การตลาดเชิงการศึกษา ความหวังของคนต่างชาติ

โดย ธีรัส บุญ-หลง
นิตยสารผู้จัดการ( มีนาคม 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

มี E-mail จากท่านผู้อ่านหลายฉบับถามผมถึงเรื่องการหางานทำที่อังกฤษว่า ถ้าเขาอยากจะทำงานที่ไม่ใช่งานร้านอาหารระหว่างเรียนได้ไหม? ถ้าเขาเรียนเสร็จแล้วจะหางานอย่างไรให้เป็น full time หรือว่าถ้าเขาไม่เรียนที่นั่นแล้วจะสมัครไปทำงานที่นั่น เลยได้ไหม? เขาจะมีโอกาสแค่ไหน? ผมคงจะต้องบอกตามความเป็นจริงว่าผมก็ไม่ค่อยรู้ดีหรอกครับ เพราะเรื่องนี้มีเรื่องกฎหมาย immigration เข้ามาเกี่ยวข้องเยอะ ผมจะตอบท่านผู้อ่านเป็นรายบุคคลเท่าที่ผมรู้ก็แล้วกัน

พูดถึงเรื่องงานแล้วไม่ว่าใครก็อยากมาทำงานที่ลอนดอน หรือเมืองใหญ่ๆ ในอังกฤษกันหมด ทำให้ คนว่างงานในลอนดอนนั้นล้น แต่ในขณะเดียวกันก็มีการขาดแคลนธุรกิจและคนงานที่สกอตแลนด์ ใน สกอตแลนด์ตอนนี้มีโครงการน่าสนใจหลายอย่างที่จะสร้างโอกาสให้กับคนต่างชาติที่อยากจะไปทำงานเมืองนอก เช่น โครงการ Scottish Graduation Scheme หนึ่ง ซึ่งจะให้คนที่จบที่มหาวิทยาลัยใน สกอตแลนด์สามารถทำงานได้ที่สกอตแลนด์เป็นเวลา 2 ปี โดยมีกำหนดว่าต้องหางานทำให้ได้ภายใน 1 ปี โดยงานนั้นจะเป็นงานอะไรก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นตามสาขาที่เล่าเรียนมา ถ้าทำงานได้ดีทางบริษัทก็จะร้องขอ work permit เต็มขั้นให้ทำงานได้ต่อไป ไม่ต้องสงสัยเลยครับว่า ปีที่ผ่านมาผู้สมัครชาวต่างชาติโดยเฉพาะรอวันมาสมัครที่มหาวิทยาลัยในสกอตแลนด์ มากมายเสียเหลือเกิน เพราะนี่เป็นโอกาสสำหรับพวกเขาที่จะได้ทำงานเมืองนอก โดยโอกาสสำหรับชาว ต่างชาตินั้นดีกว่าโครงการ Science & Engineering Graduate Program ที่ให้คนจบวิทยาศาสตร์และวิศวฯ ทั่วสหราชอาณาจักรสามารถทำงานได้ 1 ปีโดยที่ไม่จำเป็นที่ต้องมี work permit

ทาง Scottish Graduation Scheme เจาะตลาดใหญ่กว่า Science & Engineering Graduate Program โดยคนจบอะไรมาก็ได้ก็สามารถทำอะไรก็ไม่จำเป็นต้องเป็นตามสาขาที่เล่าเรียนมา ความหวังจึง บังเกิดกับคนต่างชาติที่ไม่ได้จบวิทยาศาสตร์และวิศวฯ คนต่างชาติเป็นจำนวนมากถึงเปลี่ยนใจมาเรียนมหาวิทยาลัยในสกอตแลนด์แทนที่อื่นๆ ในสหราชอาณาจักร

การที่จะได้ work permit นั้น ในสมัยนี้ทางบริษัทผู้รับต้องมีการแสดงว่าคัดสรรผู้ที่เขารับมาอย่างดีแล้ว เช่นต้องมีเหตุผลและหลักฐานรองรับว่า ผู้สมัครชาวต่างชาตินั้นมีความพร้อมมากกว่าคนอังกฤษกับคนยุโรปอย่างไร เช่น ต้องขอใบประเมินผลสอบสัมภาษณ์และสอบข้อเขียนจากทางบริษัท รวมทั้งบางที่ทางรัฐต้องการดูว่าทางผู้สมัครต่างชาติมีประสบการณ์ทางไหนเทียบกับผู้สมัครชาวอังกฤษและชาวยุโรป work permit จึงไม่ใช่เรื่องง่ายอย่างที่คิด work permit เป็นไปได้ง่ายกว่าสำหรับกับบริษัท ใหญ่แบบ Multinational เพราะเขามีเกณฑ์การวัดผล ที่เป็นมาตรฐาน เขาสามารถโยกย้ายชาวต่างชาติที่มา ทำงานกับเขาไปสู่ประเทศของคนต่างชาติเองในทีหลัง ได้ด้วย เป็นการประหยัดค่าเงินเดือนที่สูงของพวกExpatriate ไปได้อีกเยอะโดยเอาคน local ที่ train และทำงานจากเมืองนอกกลับเข้าประเทศตัวเอง โดยทางคน local ก็จะได้ประโยชน์จากการที่ตำแหน่งสูงขึ้น (แต่เงินเดือนลดลง!) และมีโอกาสก้าวไกลไปได้กว่าเดิม

สำหรับผู้ที่มีประสบการณ์แล้วอยากจะมาหางานทำในอังกฤษ โดยยังไม่แน่ใจว่าจะทำที่ไหนก็สามารถจะสมัครมาเป็น Highly Skill Workforce ได้ (เช่น วิศวกรโครงสร้าง) โดยสามารถกรอกใบสมัครว่ามีประสบการณ์อะไรบ้างที่คนอังกฤษขาด โดยถ้าอายุน้อย ประสบการณ์เยอะ มีปริญญาโท หรือปริญญาเอกจะได้เปรียบ สามารถที่จะไปอยู่อังกฤษเพื่อหางานทำได้

หลายคนที่ผมรู้จัก พอไปทำปริญญาเอกก็สามารถที่จะรับงานนอกเป็นที่ปรึกษาระหว่างทำงานโดยทำงาน part time ร่วมกับอาจารย์ที่ปรึกษาหรือจะทำแยกเดี่ยวๆ ก็แล้วแต่ เรียนปริญญาเอกที่อังกฤษ นั้นส่วนมากจะไม่มีการเรียนวิชาใดๆ เพิ่มเติม ให้เวลาค้นคว้าเขียนวิทยานิพนธ์เอง จึงมีเวลาว่างที่จะรับงานนอกโดยเฉพาะถ้าเป็นงานนอกที่เกี่ยวกับที่ตัวเองเรียนอยู่โดยส่วนมากจะเป็นงานที่เกี่ยวกับการเป็น Professional หรือวิชาชีพที่เกี่ยวกับการวิจัยของผู้เรียน

หลายคนพอเรียนอยู่ถ้าไม่ได้ทุนจากรัฐบาลหรือบริษัท หรือรัฐบาลส่งมาเรียนอยู่ก่อนแล้วก็อาจจะได้ทุนจากบริษัทเอกชนที่อังกฤษ รวมทั้งบางคนต้องขอสัญญาว่าจะทำงานใช้ทุนกับบริษัทนั้นๆ หลังจากเรียนจบ

การเป็นดอกเตอร์ทำให้เป็นผู้เชี่ยวชาญในสาขา นั้นๆ ถ้าจะทำเกี่ยวกับการวิจัยที่คนเขาไม่ค่อยทราบกัน (เป็นการวิเคราะห์โครงสร้างจากผลกระทบของไฟไหม้ด้วยวิธีใหม่ๆ ) ก็จะหางานค่อนข้างง่ายหน่อย แต่เงินเดือนก็เทียบกับคนที่เขาทำอย่างอื่น เช่น Banking ก็อาจจะน้อยกว่าพอสมควร ในขณะเดียว กันการแข่งขันกันก็อาจจะน้อยกว่า เพราะผู้ร่วมแข่งขันกันน้อย ที่สำคัญคือการวิจัยจะไปได้ไม่ดีถ้าใจไม่รักนะครับ

กลับมาเรื่องที่รัฐบาลโปรโมตโครงการต่างๆ ในประเทศอังกฤษเพื่อดึงนักเรียนเข้ามาเรียนมากขึ้นว่าโครงการเหล่านั้นเกิดขึ้นเนื่องจากอะไร และเป็นจริงได้แค่ไหน มันเกิดขึ้นด้วยสาเหตุที่วิเคราะห์มาคร่าวๆ ได้ 2 อย่าง

1) อังกฤษขาดคนบางสาขาจริงๆ เขาต้องการ คนที่มีความสามารถในทางนั้นๆ มาทำงานกับเขาจริงๆ โดยถ้ามาร่ำเรียนที่อังกฤษแล้ว ก็จะทำให้เข้าใจวิถีชีวิต ปรับตัวเข้าทำงานได้ง่ายมหาวิทยาลัยเขาก็ได้เงินด้วย (โปรดดูข้อ 2) เป็นวิธีการดูดสมองอย่างหนึ่ง

2) มหาวิทยาลัยอังกฤษจนจะแย่แล้วถ้าไม่ได้เงินจากนักศึกษาต่างชาติที่ให้ค่าเล่าเรียนมาจ่าย มาช่วยก็จะพัฒนาไม่ทันความไฮเทคของอเมริกา (โปรดอ่านเงินตรากับการศึกษาในฉบับเดือนมกราคม)

แล้วโครงการที่โปรโมตสิ่งเหล่านี้จะเป็นจริงไปในระยะเวลายาวนานแค่ไหน? คำตอบคือผมก็ไม่ทราบอย่างแน่ชัด แต่เป็นที่น่าสังเกตว่ามันเป็นแค่งานคิดแบบสุกเอาเผากิน เพื่อโปรโมตคนให้เข้ามาเรียนหรือเปล่า เพราะว่าจากการที่ผมตรวจสอบมาโครงการ Scottish Graduate Scheme นั้นยังไม่ได้อนุมัติออกมาเป็นทางการเลย แค่เป็นโครงการที่เอาไว้โปรโมตเท่านั้น โดยเมื่อโทรไปถามทาง Home Office นั้นก็แค่บอกว่าจะอนุมัติในเร็วๆ นี้ (ปีก่อน ก็บอกเช่นนี้ครับ) คาดว่ามีปัญหาตรงที่ว่าจะคุมคนไม่ให้ไปทำงานที่อื่นในอังกฤษที่ไม่ใช่สกอตแลนด์อย่างไร ส่วนโครงการ Science & Engineering Graduate นั้นคงจะไม่มีที่ไหนอยากจะจ้างคนสองคน แค่ 1 ปี นอกจากมอง Long-term แล้วเขาจะอยู่ต่อไปนานๆ แล้วก็เป็นจริง สุดท้ายแล้วถ้าเก่งจริงโครงการ อะไรต่างๆ ก็ไม่สำคัญล่ะครับ ที่แน่ๆ รัฐบาลอังกฤษ มีนักศึกษาต่างชาติเพิ่มขึ้นเยอะเลย เรียกว่างานนี้การตลาดได้ผลค่อนข้างดีทีเดียว


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.