การประกาศปิดตาย 56 ไฟแนนซ์ คือบทสรุปของการแก้ปัญหาเบื้องต้นของรัฐบาลไทย
มีเพียง 2 สถาบันการเงินเท่านั้นที่แผนฟื้นฟูผ่านและได้เปิดดำเนินงานต่อไป
เนื่องจากมีเม็ดเงินจากต่างชาติเข้ามาเพิ่มทุนจำนวนมาก คือ บงล. บางกอกอินเวสเม้นท์
และ บงล. เกียรตินาคิน
ส่วน บง. คาเธ่ย์ทรัสต์นั้นนับว่าเป็น 1 ใน 56 ไฟแนนซ์ที่สิ้นชื่อในครั้งนี้
อย่างไรก็ดี ธนาธิป วิทยะสิรินันท์ กรรมการรองกรรมการผู้จัดการฝ่ายวาณิชธนกิจ
บล. คาเธ่ย์แคปปิตอล ยืนยันอย่างหนักแน่นว่า การปิดตัวของคาเธ่ย์ทรัสต์นั้นไม่มีผลกระทบใดๆ ต่อบริษัท
"การดำเนินงานของเราไม่เกี่ยวกันเลย มีก็แต่เรื่องโครงสร้างผู้ถือหุ้นเท่านั้นที่ยังไม่ได้แยกออกมาเนื่องจากเดิม
บง. ต้องถือหุ้นใน บล. เป็นเวลา 6 เดือนก่อน จึงจะแยกออกมาได้ โดยไม่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะตอนโอนสินทรัพย์
รวมทั้งภาษีมูลค่าเพิ่มด้วย เราแยกการดำเนินงานออกจากคาเธ่ย์ทรัสต์เมื่อประมาณต้นปี
ก็ต้องให้ บง. ถือหุ้นอยู่ 6 เดือน พอเราทำเรื่องขอออกมาก็มีการประกาศปิดไฟแนนซ์พอดี
เรื่องก็เลยยังค้างอยู่" ธนาธิปอธิบาย
อย่างไรก็ตามกลุ่มพานิชชีวะ และศรีเฟื่องฟุ้ง ยังแสดงความจำนงที่จะซื้อหุ้นของคาเธ่ย์แคปปิตอลออกมาเพื่อถือไว้โดยตรง
ซึ่งขณะนี้ต้องรอตามขั้นตอนของทางการว่าจะขายสินทรัพย์ของคาเธ่ย์ทรัสต์ออกมาเมื่อไหร่
"เราก็อยากให้เร็วที่สุดเพราะตอนนี้มีปัญหาเรื่องภาพมันไม่ชัด กลัวว่าคนจะเข้าใจผิดว่าเราเกี่ยวด้วยหรือเปล่า
แต่จริงๆ เราแยกออกมาเรียบร้อยแล้วแต่มันผิดเวลาไปหน่อย เรื่องจึงยังไม่เรียบร้อย
แต่ผู้ถือหุ้นเราก็พร้อมจะซื้อออกมา"
สำหรับเรื่องเงินที่กู้มาจากคาเธ่ย์ทรัสต์ประมาณ 200 ล้านบาทนั้น บริษัทได้เตรียมเงินสดไว้แล้วตั้งแต่ที่มีการปิดไฟแนนซ์เมื่อประมาณกลางปี
หากว่าจำเป็นต้องใช้คืนก็สามารถจ่ายคืนได้ ซึ่งอาจจะทำให้วงเงินหมุนเวียนของบริษัทลดลงไปบ้าง
ทำให้ความยืดหยุ่นในระยะสั้นมีน้อยลง แต่ก็ไม่มีปัญหาเรื่องที่จะขาดสภาพคล่อง
ซึ่งทางบริษัทได้ทำเรื่องชี้แจงกับทางคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
(ก.ล.ต.) แล้ว
ทั้งนี้เงินกู้ดังกล่าวจะถึงกำหนดชำระภายในระยะเวลา 2 ปี ซึ่งธนาธิปเชื่อว่าตามเกณฑ์ของทางการแล้ว
คาเธ่ย์แคปปิตอลจะต้องย้ายไปเป็นลูกหนี้ของสถาบันการเงินที่ดีต่อไป จนกว่าจะครบกำหนดชำระ
และน่าจะต่ออายุได้เนื่องจากที่ผ่านมาคาเธ่ย์แคปปิตอลเป็นลูกหนี้ชั้นดีมาตลอด
อย่างไรก็ดีเพื่อเป็นการเสริมสร้างความแข็งแกร่งในการดำเนินธุรกิจ คาเธ่ย์แคปปิตอลยังมองหาผู้ร่วมทุนต่างชาติเข้ามาถือหุ้นอยู่
โดยเน้นผู้ร่วมทุนที่จะเข้ามาพัฒนาธุรกิจร่วมกันอย่างจริงจังมิใช่เข้ามาซื้อหุ้นทั้ง
100% หรือ 80% เพื่อใช้เป็นที่ผ่านออร์เดอร์เท่านั้น
ธนาธิปชี้แจงว่า "เราไม่ได้ต้องการขายบริษัททิ้งแล้วก็ไป เราต้องการคนที่เข้ามาช่วยกันทำธุรกิจ
เพราะเชื่อว่าธุรกิจนี้ยังไปได้ พัฒนาได้ และยังมีโอกาสอีกมาก"
ที่ผ่านมามีบริษัทต่างประเทศเข้ามาพูดคุยด้วยหลายราย แต่ยังไม่สามารถตกลงกันได้
เนื่องจากสถานการณ์ของประเทศไทยไม่มีความแน่นอน ทำให้นักลงทุนต่างชาติชะลอการตัดสินใจ
ขณะเดียวกันทางคาเธ่ย์แคปปิตอลก็มองว่าไม่ควรจะรีบเร่งนัก เพราะยังไม่อยากขายในราคาถูกระหว่างนี้
จึงควรจะร่วมมือกันไปก่อนโดยที่ยังไม่ต้องเข้ามาร่วมทุน
บล. คาเธ่ย์แคปปิตอลกำลังเตรียมการเซ็นบันทึกความเข้าใจ (MOU) กับโบรกเกอร์ต่างชาติรายหนึ่งเกี่ยวกับเรื่องความร่วมมือกันในเรื่องของงานวิจัย
ส่วนทางด้านวาณิชธนกิจและการบริหารสินทรัพย์นั้นจะตกลงกันเป็นแต่ละกรณีไป
และในระหว่างนี้ต่างฝ่ายต่างก็สามารถเจรจาเรื่องร่วมทุนกับรายอื่นได้อย่างเปิดกว้าง
แต่หากว่าการร่วมมือทุกอย่างเป็นไปได้ด้วยดี การร่วมทุนกันในอนาคตก็อาจจะตามมาในที่สุด
สิ่งที่คาเธ่ย์แคปปิตอลคาดหวังจากการร่วมทุนกับต่างชาติก็คือ ต้องการเครือข่ายต่างประเทศในการส่งคำสั่งซื้อขายเข้ามา
และเมื่อมีงานวาณิชธนกิจก็สามารถขายไปได้ทั่วโลก รวมถึงโนว์ฮาวต่างๆ ทั้งในเรื่องของการจัดการกองทุนและตลาดอนุพันธ์
และที่ขาดไม่ได้ก็คือการส่งเสริมในเรื่องภาพพจน์ที่เป็นสากลมากขึ้น รวมถึงเงินทุนที่จะเข้ามาใช้ในการทำธุรกิจเพิ่มขึ้น
สำหรับแผนการดำเนินงานของคาเธ่ย์แคปปิตอลปีนี้ ยังคงเดินหน้าตามแผนที่วางไว้ตั้งแต่แยกธุรกิจออกมาจากคาเธ่ย์ทรัสต์
กล่าวคือ ธุรกิจด้านการเป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์นั้น จะเน้นที่ลูกค้าสถาบัน
ลูกค้าต่างประเทศ และลูกค้าขนาดกลางขึ้นไป ส่วนลูกค้ามาร์จินก็ได้ลดขนาดลงมาจาก
2,000-3,000 ล้านบาทเมื่อ 2 ปีก่อน ปัจจุบันเหลืออยู่ประมาณ 300 ล้านบาทเท่านั้น
"ทุกวันนี้เรายังมีลูกค้ามาร์จินอยู่บ้าง แต่ก็คัดเลือกมากนับเป็นโชคดี
เพราะถ้าเรายังมีการปล่อยมาร์จินโลน 3,000 ล้านบาทอย่างเมื่อ 2 ปีก่อน ป่านนี้เราคงตายไปแล้ว"
ธนาธิปกล่าว
ทางด้านวาณิชธนกิจ จะแบ่งออกเป็นทีมย่อยๆ แต่ละทีมดูประมาณ 2-3 อุตสาหกรรม
ทั้งนี้เพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจในแต่ละอุตสาหกรรมอย่างแท้จริง ซึ่งก็ดูกันอยู่ประมาณ
15 อุตสาหกรรมหลักๆ นอกจากนี้ยังมีกลุ่มพัฒนาธุรกิจซึ่งจะดูโครงการใหม่ๆ และอาจจะเข้าไปร่วมในฐานะที่ปรึกษาหรือลงทุนด้วยการถือหุ้นประมาณ 5-10%
ในโครงการที่มีศักยภาพ
"ช่วงนี้ด้านวาณิชธนกิจจึงมีงานเยอะมาก แต่ได้เงินยาก เพราะตอนนี้คู่แข่งน้อยลง
และบริษัทจำนวนมากต้องการหาผู้ร่วมทุน หาเงินกู้ งานจะเข้ามามากแต่ทำให้สำเร็จได้ยากเพราะตอนนี้มีคนจะขาย
แต่หาคนซื้อไม่ได้ นักลงทุนต่างชาติก็ลังเล และพยายามกดราคา"
ส่วนการบริหารสินทรัพย์นั้น คาเธ่ย์แคปปิตอลเพิ่งได้รับไลเซนส์ในการบริหารกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมาเมื่อประมาณ
2 เดือนก่อน
ธนาธิปเล่าว่า เดิมทีบริษัทได้ยื่นขอไลเซนส์จัดการกองทุนเลี้ยงชีพไป ตั้งแต่ตอนขอแยกธุรกิจออกมาจากคาเธ่ย์ทรัสต์
แต่ปรากฏว่าพอแยกออกมาแล้ว ไลเซนส์กลับไปติดอยู่ที่คาเธ่ย์ทรัสต์ ขณะที่คนทำงานอยู่ที่คาเธ่ย์แคปปิตอล
ทำให้บริษัทต้องทำเรื่องขอย้ายไลเซนส์มา 6 เดือนผ่านไปก็ยังไม่สามารถย้ายได้
ดีลนับ 100 ล้านบาทที่มีอยู่ในมือตอนแรกก็ต้องปล่อยไป จนในที่สุดคณะกรรมการตัดสินใจยื่นขอไลเซนส์ใหม่และเพิ่งได้รับมาเมื่อ
2 เดือนนี้
ขั้นแรกคาดว่าจะพยายามกลับไปตามลูกค้าเก่าก่อนว่าหนีหายไปทำกับโบรกเกอร์อื่นหรือยัง
พร้อมทั้งหาลูกค้าใหม่เข้ามา โดยมุ่งไปที่กองทุนบำนาญข้าราชการ (กบข.) และธุรกิจอุตสาหกรรมเป็นหลัก
โดยบริษัทจะจ้างผู้จัดการกองทุนมืออาชีพจากต่างประเทศเข้ามาดูแล เพื่อให้ลูกค้าเกิดความเชื่อถือ
"ธุรกิจนี้แม้จะมีคู่แข่งเยอะ แต่ก็เชื่อว่าการขยายตัวจะสูงมากด้วยเช่นกัน
เพราะมันเริ่มจากศูนย์ ถ้าต่อไปกองทุนนี้มีเป็นล้านล้านบาท เราได้แค่ 1%
ก็หมื่นล้านบาท ธุรกิจนี้ได้ 2,000-3,000 ล้านบาทก็มีความประหยัดต่อขนาดแล้ว"
ธนาธิปกล่าว
สำหรับกองทุนส่วนบุคคลนั้น เขาติงว่าค่าไลเซนส์ปีละ 1 ล้านบาทนั้น สูงเกินไปหากจะเริ่มทำธุรกิจช่วงนี้
เพราะจากการศึกษาพบว่า ธุรกิจนี้จะคุ้มทุนได้ต้องมีกองทุนให้บริหารจัดการประมาณ
200-300 ล้านบาท ซึ่งเป็นไปได้ยากในสถานการณ์ปัจจุบัน