|
การเดินทัพทางไกลครั้งใหม่ของนักเที่ยวชาวจีน
โดย
วริษฐ์ ลิ้มทองกุล
นิตยสารผู้จัดการ( มีนาคม 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
เวลาอยู่ว่างๆ ผมชอบเปิด www.gotomanager.com เว็บไซต์คู่เคียงของนิตยสารผู้จัดการ อ่านข้อมูลเก่าๆ ประวัติบุคคล สัมภาษณ์ รวมถึงบทความจากคอลัมนิสต์ท่านอื่นๆ ที่คอยจับกระแสจากทั่วทุกมุมโลกมาคอยเล่าให้เราอ่านเป็นภาษาไทยและที่สำคัญโดยมุมมองของคนไทย
วันก่อน ผมย้อนกลับไปอ่านข้อเขียนจากฝรั่งเศสของคุณสุภาพิมพ์ ธนะพรพันธุ์ ในนิตยสารผู้จัดการฉบับเดือนกันยายน 2547 ที่เล่าเกี่ยวกับปรากฏการณ์ของนักท่องเที่ยวจีนในศักราชนี้ที่นิยมบริโภคสินค้าแบรนด์เนมเข้าเส้นเสียจนเกือบเทียบเท่ากับนักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่นแล้ว โดยคุณสุภาพิมพ์ระบุด้วยว่า ชาวจีนซึ่งไปเที่ยวฝรั่งเศสนั้น 'กำลังจ่าย' สูงเสียจนห้างสรรพสินค้าชั้นนำหลายแห่งในปารีสต้องจัดทางเข้าพิเศษให้นักท่องเที่ยวจีน และมีทีมงานต้อนรับเป็นพิเศษอีกด้วย นอกจากนี้นักเที่ยวชาวจีนที่ว่ายังใช้จ่ายกันมือเติบกันถึงคนละ 530 ยูโรต่อวันเลยทีเดียว!
หลังจากผมย้อนกลับไปหาข่าวและข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้ก็พบว่า การเดินทางไปท่องเที่ยวต่างประเทศของชาวจีนนั้นกำลังส่งผลต่อธุรกิจการท่องเที่ยวในระดับโลก เมื่อพิจารณาจากสามปรากฏการณ์ คือ
หนึ่ง จำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยสถิติระบุว่า ในปี 2543 (ค.ศ.2000) เป็นปีแรกที่จำนวนนักท่องเที่ยวจีนเดินทางออกไปต่างประเทศมากถึง 10 ล้านคน ต่อมา อีก 3 ปีคือ ปี 2546 (ค.ศ.2003) ก็เพิ่มขึ้นถึง 2 เท่าคือ 20 ล้านคน ขณะที่ในปี 2547 (ค.ศ.2004) ตัวเลขเดียวกันก็เพิ่มขึ้นเป็น 28 ล้านคน
สอง รัฐบาลจีนกำลังเร่งเปิดประตูให้นักท่องเที่ยวจีนสามารถเดินทางไปท่องเที่ยวในต่างประเทศได้มากขึ้น ผ่านข้อตกลงบันทึกความเข้าใจ ฯลฯ กับประเทศต่างๆ ในทุกๆ ภูมิภาคทั่วโลก อย่างเช่น ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2547 เป็นต้นมา รัฐบาลจีนอนุมัติให้มีการจัดทัวร์เที่ยวประเทศต่างๆ ในยุโรป 27 ประเทศเป็นครั้งแรก วันที่ 6 ธันวาคม 2547 จีนกับสหรัฐอเมริกาได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจด้านความร่วมมือทางการท่องเที่ยว ในขณะเดียวกัน รัฐบาลจีนยังมีการเจรจากับรัฐบาลเยอรมนี ในการพัฒนาเดินทางท่องเที่ยวแบบอิสระ (ไม่ผ่านบริษัทนำเที่ยว) ของชาวจีนในประเทศเยอรมนีอีกด้วย
สาม จุดหมายในการท่องเที่ยวของชาวจีนนั้นมีการกระจายตัวมากขึ้นเรื่อยๆ
เดิมที จุดหมายการท่องเที่ยวต่างประเทศของ ชาวจีนนั้นก็อยู่ในละแวกเอเชีย อย่างเช่น ฮ่องกง และ 'ซิน-หม่า-ไท่' อันหมายถึง สิงคโปร์ มาเลเซีย และไทย ผลกระทบที่เห็นได้ชัดเจนคือ ปริมาณนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางมายังไทยไต่ขึ้นแป้นมาอยู่ในอันดับหนึ่งของนักท่องเที่ยวต่างชาติได้ในระยะเวลาเพียงไม่กี่ปี
แต่ทั้งนี้ตั้งแต่ในปี 2547 ที่ผ่านมาหลังรัฐบาลจีนเปิดประตูการท่องเที่ยวต่างประเทศให้กว้างขึ้นดังที่กล่าวไปแล้ว ทำให้นักท่องเที่ยวจีนมีทางเลือกในการเดินทางเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล ไม่เพียงแต่แหล่ง ท่องเที่ยวบ้านใกล้เรือนเคียงอย่างฮ่องกง หรือซิน-หม่า-ไท่ ที่เรียกได้ว่า 'ของตาย' สำหรับนักท่องเที่ยวชาวจีน
โดยเร็วๆ นี้ มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งเกี่ยวกับพฤติกรรมการท่องเที่ยวของชาวจีน ที่จัดทำโดย มหาวิทยาลัยภาษาต่างประเทศแห่งที่สองปักกิ่งระบุ อย่างชัดเจนว่า นักท่องเที่ยวชาวจีนใฝ่ฝันที่จะเดินทางไปยังยุโรปมากที่สุดถึงร้อยละ 27.4 รองลงมา คือ ออสเตรเลีย ร้อยละ 25.5 สหรัฐอเมริกา ร้อยละ 21.7 ขณะที่ความต้องการเดินทางไปยังประเทศในทวีป แอฟริกาก็สูงอย่างไม่น่าเชื่อถึงร้อยละ 4.4
ทั้งนี้หลังเกิดเหตุธรณีพิบัติ-คลื่นยักษ์สึนามิ ในมหาสมุทรอินเดีย เมื่อปลายปีที่ผ่านมาก็ยิ่งทำให้การท่องเที่ยวในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้นไม่เป็นที่น่าพิสมัยสำหรับนักเที่ยวชาวจีนเท่าไรนัก โดยทางศูนย์วิจัยการท่องเที่ยวของสถาบันสังคมศาสตร์ จีน ได้คาดการณ์ไว้ว่าจากผลกระทบดังกล่าวจะทำให้ ปี 2548 ในช่วงอู่อี หรือเทศกาลหยุดยาววันแรงงานในช่วงต้นเดือนพฤษภาคม อันเป็นหนึ่งในสาม ฤดูท่องเที่ยวสำคัญของคนจีน ก็มีแนวโน้มว่า ชาวจีนจะเลี่ยงเดินทางไปฮ่องกง มาเก๊า ยุโรป หรือเลี่ยงจาก ทะเลภาคใต้ของประเทศไทยไปยังหมู่เกาะ Northern Marianas หมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก อันอยู่ภายใต้การปกครองของสหรัฐอเมริกา ที่เพิ่งมีการลงนามเปิดการท่องเที่ยวระหว่างกันแทน
มากกว่านั้นหากพิจารณาถึงแนวโน้มของ 'คุณภาพ' นักท่องเที่ยวชาวจีน ที่เดินทางไปท่องเที่ยวยังต่างประเทศนั้นไม่เพียงเติบโตในแง่ของ 'ปริมาณ' คือ จำนวนนักท่องเที่ยวเท่านั้น แต่ยังเติบโตในแง่ของ 'คุณภาพ' ซึ่งก็คือ การใช้จ่ายระหว่างการเดินทางท่องเที่ยว ยังเพิ่มขึ้นอีกด้วย
จากงานวิจัยชิ้นเดียวกันของมหาวิทยาลัยภาษาต่างประเทศแห่งที่สองปักกิ่ง ระบุด้วยว่า นักท่องเที่ยวชาวจีนที่เดินทางไปต่างประเทศราวครึ่งหนึ่ง จบการศึกษาในระดับปริญญาตรีขึ้นไป ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเป็นพนักงานและผู้บริหารในบริษัท และแม้รายได้ในครอบครัวต่อเดือนของนักเที่ยวส่วนใหญ่คือร้อยละ 66.1 จะต่ำกว่า 10,000 หยวน (ราว 50,000 บาท) แต่นักท่องเที่ยวที่ครอบครัวมีระดับรายได้ต่อเดือน สูง อย่างระดับ 20,000-30,000 หยวน (ราว 100,000-150,000 บาท) และระดับ 30,000 หยวนขึ้นไป (ราว 150,000 บาทขึ้นไป) ก็มีสัดส่วนไม่น้อยคือ คิดเป็นร้อยละ 6.1 และ 10.6 ตามลำดับ จากจำนวนชาวจีน ทั้งหมดที่เดินทางไปเที่ยวในต่างประเทศเลยทีเดียว
อีกตัวอย่างที่ชี้ให้เห็นได้ชัดเจนถึงกำลังซื้ออันเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลของนักท่องเที่ยวชาวจีนก็คือ เมื่อกลางเดือนตุลาคม 2547 วีซ่า อินเตอร์เนชันแนล (VISA International) บริษัทบัตรเครดิตที่ใหญ่ที่สุดในโลก ระบุถึงสถิติการจับจ่ายใช้สอยของบรรดานักท่องเที่ยวที่เดินทางมายังประเทศในกลุ่มเอเชีย-แปซิฟิก ในช่วงปี 2546 ที่ผ่านมา โดยชี้ว่าจำนวนเงิน การจับจ่ายผ่านบัตรเครดิตเฉลี่ยต่อครั้งของนักเดินทาง ชาวจีนที่สูงเป็นอันดับหนึ่งของโลก คือ 253 เหรียญสหรัฐ สูงกว่าอันดับสองคือ ชาวสเปนอยู่ 51 เหรียญ (ชาวสเปนจับจ่ายเฉลี่ยครั้งละ 202 เหรียญสหรัฐ) ขณะที่นักเดินทางจากสหรัฐฯ และอังกฤษ มียอดการจ่ายผ่านบัตรเฉลี่ยต่อครั้งเพียง 135 และ 141 เหรียญ สหรัฐต่อครั้งตามลำดับ
จากข้อมูลดังกล่าว สื่อมวลชนจีนจำนวนหนึ่งจึงนำเอาข้อมูลนี้มาเหน็บแนมเหล่าบรรดาเพื่อนร่วมชาติว่า ขณะที่รายได้เฉลี่ยต่อหัวต่อปีของชาวจีนเพิ่งเลยระดับ 1,000 เหรียญสหรัฐ มาได้เพียงอึดใจ โดยข้อมูลในปี 2546 ระบุว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศต่อหัว หรือ GDP per capita ของชาวจีนอยู่ที่ระดับ 1,090 เหรียญสหรัฐเท่านั้น ชาวจีนก็มือเติบ กันเสียแล้ว
ในอนาคตใครจะทราบได้ว่าชนชั้นกลางชาวจีน จำนวน 200-300 ล้านคนเหล่านี้จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวโลกไปในทิศทางใด?
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|