ประพัฒน์ โพธิวรคุณ แนะผู้ส่งออกเร่งปรับตัวเพื่อความอยู่รอด


นิตยสารผู้จัดการ( มกราคม 2541)



กลับสู่หน้าหลัก

"ภาคอุตสาหกรรมไทยกำลังเข้าสู่การปรับตัวครั้งใหญ่และเป็นครั้งที่สำคัญอย่างยิ่ง ภายใต้การแข่งขันที่ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นจำเป็นต้องอาศัยนโยบาย มาตรการ ตลอดจนแผนงานและโครงการที่ชัดเจน เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงได้ทันเวลา ยิ่งกว่านั้นความร่วมมือกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน ก็มีส่วนสำคัญที่จะต้องช่วยกันรักษาศักยภาพในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรม ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนาประเทศ ถึงเวลาแล้วที่ทุกคนจำเป็นต้องหันมาให้ความร่วมมือร่วมใจในการปรับปรุงกระบวนการผลิต การบริหาร การจัดการการค้าและบริการ เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมไทยให้ยั่งยืนต่อไป" เป็นคำกล่าวของ ประพัฒน์ โพธิวรคุณ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ที่กล่าวไว้เมื่อครั้งไปร่วมบรรยายในงานสัมมนา เรื่อง "ทิศทางเศรษฐกิจการเงิน การส่งออก และอุตสาหกรรมในปี 2541 จะเป็นอย่างไร" ที่บรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยจัดขึ้น

ประพัฒน์ได้บรรยายในหัวข้อ "การปรับตัวของภาคอุตสาหกรรมให้สอดคล้องกับภาวการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป" ซึ่งมีสาระสำคัญดังต่อไปนี้

การเพิ่มสภาพคล่องของธุรกิจและการเพิ่มขีดความสามารถแก่อุตสาหกรรมไทย เพื่อการแก้ไขปัญหาที่เผชิญอยู่ในปัจจุบัน รวมไปถึงการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมของไทยให้มีความแข็งแกร่ง และสามารถแข่งขันกับนานาประเทศในโลกได้นั้น สิ่งแรกที่ผู้ประกอบการทุกรายต้องทำคือ "การช่วยเหลือตนเอง" ด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารธุรกิจของตนเอง และโอกาสนี้เป็นโอกาสที่เหมาะสมที่จะปฏิรูปโครงสร้างการบริหารทั้งหมดของบริษัทด้วย

เริ่มจากการ "รัดเข็มขัด" ลดการลงทุนที่ไม่มีประสิทธิภาพและที่ไม่มีตลาดรองรับในอนาคต ลดกำลังการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด และพยายามลดปริมาณสินค้าคงเหลือให้ต่ำที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ รวมทั้งมีการจัดระบบการบริหารสินค้าคงเหลือและลูกหนี้ให้มีประสิทธิภาพ โดยเคร่งครัดกับการพิจารณาการให้สินเชื่อลูกค้ากับลูกค้าชั้นดีเท่านั้น และต้องพยายามสร้างความสัมพันธ์อันดีต่อลูกค้าเหล่านั้นไว้ ด้วยการขยายระยะเวลาการให้สินเชื่อแก่ลูกค้าชั้นดี ที่ได้เลือกสรรจากกระบวนการพิจารณาที่รัดกุมแล้ว อีกทั้งต้องมีการเพิ่มระบบช่องทางการจัดจำหน่ายไปยังผู้ขายปลีกโดยตรง โดยไม่ผ่านคนกลางเพื่อเป็นการประหยัดต้นทุน

นอกจากนั้นต้องมีการจัดโครงสร้างหนี้ให้เหมาะสม เช่นการนำหนี้ระยะยาวมาใช้ในการลงทุนระยะยาว มีการขอขยายเวลาชำระเงินจาก SUPPLIERS ต่างประเทศ และพยายามลดการใช้เงินสกุลดอลลาร์สหรัฐให้น้อยที่สุด ด้วยการลดการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ ใช้ชิ้นส่วนในประเทศให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ และผู้ประกอบการรายใดที่ไม่เคยทำการประกันความเสี่ยง ของอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศก็เริ่มทำได้แล้ว

และผู้ประกอบการต้องรู้จักใช้ "ข้อมูล" ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการทำธุรกิจให้เป็นประโยชน์ ปัจจุบันกระทรวงพาณิชย์ได้มีการรวบรวมข้อมูล ที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินธุรกิจเป็นจำนวนมาก แต่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ไม่เคยไปใช้ข้อมูลเหล่านั้น ส่วนใหญ่จะใช้จากความรู้สึกเอาเท่านั้น ฉะนั้นในวันนี้ ผู้ประกอบการจะต้องมีวิธีการทำงานที่เป็นระบบมากขึ้น รู้จักการใช้สถิติข้อมูลที่มีอยู่ให้เป็นประโยชน์ และที่สำคัญคือการนำเสนอข้อมูลธุรกิจต่อทางการ จะต้องโปร่งใสและตรงกับความเป็นจริงทุกประการ เนื่องจากข้อมูลที่ทางการจัดทำไว้นั้นก็เป็นข้อมูลที่ได้จากผู้ประกอบการทั้งสิ้น ดังนั้นหากข้อมูลที่แจ้งไปเป็นเท็จก็จะก่อให้เกิดความเสียหายต่อทั้งระบบอุตสาหกรรมได้

การร่วมมือระหว่างภาครัฐกับเอกชน

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมไทยกับประเทศต่างๆ ในโลก ประพัฒน์จึงเสนอให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการพัฒนาอุตสาหกรรมรายสาขา ในรูปแบบของการร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนเพื่อกำหนดทิศทาง การวางแผน นโยบายต่างๆ รวมไปถึงการติดตามและประสานงาน ตลอดจนการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมประเภทนั้นๆ

โดยคณะกรรมการชุดนี้ต้องดำเนินการในเรื่องของการลดต้นทุนการผลิต ด้วยการเร่งส่งเสริมการพัฒนาการผลิตวัตถุดิบให้มีคุณภาพมาตรฐาน ปรับลดขั้นตอนในกระบวนการผลิตและปรับปรุงความรวดเร็วในการส่งมอบสินค้า เรื่องการปรับลดอัตราภาษีนำเข้าวัตถุดิบที่ไม่สามารถผลิตในประเทศได ้ให้ต่ำลงหรือใกล้เคียงกับประเทศคู่แข่ง รวมทั้งเรื่องการปรับปรุงการให้บริการของภาครัฐ เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้ประกอบการ

นอกจากนั้น ทั้งภาครัฐและเอกชนควรจัดทีมงานเพื่อเจรจาขยายตลาดคู่ค้าในต่างประเทศในเชิงรุก รวมทั้งพยายามรักษาตลาดเดิมไว้ด้วย และสำหรับหน่วยงานของรัฐที่ทำหน้าที่ในการส่งเสริมการส่งออก ควรทำหน้าที่ประสานงานในการเจรจาปัญหาการกีดกันทางการค้าต่างๆ รวมทั้งควรมีหน่วยงานที่รับผิดชอบในระบบการเตือนภัยล่วงหน้า มิใช่รอให้ภัยมาถึงตัวแล้วค่อยมาหาวิธีแก้ไขกันเฉพาะหน้าอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

ยิ่งไปกว่านั้น ในภาคอุตสาหกรรมเองก็ต้องมีการพัฒนากระบวนการผลิตให้ได้มาตรฐานสากล รวมทั้งมีการพัฒนาความรู้ความสามารถของบุคลากรในภาคอุตสาหกรรม เพราะหัวใจของความสามารถในการแข่งขันก็อยู่ที่ "คน" รวมทั้งมีการปรับปรุงการผลิตสินค้าระดับกลางและระดับสูงที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น และส่งเสริมการสร้าง BRAND NAME ของสินค้าไทยให้เข้าสู่ตลาดโลกให้ได้ ซึ่งทั้งหมดนี้ภาคเอกชนจะสามารถดำเนินการได้ ก็ต้องได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐบาลด้วย



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.