเนินงานของทริส นั่นคือประเด็นการลาออกจากตำแหน่งกรรมการผู้จัดการของ ดร. วุฒิพงษ์

แน่นอนว่าทุกคนต้องถามว่าเกิดอะรไขึ้น ทำไมถึงลาออก เพราะจะว่าไปแล้ว ที่ผ่านมาช่วง 4-5 ปีมานี้ ทริสกับดร. วุฒิพงษ์แยกกันไม่ออกทีเดียว

นอกจากข้อความที่ออกจากปากว่า "จริงๆ ขอลาออกตั้งแต่หมดวาระแล้ว แต่ถูกขอให้ช่วยต่อ" และเพื่อความกระจ่างในเรื่องนี้ ดร. วุฒิพงษ์ได้แจกเอกสารคล้ายกับจดหมายขอบคุณและอำลาความยาว 2 หน้ากระดาษ A4 เท้าความตั้งแต่ครั้งก่อตั้งทริสขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปี' 36 ซึ่งยังขออาศัยพื้นที่ของ IFCT เป็นที่ทำการชั่วคราว จนถึงปัจจุบันที่มีที่ทำการเป็นกิจจะลักษณะ เป็นที่ยอมรับจากคนในวงการธุรกิจในด้านผลงาน และมีชื่อเสียงในวงกว้าง

ในตอนหนึ่งของเอกสารที่ ดร. วุฒิพงษ์ได้เขียนไว้ว่า "เมื่อมีการเริ่มต้นก็ย่อมมีการเลิกรา หลังจากที่ได้พบ ได้เห็น ได้ภูมิใจ ได้เหน็ดเหนื่อย และได้ผ่านเหตุการณ์นานัปการในองค์กรแห่งนี้ ผมพบว่าวาระการบริหารงานที่ทริสก้าวถึงจังหวะอันเหมาะสม แล้วจึงตัดสินใจลาออก" และตามมาด้วยเป้าหมาย 3 เรื่องที่ต้องการจะทำหลังจากลาออกแล้วนั่นคือ

การเขียนหนังสือหรือบทความจากประสบการณ์ที่ได้จากการประเมินองค์กรทั้งสามภาค คือ ราชการ เอกชน และรัฐวิสาหกิจ เป้าหมายเรื่องที่สองคือ จะทำหน้าที่วิจารณ์หรือให้แง่มุมแก่สาธารณะ โดยไม่ต้องกังวลว่าจะมีผลกระทบต่อทริส เพราะที่ผ่านมาแม้จะออกตัวว่าเป็นความคิดเห็นส่วนตัว ก็มักถูกอ้างอิงให้โยงไปผูกกับทริสอยู่ด้วยเสมอ

เรื่องที่สาม จะตั้งองค์กรใหม่เพื่อทำหน้าที่ด้านการประเมิน และจัดอันดับบริการทางสังคมที่หน่วยงานทั้งของภาครัฐและเอกชนให้แก่สาธารณชน เช่นการจัดอันดับสถาบันการศึกษา การจัดอันดับโรงพยาบาล ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งของการคุ้มครองผู้บริโภคและสาธารณชนที่เป็นรูปธรรม ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการจัดตั้งภายใต้ชื่อ "อิสสรา" ย่อมาจากภาษาอังกฤษว่า Institute for Social Service Rating and Accreditation (ISSRA)

จากเป้าหมายทั้ง 3 ข้อที่ให้รายละเอียดอย่างยืดยาวนี้ก็ไม่ได้ชี้ชัดว่าสาเหตุหลักคืออะไร และถ้ามองในตัวทริสเองก็ยังมีงานต้องพัฒนาให้กว้างออกไปอีก ทั้งในเรื่องการจัดอันดับประกันภัย และการทำ Securitization ถ้ามีความคิดสร้างสรรค์งานเช่นนี้ เหตุผลในเรื่องความอิ่มตัวในงานจึงน่าจะหมดไป

ข้อสมมติฐานอีกประการ โดยปกติเทอมการดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการของทริส มี 4 ปี แต่ ดร. วุฒิพงษ์เพิ่งได้รับการต่ออายุเป็นวาระที่สองเมื่อเดือนมีนาคมปี' 40 นี้เอง จึงดำรงตำแหน่งในวาระที่สองเพียงปีเดียวเท่านั้น

หลายคนมองว่า ดร. วุฒิพงษ์ อาจถูกแรงกดดันจากกรณีของ บง. เอกธนกิจ หรือ Fin1 ซึ่งก่อนหน้าดีล Fin1 กับ ธ. ไทยทนุจะล้มนั้น เครดิตเรตติ้งของ Fin1 อยู่ที่ A+ แต่หลังจากนั้นจนถึงลดอันดับลง ก็ไม่มีการประกาศออกมาอีกเลย คาดว่าคงอยู่แถวๆ B หรือต่ำกว่านั้น

จากกรณีนี้เองที่ทริสถูกโจมตีค่อนข้างมากในแง่ข้อมูลที่มีอยู่ในมือ น่าจะส่งสัญญาณบอกนักลงทุนหรือประชาชนให้ระวัง ก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์ถึงขั้นปิดกิจการ จนมีคนตั้งข้อสงสัยว่า แท้จริงแล้วเครดิตเรตติ้งจะบอกหรือบ่งความหมายอย่างใดได้บ้าง? หรือประโยชน์จากเครดิตเรตติ้งแท้จริงแล้วคืออะไร?

จากการโจมตีกรณีนี้ ดร. วุฒิพงษ์กล่าวว่า "เขาพูดเหมือนกับว่าเราทำอยู่บริษัทเดียวคือ Fin1 เท่านั้นซึ่งจริงๆ ไม่ใช่ แต่ข้อกล่าวหานี้ก็เป็นภาพหลอนอยู่ในใจเรามาตลอด"

ดังนั้น บางกลุ่มจึงมองว่า อาจจะเป็นเหตุนี้ที่ทำให้ ดร. วุฒิพงษ์ พิจารณาตัวเองและตัดสินใจลาออก

อย่างไรก็ตามในเรื่องนี้ ถ้าพิจารณาให้ดีจะเห็นว่ากรณีของ Fin1 จะเป็นกรณีตัวอย่างสำหรับเอกชนไทยได้ว่าในการเปิดเผยข้อมูลนั้น ต้องอยู่บนพื้นฐานของความโปร่งใสถูกต้องด้วย มิฉะนั้นเหตุการณ์อย่างนี้ก็อาจเกิดขึ้นอีกได้ที่สถานภาพของบริษัทย่ำแย่ ในขณะที่ตัวเลขผลประกอบการแสดงออกมาอย่างสวยหรู แต่ไม่ตรงกับความเป็นจริง

ซึ่งเบื้องหลังการพิจารณากรณีของ Fin1 ทางคณะกรรมการของทริสได้มีการทบทวนเช่นกัน เมื่อมีความเคลื่อนไหวหรือข่าวลือออกมา "แต่เมื่อเรานำเอกสารที่ได้มาจากทางบริษัทที่เสนอต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ ก็ไม่ปรากฏว่าจะมีอะไรผิดปกติตรงข้ามกับยังมีผลกำไรดีขึ้นด้วยซ้ำ" ดร. วุฒิพงษ์กล่าวและเสริมว่า

"เราจึงต้องมานั่งพิจารณาว่าจะเชื่อตามข่าวลือที่เกิดขึ้น หรือจะเชื่อจากเอกสารที่ผ่านการตรวจสอบจากผู้สอบบัญชีเอกชน และจากข้อมูลของฝ่ายกำกับดูแลรัฐ และในที่สุดเราก็ต้องยึดตามหลักการไว้ก่อน คือเอาตามตัวเลขในเอกสาร"

ความผิดพลาดอันเนื่องมาจากการได้รับข้อมูลที่ไม่โปร่งใสนั้นเป็นเรื่องที่พอเข้าใจได้ โดยเฉพาะในกรณีของ Fin1 ซึ่งมีข้อมูลที่ค่อนข้างซับซ้อนพอสมควร แม้แต่บริษัทที่ปรึกษาต่างประเทศรายใหญ่อย่างลีห์แมน บราเธอร์เองก็ยังยอมรับว่า เขาพลาดในกรณีของ Fin1 เช่นกัน แต่เป็นการพลาดหนหนึ่งเท่านั้นในจำนวนลูกค้าหลายรายที่เขาดีลอยู่

ความผิดพลาดจากการทำงานที่ถูกต้อง ตรงตามแนวทางและวิธีการที่วางไว้ จึงไม่น่าจะเป็นเหตุผลในการลาออกครั้งนี้ ประกอบกับกรณีของ Fin1 ไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิดความกดดันจากคำวิพากษ์วิจารณ์ เพราะที่ผ่านมางานแทบทุกงานของทริสมักจะได้รับเสียงสะท้อนกลับ ทั้งในด้านคัดค้านหรือติติงมากกว่าสนับสนุนอยู่เสมอ จนถึงขนาดว่ากรรมการผู้จัดการคนนี้ ออกปากเองว่า "อาจจะดูเหมือนซาดิสต์" เพราะงานทุกงานหรือไอเดียที่ออกมามักจะได้ผลสะท้อนกลับที่แรงเกือบทุกครั้งไป

เมื่อพิจารณาหลายๆ จุดแล้ว ดูเหมือนไม่น่ามีมูลเหตุที่จะมาโยงกับการลาออกได้อีกแล้ว แต่วลีหนึ่งที่ ดร. วุฒิพงษ์พูดอยู่บ่อยๆ รวมทั้งในงานแถลงข่าวครั้งนี้ด้วย เมื่อพูดถึงบริษัทใหม่ที่จะไปทำก็คือ "ชอบว่ายทวนน้ำ" ซึ่งหมายถึงงานที่ทำมักจะต้องมีเสียงทัดทานอยู่เรื่อยไป รวมถึงงานในบริษัทอันได้แก่ การจัดอันดับสถาบันการศึกษาและโรงพยาบาล

เพราะทันทีที่ 2 โครงการนี้ออกมาไล่ๆ กัน ก็ได้รับเสียงสะท้อน ในทำนองคัดค้านค่อนข้างมากกว่าที่เคยได้รับ เพราะเป็นงานนอกสายงานของธุรกิจหลัก ซึ่งโดยจุดประสงค์การก่อตั้งก็เพื่อพัฒนาตลาดเงินตลาดทุนเป็นหลัก พองานใหม่เปิดตัวออกมา นอกจากเสียงคัดค้านแล้ว แน่นอนอาจจะมีเสียงปรามาสตามมาด้วย เพราะถือว่าทริสยุ่งไม่เข้าเรื่องหรือไม่ก็ทำนองว่าจะทำได้หรือ?

"ผมออกมาอย่างนี้ก็จะเป็นความสบายใจของทั้งฝ่าย ก.ล.ต. และตัวผมเอง เพราะที่ผ่านมา ก.ล.ต. ในฐานะเป็นฝ่ายกำกับดูแลอาจไม่ค่อยสบายใจนักที่เราออกไปทำนอกข่ายงาน แต่ผมมองว่าเป็นการนำเทคโนโลยีการจัดอันดับ มาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ในงานด้านต่างๆ" ดร. วุฒิพงษ์ชี้แจง

มูลเหตุนี้อาจจะเป็นตัวผลักดันสำคัญ นอกเหนือไปจากความสนใจในด้านสังคมที่มีอยู่ก่อนแล้ว ซึ่งระยะหลังๆ ตั้งแต่ต้นปี' 40 หลังจบงานแถลงข่าวของทริสแต่ละครั้งถ้ายังมีเวลาคุยกับนักข่าว ดร. วุฒิพงษ์มักจะเสนอความคิดเรื่องการปรับปรุงระบบโปรแกรมการศึกษา รวมทั้งการพัฒนาเนื้อหาและวิธีการสอนในระดับมัธยม เพื่อสร้างคุณภาพเด็กก่อนเข้าสู่ในระดับมหาวิทยาลัย โดยงานดังกล่าวอาจดำเนินการได้โดยการจัดตั้งมูลนิธิขึ้นมาทำ และเขายืนยันว่าสามารถจะบริหารให้ได้ทั้งเงินและกล่อง เหมือนที่ทำมาแล้วในทริส

ดังนั้น แนวทางของ "อิสสรา" บริษัทใหม่นี้ก็ไม่ต่างจากแนวคิดข้างต้นนัก เพราะ ดร. วุฒิพงษ์ตั้งใจจะให้เป็นองค์กรที่ไม่หวังกำไรอยู่แล้ว แต่อย่างไรก็ตามทุนขั้นต้นในการบริหารคาดว่าต้องใช้ประมาณ 50 ล้านบาท ส่วนผู้ร่วมก่อตั้งนั้นก็เริ่มๆ ทาบทามผู้หลักผู้ใหญ่ไว้หลายท่าน เช่น น.พ. ประเวศ วะสี, ศ.น.พ. จรัส สุวรรณเวลา รวมทั้ง สกว. สมาคม สถาบันวิจัยที่เกี่ยวข้อง มูลนิธิ และหน่วยงาน NGO

ดร. วุฒิพงษ์ คาดว่าการลาออกของเขาจะมีผลอย่างเป็นทางการประมาณต้นเดือนมีนาคมปี' 41 เพราะมีการประชุมผู้ถือหุ้น หลังจากนั้นจะพักผ่อนก่อนจะเริ่มงานใหม่ในครึ่งปีหลัง ส่วนตอนนี้ก็ต้องมองหาผู้บริหารใหม่ ซึ่งกำหนดอายุประมาณ 40 ปีขึ้นไป มีประสบการณ์ในแวดวงการเงินไม่น้อยกว่า 10 ปี พูดและเขียนทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ และที่สำคัญประวัติต้องดีมากๆ ใครสนใจก็สมัครไปได้ที่ทริส

สำหรับทริสนั้น ณ สิ้นปี' 40ทำการจัดอันดับเครดิตแก่หน่วยงานต่างๆ ทั้งธุรกิจเอกชน สถาบันการเงิน และรัฐวิสาหกิจทั้งสิ้น 10 ราย คิดเป็นมูลค่าตราสารหนี้ที่มีอันดับ 6.25 พันล้านบาท ทั้งนี้ที่มีการเผยแพร่มีเพียง 1 ราย คือ บมจ. ซิงเกอร์ (ประเทศไทย) และที่ไม่เปิดเผยต่อสาธารณชนอีก 9 ราย

ด้านการจัดอันดับผลการดำเนินงานทำให้แก่หน่วยงานรัฐวิสาหกิจในปีงบประมาณ 2540 จำนวน 27 แห่ง รวมทั้งจัดอันดับผลการดำเนินงานหน่วยราชการระดับกรมอีก 3 แห่งได้แก่ กรมสรรพากร, กรมทะเบียนการค้า และสำนักงานประกันสังคม

ส่วนผลการดำเนินงานถือว่าในระดับหนึ่ง เพราะในปัจจุบันแม้เศรษฐกิจจะซบเซาแต่ปี' 40 ทริสก็ยังมีรายได้ประมาณ 75.4 ล้านบาท แยกเป็นรายได้จากบริการจัดอันดับเครดิต 33.1% บริการจัดอันดับผลการดำเนินงาน (หน่วยราชการ+รัฐวิสาหกิจ) 56.4% บริการสารสนเทศ 1.6% รายได้ดอกเบี้ยรับ 8.4% และรายได้อื่น 0.5% และคาดว่าจะมีกำไรประมาณ 19.7 ล้านบาท

การยังคงกำไรของทริสนั้นส่วนใหญ่มาจากงานบริการเสริมที่คิดขึ้นมาใหม่ ไม่ใช่งานจัดเครดิตที่เป็นงานแกนของสำนักงานเพราะงานเครดิตนี้ ณ สิ้นปี' 40 จะมีเพียง 27 รายเท่านั้น ลดจากปี' 39 ค่อนข้างมากเพราะเดิมมีอยู่ถึง 61 ราย

ผลที่ออกมาเช่นนี้ทำให้น่าคิดว่า ไอเดียใหม่ๆ ก็ใช้ได้ดีและมีประโยชน์ได้เสมอ ถ้ารู้จักยอมรับและพัฒนาตัวเอง



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.